++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

ปัญญาอบรมสมาธิไม่มีนิมิต สมาธิอบรมปัญญามักจะปรากฏนิมิต หลวงตามหาบัว

ปัญญาอบรมสมาธิ
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

สมาธิ


ธรรมกรรมฐานทุกบทเป็นรั้วกั้นความคะนองของใจ
ใจที่ไม่มีกรรมฐานประจำและควบคุม จึงเกิดความคะนองได้ทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก
หนุ่มสาว เฒ่าแก่ ชรา คนจน คนมี คนฉลาด คนโง่ คนมีฐานะสูง ต่ำ ปานกลาง
คนตาบอด หูหนวก ตาดี หูดี ง่อยเปลี้ยเสียขา พิกลพิการ และอื่นๆ
ไม่มีประมาณ ทางศาสนธรรมเรียกว่า ผู้ยังตกอยู่ในวัยความคะนองทางใจ
หมดความสง่าราศีทางใจ หาความสุขไม่ได้ อาภัพความสุขทางใจ
ตายแล้วขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่นเดียวกับต้นไม้
จะมีกิ่งก้านดอกผลดกหนาหรือไม่ ไม่เป็นประมาณ รากแก้วเสียหรือโค่นลงแล้ว
ย่อมเสียความเป็นสง่าราศีและผลประโยชน์ ฉะนั้น แต่ลำต้น
หรือกิ่งก้านของต้นไม้ ก็ยังอาจจะมาทำประโยชน์อย่างอื่นได้บ้าง
ไม่เหมือนมนุษย์ตาย

โทษแห่งความคะนองของใจ ที่ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องรักษา
จะหาจุดความสุขไม่พบตลอดกาล
แม้ความสุขจะเกิดเพราะความคะนองของใจเป็นผู้แสวงหามาได้
ก็เป็นความสุขชนิดเป็นบทบาทที่จะเพิ่มความคะนองของใจ
ให้มีความกล้าแข็งไปในทางที่ไม่ถูก มากกว่าจะเป็นความสุขที่พึงพอใจ

ฉะนั้นสมาธิ คือ ความสงบหรือความตั้งมั่นของใจ
จึงเป็นข้าศึกต่อความคะนองของใจที่ไม่อยากรับ "ยา" คือ กรรมฐาน
ผู้ต้องการปราบปรามความคะนองของใจ
ซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อสัตว์มาหลายกัปนับไม่ถ้วน จึงจำเป็นต้องฝืนใจรับ
"ยา" คือ กรรมฐานการรับยาหมายถึง การอบรมใจของตนด้วยธรรมะ
ไม่ปล่อยตามลำพังของใจ ซึ่งชอบความคะนองเป็นมิตรตลอดเวลา คือ
น้อมธรรมเข้ามากำกับใจ ธรรมกำกับใจ เรียกว่า กรรมฐาน มี ๔๐ ห้อง
ตามจริตนิสัยของบรรดาสัตว์ ไม่เหมือนกัน มี กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐
พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และ อรูป ๔
จะขอยกมาพอประมาณ ที่ใช้กันโดยมาก และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นที่พึงพอใจ
คือ

อาการของกาย ๓๒ มี เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทนฺตา
(ฟัน) ตโจ (หนัง) ที่ท่านเรียกว่า กรรมฐาน ๕ หรือ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ฯลฯ
หรืออานาปานสติ (ระลึกลมหายใจเข้าออก) บทใดก็ได้ ตามแต่จริตชอบ
เพราะนิสัยไม่เหมือนกัน จะใช้กรรมฐานอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นการขัดต่อจริต
ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อชอบบทใดก็ตกลงใจนำบทนั้นมาบริกรรม เช่น
จะบริกรรมเกสา ก็นึกว่าเกสาซ้ำอยู่ในใจ
ไม่ออกเสียงเป็นคำพูดให้ได้ยินออกมาภายนอก (แต่ลำพังนึกเอาชนะใจไม่ได้
จะบริกรรมทำนองสวดมนต์ เพื่อให้เสียงผูกใจไว้ จะได้สงบก็ได้
ทำจนกว่าใจจะสงบได้ด้วยคำบริกรรม จึงหยุด )
พร้อมทั้งใจให้ทำความรู้สึกไว้กับผมบนศีรษะ จะบริกรรมบทใด
ก็ให้ทำความรู้อยู่กับกรรมฐานบทนั้น เช่นเดียวกับบริกรรมบทเกสา
ซึ่งทำความรู้อยู่ในผมบนศีรษะ ฉะนั้น

