++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

การบูชาพระพุทธเจ้ามี 2 วิธี คือ

การบูชาพระพุทธเจ้ามี 2 วิธี คือ

1.อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ อันได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน ภัตตาหารคาว หวาน สิ่งที่เป็นวัตถุทั้งปวง เป็นการเสียสละ ฝึกตนให้รู้จักการแบ่งปัน การบริจาค และการให้ทาน

2.ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการกระทำ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ลงมือกระทำจริง ปฏิบัติจริงทั้งทางกาย วาจา และที่สำคัญที่สุด คือทางใจ ทางจิตวิญญาณ

การบูชาพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า แม้จะบูชาตถาคตด้วยเครื่องสักการบูชามากมายอย่างนี้ ตถาคตจะชื่อว่าได้รับการบูชาก็หาไม่ พูดเป็นไทยๆ ก็การบูชาด้วยอามิสเหล่านี้แม้จะมากมายก่ายกอง ก็ไม่นับว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ว่าอย่างนั้นเถอะ

แล้วบูชาอย่างไหนล่ะจึงจะเป็นการบูชาที่ถูกต้อง

พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (คือปฏิบัติธรรมถูกทาง ปฏิบัติตามตรงตามเป้าหมายแท้จริง) ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม"

ไหว้พระทุกคน จุดธูปเทียนบูชาหมดไปเป็นพันๆเล่ม พันๆดอก ดอกไม้หมดไปเป็นสวนๆก็ดีอยู่ นับว่าเป็นผุ้บูชาพระบูชาเจ้าด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส แต่พียงแค่นี้ยังไม่นับว่าเป็นการบูชาอย่างยอดเยี่ยม ถึงจะมีผลก็มีไม่มีก แต่การบูชาที่ยอดเยี่ยมจริงๆ คือบูชาด้วยการปฏิบัติ

ปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธองค์อย่างน้อยมีศีล ๕ ธรรม ๕ ครบ อย่างน้อยมีความเพียร ๔ ประการครบ คือ เพียรระวังมิให้อกุศล(ความไม่ดี) เกิดขึ้นในใจ, เพียรละความไม่ดีที่ทำแล้ว, เพียรพยายามทำความดีที่ยังไม่ได้ทำ และเพียรรักษาความดีที่มีแล้วให้คงอยู่

เท่านี้นับว่าเพียงพอในระดับหนึ่งแล้วครับ

*-* คัดลอกจากหนังสือวาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


อานิสงส์การบูชาพระพุทธเจ้า
พระพุทธกัสสป บริเวณพระธาตุมุเตา เมืองหงสาวดีบัดนี้จะว่าด้วยพุทธบูชา ท่านแสดงว่าบุคคลใดมีจิตเลื่อมใสบูชาพระพุทธเจ้าด้วยอามิส มีดอกไม้ ของหอม ธูป เทียน เป็นต้น ย่อมจะได้เสวยผลทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
นิทานเรื่องนายสุมนะช่างร้อยกรองดอกไม้

