เนื้อหาบางส่วนจากปาฐกถาธรรม “ปาฎิหาริย์แห่งปัจจุบันขณะ” โดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ วันที่ 18 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังธรรมกว่า 2,500 คน
สำนักข่าวบางบ๊วย
การดำรงอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันขณะ
ตอนที่ฉันบวชเป็นสามเณร พระอาจารย์มอบหนังสือบทกวีแห่งสติให้ฉันท่องจำและฝึกปฏิบัติ บทแรกคือ “ตื่นนอนยามเช้า”
“ตื่นนอนเช้านี้ ฉันยิ้ม ฉันรู้ดีว่ายังคงมี 24 ชั่วโมงแห่งวันใหม่
ตั้งปณิธานใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมในทุกขณะ และมองทุกสรรพชีวิตด้วยสายตาแห่งความรัก”
เมื่อเราท่องบทกวีแห่งสตินี้พร้อมตามลมหายใจ เราจะกลับมามีชีวิตมีชีวา เราจะตระหนักรู้ได้ทันทีว่า เรามีชีวิตที่เป็นดั่งของขวัญอีก 24 ชั่วโมง เมื่อเราปฏิบัติเช่นนี้ เราเป็นสุขได้ในทันที สำหรับฉัน การมีชีวิตคือความมหัศจรรย์
ในเวียดนาม ตอนที่ฉันยังเป็นสามเณรอยู่ ภิกษุไม่ขับรถและไม่ขี่จักรยาน ฉันจึงเป็นสามเณรคนแรกในเวียดนามที่ใช้จักรยานในการเดินทาง ฉะนั้นฉันจึงแต่งบทกวีเพื่อฝึกปฏิบัติการขี่จักรยาน หลังจากนั้นฉันยังเขียนกวีแห่งสติในการรับโทรศัพท์ และในการเดินลงจากเครื่องบิน เพื่อเตือนให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรในขณะนี้
การดำรงอยู่อย่างเป็นสุขในขณะปัจจุบันคือคำสอนที่สำคัญมากในพุทธศาสนา เราไม่จำเป็นต้องวิ่งไปในอนาคตเพื่อแสวงหาความสุข เพียงแต่นำกายและใจมาดำรงด้วยกันอย่างตั้งมั่น เธอจะสามารถสัมผัสกับความสุขที่มีมากเพียงพออยู่แล้ว นิพพาน ดินแดนสุขาวดี หรือความสุขดำรงอยู่ตรงนี้ในขณะปัจจุบัน หากเธอเดินในวิถีแห่งสติได้ เธอจะสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้ พวกเราหลายคนติดยึดกับความเศร้าโศกในอดีต ความลังเลสงสัยในอนาคต และความทุกข์ในปัจจุบัน เมื่อเรารู้วิธีการฝึกปฏิบัติ เราจะปล่อยวางความทุกข์ต่างๆได้ การเดินในวิถีแห่งสติเป็นการฝึกปฏิบัติที่ประเสริฐมาก ทุกย่างก้าวนำเรากลับสู่ปัจจุบันขณะ ช่วยให้เราเป็นอิสระจากอดีตและอนาคต เพียงแค่ฝึกประสานลมหายใจแห่งสติกับทุกย่างก้าวเท่านั้น
อยู่ตรงนั้นเพื่อเธอที่รัก
เมื่อเธอรักใครคนหนึ่ง สิ่งที่เธอจะมอบให้กับเขาได้คือการอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยม เธอจะทำอย่างนั้นได้เมื่อเธอฝึกเจริญสติ เธอมองไปยังดวงตาของคนที่เธอรักและกล่าวว่า “ที่รัก ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ”
คุณพ่อของเด็กชายคนหนึ่งเป็นคนที่มีฐานะดี แต่ไม่มีความสุข เพราะทำงานยุ่งอยู่เสมอ เขาถามลูกชายว่า “พรุ่งนี้เป็นวันเกิดลูก ลูกอยากได้อะไร” สิ่งที่ลูกชายขอจากคุณพ่อ คือ การอยู่ด้วยกัน หากคุณพ่อท่านนั้นฝึกเจริญสติ เขาจะสามารถมองไปยังดวงตาของลูกชายและพูดว่า “ลูกรัก พ่ออยู่ที่นี่เพื่อลูก” ของขวัญชิ้นนี้เป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับคนที่เธอรัก นี่คือคาถาแห่งรักข้อแรกที่เธอฝึกได้ทุกวัน
คาถาแห่งรักข้อที่สอง คือ เธอตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของคนที่เธอรัก “ที่รัก ฉันรู้ว่าเธออยู่ตรงนั้น ยังมีชีวิตอยู่ และฉันมีความสุขมาก” เธอจะเอ่ยคาถานี้ได้ ก็ต่อเมื่อเธอดำรงอยู่กับตนเองอย่างเต็มเปี่ยมได้ ซึ่งทำให้เธอตระหนักรู้ถึงความรักของเธอที่มีต่ออีกฝ่าย และตระหนักรู้ว่าอีกฝ่ายยังมีชีวิตอยู่ตรงหน้าเธอ
