++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

รายงานพิเศษ : "นปช." ถนัด "ขู่" มากกว่า "เจรจา"หรือ?

การชุมนุมใหญ่ใน กทม.ของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การนำของแกนนำ
นปช.อย่างนายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ ดำเนินมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว
โดยอ้างว่ารัฐบาลนี้มีที่มาไม่ชอบ มีทหารช่วยจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งที่กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นในสภา
เป็นไปตามวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยเสียงข้างมากในสภาเป็น
เกณฑ์ตัดสิน การที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
แต่หันมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์แทน ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ
นปช.ไม่พอใจ หาว่าพรรคร่วมรัฐบาลถูกทหารบังคับให้จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากการปลุกเร้าให้คนเสื้อแดงเกลียดนายอภิสิทธิ์
และพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แกนนำ นปช.ยังลามปามไปถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่า เป็นอำมาตย์ที่อุ้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ไม่เท่านั้นบางช่วงบางตอนของการปราศรัย โดยเฉพาะจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ยังทำให้หลายฝ่ายในสังคมอดสงสัยไม่ได้ว่า บุคคลที่ พ.ต.ท.ทักษิณและแกนนำ
นปช.ต้องการโค่นล้ม อาจไม่ใช่แค่รัฐบาล หรือ พล.อ.เปรม แต่อาจสูงกว่านั้น

แม้ในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงครั้งนี้
จะยังไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้แกนนำ
นปช.ยกขึ้นมาอ้างหลายต่อหลายครั้ง ว่า พวกตนชุมนุมโดยสันติวิธี
แต่กลับเกิดเหตุรุนแรงกับบุคคลที่
นปช.มองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามครั้งแล้วครั้งเล่า
เรียกได้ว่าเกิดระเบิดแทบไม่เว้นแต่ละวัน
ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กระทรวงสาธารณสุข
ที่รัฐบาลไปประชุม ครม.กันที่นั่น
,การยิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่กระทรวงกลาโหม โชคดีที่พลาดเป้า
,การยิงระเบิดเข้าใส่กรมทหารที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่
11 รักษาพระองค์ ,การปาระเบิดเข้าใส่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 11,
การปาระเบิดเข้าใส่บ้านพักนายบรรหาร ศิลปอาชา
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้แต่ล่าสุด (30 มี.ค.)
ที่คนร้ายปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นี่คือ ส่วนหนึ่งเท่านั้นของเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นแบบสอดประสานกับความต้องการของของกลุ่มเสื้อแดงที่มาชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลใน
กทม. หลาย ฝ่ายคงอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า
การทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในความหวาดกลัวเช่นนี้
เรายังสามารถเรียกการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงว่าสันติวิธีได้หรือไม่?

และก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่
หลายฝ่ายจึงเสนอว่า รัฐบาลและแกนนำ นปช.น่าจะยุติปัญหาด้วยการเจรจา
กระทั่งมีการเจรจากัน 2 รอบเมื่อวันที่ 28-29
มี.ค.โดยถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะแม้ นายอภิสิทธิ์
และพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมอ่อนข้อว่า ยุบสภาก็ได้
แต่ต้องกำหนดกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ก่อน เช่น เรื่องการแก้ไข
รธน.ซึ่งจะต้องมีการทำประชามติ ฯลฯ ซึ่งคำนวณเวลาแล้ว
จะสามารถยุบสภาได้ภายใน 9 เดือน แต่แกนนำ นปช.กลับยืนกรานสถานเดียวว่า
รัฐบาลต้องยุบสภาภายใน 15 วัน!

