++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

หมู่บ้านลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


            " จากรายงานอุบัติเหตุของโรงพยาบาล พบปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล งานบุญของหมู่บ้าน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราแทบทั้งสิ้น " เป็นคำกล่าวของคุณธานี นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน
            ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบทต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ งานบุญหรืองานแต่ง ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ "เมาไม่ขับ" "งดเหล้าเข้าพรรษา" กันทุกปีในช่วงเทศกาลต่างๆ แต่ปัญหาจากการดื่มสุราก็ยังคงอยู่และลดลงไม่มากนัก

            ที่องค์การบริหารตำบลสว่าแดนดิน จ.สกลนคร ตำบลเล็กๆ ขนาด 23 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา มีค้าขายและรับราชการบ้าง ชุมชนกึ่งชนบทแห่งนี้ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมันทำให้คนในชุมชนเสียทั้งสุขภาพกาย ใจ ทรัพย์สินและชีวิต
            อบต.สว่างแดนดินได้เข้าร่วมโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในเดือนมีนาคม 2549 ด้วยความพร้อมด้านพื้นที่และงบประมาณ

            ในปีแรกของกองทุนฯ มีจำนวนโครงการทั้งหมด 6โครงการ โครงการส่วนใหญ่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มประชาชนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ และหนึ่งในโครงการทั้งหมดนี้ โครงการหมู่บ้าน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ อบต.สว่างแดนดินมากที่สุด เนื่องจากชุมชนได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนทำให้ อบต.ได้รับรางวัลการดำเนินงานดีเด่นจาก สปสช.เขตฯ

            กระบวนการเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนามาจากประสบการณ์ทำงานในชุมชนกว่า 20 ปี ของนักวิชาการสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พบว่าความไม่ยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้นเกิดจากการสั่งการและขอความร่วมมือให้ชาวบ้านทำตาม โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ

            และเมื่อ สปสช. ได้มีนโยบายก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ขึ้น โดยมีแนวคิดให้ประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในโครงการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ร่วมกันของ 3 ฝ่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และโรงพยาบาล
            กระบวนการประชาคมหมู่บ้าน เป็นกระบวนการที่คณะกรรมการกองทุนฯ จากทุกฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนได้วิเคราะห์สภาพปัญหาของชุมชนร่วมกัน ผลจากการทำประชาคมชุมชนครั้งแรกทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ ทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนว่า พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาหลักที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะส่งผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ เศรษฐกิจ ความรุนแรงในชุมชนและที่สำคัญคือ การเสียชีวิต และจากการวิเคราะห์หาสาเหตุร่วมกันโดยพิจารณาจากวิถีชีวิตของชุมชนพบว่า  ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเทศกาลหรืองานบุญของท้องถิ่น โดยเฉพาะงานแต่ง งานศพ และงานบุญประจำปี
            โครงการชุมชน ลดละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักเน้นไปที่กลุ่มประชาชนทั่วไปของชุมชนที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในงานศพและงานแต่งงานก่อนในเบื้องต้น และผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ต้องการคือ ลดจำนวนการดื่มเครื่องดื่มในงานดังกล่าวลง เพื่อช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการจัดงานด้วยการซื้อสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ การทะเลาะวิวาทจากการดื่ม

            การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน คือ แนวคิดหลักในการทำงาน คณะกรรมการของหมู่บ้านเริ่มการทำงานด้วยการประชุมชาวบ้านเพื่อกำหนดข้อตกลงและกติการ่วมกัน จนได้มติว่า ในงานที่ต้องมีการเลี้ยงสังสรรค์ เช่น งานบุญ งานแต่งงาน งานศพ จะไม่มีการนำเหล้ามาเลี้ยงแขกในงาน สำหรับคนที่ทนไม่ได้จริงๆ อาจนำใส่ถุงและแอบไปกินไม่ให้คนอื่นเห็น เพื่อให้เกิดการสร้างค่านิยมใหม่ในการจัดงาน หากใครปฏิบัติตามไม่ได้ก็จะมีการปรับเกิดขึ้น และเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำงานคือ ป้าย ลดละเลิก บัญชีรายรับรายจ่ายของงานเลี้ยง บัญชีนี้ ถือเป็นกลยุทธสำคัญในการจูงใจเพื่อการจัดงานปลอดเหล้าครั้งต่อๆไป เพราะตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ลดลงจะช่วยทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาสนใจกันมากขึ้น