เมื่อเธอสังเกตเห็นว่าคนที่เธอรักเป็นทุกข์ เธอสามารถใช้คาถาแห่งรักข้อที่สาม “ที่รัก ฉันรู้ว่าเธอเป็นทุกข์ ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ” หากเธอเป็นทุกข์ แต่คนที่เธอรักไม่รู้และไม่เข้าใจเธอ เธอย่อมเป็นทุกข์ แต่หากเธอเป็นทุกข์ และอีกฝ่ายรับรู้ เธอจะรู้สึกเบาขึ้นในทันที เธอนำคำสอนเหล่านี้ของพระพุทธองค์ มาใช้ในชีวิตประจำวันได้
การเจรจาแห่งสันติ
เรานำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสร้างสันติสุขให้กับสังคม ประเทศชาติ และโลกได้ ที่หมู่บ้านพลัม เราเชิญชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์มาร่วมงานภาวนา ตอนแรกทุกคนต่างไม่ไว้ใจกัน ดังนั้นในช่วงแรกของงานภาวนา เราจึงย้ำให้พวกเขาฝึกปฏิบัติกลับมาดำรงอยู่กับลมหายใจ โอบอุ้มความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นการฝึกอานาปานสติ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในร่างกายและจิตใจของพวกเขา
อาทิตย์ต่อมา เราเชิญให้พวกเขาแบ่งปันความทุกข์ในใจของเขา และแนะให้ไม่กล่าวตำหนิอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้อีกฝ่ายมีโอกาสรับฟังด้วยความเข้าใจ ขอเพียงเล่าถึงความทุกข์ที่เราประสบเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจ ฝ่ายที่รับฟังก็จะนั่งนิ่งๆ โดยไม่ขัดจังหวะการพูดของอีกฝ่าย เพราะพวกเขารู้ว่า พวกเขาจะมีโอกาสปรับความเข้าใจกันอีกในอนาคต เขาไม่จำเป็นต้องขัดจังหวะการแบ่งปันของอีกฝ่าย การฟังด้วยวิถีเช่นนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าความทุกข์ของอีกฝ่ายไม่แตกต่างจากความทุกข์ของตนเลย เมื่อเราเข้าใจความทุกข์ของอีกฝ่าย ความกรุณาจะเกิดขึ้นในจิตใจทันที
อาทิตย์ที่สามของงานภาวนา ทั้งสองฝ่ายทานอาหารด้วยกันและเดินจูงมือกันได้ ในวันสุดท้ายพวกเขาขึ้นมารายงานผลกับสังฆะ ที่หมู่บ้านพลัม เราจัดงานภาวนาเช่นนี้เป็นประจำ
สังคมของเราเต็มไปด้วยความรุนแรง ความแบ่งแยก และความโกรธเกลียด สิ่งเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนได้ด้วยการฝึกฟังอย่างลึกซึ้งและการเอ่ยวาจาแห่งรัก ฉันเชื่อว่าเหตุที่การเจรจาสันติภาพไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเราไม่ได้นำวิถึแห่งสติมาใช้ในการเจรจา เรามักกระตือรือร้นที่จะถกกันเรื่องสันติภาพ แต่ทั้งสองฝ่ายกลับมีแต่ความลังเลสงสัย ความโกรธ และความกลัว พวกเขาไว้ใจกันและกันไม่ได้ การเจรจาจึงไม่ประสบผล ในวิถีพุทธ เราจะแนะนำให้เขาใช้เวลา 1-2 อาทิตย์ฝึกเจริญสติเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในกายและใจ พวกเราซึ่งอยู่ในชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติจะช่วยหยิบยื่นพลังแห่งความสงบสุขให้พวกเขา และเมื่อทั้งสองฝ่ายสงบกายสงบใจได้แล้ว เราจึงจัดให้รับฟังกันด้วยความกรุณา เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความกรุณาในใจ การเจรจาเพื่อสันติภาพจึงเกิดขึ้นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น