++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ชีวิตพิสดารของสัตว์ - กวาง (๑)

ปรีดี อู่ทรัพย์

            ทางราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ย้ายผมไปประจำที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ สภาพโดยทั่วไป อำเภอท่าปลาเป็นอำเภอที่ราษฎรส่วนใหญ่ได้รับการอพยพจากที่ราบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มาอยู่บนพื้นที่สูงตามเขาตามดอยและที่ราบเชิงเขา ดังนั้น สภาพทั่วไปในด้านเศรษฐกิจและสังคมจึงไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเป็นการหักร้างถางพง สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ ลักษณะของภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าและภูเขา มีเนื้อที่ถึง ๑,๗๑๒ ตารางกิโลเมตร นับว่า เป็นอำเภอที่มีเนื้อที่มากที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่ตามเนินเขาต่างๆถูกถางจนเตียน เพื่อประกอบอาชีพในด้านเกษตร เหนือขึ้นไปมีอ่างเก็บน้ำเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่และป่าไม้มาก การสัญจรไปมาต้องใช้เรือ การคมนาคมลำบากเป็นบางแห่งซึ่งทางราชการกำลังเร่งรัดพัฒนาอยู่อย่างเต็มที่

             ทิศเหนือของอำเภอท่าปลาติดต่อกับอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ทิศตะวันออกจดอำเภอฟากท่าและอำเภอน้ำปาด ทิศใต้จดอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตกจดจังหวัดแพร่ ลักษณะของการปกครองอำเภอท่าปลาแบ่งออกเป็น ๘ ตำบล คือ เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลนางพญาอยู่ทางทิศตะวันตก และตำบลท่าแฝกอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนใต้เขื่อนแบ่งออก ๖ ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าปลา ตำบลน้ำหมัน ตำบลจริม ตำบลร่วมจิต ตำบลผาเลือด ตำบลหาดล้า รวมทั้งหมดมี ๖๕ หมู่บ้าน

            เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนที่มีความใหญ่รองลงมาจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ตัวเขื่อนตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำน่านที่บ้านผาซ่อม อำเภอท่าปลา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๖๘ กิโลเมตร  ตัวเขื่อนมีความสูง ๑๑๓.๖ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ๑๖๙ เมตร เขื่อนมีความยาว ๕๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๑๒ เมตร และตอนฐานกว้างที่สุด ๖๓๐ เมตร เขื่อนนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๑๕ บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำ กว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบ เป็นสถานที่เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดี ถนนจากตัวเมืองไปถึงเขื่อนเป็นถนนลาดยางไปโดยตลอด มีรถยนต์ประจำทางเดินทุกวัน บริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนมีเรือยนต์รับจ้างนำเที่ยว ที่ตัวเขื่อนมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้กระแสไฟฟ้าได้ ๑๒๕,๐๐๐ กิโลวัตต์  นอกจากตัวเขื่อนใหญ่ดังกล่าว ทางทิศตะวันตกของอำเภอท่าปลา ยังมีเขื่อนกั้นน้ำอีกแห่งที่มีความสัมพันธ์กับเขื่อนสิริกิติ์ คือ เขื่อนดินช่องเขาขาด เป็นเขื่อนปิดเขาตอนที่มีระดับน้ำต่ำ มีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นสถานที่น่าเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นตลาดปลานานาชนิดต่อเนื่องกับบริเวณของเขื่อนสิริกิติ์

            ได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า อำเภอท่าปลาเป็นอำเภอที่ราษฎรส่วนใหญ่อพยพจากเหนือน้ำลงมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินใหม่ ตามที่ราชการจัดสรรให้ ดังนั้นที่อยู่อาศัยจึงมีหลังคาเรือนที่กระจัดกระจายกันออกไป ลำบากแก่การจัดการศึกษา ยกตัวอย่าง เช่น การจัดการศึกษาบริเวณเขื่อนดินและบริเวณที่มีน้ำท่วมไม่ถึง เป็นต้น การติดต่อประสานงานประสานประโยชน์ การให้บริการเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะประชาชนมีความจำเป็นในด้านการครองชีพ มีการโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา เด็กต้องช่วยผู้ปกครองทำมาหากิน ทำไร่ หาปลาอยู่เป็นประจำ มีการขาดเรียนมาก ติดตามตัวได้ยาก

            ทีสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าปลา ทางราชการมีเรือยนต์ลำหนึ่ง จุประมาณ ๕๐ คน สำหรับใช้ตรวจโรงเรียนในบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ผมได้ใช้เรือยนต์ลำนี้ติดต่อประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ เช่น ขนข้าวสาร ถั่วเหลือง น้ำตาลทราย ขึ้นปช่วยเหลือในโครงการอาหารกลางวัน ใช้ตรวจโรงเรียนทุกภาคเรียน ใช้ขนนักกีฬามาแข่งที่อำเภอและบริการหน่วยงานของทางราชการต่างๆอยู่เป็นประจำ

            วันหนึ่ง ผมไปตรวจโรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง โดยนั่งเรือไปจากเขื่อนดินประมาณ ๒ ชั่วโมง ขึ้นจากเรือเดินต่ออีกประมาณ ๑ กิโลเมตรก็ถึงโรงเรียน แต่ถ้าไม่ไปทางเรือจะไปทางรถยนต์ก้ได้ โดยออกจากตัวจังหวัดผ่านอำเภอท่าปลา ผ่านเขื่อนสิริกิติ์ไปถึงอำเภอน้ำปาดประมาณ ๘๐ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตรงหน้าตลาดอำเภอน้ำปาดผ่านบ้านสวน ซึ่งในขณะนี้หน่วยงาน ร.พ.ช. อุตรดิตถ์กำลังทำทางอยู่ จะไปถึงโรงเรียนบ้านห้วยผึ้งได้เหมือนกันในฤดูแล้ง แต่ถ้าในฤดูฝนแล้ว ทางรถยนต์ก็ไปได้ยากลำบากมาก

            หลังจากตรวจงาน ผมกับคณะพักนอนที่บ้านห้วยผึ้ง ๑ คืน เพราะมีโปรแกรมจะต้องไปตรวจเยี่ยมอีก ๕ โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านป่ากั้ง  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๖ (งอมสัก) โรงเรียนบ้านงอมถ้ำ และโรงเรียนบ้านงอมมด

            ครูใหญ่บ้านห้วยผึ้งจัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง มีนึ่งเห็ด จิ้มน้ำพริกดำ ยำหอยกาบจากลำห้วย ลาบไก่ พล่าแย้ มองดูอาหารแล้วล้วนแต่เป็นกับแกล้มเหล้าที่เข้าท่าทั้งนั้น กรรมการศึกษาคนหนึ่งเอาเหล้าดอง "กวางแฉะ" มาให้ ๒ ขวด สีของมันแดงน่ากินมาก คณะของเราที่ไปดมดูเห็นมีกลิ่นหอมๆ เลยกินเข้าไปคนละหลายก๊ง พอหน้าตึงๆ ผมถามว่า
            "กวางแฉะนี่มันเป็นยังไง รสชาติดีนี่"
            "เป็นยาโด๊ปครับหัวหน้า มันเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่เกิดกับป่า พวกกวางชอบกินกันมาก กินไปแล้วเกิดกำลังมหาศาล สมสู่กันไม่รู้จักหยุดจักหย่อน พวกพรานที่ไปล่าสัตว์ป่าสังเกตการณ์รู้เข้าเลยนำเอาต้นมันมาปลูกตามบ้าน ใช้ดองเหล้าบำรุงกำลังครับกินเข้าไปแล้วคึกคักดี" ครูใหญ่ตอบ

