++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

เรือข้าว (๑) - ของเก่า เราลืม

ฒ. ผู้เฒ่า

            "อ้าว ไอ้แฉ่ง ไหงมาบก"  นายท้ายถามคนเดินตามผมลงไปหาเขาในเรือไฟจอดเทียบแพซุงปากน้ำโพ

            "เรือหวั่งหลีเสียท้ายซะบางไทร เรือขุนด่ำช่วยเข้ากราบมาปล่อยซ่อมกรุงเก่า จะชักช้าเลยเกาะรถไฟมา"
            "เป็นอะไรไปล่ะวะ มากมั้ย"
            "สแตนจู๊บหลุดพนังตัวนึง โบโลโอทิ้งเกือบไม่ทัน ตั๊บบ๊อกก็รั่วมาจากบางกอก"
            "นายลงมาก็ดี" นายท้ายหันมาเจรจากับผม "วานพาเรือไปลงฟืนหน่อยฮี ผมจะขึ้นตลาดนิด"
            "เรือกันเกราจิงโจ้หักต้องขึ้นคานที่นี่ ถ่ายพวงมาให้เรายี่สิบลำ" ช่างไฟบอก

            "เดี๋ยวข้ามไปนัดเค้าเตรียมจับพวง ออกบ่ายแก่ๆหน่อย"
            "ท้ายเค้ากะค้างชัยนาทรับเจ้าจำนำของซุ่นเฮงหลีกับกวางซุ่นหลีอีกยี่สิบ" ภาษาเรือโยงเค้าละครับ

            ปากน้ำโพประตูสำคัญเชื่อมภาคเหนือกับภาคกลาง เมืองเงินเมืองทองของยุค พืชผลตลอดลุ่มน้ำปิงวังยมน่านนทีลงมารวมกันที่นี่  ปากน้ำโพชุมทางที่ยิ่งใหญ่ลูกทุ่งลูกป่าพบชาวน้ำชุมทางแพซุง ชุมทางอะไรต่อมิอะไรจนถึงชุมทางฝิ่น ชุมทางเสือปล้น นายตำรวจนครสวรรค์ต้องระดับมือปราบ ยิงจับชั้นเยี่ยมของทางเหนือ บางประเภทเก่าจากปากน้ำโพแล้วเพิ่งมาฮือฮาใหม่ในกรุงเทพฯ สนุกเป็นบ้า  มีสำนักงานใหญ่ๆ บริษัทป่าไม้ บริษัทค้าข้าวทั้งไทยฝรั่ง เรือแพนาวาคราคร่ำ ปากน้ำโพไม่เคยหลับ ไม่มีอะไรที่หาไม่ได้ บริการแสงสีของสวนอาบจันทร์ สวนสวรรค์จนถึงตรอกซอกมุมมืดแคบๆ ใครหักหลังกันในวงการเถื่อนๆ ตามล่าไม่สำเร็จแถวลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน มักจะมาสมใจเอาที่ปากน้ำโพไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง คนเรือคนแพ ขึ้นพบคนบก คนเปียกพบคนแห้ง คุยแข่งกันมองไปมองมาในร้านเหล้า ไม่นานได้ตีกบาลแกล้มแก้เมา เขาสนุกของเขายังงั้น ไม่หนักหนาอะไรร้อก พอพยุงกันกลับได้ เอาแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้างทิ้งไว้ข้างหลัง

            "เที่ยวก่อนเรือชาละวันโดนตะพดหมอบไปสาม ตัวนายท้ายด้วย" หรือ
            " พวกเรือเทพาซัดพวกออกมาจากป่าแม่วงแหลกเลยว่ะ คราวหน้าเจอกันร้านกูพังอีก"
               
            ไอ้ที่ดุเดือดเลือดสาดได้บาดแผล ขนาดต้องกลับชาติมาเกิดถึงจะรักษาได้ก็มี แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยนางเอกประกอบด้วย ชนิดเหยียบเงาชักมีดชักปืนเล่นงานน่ะไม่ทำ เค้าแยกคำว่านักเลงกับคำว่า อันธพาลออกจากกัรเด็ดขาดครับ

