++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บำนาญแห่งชาติ : ความอุ่นใจจวบสิ้นอายุขัย

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 8 พฤศจิกายน 2553 15:43 น.


อายุขัยคนไทยโดยเฉลี่ย ชาย 69.9 ปี หญิง 74.9 ปี นั่นหมายความว่าห้วงเวลาหลังวัยเกษียนถึงเสียชีวิตของคนไทยไม่น้อยกว่าสิบปีนั้นจำเป็นต้องมีรายได้ค้ำจุนชีวิตหรือไม่ก็ครอบครัวคอยดูแล แต่ทว่าในความเป็นจริงกลับขาดแคลนทั้งสองสิ่ง ยิ่งรายได้ไม่ต้องกล่าวถึงเพราะปัจจุบันผู้สูงอายุยากไร้จำนวนมหาศาลมีรายได้ในชีวิตหนึ่งเดียวจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือนเท่านั้น

ฉะนั้น การสร้างหลักประกันบำนาญชราภาพตลอดชีวิตและจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าโดยไม่แบ่งแยกอาชีพหรือสถานภาพการทำงานผ่านเครื่องมือ ‘การออม’ โดยคงหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกกองทุนในระดับหนึ่งและรัฐบาลมีส่วนสนับสนุนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมสูงอายุไทย

ทั้งนี้ ด้วยการเปิดกว้างให้บุคคลสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกของกองทุน จะยกเว้นก็เฉพาะข้าราชการ สามารถสะสมเงินในระบบบำนาญอย่างต่อเนื่องได้ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานจากในระบบไปนอกระบบหรือนอกระบบไปในระบบ โดยรัฐบาลให้การสมทบเท่าเทียมกันนั้นจะทำให้คนไทยสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงินยามชราภาพได้มากขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนข้นแค้นและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำอย่างคนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และเกษตรพันธสัญญา จะเข้าถึงระบบบำนาญพื้นฐานนี้ได้

อีกทั้งการกำหนดให้สิทธิประโยชน์ด้านสถานภาพความเป็นสมาชิกที่จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อเสียชีวิต และจ่ายบำนาญให้กับสมาชิกตลอดชีพทุกคนตามมาตรการในร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ จะสามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงของวัยชราจวบจนวันสุดท้ายของชีวิตคนไทยได้ ‘มากกว่า’ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ที่กำหนดมาตรการให้สมาชิกสิ้นสภาพเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตาย หรือลาออก และสำหรับสมาชิกที่ออมมาน้อยจนทำให้เงินบำนาญที่คำนวณได้น้อยกว่าเงินบำนาญขั้นต่ำจะได้รับเงินดำรงชีพทุกเดือนเท่ากับบำนาญขั้นต่ำ โดยกองทุนจะจ่ายให้จนเงินที่ออมมาหมด

ด้วยถึงที่สุดแล้วการให้ลาออกได้จะทำให้เหลือแต่เบี้ยยังชีพ แต่หลักประกันที่มั่นคงยามแก่เฒ่าจะหายไป ไม่เท่านั้นถึงสมาชิกจะออมเงินมาน้อย ทว่าก็ควรจ่ายเป็นบำนาญชราภาพไปตลอดชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันมั่นคงตลอดอายุขัย และไม่ควรตัดคนออกจากกองทุนเพียงเพราะเงินออมของพวกเขาหมดตามมาตรการในร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เพราะคนที่รับเงินดำรงชีพส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือไม่สม่ำเสมอจึงออมได้น้อยและไม่สม่ำเสมอตามไปด้วย พวกเขาจึงควรได้รับการช่วยเหลือมากกว่าถูกทอดทิ้งโดยการจ่ายบำนาญชราภาพไปตลอดชีวิตควบคู่กับเบี้ยยังชีพ

ทั้งนี้ เพื่อการดำรงชีพชราอย่างมีศักดิ์ศรีจากการมีรายได้ในวัยหลังเกษียณที่มั่นคง และลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและภาครัฐในการดูแลผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการกองทุนจึงต้องมีคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติจำนวน 20 คน ที่กอปรด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไรเลือกตั้งกันเอง 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากการแต่งตั้งอีก 3 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ เข้ามาทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีในการบริหารจัดการระบบบำนาญที่มีอยู่ในทุกระบบให้มีเอกภาพ พร้อมกับกำกับดูแลกองทุนบำนาญแห่งชาติและบริหารนโยบายในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพตรงตามเจตนารมณ์ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ

เจตนารมณ์สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตยามชราภาพผู้สูงอายุไทยทุกคนของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้การพิจารณาเงินสะสมสมาชิก เงินสมทบของรัฐบาล และเงินบำนาญที่จะได้ ควบคู่ไปกับการพิจารณาเบี้ยยังชีพ เป็นไปด้วยดีมีความสอดคล้องต้องกัน และที่สำคัญอยู่บนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในส่วนของการจ่ายเงินสะสม และการบริหารจัดการกองทุนผ่านการสรรหามืออาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปบริหารกองทุนอย่างเต็มความรู้ความสามารถ มีธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ไม่นำพากองทุนขนาดใหญ่ที่เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชาติไปสู่การล่มสลาย

ภายใต้ความโดดเด่นของร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่มีเหนือกว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติในด้านการสร้างหลักประกันบำนาญชราภาพตลอดชีวิตและจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าโดยรัฐบาลสนับสนุนอย่างเสมอภาค การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกองทุน และการมีคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติ เช่นนี้ จะทำให้ผู้สูงวัยไทยส่วนใหญ่มั่นใจสบายใจไม่กังวลกับการหาเงินมาซื้อข้าวปลาอาหารในวันพรุ่งนัก ทั้งยังสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยในอนาคตด้วย

ดังนั้น การบริหารจัดการเงินออมของสมาชิกให้ได้รับผลตอบแทนในรูปบำนาญนับแต่วัยเกษียณถึงสิ้นอายุขัยไม่เพียงจะคลี่คลายวิกฤตสูงอายุที่กำลังกร่อนกัดสังคมไทยจนแหลกสลายเพราะสายสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างคนแก่เฒ่ากับหนุ่มสาวลูกหลานเหือดแห้งเท่านั้น ทว่ายังถากถางทางเพื่อสร้างสรรค์ระบบบำนาญแห่งชาติที่สร้างความเท่าเทียมลดทอนความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริงด้วย

ถึงแม้อัตราผลตอบแทนที่ได้จะไม่ทำให้มีเงินมากมายในกระเป๋า แต่ทว่าก็ ‘อุ่นใจจวบสิ้นอายุขัยได้อย่างมีศักดิ์ศรี’ เพราะบำนาญทุกบาทเกิดจากวินัยการออมและพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น