แม้รัฐบาลจะยังไม่ละความพยายามที่จะเปิดการเจรจารอบสามกับแกนนำ
นปช.ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่ดูเหมือนแกนนำ นปช.จะไม่สนใจ
โดยประกาศนัดชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงอีกครั้งในวันที่ 3 เม.ย.นี้
และพร้อมจะยกระดับการชุมนุม
โดยจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก่อนสงกรานต์นี้

ด้าน เอแบคโพลล์ สำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9
หนุนให้รัฐบาลและแกนนำ นปช.ใช้วิธีเจรจาแก้ปัญหา นอกจากนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 47.8 ยังรู้สึกไม่มั่นใจว่า
การยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใน
ขณะนี้ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.2
หนุนให้รัฐบาลทำงานต่อไปจนครบวาระ(อีก 1 ปี 9 เดือน) ไม่ต้องยุบสภา

ไม่ว่าประตูที่รัฐบาลและแกนนำ
นปช.จะเปิดการเจรจากันจะถูกปิดตายลงแล้วจริงหรือไม่
ลองมาฟังหลายฝ่ายในสังคมวิเคราะห์ความล้มเหลวของการเจรจาระหว่างทั้ง 2
ฝ่ายว่าเกิดจากอะไร และยังมีแนวโน้มที่จะเปิดการเจรจากันอีกหรือไม่
รวมทั้งเงื่อนเวลาการยุบสภาของ
นปช.หรือของรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองมากกว่ากัน

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์
และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ชี้ว่า การยุบสภายิ่งช้าเท่าไหร่ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากเท่านั้น

"การ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ยิ่งเปลี่ยนแปลงช้า
ก็จะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่านั้น อีกอันหนึ่ง คือ
ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปด้วยกรอบประชาธิปไตยคือสันติวิธีเนี่ย
มันก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจช้า
เมื่อเทียบกับการที่มีเหตุการณ์ปะทะหรือมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ไม่พึง
ประสงค์ เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า ถ้าเอาเฉพาะเงื่อนของการยุบสภา 15
วันกับยุบสภา 9 เดือน ความแตกต่าง ก็คือ ถ้ายุบสภา 15 วัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คนจะปรับตัวไม่ทัน
เพราะแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐยังไม่ได้มีการคลี่คลาย
หรือยังไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องต่างๆ ให้สมบูรณ์
ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐบาลบอก ก็คือ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2554 หรือ พ.ร.บ.4
แสนล้านในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องมาบตาพุด หรือโครงการต่างๆ
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ไทยเข้มแข็ง
เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ถ้ายุบสภาเร็ว แนวทางของรัฐบาลที่ดำเนินการค้างคาไว้
ยังไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่องนะ ประเด็นต่อมา คือ ถ้ารัฐบาลยุบสภาเร็ว
สิ่งที่นักลงทุนกับผู้บริโภคจะค่อนข้างลังเลว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็น
อย่างไร เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงของสุญญากาศเล็กน้อยนะ
เพราะนักลงทุนก็จะไม่กล้าลงทุน รอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่
รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลรักษาการเองก็ยังไม่สามารถเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
อย่างทันท่วงทีนัก เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการคงทำอะไรได้ไม่มากนัก
เพราะฉะนั้นการยุบสภาเร็ว ทำให้ตัวเศรษฐกิจฟื้นช้าลง
แทนที่จะฟื้นตัวได้ประมาณกลางปี เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกว่าที่
รบ.ใหม่จะเข้ามาและบริหารงานต่อไป ซึ่งก็ต้องถือว่าทำให้ ศก.ฟื้นช้า
(ถาม-ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกับ นปช.ยังตกลงกันไม่ได้
อาจารย์มีอะไรจะเสนอเพื่อให้แต่ละฝ่ายผ่อนปรนมั้ย?)
จุดแรกผมคิดว่าคือการพยายามเจรจาให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ
เป็นสิ่งที่พึงกระทำนะ ในแง่ของการที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบน้อย
ถ้าการชุมนุมเป็นไปด้วยกรอบที่เป็นประชาธิปไตยและไม่มีความรุนแรง
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้ายังหาข้อตกลงกันไม่ได้
การเคลื่อนตัวของการชุมนุมที่อยู่ในกรอบที่นานาประเทศยอมรับได้
ไม่มีความรุนแรง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำ และแน่นอนสิ่งสำคัญคือ
ควรพยายามคลี่คลายปัญหานี้ให้เร็วที่สุด
โดยที่หาเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลารัฐบาลในการพลิกฟื้น ศก.แล้วค่อยยุบสภา
หรือรัฐบาลก็อาจจะย่นระยะเวลาในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เป็นกรอบที่รับได้กัน
ทุกฝ่าย แล้วยุบสภา เข้าไปสู่จุดอื่น
หรือเงื่อนไขอื่นที่อาจไม่จำเป็นต้องยุบสภาและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
ได้ ทำให้การบริหารบ้านเมืองเดินต่อไปได้
ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันระหว่างรัฐบาลกับ นปช."