ดังได้สดับมาว่า ที่เมืองราชคฤห์ มีช่างร้อยกรองดอกไม้ชื่อว่านายสุมนะ ได้นำดอกมะลิถวายพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งเมืองราชคฤห์ทุกวัน วันละ ๘ ทะนาน ท้าวเธอก็พระราชทานให้วันละ ๘ กหาปณะเป็นค่าดอกไม้มิได้ขาด อยู่มาวันหนึ่งนายสุมนะก็ไปเก็บดอกมะลิได้แล้วกลับมา พบพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์เข้าไปในเมืองเพื่อจะบิณฑบาตโปรดสัตว์ นายสุมนะมีจิตศรัทธาเลื่อมใส คิดจะถวายดอกไม้บูชาแก่พระพุทธเจ้า จึงมาคิดว่าเมื่อเราไม่ได้ถวายดอกไม้แก่พระราชาท่านจะโกรธแล้วลงโทษมีอาญาเป็นประการใดก็ตามเถิด อานิสงส์ที่เราบูชาแก่พระพุทธเจ้านี้มีผลอันประเสริฐทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ถ้าเราพึงถวายแก่พระราชาก็จะมีผลเพียงแต่ในชาตินี้ คิดเช่นนั้นแล้วก็เกิดมีจิตยินดีศรัทธาในการทำพุทธบูชา นายสุมนะจึงกำเอาดอกมะลิสองกำมือซัดขึ้นไปในอากาศ ในการซัดแต่ละครั้งนั้นปรากฏว่า ครั้งแรกดอกมะลิก็แผ่เป็นตาข่ายอยู่เบื้องบนของพระพุทธเจ้า ดอกไม้สองกำมือที่ซัดไปครั้งที่สองนั้นก็แผ่เป็นตาข่ายอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ ดอกไม้สองกำมือที่ซัดไปครั้งที่ ๓ นั้นก็แผ่เป็นตาข่ายอยู่เบื้องซ้าย ดอกไม้สองกำมือที่ซัดไปครั้งที่ ๔ นั้นก็แผ่เป็นตาข่ายอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นตาข่ายดอกมะลิจึงล้อมองค์ของพระพุทธเจ้าอยู่ ๔ ด้านเปิดเฉพาะด้านหน้า พระองค์เสด็จไปถึงไหนตาข่ายดอกไม้ทั้ง ๔ ด้าน ก็ลอยตามพระองค์ไปถึงที่นั่น ผันก้านเข้าข้างในผันดอกออกข้างนอกทั้งสิ้นเป็นอัศจรรย์ดังนี้ ชาวเมืองทั้งหลายได้เห็นแล้วก็พากันเลื่อมใสกราบไหว้บูชาศรัทธาในพุทธคุณเป็นที่ยิ่ง

ฝ่ายนายสุมนะก็เกิดความชื่นบานหรรษาในเครื่องสักการบูชาของตนแล้วก็กลับบ้าน บอกเล่าเรื่องที่ได้ทำพุทธบูชาให้แก่ภรรยาฟัง ฝ่ายภรรยาเป็นผู้ไร้ปัญญา จึงไม่มีความยินดีอนุโมทนา กลับโกรธด่าว่าให้แก่สามี แล้วพาบุตรไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถึงเหตุการณ์ที่สามีได้นำดอกไม้ที่ควรจะนำมาถวายแก่พระราชาไปบูชาแด่พระพุทธเจ้า หญิงนั้นก็ออกตัวกลัวความผิด กราบทูลแก่พระราชาว่า อันการกระทำของนายสุมนะนั้นจะบังเกิดในทางดีก็ตาม ในทางร้ายก็ตาม ข้าพเจ้าจะไม่ขอรับด้วยข้าพเจ้าขอหย่าขาดจากนายสุมนะตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พระราชาเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ดำริว่าหญิงผู้นี้เป็นพาล หาความศรัทธาปสาทะในพระรัตนตรัยมิได้ แต่ก็แสร้งทำเป็นพิโรธ แล้วตรัสกับหญิงนั้นว่า ดีละที่เจ้าหย่าขาดจากสามี ตัวเราจะรู้กิจอันควรทำอย่างสาสมต่อนายสุมนะเอง จึงส่งหญิงนั้นกลับไป ส่วนพระองค์นั้นไซร้ก็เสด็จออกไปต้อนรับพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงรู้ว่าพระเจ้าพิมพิสารมีพระทัยเลื่อมใสในการบูชา พระศาสดาทรงมีพระกรุณาจะสงเคราะห์แก่นายสุมนะ ทรงส่งบาตรให้พระเจ้าพิมพิสารแล้วเสด็จทรงประทับนั่งที่หน้าพระลาน พระเจ้าพิมพิสารก็ถวายทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงกระทำภัตตกิจแล้วก็ตรัสอนุโมทนาทานแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารแล้วก็ถวายพระพรลากลับสู่วัดเวฬุวัน ดอกไม้ทั้งหลายเหล่านั้นก็ล้อมพระองค์มาตราบเท่าถึงพระวิหาร ดอกไม้จึงได้ตกเรี่ยรายอยู่ที่ซุ้มพระทวารนั่นแล

ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารมีพระทัยเลื่อมใสในการทำพุทธบูชาจึงรับสั่งหานายสุมนะ เข้ามารับพระราชทานทรัพย์ทั้งหลาย ๗ สิ่ง สิ่งละ ๘ คือ ช้าง ๘ ม้า ๘ ข้าหญิง ๘ ข้าชาย ๘ นารีรูปงาม ๘ บ้านส่วย ๘ เงิน ๘ พันกหาปณะ นายสุมนะได้รับพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากด้วยผลที่ทำพุทธบูชา พระอานนท์เถระจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า นายสุมนะกระทำพุทธบูชานี้จะมีผลอานิสงส์ไปในภายภาคหน้าเป็นประการใด พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ดูกรอานนท์ นายสุมนะกระทำพุทธบูชาครั้งนี้เท่ากับเป็นการสละชีวิตบูชาตถาคต เพราะว่าขณะนำดอกไม้มาบูชามิรู้ว่าพระราชาจะลงโทษหรือไม่ประการใด ด้วยกุศลนี้ต่อไปในภายหน้านายสุมนะจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิตลอดถึงแสนกัป จะรื่นเริงบันเทิงเสวยสุขอยู่แต่ในมนุษย์โลกและเทวโลกเท่านั้น ครั้นในชาติสุดท้ายจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มีนามว่าพระสุมนะ เข้าสู่พระนิพพานเป็นที่สุดดังนี้
นิทานเรื่องพราหมณ์จุเฬกสาฎก

