++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553

แกะหนังสือ ทัศนะจากอินเดีย พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (๒)




ผู้แกะ - หนูเอียด

            ในการเสด็จประพาสครั้งนี้ได้ทรงพบทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับบุคคลสำคัญต่างๆของอินเดีย เช่น ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี รัฐมนตรี ตลอดจนโปรเฟสเซอร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเนื่องจากทูลกระหม่อมได้ทรงอนุญาติไว้แล้วว่า "ใครสนใจอานตรงไหนก็เลือกได้ที่สนใจ" ดังนั้น หนูเอียดจะขอผ่านตอนที่ค่อนข้างเป็น "ทางการ" เหล่านี้ไป เพราะท่านผู้อ่านที่รักยิ่งของหนูเอียด นั้น คงไม่ค่อยอยากรู้จักคนใหญ่คนโตเท่าใดนัก แต่ หนูเอียด มั่นใจว่า ผู้อ่าน ต่วยตูน ทุกท่านล้วนแต่เป็น หนอนหนังสือ ถ้างั้นเราตาม "หนอนหนังสืออันดับหนึ่งของประเทศ" ไปทัวร์ร้านหนังสือกันก่อนดีไหมครับ อ้อ ขอเพิ่มเติมอีกนิด สำหรับหนอนหนังสือแท้จริงแล้วนั้น เวลามีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองนอกนะครับ ไม่ค่อยได้ไปช็อปไอ้ของที่ระลึกสวยๆงามๆอะไรกะเขาหรอก มัวแต่เที่ยวถามไถ่ชาวท้องถิ่นเขาว่า ร้านหนังสือใหญ่ที่สุดของเมืองนั้น อยู่อีตรงไหน พอรู้แล้วก็มุ่งรี่ไปที่ร้านนั้น ขลูกอยู่ได้ทั้งวัน เปิดเล่มโน้นหยิบเล่มนี้ เทียบราคา และอีตอนกลับถึงเมืองไทยแล้ว ของที่ช้อปมาได้ก็จะมีหนังสือนี่แหละครับเป็นกองพะเนิน และ หนูเอียด ก็แน่ใจว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงเตรียมช้อปหนังสือไว้อย่างให้ความสำคัญเป็นอันมาก เพราะ

            ...วานคุณตุ๊ก (คุณมัทนะพาธาภรรยาท่านทูตพิรัฐ) ให้ช่วยแลกเงินจากเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินรูปีสำหรับจับจ่ายใช้สอย เนื่องด้วยบ่ายนี้เราจะไปร้านหนังสือกัน....
            ...เราไปที่ร้านหนังสือออกซ์ฟอร์ด อยู่ตรงข้ามร้านรองเท้าบาจา ในร้านมีหนังสือหลายประเภท ฉันซื้อมาบ้าง มีเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย แะการ์ตูนวรรณคดีเป็นต้น หนังสือที่มาตีพิมพ์ในอินเดีย ราคาถูกกว่าที่ตีพิมพ์เมืองนอกมาก เข้าใจว่าเป็นด้วยนโยบายของอินเดียที่จะทำให้หนังสือราคาถูก ให้คนมีโอกาสอ่านหนังสือกันมากๆ ฉันยืนตาลายเพราะหนังสือมาก ควักแว่นออกมาใส่แล้วก็ยังเลือกไม่ค่อยถูก อาจารย์สัตยพรตเลยบอกว่า เวลาไปเดลีแล้ว อาจารย์จะพาเราไปดูหนังสือที่บ้านอาจารย์ มีเรื่องเกี่ยวกับสันสกฤตทุกสมัย

           
ครับอ่านแล้วรู้สึกเห็นพระทัยทูลกระหม่อมเป็นอันมาก เวลาที่จำกัดทำให้ต้องรีบเลือกดูหนังสือ ตาลายแน่ๆ ไม่ว่าใครซึ่งการดูอะไรรีบร้อนแบบนี้ได้ทรงให้ความเห็นไว้ว่า
            ..ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยพาขึ้นอาคารชั้นบน ห้องแรกที่เข้าไปเป็นห้องที่ท่านรพินทรนาถถึงแก่กรรม มีแจกันดอกไม้วางไว้ เขาให้คนเอาพวงมาลัยมาให้ไปคล้องที่แจกันนั้น หลังจากนั้นเขาก็พาดูห้องต่างๆอย่างรวดเร็ว ที่ต้องรีบเพราะยังมีรายการต่างๆ คอยท่าอยู่อีกเยอะ ก็ดีไปอย่างหนึ่งที่จะได้เห็นอะไรมากๆ แต่บางทีชีวิตรีบเร่งแบบนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน คือ จะดูอะไรให้ลึกซึ้งเข้าใจถ่องแท้ไม่ได้ และไม่ค่อยได้ซาบซึ้งประทับใจกับอะไร หรือที่ฉันมักจะเรียกว่าเป็นโรคอาหาร (ทางสมอง) ย่อยไม่ค่อยทัน