            "เออ พูดถึงกวาง ผมทราบว่าแถวนี้มีกวางป่าชุกชุมใช่ไหม"
            "ไม่ชุมแล้วครับ แต่พอมีแหล่งให้ล่าได้บ้าง ตั้งแต่ทางรถยนต์มาถึงนี่พวกพรานในเมืองออกมาไล่ล่าบ่อย อาวุธดี อุปกรณ์ดั เงินดี กวางที่นี่จึงถูกล่าฆ่าตายลงไปทุกที
            "ถ้าอย่างนั้น..." ผมพูดอย่างไตร่ตรอง
           
            "ผมจะตรวจโรงเรียนอีก ๒ วัน วันนี้วันพุธ วันศุกร์ตอนเย็นผมจะกลับมานอนที่นี่ ครูใหญ่ช่วยหาพรานพาผมเที่ยวป่าวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ... เออ ผมอยากได้เขากวางอ่อนไปฝากเพื่อน  เขาสั่งมา แถวนี้พอจะหาได้ไหม"
            "มีครับ" กรรมการศึกษาคนที่เอาเหล้า "กวางแฉะ" มาให้ตอบ ท่าทางของเขาดูจะคล่องป่าดีพอสมควร
            "หัวหน้าต้องการชนิดไหน มันมีหลายชนิด"
            "เอาชนิดที่ดีที่สุดนั่นแหละ"
            "ถ้าอย่างนั้นต้องเอาเขาอ่อนขนาดคืบเศษถึงสองคืบ ซึ่งมันยังไม่แข็งเป๊กจับนิ่มมือ เขาชนิดนี้ราคาแพงนะครับ แต่ถ้าเขายาวใหญ่ ไม่ค่อยนิ่มจะราคาถูก"
            "เพื่อนเขาสั่งให้ผมหาซื้อเขาน้ำค้างไปให้"
            "อ๋อ เขาน้ำค้างหรือครับ ชนิดนี้หายากสักหน่อย ถ้าหัวหน้าต้องการ ผมจะไปเที่ยวถามพวกเพื่อนตามบ้านให้ แต่จะมีหรือไม่มียังไม่รับรองนะครับ เขากวางอ่อนนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นเขาของกวางหนุ่ม เขาอ่อนชนิดนี้ราคาไม่ค่อยสูงนัก อีกชนิดหนึ่งซึ่งราคาสูง คือ "เขาอ่อนของกวางใหญ่" ที่มันสลัดเขาแก่เกะกะทิ้ง แล้วงอกขึ้นใหม่ เขาอ่อนของกวางใหญ่นี่ยังแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดอีก คือ เขาหน่อไม้ กับ เขาน้ำค้าง เขาหน่อไม้ราคาต่ำกว่า เขาน้ำค้างซึ่งตลาดต้องการ เขาน้ำค้างคือเขาอ่อน (ไม่ใช่ขาอ่อน) หน้าหนาว

            "เขาอ่อนนี่เขาทำยังไงมันถึงอยู่ได้โดยไม่เน่า " ผมถามหาความรู้ต่อไป
            "การทำเขาอ่อนส่งตลาดไม่ใหัเน่า เขาทำอย่างนี้ครับ คือ ต้มน้ำให้เดือดจัดแล้วเอาเขากวางอ่อนจุ่มลงไป แล้วรีบยกขึ้นย่างไฟถ่านอ่อนๆกลับไปกลับมา ขณะย่างเอาเหล้าพรมอยู่เสมอ ย่างให้สุกดีไม่คืนตัวเน่าจึงใช้ได้ แต่พรานบางคนก็ไม่ใช้วิธีจุ่มน้ำร้อน  ใช้วิธีย่างถ่านไฟอ่อนๆ แล้วพรมด้วยเหล้าเท่านั้น"
            "ผมเอาเขาน้ำค้างนี่แหละ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ เขาหน่อไม้ก็เอา ช่วยหาซื้อให้ผมด้วยราคาเท่าไหร่ให้มาตกลงกัน" ผมสั่งครูใหญ่

            (อ่านต่อตอนที่ ๒ - ตอนจบ)



ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น