++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

เรื่องสุขๆของชาวบ้าน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


            ตำบลป่าซาง ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ในการดูแล 42 ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 15 หมู่บ้าน มีประชากรอยู่ 20,876 คน มีสถานีอนามัยในพื้นที่ 2 สถานี คือ สถานีอนามัยพระราชทาน และสถานีอนามัยบ้านใหม่พัฒนา
            หัวหน้าสถานีอนามัยกล่าวถึงโครงการกองทุนฯ ในพื้นที่ อบต.ป่าซางว่า
            " การตัดสินใจในการเข้ากองทุนฯ นี้ ได้รับคัดเลือกจากจังหวัดเชียงรายให้เข้าร่วมกองทุนฯ เราเรียนรู้ร่วมกับชุมชนโดยไม่ใช้ตัวเราเป็นศูนย์กลาง คำถามที่โยนให้กับชุมชนว่ามันใช่หรือไม่ ทำแล้วมีความสุขหรือไม่ ถ้าทำแล้วมีความสุขก็ใช่
            เมื่อมีโครงการเข้ามาก็สบาย ชาวบ้านเอาด้วย อะไรที่คิดว่า ชาวบ้านทำแล้วคือความสุขก็ทำไปเลย ก็จะมีการคุยกันระหว่างคณะกรรมการกองทุนฯ และ อบต. เช่น ช่วงแรกชาวบ้านจะเสนอโครงการเต้นแอโรบิกมาหลายหมู่บ้าน จึงย้อนให้คิดว่า ทำแล้วมีความสุขไหม มันฝืนวิถีชีวิตหรือไม่ ชาวบ้านก็บอกว่า ใช่ บทบาทของเจ้าหน้าที่อนามัยเป็นเพียงแค่พี่เลี้ยงให้ข้อคิด นำไปแลกเปลี่ยนความคิด ให้ข้อมูลจริง ที่เรามีอยู่ เช่น ข้อมูลสุขภาพ จะตอกย้ำไปเรื่อยๆ
            เมื่อเราโยนคำถามถึงความสุขมากกว่าจะชี้ชัดเรื่องสุขภาพ ทำให้โครงการที่ออกมานั้นมีความหลากหลาย เช่น โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ นวดอบประคบสมุนไพร งานวางแผนครอบครัวในกลุ่มชาวเขา
            เป็นโอกาสดีที่คนในพื้นที่ ได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการในหลายๆกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และ คณะกรรมการต่างๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่อง
            ในเมื่อได้ทำงานให้กับกลุ่มอื่นๆ จึงได้เสนอแนวคิดในเรื่องสุขภาพให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน เช่น เป็นคณะกรรมการสถานศึกษา ก็นำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง เก่ง ดี มีสุข เข้าไปซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเรา แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน
            ด้วยการทำงานเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อใจ คณะทำงานกับทีม อบต. ก็มีความสุขใจในการทำงานมากขึ้น"  หัวหน้าสถานีอนามัยกล่าว

            ส่วนตัวแทนภาคประชาชนได้กล่าวไว้ว่า
            " ได้พัฒนาตนเอง โดย อบต. พาไปดูงานสมัชชาสุขภาพ ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมการเข้าร่วมประชุม ทำให้ได้กระตุ้นให้มีความคิดในการทำงาน ที่ทำแล้วสบายใจไม่ฝืนความคิดตัวเอง"
            ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กองทุนฯป่าซางเน้นการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ใช้ความสุขเป็นตัวตั้ง ผนวกกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ นายก อบต.

            "โครงสร้างพื้นฐานดี ประชาชนสุขภาพดี ได้รับการศึกษา รักษาวัฒนธรรม น้อมนำศาสนา พัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน คนชรา ผู้ด้อยโอกาส ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมบรรเทาสาธารณภัย"

            สำหรับนโยบายในการทำงาน นายก อบต.ได้กล่าวไว้ว่า
            " ทำงานในระบบบูรณาการคือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์พัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่น โดยมีประชากรเป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้องค์การบริหารส่วนตำบลป่าซาง มีความเจริญก้าวหน้า เป็นตำบลที่น่าอยู่ตลอดไป"

            ทัศนะจากการทำงานนายก อบต.ป่าซางสะท้อนว่า
            " ตอนแรกก็งงเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ก็เลยหาข้อมูลจากสถานีอนามัย เข้าไปบ่อยๆ เนื่องจากแหล่งข้อมูลสุขภาพ มีอยู่ที่นั่น ทั้ง อสม.หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ซึ่งให้ข้อมูลกับเราได้มาก ทั้งการติดต่อประสานงานต่างๆ ก็ง่ายต่อการทำกิจกรรมหรือโครงการ พอมีการประชุมครั้งหนึ่ง ตัวผมก็จัดให้ในการแสดงความคิดเห็นร่วมระหว่างสถานีอนามัย ชาวบ้าน และ อบต. ต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เวลาสถานีอนามัยมีโครงการหรือกิจกรรมมาทำร่วมกับ อบต. แต่หากชาวบ้านไม่ร่วมมือมันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ไปไม่รอด"

            "หากวัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องกัน ความเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ วิธีแก้ไขก็คือ มีการประชุมนอกรอบ ในการปรับแก้โครงการจึงสามารถจัดทำโครงการต่อได้"
            "วัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตอนนี้คิดว่ามันบรรลุมาเยอะแล้ว จากการที่เราได้ปฏิบัติมาหลายโครงการจนประเมินกันไม่ไหว เพราะเราทำกันมาตลอด หากชุมชนมีงานเชิญให้ไปเป็นประธาน เราก็ไป ได้มีส่วนร่วมและเป็นที่รู้จักชุมชน ดังนั้น ความร่วมมือจากชุมชนจึงมีมากขึ้น"

            ที่ประธานกองทุนฯ หรือ นายก อบต.ได้กล่าวไปนั้น แลดงให้เห็นถึงปัจจัยหลายอย่างที่นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพด้วยสุขของชาวบ้าน รวมไปถึงการทำงานที่มีเป้าหมายและแนวคิดเดียวกัน ผู้ร่วมงานต้องมีความเสียสละมีใจให้กับงาน และสุดท้ายมีพี่เลี้ยงที่ดีคอยให้คำแนะนำที่ดี
            "ความสุข" เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา หากเราทำงานบนพื้นฐานของความสุข ย่อมทำให้เกิดกระบวนการร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน ที่สำคัญคือ สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งผลที่ตามมาทำให้เกิดความยั่งยืนของการสร้างหลักประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริง

            ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
พวงผกา คำดี
จันทร์จิรา จันทร์บก
วพบ.พะเยา

           
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น