            นายท้ายคงขึ้นไปสั่งเสียแฟนตามระเบียบ พี่ไปหลายวัน ข้ามไปพบพวกเรือข้าวแล้วไปฉางฟืน มีอยู่หลายเจ้า ฟืนก็ฟืน ไม่มีซุปเปอร์ฟืนดีเซลฟืน ปั้มฟืนเล่นโยนรับส่งกันเป็นทอดๆ เข้ายุ้ง ที่เขาไหว้วานถือท้ายพาเรือมานี่ ใช่ว่ามาเปล่า ต้องร่วมเข้าแถมโยนกับเขาด้วย  เชื้อเพลงเรือไฟคิดเป็นหลา (ลูกบาศก์หลา) หลาละสามสลึงทำนองนั้น กว่าจะเต็มยุ้งก็ร่วมชั่วโมง เรือรับข้าวเปลือกเต็มระวางจากฉางหรือเก็บจากรายย่อย จะมารวมกันที่จุดใดจุดหนึ่ง คอยเรือไฟเจ้าจำนำหรือเรือบริษัทเรือโรงสี เรือข้าวรู้ระหว่างกัน จะจัดลำดับโยงก่อนหลังตามแต่ลำไหนจะปลด ตำบลไหนๆ ลำๆก็สี่สิบหน้าสิบตัน ชีวิตล่องลอยตามสายน้ำจริงๆ ไม่ได้ขึ้นบกขึ้นบ้านกันเป็นเดือน ทั้งที่มีหลักฐานบ้านช่องกันทั้งนั้น ไปทุกแห่งที่มีน้ำให้เรือลอย ส่วนใหญ่จะมีขาประจำรู้จุดรับจุดส่ง แต่กว่าจะเต็มลำกลับมารวมหมู่ขั้นต้นรอเรือไฟลากจูงเข้าบางกอก ก็ใช้เวลาไม่น้อย งานมีตลอดปีหมดข้าวเปลือกก็รับข้าวสารไปขึ้นโกดัง หรือส่งลงเรือใหญ่ที่ต่างประเทศ เรือข้าวขนาดใหญ่ต้องมีลุกเรือทำงานอย่างน้อยสี่คน เวลาเข้าคลองเล็กคลองน้อย ต้องถ่อเรือหลักจะยืนถ่อค้ำๆเอาไม่ได้ ต้องเดินถ่อพร้อมกันทั้งสองกราบ กราบละคนหรือสองคนแล้วแต่สะดวก หรือแล้วแต่เรือหนักเบา เดินตามแคมเรือจากหัวมาท้ายถอนถ่อ ลากกลับมาตั้งต้นที่หัวเรือใหม่ ปลายถ่อข้างหนึ่งมันมีไม้รูปโค้ง ให้กระชับเข้าร่องไหล่ (ว่าถึงประเภทใช้ไหล่ดัน) อีกข้างหนึ่งมีปลอกเหล็กมีเขี้ยวสั้นๆ สองเขี้ยว สำหรับให้เกาะแน่นไม่ลื่น เมื่อใช้ถ่อค้ำอย่างอื่น ม่ายงั้นดีไม่ดีพลัดลงน้ำขายหน้าชาวพารา เรือจะเข้าพ่วงในขบวนต้องสองคนหัวสองคนท้าย เรื่องเชือกโยงลำหน้าลากลำหลัง เชือกมะนิลานิ้วนิ้วครึ่ง มิใช่เบาไม่ใคร่จะขดงอได้อย่างใจ ชาวเรือกับเชือกที่ผูกพันกันแน่นแฟ้นจริงๆ จะไม่ตัดเชือกส่งเดชสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ว่าเชือกเล็กเชือกใหญ่ ไม่ใช่ว่า เอาไปทำราวตากผ้า ซักสองวาหรือจะผูกแขวนกุนเชียงซักนิดแล้ว เฉือนไปในบัดดล เชือกลงมันสั้นน่ะทำให้มันยาวไม่ได้นี่ครับ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ (เป็นปม) ชาวเรือไม่ชอบ เขาจะเตรียมเชือกอะไรต่อมิอะไรของเขาพร้อมในยุ้งเชือก ถ้าจะยืมเชือกกันก็ยกไปทั้งขด ไม่ใช่ขอตัดครึ่งตัดค่อน พวกขโมยตัดเชือกโดยฟันหน้าแหกมาแยะแล้ว  แต่กรณีเกิดเหตุเพทภัยในขบวนเรือโยง ท่าทีส่ออันตราย คนเรือข้าวจะสับเปรี้ยงเชือกโยงขาดเลย เอาปลอดภัยไว้ก่อน เรือน่ะเกิดอะไรขึ้น มันเปียกกับจมลูกเดียว อย่างว่าละครับ ชาวเรือรักเชือกหวงเชือกก็จริงแต่ต้องมีมีดมีขวานใกล้มือคอยสับเหมียนกัลล์

            (อ่านต่อตอนจบ)

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น