++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

สร้างชุมชนสุขภาพดี ปลอดสารเคมีในกระแสเลือด กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี

            วิถีชีวิตเรียบง่าย อาศัยอยู่ท่ามกลางอากาศที่บริสุทธิ์ ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ชาวชุมชนดูมีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรคแทรกซ้อน แต่ใครจะไปนึกว่าวิถีชีวิตเยี่ยงนี้จะนำมาซึ่งความเจ็บไข้ได้ป่วย มีหลักฐานจากชุมชนว่า ชาวบ้านต้องเสียเงินไปในการรักษาโรคและการเจ็บไข้ได้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี
            จนกระทั่ง ในปี 2550 กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ของ อบต.หนองแคน อำเภอดงหลวง จึงเกิดขึ้นเพือการดูแลสุขภาพคนในตำบลหนองแคนโดยเฉพาะ
            เริ่มด้วยการจัดทำแผนสุขภาพชุมชน ซึ่งเดิมมีเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป้นผู้จัดทำ และทำตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่พอมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เข้ามาทำให้เกิดการทำแผนร่วมกันระหว่าง อบต.กับสถานีอนามัย โดยการจัดทำประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แสดงความต้องการว่า ต้องการดูแลสุขภาพด้านใดบ้าง ชุมชนยังขาดอะไร มีปัญหาอะไร และให้ร่วมกันนำเสนอโครงการ

            ทุกโครงการ มีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมสุขภาพของชาวชุมชน บางโครงการเป็นโครงการต่อเนืองและยั่งยืน บางโครงการเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งในปี 2550 มีทั้งหมด 6 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย, โครงการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ, โครงการอาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ , โครงการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกโดย อสม., โครงการเฝ้าระวังไข้หวัดนกโดย อสม. และโครงการอบรมให้ความรู้การป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง

            จากปัญหาและความต้องการของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีการตื่นตัว สนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่แบ่งว่า เป็นโครงการของหมู่บ้านใด เพราะถือว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมเนื่องจากเป็นผู้เสนอและเป็นเจ้าของโครงการเอง

            ทั้งนี้ ทุกโครงการจะมีการประเมินผลเป็นระยะและมีการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย ได้รับรู้ข้อมูลภาวะสุขภาพของตนเอง ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ผลประโยชน์และเห็นเป็นรูปธรรมในภาพกว้าง เช่น โครงการอาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ จากที่ตรวจพบว่า มีหญิงตั้งครรภ์สุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์ 4 คน พอได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารเสริม และติดตามผลทุก 3 ครั้งต่อเดือน จำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็เหลือเพียง 1 คน
            และโครงการที่ถือว่าเป็นผลงานเด่นที่สุดของตำบล คือ โครงการอบรมให้ความรู้การป้องกันอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้มาจากการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่ต้องใช้สารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกผักนอกฤดูกาลสำหรับการบริโภคและขาย และอาชีพใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมของชาวบ้าน ทั้งในตำบลนี้และใกล้เคียงคือ การรับจ้างฆ่าหญ้าในสวนยางพาราเพราะว่า การทำสวนยางพาราจำเป็นต้องเตรียมดินเพื่อทำสวน ทำให้แทบทุกหลังคาเรือนมีการใช้สารเคมี โดยที่ชาวบ้านเองไม่เคยได้รับรู้ถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

            นั้นเพราะชาวบ้านไม่เคยได่รับการตรวจสุขภาพ และวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน เมื่อไม่เจ็บป่วยก้ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือตรวจสุขภาพ ประกอบกับไม่เคยมีใครเจ็บป่วยจากสารเคมี จนกระทั่งมีคนในชุมชนเกิดเจ็บป่วยและได้รับการตรวจพบว่า มีสารเคมีในเลือดในปริมาณเกินมาตรฐาน
            จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากการใช้สารเคมี  และช่วยตรวจคัดกรองสารเคมีในเลือด ผลการเจาะเลือด ชาวบ้านจำนวน 126 คน พบว่า ในระดับสารเคมีในกระแสเลือดสูง เสี่ยงต่ออันตรายจำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 8.73 ของกลุ่มเสี่ยงซึ่งถือว่าสูงมาก
           
            หลังจากการตรวจพบชาวบ้านทั้ง 11 คน จะได้รับการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคลจากวิทยากรกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัด การทำงานที่เห็นผลตรวจเป้นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้านมีความพึงพอใจมาก และทำให้ชาวบ้านที่ไม่เคยสนใจสุขภาพแต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

            การทำงานที่เป็นระบบโดยยึดความต้องการของคนในชุมชนและ ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และดำเนินงานตามข้อกำหนด กฎระเบียบของกองทุนฯ จากการมีพี่เลี้ยงของ สปสช. มาคอยให้คำแนะนำ ช่วยให้คณะกรรมการมีแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพที่ชัดเจน

            และการทำงานโดยยึดหลักการเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน, อบต. สถานีอนามัย โรงพยาบาล กระทรวงเกษตรและเจ้าหน้าที่กองทุนหลักประกันสุขภาพเขต ทำให้เกิดความร่วมมือและขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพมากขึ้น
            เมื่อมีโครงการของกองทุนหลักประกันสุขภาพเข้ามา มุมมองชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ทำให้ได้รับข้อมูลภาวะสุขภาพที่เป็นจริง มีโอกาสเลือกและได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ ตระหนัก ใส่ใจในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพมากกันขึ้น
            อย่างไรก็ตามถึงแม้ชาวบ้านจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่บ้าง นั้นก็คือ ชาวบ้านในชุมชนยังเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากคณะกรรมการยังไม่เข้าใจระเบียบของกองทุนฯ อย่างชัดเจน และชาวชุมชนต้องการให้ปรับระบบการใช้บัตรสุขภาพ ให้สามารถใช้ได้ในทุกโรงพยาบาลเพราะใช้เวลามากในการทำตามขั้นตอน ซึ่งไม่ทันการณ์

   
            ส่วนในเรื่องของการดำเนินงาน ชุมชนก็ยังคงต้องการให้มีตัวแทนจาก สปสช. มาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด เพราะจากการดำเนินงานอุปสรรคของทีมงานก็คือ เรื่องการเบิกจ่ายเงิน อะไรที่เบิกได้ อะไรที่เบิกไม่ได้ ซึ่งทีมงานยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่มาก
            แต่หลายเสียงก็ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาหลัก "ลองผิด ลองถูก แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป"  จะวันไหนๆ ก็ไม่มีคำว่าสายสำหรับการสร้างสุขภาพที่ดี

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
พิพัฒน์พงศ์ เข็มปัญญา
สมสมร เรืองวรบูรณ์
จุรีรัตน์ กอเจริญยศ
พยอม สินธุศิริ
ศิริรัตน์ อินทรเกษม
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุบลราชธานี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น