++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เรียนรู้จากภัยธรรมชาติ และภัยจากฝีมือมนุษย์

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ เมื่อเทียบกับพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ทำให้เราได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง

1) คลื่นยักษ์สึนามิเกิดขึ้นเพียงวันเดียว คือ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 หลังจากนั้น คลื่นก็หายไป น้ำแห้งไป ทิ้งไว้แต่ความเสียหายย่อยยับ ร้ายแรง มีคนตายเกือบ 5,000 คน

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2553 บางท้องที่น้ำเริ่มลด บางท้องที่น้ำก็เริ่มท่วม โดยรวม จึงมีสภาพท่วมต่อเนื่องยาวนาน (จนถึงปัจจุบัน กว่า 20 วัน มีรายงานคนตายเกือบ 100 คนแล้ว) โดยลักษณะของภัยน้ำท่วมครั้งนี้จะมีการขยายขอบเขต และเคลื่อนเขตพื้นที่น้ำท่วมไปเรื่อยๆ ตามการไหลของน้ำ

แตกต่างจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ลักษณะของภัยพิบัติเหมือนการโยนระเบิดเข้าใส่ แล้วมีคนล้มตายจำนวนมากทันที แต่ภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มีลักษณะเหมือนโรคระบาด ที่ลุกลาม ทำให้คนบาดเจ็บ ล้มตายไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่ที่น้ำท่วมระบาดไปถึง จึงสร้างความวิตกกังวล ความตึงเครียด และขัดขวางการประกอบอาชีพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงว่าน้ำท่วมจะระบาดไปถึง

2) คลื่นยักษ์สึนามิมีผลกระทบเฉพาะที่ เฉพาะจุด เพียงบางตำบล บางหมู่บ้านที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามันบางช่วง ในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง (ห่างจากชายทะเล 1 ก.ม. ก็ไม่ได้รับผลกระทบแล้ว)

แต่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้กินบริเวณกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเท่านั้น

นับตั้งแต่ 10-28 ต.ค.2553 น้ำท่วมกินพื้นที่ 38 จังหวัด ในอาณาบริเวณ 297 อำเภอ 2,180 ตำบล 17,711 หมู่บ้าน ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 1,355,500 ครัวเรือน จำนวน 4,161,363 คน

3) คลื่นยักษ์สึนามิกระทบที่อยู่อาศัย การทำมาหากิน การประมง การประกอบอาชีพของประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ กระทบไร่นา ปศุสัตว์ ยานพาหนะ บ้านเรือน เส้นทางคมนาคมขนส่ง และวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของผู้คนเสียหายเป็นวงกว้าง อันจะกระทบถึงราคาสินค้าเกษตร อาหาร วัสดุก่อสร้างในอนาคต

จะเห็นว่า คลื่นยักษ์สึนามิกระทบอาชีพและการทำมาหากินของคนจำนวนน้อย แต่กระทำอย่างรุนแรง ทำให้หมดเนื้อหมดตัวไปชั่วพริบตา ต่างกับน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ส่วนใหญ่อาจจะไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็กระทบคนจำนวนมากกว่า ทำให้เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายแล้ว มีความเสียหายมหาศาล

4) การช่วยเหลือเยียวยา กรณีคลื่นยักษ์สึนามิ เกิดการโกลาหลในวันแรก แต่หลังจากนั้น การดำเนินการก็สามารำทำได้ง่ายกว่า เพราะมีจุดได้รับความเสียหาแคบ และไม่มีน้ำท่วมหรือคลื่นยักษ์เป็นอุปสรรคขัดขวางระหว่างการช่วยเหลือ

ต่างกับน้ำท่วมใหญ่ วันแรกๆ ผู้คนอาจชะล่าใจ ไม่คาดคิดว่าจะหนักหนาสาหัส คิดว่าน้ำหลากมา ก็จะลดหายไป แต่เมื่อพบว่าน้ำท่วมขัง ขยายวง และยกระดับสูงขึ้น กินพื้นที่หลายจังหวัด การช่วยเหลือจึงกระจัดกระจาย ต้องอาศัยหน่วยงานในท้องถิ่น ประสานทรัพยากรจากส่วนกลางและภาคต่างๆ เข้าช่วยเหลือ

ซ้ำร้าย น้ำท่วมขังยังเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ ต้องอาศัยขนของทางเรือ ถนนถูกตัดขาด รถเข้าไม่ถึง เรือแพก็เลิกใช้กันไปนานแล้ว จึงเกิดความยากลำบาก ชาวบ้านที่บ้านอยู่ลึกจึงถูกตัดขาด การช่วยเหลือของเอกชนและรัฐจึงเข้าถึงแต่เฉพาะจุดที่อยู่ใกล้ถนนและใกล้เมือง

5) คลื่นยักษ์สึนามิทำให้คนไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่ง (บริเวณริมชายทะเล) จึงยินดีเข้ามาอยู่รวมกันในวัด ในเต้นท์ หรือศูนย์ช่วยเหลือ

แต่น้ำท่วมใหญ่ ทุกคนไม่ยอมทิ้งบ้านเรือนของตน

เพราะคิดว่าประเดี๋ยวน้ำก็คงลด แล้วถ้าไปอยู่รวมกัน ใครจะดูแลบ้าน ทรัพย์สินจะสูญหาย ใครจะเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ดูแลเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้