ยังมีนิทานเกี่ยวกับการทำพุทธบูชาจะได้นำมาเพื่อสร้างศรัทธาปสาทะแก่มหาชน ดังได้ยินมาว่า เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าจุเฬกสาฎก มีชีวิตอยู่ในเมืองสาวัตถีพราหมณ์นั้นทั้งภรรยาและสามี มีผ้านุ่งกันคนละผืนแต่มีผ้าห่มผืนเดียวต้องผลัดกันใช้ ผ่านมาสิ้นกาลนาน อยู่มาวันหนึ่งมีผู้มาร้องป่าวให้ชนทั้งหลายไปฟังธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์สามีจึงปรึกษาภรรยาว่า ดูกรนางพราหมณีผู้มีหน้าอันเจริญ เราทั้งสองจะไปฟังธรรมพร้อมกันนั้นไม่ได้ ด้วยมีผ้าห่มผืนเดียวเปลี่ยนกันใช้อยู่ เจ้าเป็นหญิงจงไปฟังธรรมในตอนกลางวัน ส่วนตัวฉันจะอยู่บ้าน ครั้นเมื่อเจ้ากลับมาแล้ว ก็จะได้เอาผ้าห่มที่เรามีกันอยู่ผืนเดียวนั้น ฉันจะได้ใช้มันห่มออกจากบ้านไปฟังธรรมในตอนกลางคืน เมื่อปรึกษากันดังนี้แล้ว เมื่อวันแสดงธรรมมาถึง ภรรยาก็ไปฟังธรรมในตอนกลางวัน ครั้นเวลาสายัณห์ภรรยากลับมาสามีก็ไปฟังธรรมในตอนกลางคืน ในเพลานั้นก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแสดงธรรมเทศนา ก็ทรงพิจารณาดูนิสัยของสัตว์ พระองค์ก็ทรงรู้ชัดว่าพราหมณ์นี้จะเลื่อมใสในการบูชา พระศาสดาจึงตรัสเทศนาในเรื่องทานศีลภาวนาเป็นอเนกปริยาย เป็นต้นว่าสรรพนรชนชายหญิงทั้งหลายที่มิได้ทำทานการบูชาเมื่อเกิดไปในภายภาคหน้าจะเป็นคนยากจนอนาถา หาข้าวจะกินหาผ้าจะนุ่งห่มมิได้ พราหมณ์นั้นได้ฟังธรรมเทศนาก็บังเกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส คิดจะเปลื้องผ้าห่มบูชาแก่พระพุทธเจ้า ขณะนั้นความตระหนี่ก็บังเกิดขึ้นครอบงำไม่อาจจะทำบูชาได้ ครั้นนั่งฟังธรรมต่อไปถึงยามที่สอง พราหมณ์ก็บังเกิดความศรัทธาปรารถนาจะบูชาด้วยผ้าที่ตนห่ม ความตระหนี่อันเป็นอกุศลก็บังเกิดครอบงำซึ่งดวงจิต ไม่อาจเปลื้องปลดออกมาบูชา พราหมณ์นั้นก็นั่งฟังธรรมต่อไปถึงยามสาม จิตศรัทธาของพราหมณ์ก็เกิดกล้าหาญตัดความตระหนี่ในสันดานออกได้ ก็เปลื้องผ้าห่มออกจากกายเป็นพุทธบูชาและจึงเปล่งอุทานวาจาว่า "ชิตัง เม" แปลว่า เราชนะแล้วๆ ดังนี้ ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจอมกษัตริย์ก็ได้ประทับนั่งฟังธรรมอยู่ด้วยเมื่อทรงได้ฟังก็สะดุ้งตกพระทัย จึงให้หาพราหมณ์เข้ามาสู่ที่ใกล้ตรัสถามว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านชนะแก่สิ่งใด พราหมณ์ก็กราบทูลเหตุที่เป็นไปและว่า ข้าพระองค์ชนะข้าศึกภายในใจคือความตระหนี่ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ฟังเรื่องราวก็อัศจรรย์ใจว่า พราหมณ์นี้มีผ้าห่มอยู่ผืนเดียวผลัดกันใช้กับภรรยายังสามารถตัดใจถวายเป็นพุทธบูชาได้ จึงทรงประทานผ้าให้ ๒ คู่ พราหมณ์ก็นำไปถวายเป็นพุทธบูชาอีก ทรงประทานให้อีก ๔ คู่ พราหมณ์ก็ถวายเป็นพุทธบูชาหมด ทรงประทานให้อีก ๘ คู่ พราหมณ์เกรงว่าจะทรงพิโรธว่าไม่รับของพระองค์จึงรับผ้าไว้ ๒ คู่ นอกนั้นถวายเป็นพุทธบูชาหมด พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นดังนั้นก็เกิดศรัทธาในการบูชาของพราหมณ์ จึงประทานผ้ากัมพลอันมีราคามากให้แก่พราหมณ์อีก ๒ ผืนแล้วจึงเสด็จกลับพระราชวัง ครั้นพราหมณ์เมื่อได้ผ้ากัมพลมาจึงคิดว่าผ้านี้มีราคาสูงไม่สมควรแก่เราที่จะนำมาใช้ ควรจะนำไปบูชาพระพุทธเจ้า พราหมณ์คิดดังนั้นแล้วก็นำผ้าผืนหนึ่งไปทำเป็นเพดานในที่บรรทมของพระพุทธเจ้า อีกผืนหนึ่งนำไปทำเพดานในที่พระองค์มานั่งฉันจังหัน ครั้นในเวลาเย็นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่วิหารได้เห็นรัตนกัมพลทั้ง ๒ ผืนนั้นก็จำได้ทรงมีพระทัยอันเต็มไปด้วยปิติ ทรงดำริว่าพราหมณ์ผู้นั้นรู้จักบูชาในบุคคลที่ควรบูชา จึงได้พระราชทานทรัพย์อย่างละ ๔ แก่พราหมณ์ คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ ข้าหญิง ๔ ข้าชาย ๔ นารี ๔ บ้านส่วย ๔ เงิน ๔ พัน ดังนี้ หลังจากวันนั้นพระภิกษุได้สนทนากันถึงความอัศจรรย์ว่า ได้ยินว่าพราหมณ์ชื่อ จุเฬกสาฎกได้ถวายผ้าเป็นพุทธบูชาแล้วได้รับพระราชทานทรัพย์สิ่งละ ๔ จากพระเจ้าปเสนทิโกศล นับว่าเกิดอานิสงส์ในปัจจุบันทันตาเห็น เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าหากแม้นว่าพราหมณ์นั้นทำการบูชาเราในยามต้นก็จะได้รับพระราชทานทรัพย์สิ่งละ ๑๖ หรือมิเช่นนั้นถ้าพราหมณ์นั้นทำการบูชาเราในยามที่สองก็จะได้รับพระราชทานทรัพย์สิ่งละ ๘ แต่ทีนี้พราหมณ์ปล่อยให้จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของความตระหนี่ในสองยามแรก มาทำการบูชาเราในยามที่สามจึงได้รับพระราชทานทรัพย์สิ่งละ ๔ เท่านั้น จากนั้นพระองค์จึงตรัสสอนว่าดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อบุคคลปรารถนาจะสร้างความดีต่างๆ มีทานเป็นต้น พึงกระทำในทันทีทันใดเพราะถ้าหากปล่อยให้เนิ่นเวลาช้าออกไปความตระหนี่ที่นอนเนื่องในสันดานอาจจะมาทำลายความศรัทธาที่จะประกอบการกุศลนั้นได้ ก็จะทำให้บุคคลนั้นเสื่อมจากบุญใหญ่ที่ควรจะได้รับด้วยประการฉะนี้
นิทานเรื่องนางโกสาตกี