            ขอย้อนกลับมาเรื่องหนังสืออีกนิดหนึ่ง (แหม พูดถึงหนังสือแล้วมันจบไม่ค่อยได้ง่ายๆหรอกครับ ให้คุยทั้งวันก็ไม่เบื่อ) สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเอ่ยถึงหนังสือที่ทรงโปรดมาก และ " แกะ" เอามาให้อ่านเสียด้วย

            กลับจากสาลวโนทยาน กลับไปนั่งในห้องพักคิดเรื่องพุทธประวัติ เหตุการณ์วันปรินิพพานตามมหาปรินิพพานสูตรที่เกิดขึ้น ณ สถานที่นี้ล้วนมีความสำคัญ ตั้งแต่พระตถาคตเจ้าบรรทมอยู่ใต้สาละคู่ ตรัสข้อธรรมะอันประเสริฐก่อนที่จะปรินิพพาน หนังสือที่ฉันอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่รู้จักเบื่อคือ พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหานิพพานสูตรปริวรรต ปริจเฉทที่ ๒๖ ท่านใช้ภาษาที่ไพเราะจับใจตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกตอนได้ความแจ่มแจ้ง ฉันไม่ทราบจะยกตอนไหนมาเป็นตัวอย่างดี เพราะไพเราะทุกตอน ลองพงตอนบรรยายธรรมชาติและข้อธรรมะสักข้อหนึ่ง

            "พระบรมโลกนาถก็เอนองค์ลงบรรทมเหนือปาสาณบัลลังก์อาสน์ สำเร็จซึ่งสีหไสยาสน์โดยทักษิณปรัศว์เบื้องขวา พระบาทาฝ่ายซ้ายซ้อนทักษิณบาท ทรงไสยาสน์ด้วยอนุฐานสัญญามนสิการประกอบด้วยพระสติสัมปชัญญะกำหนดว่า ตถาคตมิได้อุฏฐาการอีกสืบไป ในสมัยนั้นอันว่าสาลบุปผชาติทั้งหลายก็ขยายแย้มกลีบเกสรเบ่งบาน ตั้งแต่ลำต้นตราบเท่าถึงยอดแล ตลอดสาลวัน วิกสิตบุปผาเป็นอกาลผกาปรากฎกุสุมเสาวคนธรสก็ปวัตนาการหล่นลงเรี่ยรายทั่วพระพุทธสริรกายา บูชาพระสัพพัญญูหมู่ภมรผึ้งภู่บินมาเชยซาบอาบรสเกสรมาลาบันลือศัพท์สำนวน ปานประหนึ่งว่าสำเนียงยมกสาลพฤกษาปริเวทนาการ แลบุปผชาติแห่งนางรังหล่นลงเป็นนิรันดร์ ก็เปรียบปานประดุจอสุชลหล่นไหลพิลาปโสภี สัมผัสกับพระฉัพพิธพรรณรังสีโสภณโอภาสเพียงจะครอบงำเสียซึ่งพรรณประภาแห่งภานุมาศให้เสื่อมแสงเศร้า มีครุวนาปานฉะนั้น..."

           
ต้องขอสารภาพว่าในขณะที่ทูลกระหม่อมทรงอ่านพระประชุมสมโพธิกถา "ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่รู้จักเบื่อ" นั้น หนูเอียดยังไม่เคยได้แตะหนังสือเล่มนี้เลยครับ หรือพูดให้ตรงกว่านี้ก็คือ  เพิ่งจะเคยได้ยินในหนนี้เอง แฮะ แฮะ ไอ้ที่เคยคิดว่าตนเองเป็นหนอนหนังสือตัวนึงนั้น ที่แท้ก็เป็นเพียงหนอนตัวเล็กๆ ขนาดหนอนปลวกเท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับทูลกระหม่อม
            ขออีกนี๊ดเถอะครับ เพื่อเป็นการยืนยันความรักหนังสือของพระองค์ท่าน