6) โชคดี ระบบโทรคมนาคมปัจจุบันพัฒนาไปมาก แทบทุกหมู่บ้านมีโทรศัพท์มือถือใช้ จึงสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกันได้

หน่วยงานเอกชนและภาครัฐที่ได้รับแจ้ง จึงสามารถบุกเข้าไปให้ความช่วยเหลือในจุดนั้นๆ และเมื่อเอาข้าวปลาอาหาร ยารักษาโรคไปให้ ก็ย่อมจะได้ยินคำบอกกล่าวว่าอยู่มาหลายวันแล้ว ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ

หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องดูแลบ้านเรือนในวงกว้าง ก็จะต้องโดนตำหนิเป็นธรรมดา ซึ่งต่างกับกรณีคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ข้าวของเครื่องใช้ ยารักษาโรค โหมกระหน่ำเข้าจุดเดียว กองพะเนินเทินทึก ก็เพราะไม่ต้องไปเที่ยวส่งตามบ้านเรือนของราษฎรแต่ละคนนั่นเอง

กรณีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อสื่อมวลชน และเอกชนที่บุกเข้าไปช่วยเหลือบ้านที่อยู่ลึกเข้าไป ก็มักจะออกข่าวว่าตนได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกทางการทอดทิ้ง

7) สิ่งที่เหมือนกัน เมื่อเกิดภัยคลื่นยักษ์สึนามิและน้ำท่วมใหญ่ คือ ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งรัฐและเอกชน พร้อมใจกันช่วยเหลือ ไม่แบ่งแยก จะมีข่าวเรื่องกักตุนของช่วยเหลือ หรือโกงเงินบริจาคบ้าง แต่ก็น้อย ความบาดหมางของคนหลากหลายความคิดเบาบางลง

ความตระหนกตกใจในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้คนยอมรับความรุนแรงและผลกระทบของธรรมชาติ ยิ่งสึนามิเป็นของใหม่ ไม่เคยพบเห็นมาในชีวิตของคนรุ่นนี้ ไม่มีประสบการณ์ความรู้มาก่อน ก็ช่วยกันคิดวิธีป้องกันภัย ไม่ค่อยจะมีใครด่าว่าใคร

แต่น้ำท่วมใหญ่ คนทั่วไปดูจะมีความคิด ความรู้ หรือคิดว่าตัวรู้ จึงออกความคิดเห็น โทษคนนั้น หน่วยงานนี้ ตำหนิว่าใครทำอะไร อย่างไร เมื่อไร ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี พูดกันได้มากกว่า ถนัดปากกว่า

8) คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อเกิดเหตุ ไม่กี่ชั่วโมง เหตุก็สงบ เหลือแต่ความเสียหายที่ต้องเยียวยา ฟื้นฟู
น้ำท่วมใหญ่ เกิดเหตุมากกว่า 20 วัน ต่อเนื่อง และต่อมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีเรื่องที่ต้องป้องกัน และขจัดทุกข์ไปพร้อมๆ กัน โดยที่ยังไม่ได้เยียวยาและพัฒนา บูรณะอย่างจริงจัง

อาจจะย่างเข้าปี 2554 ไปแล้ว จึงจะได้ช่วยกันเยียวยา ซ่อมแซม พัฒนา

ถึงเวลานั้น ประชาชนคนไทย ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกอุดมการณ์ และไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลอยู่ในวันนั้น ก็ขออย่าเบื่อ อย่าทิ้งชาวบ้านก็แล้วกัน

9) รัฐบาล องค์กรเอกชน และสื่อ คงต้องเป็นตัวนำในการวิเคราะห์ หาหนทางป้องกัน ไม่ให้เหตุรุนแรงจากภัยน้ำท่วมเกิดขึ้นอีก และคงต้องวางระบบ เยียวยา ช่วยเหลือ หากเกิดเหตุวงกว้างเช่นนี้ว่าควรจะทำกันอย่างไรในอนาคต

น่าคิดว่า.. ปี 2553 เป็นปีวิกฤติของไทยโดยแท้

ก่อนน้ำจะท่วม... บ้านเมือง ธุรกิจ ศาลากลางจังหวัด ถูกเผาเสียหาย ผู้คน ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ล้มตายอย่างไม่ควรตายกว่า 90 คน ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินถึง 28 จังหวัด

พอถึงเดือนตุลาคม เกิดพิบัติภัยน้ำท่วมใหญ่ มีคนเสียชีวิตเกือบ 100 คน โดยไม่ควรจะต้องตาย มีพื้นที่น้ำท่วมฉุกเฉินกว่า 38 จังหวัด

ก่อนจะสิ้นปี 2553... หวังว่าปรากฏการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งสอง จะเป็นบทเรียนให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้ว่า ถึงที่สุดแล้ว เราคนไทย เราที่อยู่ตรงนี้ คือ คนที่ต้องอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ทอดทิ้ง ไม่มุ่งเอาชนะกันและกัน

กิเลส ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ความโลภ การถือดีว่าจะสามารถแสวงหาอำนาจ สามารถอยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติและกติกาสังคมได้นั้น มีแต่จะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างไม่สมควรจะเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น