เงินดอลลาร์ท่วมโลก!?
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ G 20 ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารธนาคารกลาง จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ รวมกับสหภาพยุโรป กลุ่ม G 20 นั้นมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 90% ของเศรษฐกิจโลก เมื่อได้มาประชุมกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ก็ไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องสงครามเงินสกุลโลก นอกจากการลงมติที่ว่า
“เห็นชอบให้สนับสนุนระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีมติให้ประเทศสมาชิกหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านการค้า”
ที่เสียงของกลุ่มประเทศ G 20 ไม่ดังหรือมีมาตรการที่ชัดเจนพอ ก็เพราะในที่ประชุมดังกล่าว มีความเกรงใจต่อมหาอำนาจ 2 ประเทศ ที่เป็นคู่กรณีของสงครามสกุลเงินโลกในครั้งนี้ นั่นก็คือ จีน และสหรัฐอเมริกา
ด้านหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ก่อหนี้อย่างมหาศาลและธนาคารกลางพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้จ่ายอย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่ต้องมีเงินตราต่างประเทศมาหนุนหลัง ซึ่งในปลายปีนี้คาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีหนี้สาธารณะและหนี้ของมลรัฐต่างๆ สะสมรวมกันถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นการพิมพ์เงินดอลลาร์โดยธนาคารกลางของอเมริกาให้กับรัฐบาลอเมริกากู้ประมาณ 7.10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมในช่วงหลังยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 4-5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยอเมริกาซึ่งเติบโตด้วยหนี้และพิมพ์เงินดอลลาร์นั้นมีขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 24% ของ GDP ทั้งโลกรวมกัน) แต่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอัตราการว่างงานที่ทะยานสูงขึ้น 10% (ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่กำลังเผชิญปัญหาหนักเช่นกัน)
ในขณะที่จีนเองก็ใช้ระบบควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนตรึงค่าเงินหยวนเอาไว้กับดอลลาร์สหรัฐ จนเงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง ได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดึงดูดนักลงทุนมาสร้างฐานการผลิตเข้ามาในจีนอย่างมหาศาล มีขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เล็กกว่าอเมริกา 2.8 เท่าตัว) แต่มีประชากรประมาณ 1,340 ล้านคน (มากกว่าอเมริกา 4.3 เท่าตัว) มีกำลังซื้อมหาศาล โดยในปีหนึ่งๆ จีนค้าขายระหว่างประเทศจนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปีละประมาณ 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนจะได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ด้านสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งสูญเสียความสามารถในการผลิตให้กับภูมิภาคเอเชียอย่างมหาศาล สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของแรงงานในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ทำให้ฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกาและยุโรปย้ายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง
การสูบความมั่งคั่งโดยกลุ่มกองทุน เฮดจ์ ฟันด์ ที่เข้าโจมตีค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย หรือทำกำไรจากการปั่นและทุบหุ้นในภูมิภาคนี้ในอดีต ได้สร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็คือ “ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ” สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่มีเงินมากไปไม่สามารถจะปล่อยกู้ให้กับภาคการผลิตที่แท้จริงให้มากเท่ากับเงินที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้ จึงหันไปเน้นการปล่อยในสินเชื่อให้กับกองทุนเก็งกำไรต่างๆ และลงทุนในตราสารต่างๆ ซึ่งรวมถึงปัญหาที่หนักที่สุดของสหรัฐอเมริกาก็คือการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือที่เรียกว่า Subprime Loan และก่อให้เกิดหนี้เสียอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนมีบริษัทขนาดใหญ่และกองทุนต้องล้มละลาย สร้างความเสียหายให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างใหญ่หลวง
ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการ QE (Quantitative Easing) ในปี 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาของธนาคารพาณิชย์ที่มีหนี้เสียเป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้ปล่อยสินเชื่อได้อย่างจำกัด ด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมารับซื้อตราสารและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์รวมกันประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหวังว่าจะให้ธนาคารพาณิชย์ได้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และมาดำเนินการเป็นปกติให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการได้
อเมริกาพยายามแก้ไขปัญหาของตัวเอง ด้วยการใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 10% ของ GDP และพยายามลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางให้ต่ำเข้าใกล้ 0% แต่กลับกลายเป็นว่าเงิน QE ที่ทุ่มลงไปครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้วกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นแทนที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ กลับนำเงินไปลงทุนกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาซึ่งเสี่ยงน้อยกว่า
อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาที่สูงถึง 10% เป็นผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องออกมาตรการ QE 2 ที่จะพิมพ์เงินออกมาเพื่อทุ่มเงินไปอีกประมาณ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คราวนี้จะเข้าไปซื้อในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา เมื่อใช้เงินจำนวนมหาศาลทยอยเข้าไปซื้อพันธบัตรก็จะทำให้ราคาซื้อขายในตลาดพันธบัตรสูงขึ้น และเป็นผลทำให้อัตราผลตอบแทนที่ได้ (Yield) ในตลาดซื้อขายพันธบัตรลดลง โดยหวังว่าจะบีบธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาหยุดลงทุนในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา แล้วหันกลับไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจของสหรัฐอเมริกาแทน
เอาเข้าจริง QE 2 ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของอเมริกาไม่ได้ไปปล่อยสินเชื่อตามวัตถุประสงค์ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา แต่กลับขนเงินดอลลาร์ไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ หุ้นในต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ เพราะนอกจากจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้วยังได้กำไรค่าเงินในประเทศในภูมิภาคเอเชียที่กำลังแข็งค่าขึ้นอีกด้วย
นายพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ให้ความเห็นเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่ถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจอเมริกาให้ตื่นขึ้นมาอย่างได้ผล อาจต้องใช้มาตรการ QE ถึงประมาณ 8-10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบจะเท่ากับทุนสำรองของทุกประเทศรวมกันทั้งโลกประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าหากมีเงินไหลเข้าสู่ระบบเช่นนั้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อได้จริงหรือไม่ หรือจะนำเงินลงทุนไปต่างประเทศอีก?
ปัญหาคือโครงสร้างภาคธุรกิจจริงขอสหรัฐฯ ได้สูญเสียภาคการผลิตให้กับภูมิภาคเอเชียเป็นเวลานานแล้ว ธุรกิจในอเมริกาส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และมาบวกกำไรขายต่อในลักษณะค้าปลีก และทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ชั้นสูงแล้วคิดค่าใช้จ่ายสูงเพื่อดูดความมั่งคั่งกลับคืนสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น สินค้า Software, คอมพิวเตอร์, ยารักษาโรค, เทคโนโลยีการแพทย์ ผ่านเครื่องมืออย่าง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร แต่ก็ไม่สามารถมาทดแทนการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ แอปเปิล ได้ผลิตโทรศัพท์ไอโฟน ในประเทศจีน เพราะต้นทุนต่อเครื่องต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐ (600 บาท) ซึ่งเป็นราคาหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ปรับค่าแรงทั่วประเทศแล้ว แต่แอปเปิลได้บวกกำไรให้กับเฉพาะบริษัทของตัวเองไม่ต่ำกว่า 30 เท่าตัวเมื่อเทียบกับต้นทุนกระบวนการผลิตในประเทศจีน เช่นเดียวกับสินค้าในสหรัฐอเมริกาก็บวกกำไรค้าปลีกกัน 3-4 เท่าตัวของราคาขายหน้าโรงงาน
ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 209 บาท/ วัน ในขณะที่เมืองเสิ่นเจิ้นประเทศจีน มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 179 บาท/วัน ในขณะที่แรงงานขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกาคิดเป็น “ชั่วโมง” ละ 217.5 บาท หรือวันหนึ่งทำงาน 8 ชั่วโมงก็จะได้วันละ 1,740 บาท