บัดนี้จะชักนิทานมาเพื่อแสดงถึงอานิสงส์การบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ความว่าบุคคลผู้ใดมีความเลื่อมใสได้บูชาซึ่งพระบรมธาตุจะมีผลให้สำเร็จประโยชน์ในกุศลบารมีเป็นที่ยิ่ง ดังวัตถุนิทานว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูได้ไปเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากเมืองกุสินารา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส มาก่อเป็นเจดีย์ใหญ่ที่กลางนครราชคฤห์ เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้บูชาแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังได้ยินมาว่า ยังมีหญิงผู้หนึ่งมีปกติอยู่ในเมืองราชคฤห์มีจิตศรัทธาปรารถนาจะบูชาพระบรมธาตุ ได้เที่ยวแสวงหาดอกไม้ก็เจอดอกโกสาตกีอันมีสีเหลืองสดใส ภาษาไทยแปลว่าดอกบวบ นางก็ชื่นชมโสมนัสหรรษานำดอกไม้นั้นมาออกจากบ้านด้วยความศรัทธาปสาทะที่จะได้บูชาพระพุทธเจดีย์ ครั้งนั้นยังมีวัวแม่ลูกอ่อนพาลูกสัญจรมาตามมรรคาวิถี ก็ขวิดนางกุมารีล้มลงในมรรคา นางก็ทำกาลกิริยาตาย ยังไม่ทันเดินไปถึงทันได้ไหว้พระเจดีย์ ครั้นดับจิตลงด้วยอานิสงส์ที่นางมีเจตนาแก่กล้าจะไปไหว้ทำพุทธบูชาพระมหาเจดีย์ ด้วยกุศลจิตนี้จึงนำให้นางไปอุบัติบังเกิดเป็นนางฟ้าอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเทพธิดาพันหนึ่งเป็นบริวาร เทพยดาทั้งหลายจึงได้เรียกนางว่า นางโกสาตกีเทพธิดา มีรูปอันงามโสภาน่าพึงชม อุดมไปด้วยสิริลักขณา มีอำนาจวาสนาอยู่ในภูมิอันเป็นทิพย์ ก็ด้วยผลจากที่มีจิตคิดจะไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์

ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราช เสด็จไปประภาสสวนนันทวันอุทยาน ก็ได้ทัสนาการเห็นนางโกสาตกีเทพธิดาจึงมีเทวบัญชาไต่ถามว่า ดูกรนางเทพธิดาผู้มีรูปทรงโสภาและเครื่องประดับอันงามทั้งวิมานกาญจนะระยับประดับไปด้วยแก้ว ทั้งรัศมีก็วาวแววไปด้วยแสงสว่าง หมู่เทพธิดาคณานางก็แวดล้อมเป็นบริวาร ท่านได้สร้างกุศลมาเป็นประการใด นางโกสาตกีเทวธิดาจึงได้สำแดงบุพพกุศลของตนถวายโดยบรรยายที่ได้กล่าวมาแล้วแต่หลังพระอินทร์ได้ทรงฟังซึ่งผลแห่งการสักการบูชา อันนางโกสาตกีเทวธิดาแสดงถวายทุกประการ ท้าวมัฆวานก็สรรเสริญผลสักการบูชาแก่มาตลีเทพบุตรว่า ดูกรมาตลี เครื่องบูชาจะน้อยก็ดีจะมากก็ดีไม่เป็นประมาณในการกุศล เพราะว่ากุศลจะมากจะน้อยนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีจิตเลื่อมใสมากหรือเลื่อมใสน้อย ฝ่ายว่าพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตามหรือดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานไปแล้วก็ตาม เมื่อบุคคลเหล่าใดมามีจิตเลื่อมใสกระทำพุทธบูชาอยู่ย่อมมีผลเสมอกัน เมื่อพระอินทร์มีเทวบัญชาดังนี้แล้วก็บังเกิดจิตศรัทธาน้อมนำเอาเครื่องสักการบูชาอันเป็นทิพย์ไปทำวันทนาการอภิวาทกราบไหว้พระบรมธาตุเกศแก้วจุฬามณีเจดียสถานอันอลังการอยู่เทวสถานสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วจึงได้กลับสู่เวชยันต์วิมานด้วยจิตผ่องใสปรีดาปราโมทย์ในการระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยประการฉะนี้

อนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกถึงบุคคลที่สมควรแก่การนำกระดูกไปบรรจุเจดีย์ คือเมื่อว่าบุคคลเช่นนี้ตายแล้วสมควรก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่ทาง ๔ แพร่ง ให้มนุษย์และเทวดาได้กราบไหว้ บุคคลเช่นนั้นมี ๕ ประเภทคือ ๑.พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒.พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓.พระอรหันต์ ๔.พระอนาคามี ๕.พระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์โดยธรรม เพราะเหตุว่าบุคคลใดได้มีโอกาสบูชาพระธาตุเจดีย์อันดับ ๑ ถึง ๔ ย่อมได้รับอานิสงส์คือได้เข้าถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ส่วนการบูชาธาตุเจดีย์อันดับ ๕ นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติเท่านั้นเพราะว่าพระเจ้าจักรพรรดิ์ท่านยังไม่เข้าสู่โลกุตตรภูมิ

อานิสงส์การสร้างเจดีย์

บัดนี้จักว่าด้วยอานิสงส์การสร้างพระเจดีย์ ครั้งเมื่ออดีตกาลผ่านมาแล้ว ๙๔ กัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระสิทธัตถะ ทรงประกาศพระศาสนาจนตลอดพระชนมายุจึงได้เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ชาวเมืองทั้งหลายก็พากันก่อพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งมีจิตศรัทธาได้น้อมนำมาซึ่งปูนก้อนหนึ่งใส่ลงในระหว่างอิฐที่ก่อนั้น อันมาณพนี้ทำบุญเพียงแค่นั้นครั้นทำลายเบญจขันธ์สิ้นชีพ ด้วยอำนาจแห่งกุศลนั้น ท่านได้เสวยสมบัติอยู่ในมนุษย์และเทพยดาตลอดกาลนานสิ้น ๙๔ กัป มิได้ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ครั้นมาถึงศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้ ก็ได้บังเกิดในตระกูลที่เลื่อมใสในพระศาสนา ครั้นอายุเจริญวัยขึ้นมาก็ได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา ขวนขวายเจริญวิปัสสนาก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทประหารชำระสันดานให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ท่านจึงได้เปล่งอุทานว่า "บุคคลใดมีจิตเลื่อมใส ได้กระทำการสักการบูชาสิ่งอันควรบูชา มีองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น พร้อมทั้งปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพล ย่อมมีอานิสงส์จะนับประมาณมิได้ ส่งผลให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง" โดยนัยที่วิสัชนามานี้แล

