++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ป้องกัน เบาหวาน-ความดันสูงครบวงจร ที่ตำบลหนองแวง กรณีศึกษา เทศบาลตำบลหนองแวง อ.ละหาานทราย จ.บรีรัมย์

   เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            ทางเข้า ต.หนองแวง เป็นเส้นทางเล็กแคบ สองข้างทางเต็มไปด้วยไร่มันและป่าทึบ บ้านแต่ละหลังอยู่ห่างกันออกไปพอประมาณ มองเห็นแนวเทือกเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชา พื้นที่นี้ถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า "เขตพื้นที่สีแดง" ในยุคของความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และเคยเป็นสนามรบระหว่างไทยและกัมพูชาในอดีต
            ปัจจุบัน เทศบาล ต.หนองแวง ได้รับการพัฒนาด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน จนได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการดีเด่น ในปี 2550
            จุดแข็งสำคัญ คือ คณะทำงานบริหารจัดการท้องถิ่น เป็นทีมงานที่เข้มแข็ง ที่ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น โครงการหลักประกันสุขภาพจึงถูกการคิดค้นและนำเข้าสู่เวทีประชาคม เพื่อคัดเฟ้นโครงการทางด้านสุขภาพ

            ดังคำบอกเล่าของคนในตำบลที่เล่าว่า "ตอนแรกที่ท่านนายกเทศบาล ปลัด กรรมการทำเวทีประชาคมสุขภาพ ผมก็ยังไม่เข้าใจหรอกครับ ผู้ใหญ่มาประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านไปร่วม ผมก็คิดว่า เค้าคงจะมาแจ้งว่า มีหน่วยงานมาแจกเงินเพื่อเอาไปใช้เวลาไปหาหมอ แต่พอเข้าร่วมเวทีประชาคม เราจึงรู้ว่า เราจะทำกองทุนฯ ต้องช่วยกันกำหนดและจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพในชุมชน ใครเห็นว่า เรื่องอะไรที่ปัญหาสำคัญ เร่งด่วน ก็ช่วยกันเสนอมาเลย"

            ในช่วงแรกๆ ชาวบ้านจะแสดงความคิดเห็นกันน้อยมาก จนมีเสียงสะท้อนว่า ว่าไงก็ว่าตามกัน (เชื่อผู้นำ) เพราะชาวหนองแวงคิดว่า ตัวเองมีความรู้น้อย ต่อเมื่อมีการทำประชาคมกันมากขึ้น ความเข้าใจในเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จึงมากขึ้นและเห็นความสำคัญในสิทธิของการแสดงความคิดเห็นของตนเอง
            จนเกิดเป็น 3 แผนงานหลัก
            1. แผนงานด้านส่งเสริมสุขภาพ
            2. แผนงานด้านการควบคุมโรค
            3. แผนงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ
           
            ครอบคลุมใน 4 กิจกรรม คือ
            - กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนหน่วยบริการสาธารณสุข
            - กิจกรรมการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์
            - กิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพชุมชน
            - กิจกรรมการบริหารจัดการกองทุนฯ
            สำหรับโครงการที่โดดเด่น ได้แก่ โครงการอบรมผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานแบบบูรณาการ จุดหลัก คือ ทำงานเชิงป้องกัน และให้ความรู้แก่คนในตำบล
            ดังคำกล่าวของชาวบ้านคนหนึ่งที่ว่า " บ้านเรา คนเป็นโรคเบาหวานกันเยอะเดี๋ยวนี้ เป็นตั้งแต่อายุยังน้อย พ่อแม่เป็น ลูกเป็น ต้องระวังให้ดี เป็นแล้วต้องไปหาหมอทุกเดือน เงินหมดไปกับค่ารถ ค่าหมอ ต้องเจาะเลือดทุกเดือน เป็นมากๆ ต้องไปล้างไตที่โรงพยาบาลใหญ่ ถ้าไม่ไปหาหมอ ไม่กินยา ไม่ควบคุมน้ำตาลจะตายเร็วขึ้น เคยเห็นคนเป็นเบาหวานที่ไม่ดูแลตัวเอง น้ำตาลขึ้นตา ตาบอดไปเลยก็มี ป้องกันได้ต้องรีบทำ อะไรกินได้ กินไม่ได้ต้องรู้ อย่าตามใจปาก"
            เมื่อเริ่มโครงการ ทางคณะทำงานประกาศรับสมัครและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ผู้เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงและบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยครอบครัวละ 1 คน แล้วแบ่งการอบรมออกเป็นสองรุ่น รุ่นละ 100 คน มีการประสานวิทยากรจากโรงพยาบาลละหานทราย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ละเชี่ยวชาญมาบรรยายและจัดกิจกรรม เน้นกิจกรรมแบบบูรณาการทั้งในเรื่องการดูแลตนเองด้านอาหาร ออกกำลังกายและพักผ่อน การผ่อนคลายความเครียดที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
            ถึงแม้ว่า ทางผู้บริหารเทศบาลตำบล , คณะกรรมการกองทุนฯ และประชาชนจะเห็นพ้องต้องกันว่า โครงการอบรมผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบบูรณาการ จะยังไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง แต่สิ่งที่ทุกคนได้ คือ การร่วมคิด-ร่วมทำ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่
            ทุกคนเห็นว่า ความสำเร็จที่ได้รับมานั้น เกิดมาจากความรัก-ความสามัคคีของคนในชุมชนที่ต่างก็รักท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยมาแต่บรรพบุรุษ, การได้ผู้นำที่ดี-มีวิสัยทัศน์-มีความจริงใจ (นายกเทศบาลตำบล-ปลัดเทศบาลตำบล-หัวหน้าสถานีอนามัยและคณะกรรมการกองทุนฯ) , การประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้ชาวบ้าน ได้รับรู้ข่าวสารจากผู้ใหญ่บ้านทั่วถึง-รวดเร็ว , การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการได้ตรงตามความเป้นจริงที่เกิดขึ้นจนนำสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

            ทั้งมวล คือ ความสำเร็จร่วมของพลังการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน
            บทสรุปที่ได้เรียนรู้จากเทศบาลหนองแวง คือ การแสดงออกของพลังประชาชน คือ พลังที่ยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติ ความรักสามัคคีของคนตำบลหนองแวง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ พลังที่ทำให้เทศบาลตำบลหนองแวง ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงและการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล คือ จุดเริ่มต้นและต้นทุนที่นำไปสู่ผลที่ดีร่วมกันของทุกสังคม

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
เจนจิรา กุลวงศ์


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น