            ฉันขอให้เขาเปิดตู้เก็บตันฉบับ (หนังสือโบราณ) เขาก็อุตส่าห์เปิดให้ดู ตู้ที่ใส่เป็นตู้เหล็กเก็บเอกสารธรรมดาๆใส่การบูรไว้ก้อนเบ้อเริ่ม ต้นฉบับที่เก้บส่วนใหญ่เป็นกระดาษสาแบบหนา สีขาวๆพับเป็นเล่ม (แบบเล่มสมุดข่อย) เขาจะทำความสะอาดและบูรณะกระดาษแต่ละแผ่นและห่อผ้าแดงเก็บเข้าตู้ ดูต้นฉบับแล้วฉันเดินไปดูชั้นหนังสือ มีแต่หนังสือเก่ามากๆ เดินไปใกล้ๆก็คัดจมูกจะจามอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การได้เห็นหนังสือมากๆแบบนี้ก็ทำให้มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง....

            ออกจากกองหนังสือไปดูอย่างอื่นกันบ้างนะครับ
            ความสนพระทัยของทูลกระหม่อมในทุกสิ่งที่ได้ทรงพบทรงเห็นนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้กราบคำแนะนำรู้สึกทึ่งและเต็มอกเต็มใจที่จะทำหน้าที่ของตน
           
            ถึงเวลาจะต้องกลับแล้ว ที่จริงเขามีอะไรอยากโชว์อีกแยะ ทุกคนร้องว่าคราวหน้าจะพาดูหนังสืออีก ที่ฉันประทับใจคนที่นี่มาก คือ ทุกคนดูเต็มอกเต็มใจ กระตือรือร้นที่จะให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ด้วยน้ำใจไมตรีดียิ่ง ไม่ว่าฉันจะออกปากอะไร ดูเต็มใจไปหมดทุกอย่าง...
            ...ท่านสิวลี (พระอินเดีย) บอกว่าท่านสังเกตว่าฉันสนใจสถานที่สำคัญในพุทธศาสนามาก ฉันเรียนท่านว่า ฉันเรียนพุทธประวัติมามาก ฉนั้นจึงอยากจะรู้ว่าที่กล่าวในคัมภีร์จริงๆมีสักเท่าไร เป็นอย่างไร ท่านบอกว่าถ้าอย่างนั้นเห็นจะต้องเรียนกับท่านที่บอมเบย์ ฉันคุยให้ท่านฟังว่าฉันเคยเรียนวิสุทธิวรรค แต่รู้สึกว่ายาก ท่านบอกว่าไม่ยากอะไรเลยถ้าครูสอนดีๆ ฉันว่าตัวธรรมะฉันไม่ได้เรียนมาก ที่ว่ายากนั้นคือ การแปลจากภาษาบาลี ท่านว่าถ้าอย่างนั้นก็ยาก


            ระหว่างที่ทอดพระเนตร เห็นอะไรต่ออะไรนั้น ท่านก็มักหวนกลับมาคิดเปรียบเทียบกับเมืองไทยของเราเสมอ

            ...ก่อนออกจากสนามบินมีเด็กนักเรียนรายทางโบกมือร้องภารัต-ไทย ไมตรีๆ ภารัต-ไทย ไปไป คำว่าไปไปนี้แปลว่า พี่น้องกัน มีคนร้องภาษาอังกฤษว่า Welcome ด้วย รู้สึกว่าเด็กๆก็สนุก ร้องกันเป็นจังหวะ มีต้นเสียงและลูกคู่ เห็นเด็กนักเรียนร้องต้อนรับแล้วนึกถึงบ้านเราเวลามีแขกเมืองมา ก็ต้องมีเด็กนักเรียนมาโบกธง ฉันเคยชินกัยการได้ยินร้องไชโยๆ มีอยู่คราว เกิดสั่งกันไม่ให้ร้องไชโย ให้ร้องเฮเฮเฉยๆ ฟังประหลาด สุดท้ายนี้ทางการจะให้ร้องอย่างไรไม่ทราบ ไม่ได้ติดตามสอบถาม
            ทางการของเรามีอะไรประหลาดๆให้ดูอยู่เสมอ ไม่จืดหรอกทูลกระหม่อม


        (อ่านต่อตอนที่ ๓ ตอนจบ)
ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗

1 ความคิดเห็น:

  1. จะนอกเรื่องทำไมเนี่ย ย่อหน้าแรก เขียนมาตั้งนาน อยู่ดีมานอกเรื่อง เซ็งเลย
    หนูเอียดๆๆๆ ผมมาอ่านทัศนะจากอินเดียนะ ไม่ได้มาอ่านเรื่องคุณ

    ตอบลบ