            การดำเนินงานของโครงการฯ ต้องกำหนดผู้รับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ ซึ่งก็คือ สมาชิกในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ  ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานในชุมชนที่เป็นอาสาสมัครลด ละ เลิก ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ( ส. อบต) และ อสม. ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชน มีหน้าทีนำป้าย ลด ละ เลิกไปแขวน เมื่อมีงานบุญของหมู่บ้าน และทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมโดยการตักเตือนและห้ามไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในบริเวณงาน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สรุปรายรับรายจ่ายของการจัดงานแต่ละครั้ง คล้ายกับการทำบัญชีครัวเรือนให้กับเจ้าของงานด้วย

            ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นั่นอาจเป็นเพราะว่าเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการจัดงานและ งานปลอดเหล้าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเพราะไม่ต้องเสียเงินไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อไม่มีแอลกอฮอล์การทะเลาะวิวาทก็ลดลง ชุมชนเกิดความรักความสามัคคีและเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ดังคำกล่าวของคุณธานีว่า
            " ....ที่ผ่านมาชาวบ้านก็พอใจนะ เมื่อเขาเห็นสรุปบัญชีค่าใช้จ่ายในงาน มีบางงานที่เขาไม่กล้าบอกแขกเนื่องจากกลัวเสียหน้าว่าจัดงานกระจอกไม่มีเหล้า เขาก็จะให้กรรมการของชุมชนบอกกับแขกที่มาร่วมงาน บางงานให้เงินกรรมการเป็นแม่งานเองเลยก็มี " คุณธานี กล่าวอย่างอารมณ์ดี

            ความสำเร็จของ "โครงการหมู่บ้าน ลด ละ เลิก " ที่นำไปสู่การสร้างสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญหลายอย่าง ที่ อบต.สว่างแดนดินได้ตระหนักถึงความสำเร็จร่วมกันว่า การทำงานต้องใช้ปัญหาของชุมชนเป็นฐานในการแก้ปัญหา มิวิธีการทำงานที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ชุมชน และโรงพยาบาล และอีกปัจจัยหนึ่ง งคือ วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง จริงใจ ไม่ละทิ้งชุมชน ดังตัวอย่างของคุณสิงโต นายก อบต.สว่างแดนดินที่นอกจากจะจัดสรรงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพไว้ปีละหนึ่งแสนบาทแล้ว ยังลงพื้นที่เองทุกครั้งที่ดำเนินโครงการ จนชาวบ้านให้ความไว้วางใจและให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรม และคุณธานีของนักวิชาการสาธารณสุขที่มีลักษณะเฉพาะคือ ความตั้งใจจริงในกาารสร้างสุขภาพของชุมชน และประสบการณ์ทำงานจนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับเขต

            นอกจากความสำเร็จ จนเป็นที่ภาคภูมิใจของชุมชนแล้ว คนทำงานยังเกิดการเรียนรู้จากการทำงานโครงการด้วยกันทุกฝ่าย องค์การบริหารส่วนตำบลยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับชุมชนและได้ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่แท้จริงของชุมชน  ด้านชุมชนก็เกิดกระบวนการเรียนรู้และการแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยชุมชนเอง และเกิดความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างวัฒนธรรมของชุมชนด้านสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง ส่วนตัวแทนภาคสุขภาพ  ก็ได้เห็นศักยภาพการแก้ไขปัญหาโดยชุมชน ค้นพบบทบาทที่สำคัญในการสร้างสุขภาพของชุมชน คือ การกระตุ้นให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

            ใครจะมองแอลกอฮอล์ในแง่ร้าย หรือดูดายว่าเป็นเพียงสารละลายที่ใสเย็น คุณค่าน้อย คงต้องลองเปลี่ยนใจ เพราะที่สว่างแดนดินนี้ นำเอา "แอลกอฮอล์" มากลายเป็นยุทธวิธีในการทำงานเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพได้อย่างน่าทึ่ง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
กฤษณา ทรัพยฺ์สิริโสภา
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
           
ี       



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น