ค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาที่สูงกว่าจีนถึง 10 เท่าตัว ดังนั้น ต่อให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามสภาพความเป็นจริง ฐานการผลิตก็คงจะไม่ย้ายกลับไปที่สหรัฐอเมริกาอยู่ดี การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในภาคธุรกิจจริงก็ยังคงต้องประสบปัญหาต่อไป
ความจริงสหรัฐอเมริกาไม่เคยกลัวว่าจะประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายหนี้ในประเทศ หรือหนี้ต่างประเทศ ไม่เคยกลัวการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้อย่างไม่มีกฎเกณฑ์ และไม่จำกัดจำนวน เพียงแต่วิกฤตการณ์ครั้งนี้มาถึงจุดที่ทุกประเทศเกิดความไม่ไว้วางใจต่อเงินสกุลดอลลาร์อย่างรุนแรงพร้อมๆ กันทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ภายหลังจากมาตรการ QE 2 ได้ออกมา ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศทั่วโลกได้มีความกังวลใจต่อการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของตัวเองที่กำลังด้อยค่าลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้ทั่วโลกพยายามนำเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาไปลงทุนสินทรัพย์อย่างอื่นให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในรูปเงินสกุลท้องถิ่นในเอเชีย หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย แร่ธาตุ และน้ำมัน ที่มูลค่าทะยานสูงเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นผลทำให้เงินดอลลาร์ร่วงอ่อนค่าลงไม่หยุด
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหุ้นของไทยและทั่วโลกที่ทะยานขึ้นมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของการไหลทะลักของเงินดอลลาร์ที่ท่วมโลกแล้วพยายามนำเงินดอลลาร์เข้ามาแปลงเป็นสินทรัพย์เป็นสกุลเงินบาทเพื่อเก็งกำไรทั้งหุ้นและค่าเงิน
โดยปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นกว่า 20 เท่าตัวเมื่อเทียบกับผลประกอบการ ซึ่งถือว่าสูงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว ค่าเงินบาทใน 10 เดือนแรกแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 10.2% จากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ช้อนซื้อเพื่อปั่นราคาและทุบเทขายทำกำไรไปแล้วหลายระลอก หากรัฐบาลและแบงก์ชาติยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจนออกมา นอกจากแมงเม่าจะต้องถูกเผาไหม้ไปในตลาดหุ้นแล้ว เงินบาทจะไร้เสถียรภาพส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตในประเทศรุนแรงยิ่งกว่านี้อย่างแน่นอน
ทั้งยูโรและดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก (รวมถึงแบงก์ชาติไทย) ได้พยายามเปลี่ยนสัดส่วนไปถือทองคำมากขึ้น เป็นผลทำให้มูลค่าทองคำสูงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ประเทศจีนได้นำเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองของตัวเองไปลงทุนเหมืองแร่ในต่างประเทศ เช่น ทองแดง เหล็ก และแหล่งพลังงาน เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่จะใช้ได้จริงในเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง
เมื่อหลายประเทศคิดจะตุนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็จะพบว่าทองคำในโลกมีอยู่ประมาณ 30,535.6 ตัน ผู้ที่ถือครองทองคำสูงสุดในโลกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ถือครองทองคำสูงถึง 8,133.5 ตัน รองลงมาอันดับ 2 คือ จีนถือครองทองคำอยู่ที่ 4,216.4 ตัน ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ถือครองทองคำอยู่ประมาณ 99.5 ตัน นั่นย่อมหมายความว่าสหรัฐอเมริกาที่ก่อหนี้มหาศาลด้านหนึ่ง แต่ก็มีทองคำที่มีมูลค่าสูงขึ้นจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่าเช่นเดียวกัน
ทำให้ย้อนหวนนึกถึง “ทองคำ” ที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโณ ที่ได้ระดมประชาชนที่รักชาติมาสะสมเอาไว้ในทุนสำรองเงินตราเมื่อหลายปีติดต่อกันนั้น เป็นการเลือกทรัพย์สินเพื่อเก็บเอาไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศได้ถูกต้องและแม่นยำกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยิ่งนัก
ขณะนี้สหรัฐอเมริกาได้อัตราเงินเฟ้อทยอยสูงเพิ่มขึ้นสมใจ แต่เงินเฟ้อครั้งนี้เกิดจากการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ทำให้ประชาชนในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน ในขณะที่ภาวะคนก็ยังตกงานเป็นจำนวนมาก และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีปัญหาอยู่ สร้างความกดดันต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง
อาการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งสำคัญ เงินดอลลาร์และเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น