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)
พูดถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลและแกนนำ นปช.2 รอบที่ผ่านมาว่า
รัฐบาลมีเหตุผลประกอบการยุบสภาภายใน 9 เดือนมากกว่าเหตุผลของแกนนำ
นปช.ที่จะให้ยุบสภาภายใน 15 วัน พร้อมหวังว่า การเจรจาระหว่างทั้ง 2
ฝ่ายยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้
หากแต่ละฝ่ายทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

"ต้อง ยอมรับความจริงว่าการเจรจาและบรรลุผลมันต้องผ่านขั้นตอนในเรื่องของการได้
พูดคุยกัน ได้มีโอกาสพบปะกัน เพียงแต่ว่าในทั้ง 2 ขั้นตอนนั้น มันคล้ายๆ
มีแนวทางในการปูทางไปสู่การเจรจาเพื่อหาข้อยุติ
เพียงแต่มันยังมีปัญหาในเรื่องของการที่อยู่ในมุมมองของตัวเอง
และไม่ได้ทำเวทีตรงนั้นที่นำไปสู่การเจรจา
แต่เป็นเวทีของการที่จะเกิดการโต้ตอบกันมากกว่า และภาพวันที่ 2
มันก็เลยเป็นปัญหา
(ถาม-คุณหมอเห็นด้วยกับการเจรจาแบบเปิดเผยถ่ายทอดนี้มั้ย?)
มันคงไม่จำเป็นทั้งหมด มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย
ข้อดีคือสังคมได้รับรู้ข้อมูลไปด้วย ข้อไม่ดีคือ จะอาศัยสื่อ เช่น
เรื่องของการสร้างภาพ
เรื่องของการที่เป็นกระบอกเสียงหรือเป็นเครื่องมือในการที่จะสร้างความชอบ
ธรรมให้แต่ละฝ่าย สุดท้ายก็เป็นเพียงเวทีโต้วาทีกันหรือสร้างภาพกันเปล่าๆ
(ถาม-คุณหมอยังเชื่อว่าการเจรจารอบ 3 ยังน่าจะเกิดขึ้น?) ถ้าทั้ง 2
ฝ่ายกลับไปทบทวน
และยังมุ่งหวังในการที่จะทำให้เกิดการชุมนุมที่หวังผลในเรื่องของประโยชน์
ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เราถือว่าขณะนี้สังคมมีปัญหาในเชิงระบบโครงสร้างเยอะ
มาก เพียงแต่ว่ามันต้องไม่อยู่ในมุมมองที่เป็นจุดยืนของทั้ง 2 ส่วน
แต่ขณะนี้ก็ต้องยอมรับรัฐบาลได้ยื่นหน้าเข้าไปเสนออะไรที่ผมคิดว่ามันก็
ว่ากันจริงก็ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าฝ่าย
นปช.ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่จะมาโต้เถียงกัน"

ขณะที่ อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
พูดถึงกรณีที่รัฐบาลและแกนนำ นปช.ไม่สามารถตกลงกันได้ในการเจรจา 2
รอบที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกัน

"ผมก็คาดการณ์ไว้
ล่วงหน้าแล้วว่าอย่างไรเนี่ยการเจรจาก็คงประสบความสำเร็จยาก
เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกัน ในส่วนของ นปช.เองเนี่ย
ก็ตั้งธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะต้องยุบสภาในเร็วๆ นี้
เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดที่จะต้องยุบสภาในเร็วๆ นี้
เมื่อมีจุดมุ่งหมายที่แน่ชัดเพื่อต้องการที่จะให้ยุบสภาเลือกตั้งขึ้นมาใหม่
แล้วมีความมั่นใจว่าตัวเองจะชนะในการเลือกตั้ง
และสามารถที่จะเป็นรัฐบาลและนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย รธน.กฎหมายต่างๆ
เพื่อให้คนที่อยู่ข้างหลังสามารถที่จะกลับเข้าประเทศได้อย่างสะดวกสบาย
อันนี้คือ จุดมุ่งหมายที่แท้จริง
ในขณะที่รัฐบาลเองก็ยังไม่สามารถที่จะยุบสภาได้
เนื่องจากมีภารกิจสำคัญอยู่ 2-3 อย่าง อย่างที่ 1 คือ
เรื่องของการโยกย้ายข้าราชการ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร เพราะถ้าหากว่าไม่ดำเนินการในช่วงเดือน
ส.ค.-ก.ย.-ต.ค. แล้วมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
และเป็นรัฐบาลชุดของกลุ่มที่มีอำนาจเดิมเนี่ย
แน่นอนว่ากระบวนการในการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.หรือ
ผบ.ทร.ก็จะเข้ามามีบทบาทและจะนำไปสู่การเข้ามาสู่อำนาจของอดีตนายกฯ
(ทักษิณ) อีกครั้งหนึ่ง 2.เรื่องงบประมาณ ซึ่งผมคิดว่า
ถ้าหากว่าใครสามารถวางระบบเรื่องการจัดงบประมาณได้
การได้เปรียบในช่วงเลือกตั้งจะมีสูง 3.ผมคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์เอง
ถ้าตัดสินใจยุบสภาตามข้อเรียกร้องของเสื้อแดงหรือ นปช.ผมเข้าใจว่า
คะแนนเสียงที่เขาจะได้รับเนี่ย น่าจะลดจำนวนลง
โอกาสที่จะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือโอกาสที่จะเข้ามาเป็นกอบเป็นกำเนี่ย
จะลำบาก เพราะจริงๆ แล้วในสังคม คงไม่ใช่มีเฉพาะรัฐบาลกับเสื้อแดงเพียง 2
กลุ่มเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยคนในสังคมที่มีความหลากหลาย
ผมคิดว่าถ้าหากว่ารัฐบาลต้องการให้กระบวนการตรงนี้มีความชอบธรรมขึ้น
ผมคิดว่าน่าจะมีลักษณะของการทำประชามติก็ได้
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คงไม่ต้องการให้มีการยุบสภาในช่วงเวลาดังกล่าว"

ส่วนเรื่องแก้ รธน.นั้น อ.อนุสรณ์ มองว่า รธน.2550
มีข้อบกพร่องก็จริง แต่เมื่อเทียบกับ รธน.2540 แล้ว ถือว่า รธน.2550
มีจุดอ่อนน้อยกว่า ดังนั้นการจะแก้ รธน.2550 ต้องดูด้วยว่า จะแก้มาตราไหน
ถ้าแก้มาตราที่มีความอ่อนไหว เช่น มาตรา 309
ก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากขึ้น

เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ที่แกนนำ นปช.บอกว่า
หากนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่
คนเสื้อแดงจะไม่ขัดขวางการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง
และจะยอมรับผลเลือกตั้ง อ.อนุสรณ์ ตอบว่า ไม่เชื่อ
เพราะดูจากประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงแล้ว เห็นชัดเจนว่า
มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่รุนแรงตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทุบรถนายกฯ
ที่กระทรวงมหาดไทย, การล้มประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา
หรือแม้แต่กรณีที่เกิดระเบิดรายวันอยู่ในขณะนี้
ซึ่งแม้จะไม่มีหลักฐานว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่กำลังชุมนุม
อยู่หรือไม่ แต่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า
กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุระเบิดคือใคร
ดังนั้นผู้บงการหรือผู้กระทำก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากงานนี้!!


อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น