อานิสงส์การปฏิสังขรณ์เจดีย์

ยังมีนิทานอีกเรื่องหนึ่ง ดังได้ยินมาในครั้งศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระพุทธกัสสป ยังมีบุรุษผู้หนึ่งมีจิตศรัทธากระทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ชำรุดองค์หนึ่ง ความว่าบุรุษนั้นเห็นพระเจดีย์หักพังทลาย จึงมีความขวนขวายก็สร้างขึ้นให้ดีเป็นที่สักการบูชา นำมาซึ่งเสาต้นหนึ่งปักลงเป็นแกนใน แล้วก่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ศรีสง่าให้เป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาแก่เทพยดาและมนุษย์ บุรุษนั้นครั้นแตกกายทำลายเบญจขันธ์ ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกามีนามว่า ท้าวเวสสุวัณ มีตะบองเป็นอาวุธ เป็นใหญ่กว่าหมู่ยักษ์ทั้งหลาย ทั้งยังมีตะบองใหญ่เป็นอาวุธสุดวิเศษ ก็ด้วยกุศลบารมีที่ได้สร้างเสาเป็นฐานค้ำเจดีย์ให้มั่นคง ตะบองนี้มีอานุภาพมากจะขว้างไปที่ใดแม้เป็นเขาหินใหญ่ก็จะแหลกสลายกลายเป็นจุณฝุ่นละเอียด ฉะนั้นท่านผู้นับถือพระพุทธศาสนา จงขวนขวายเจริญในทาน ศีล ภาวนา อย่าเกียจคร้าน ก็จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญเดชบารมีแก่กล้าโดยทั่วหน้ากันด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์แห่งการทำสังฆบูชา

บัดนี้จักได้เล่าเรื่องอานิสงส์การบูชาพระสงฆ์ ดังมีนิทานเรื่องหนึ่งท่านสาธกว่า ยังมีหญิงผู้หนึ่ง อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ เป็นหญิงชาวนาอยู่รักษาข้าวสาลี คั่วข้าวตอกกินเป็นอาหาร ครั้งนั้นยังมีพระมหาเถระผู้เป็นองค์อรหันต์องค์หนึ่งนามว่า พระมหากัสสปะ ท่านนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในถ้ำชื่อว่า ปิปผลิ เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นครบกำหนดแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็ออกจากสมาธิพิจารณาถึงสถานที่ที่จะไปโคจรบิณฑบาต ก็ได้เล็งญาณเห็นหญิงผู้นั้นด้วยทิพยจักษุว่าหญิงผู้นี้มีจิตศรัทธาจะถวายอาหารบิณฑบาตแก่อาตมาได้ จึงได้นุ่งสบงทรงจีวรมีกรถือบาตร ลีลาศจรมาสู่ที่อยู่ของนางกุมารี นางเห็นก็บังเกิดจิตยินดีร้องเชิญอาราธนา นำข้าวตอกมาใส่บาตรพระมหาเถระ แล้วจึงตั้งจิตเจตนาปรารถนาว่า ด้วยกุศลนี้ขอให้ข้าพเจ้าจงมีส่วนแห่งการรู้ธรรมวิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นประจักษ์แล้ว พระมหาเถระจึงได้กล่าวอนุโมทนาว่าจงเป็นดังนั้น ความปรารถนาที่ท่านตั้งใจไว้นี้จงสำเร็จเถิด พระมหาเถระก็เดินจากไป นางกุมารีดีใจเดินไปตามมรรคา ยังมีงูเห่าตัวหนึ่งอยู่ในคันนา ครั้นนางเดินมาก็ขบกัดนางจนล้มลงไป จิตของนางก็ผูกพันเลื่อมใสอยู่ในกุศลของบิณฑบาตทาน ครั้นแตกกายวายปราณก็ไปบังเกิดในดาวดึงส์สวรรค์มีวิมานทองอันโสภาสูง ๑๒ โยชน์ พร้อมด้วยนางฟ้าพันหนึ่งเป็นบริวารมีนามว่า ลาชะเทวธิดา ครั้นนางพิจารณาซึ่งสมบัติก็รู้แจ้งชัดว่า เกิดได้ด้วยผลที่ตนถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะเถระเจ้า นางก็จึงคิดปรารถนาที่จะสร้างกุศลเพิ่มพูนเพื่อให้ทิพยสมบัติของตนมั่นคง จึงได้ลงจากสวรรค์เทวสถานเพื่อมากวาดลานหน้ากุฏิที่อยู่ของพระเถระ พร้อมทั้งตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ครบครันบริบูรณ์ ครั้นตอนเย็นพระมหากัสสปะเถระเจ้ากลับมาเห็นอาวาสที่ตนอาศัยสะอาดสะอ้านเรียบร้อยผิดธรรมดาก็รู้สึกแปลกแต่พระเถระก็เข้าใจว่าคงจะมีภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยมาทำ เป็นอย่างนี้มาจนเข้าวันที่ ๓ พระเถระแปลกใจจึงได้อยู่คอยดูมิได้จาริกไปไหนก็จึงได้รู้ว่ามีนางเทพธิดามาปัดกวาดให้ แต่เนื่องจากพระมหากัสสปะเป็นผู้ที่เคร่งครัดเป็นอย่างยิ่งจึงได้ไล่นางเทพธิดาไปมิให้มาทำต่อ แม้นางเทพธิดาจะอ้อนวอนขอเป็นหลายหนพระมหาเถระก็มิได้ผ่อนปรนยินยอม นางเทพธิดาก็เสียใจร้องไห้เหาะไปในอากาศ ฝ่ายพระบรมโลกนาถศาสดาทรงได้ยินเสียงร้องไห้ของนางเทพธิดาด้วยทิพยโสต ก็ทรงรู้แจ้งเรื่องราวโดยตลอดด้วยพระญาณ พระองค์มีพระกรุณาจึงทรงเปล่งพระรัศมีมีอาการราวกับนั่งอยู่เฉพาะหน้า ตรัสพระสุรเสียงโปรดนางว่า ดูกรนางเทพธิดา จงอย่าเสียใจ อันการสำรวมสังวรนั้นไซร้ย่อมเป็นกิจหน้าที่อันเคยชินของกัสสปะผู้เป็นบุตรของเราตถาคต แต่ว่าการกระทำของเธอผู้เป็นเทพธิดานั้นก็ช่างน่าสรรเสริญ เพราะว่าบุคคลทำกุศลคราวเดียวนั้นอย่าเพิ่งสำคัญว่าเพียงพอ จงทำให้เนืองๆบ่อยๆ กุศลจึงจะพอกพูน อันจะนำความสุขความเจริญมาให้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางเทพธิดาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล มีปิติร่าเริงเบิกบานกราบแทบเท้านมัสการลาพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับไปสู่วิมานของตน ด้วยความอิ่มเอมหรรษาปราโมทย์ศรัทธาในธรรมคือมรรคผลเบื้องต้นที่ตนเพิ่งประสบพบพานบรรลุด้วยประการฉะนี้แล ดังที่ข้าพเจ้าได้สาธกยกนิทานเพื่อแสดงอานิสงส์แห่งการบูชาก็เห็นสมควรจะสมมุติยุติไว้แต่เพียงนี้

อานิสงส์การบูชา เรียบเรียงมาจาก คัมภีร์มงคลทีปนี รจนาโดย พระสิริมังคลาจารย์ สำนวนแปลของ พระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน) จัดพิมพ์โดย วัดเกตุมดีศรีวราราม ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ โทร.๐๒-๒๒๒-๓๗๙๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น