ส่วนการบริกรรมบท พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ บทใดๆ
ให้ทำความรู้ไว้จำเพาะใจไม่เหมือนบทอื่นๆ คือ ให้คำบริกรรมว่า พุทฺโธ
เป็นต้น สัมพันธ์กันอยู่กับใจไปตลอดจนกว่าจะปรากฏ พุทฺโธ
ในคำบริกรรมกับผู้รู้ คือ ใจเป็นอันเดียวกัน แม้ผู้จะบริกรรมบท ธมฺโม
สงฺโฆ ตามจริต ก็พึงบริกรรมให้สัมพันธ์กันกับใจ จนกว่าจะปรากฏ ธมฺโม หรือ
สงฺโฆ เป็นอันเดียวกันกับใจ ทำนองเดียวกับบท พุทฺโธ เถิดฯ

อานาปานสติภาวนา ถือลมหายใจเข้าหายใจออก เป็นอารมณ์ของใจ
มีความรู้และสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก เบื้องต้นการตั้งลม
ควรตั้งที่ปลายจมูกหรือเพดานเพราะเป็นที่กระทบลมหายใจ
พอถือเอาเครื่องหมายได้ เมื่อทำจนชำนาญ และลมละเอียดเข้าไปเท่าไร
จะค่อยรู้หรือเข้าใจ ความสัมผัสของลมเข้าไปโดยลำดับ
จนปรากฏลมที่อยู่ท่ามกลางอก หรือลิ้นปี่แห่งเดียว ทีนี้จงกำหนดลม ณ
ที่นั้น ไม่ต้องกังวลออกมากำหนดหรือตามรู้ลมที่ปลายจมูกหรือเพดานอีกต่อไป
การกำหนดลมจะตามด้วย พุท.โธ เป็นคำบริกรรมกำกับลมหายใจเข้า-ออกด้วยก็ได้
เพื่อเป็นการพยุงผู้รู้ให้เด่น จะได้ปรากฏลมชัดขึ้นกับใจ
เมื่อชำนาญในลมแล้ว ต่อไปทุกครั้งที่กำหนด
จงกำหนดลงที่ลมหายใจท่ามกลางอกหรือลิ้นปี่โดยเฉพาะ
ทั้งนี้สำคัญอยู่ที่ตั้งสติ จงตั้งสติกับใจ
ให้มีความรู้สึกในลมทุกขณะที่ลมเข้าและลมออก สั้นหรือยาว
จนกว่าจะรู้ชัดในลมหายใจ มีความละเอียดเข้าไปทุกที
และจนปรากฏความละเอียดของลมกับใจเป็นอันเดียวกัน
ที่นี้ให้กำหนดลมอยู่จำเพาะใจ ไม่ต้องกังวลในคำบริกรรมใดๆทั้งสิ้น

เพราะการกำหนดลมเข้าออกและสั้นยาวตลอดคำบริกรรมนั้นๆ
ก็เพื่อจะให้จิตถึงความละเอียดที่สุด จิตจะปรากฏมีความสว่างไสว
เยือกเย็นเป็นความสงบสุข และรู้อยู่จำเพาะใจ ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆ
แม้ที่สุดกองลมก็ลดละความเกี่ยวข้อง ในขณะนั้นไม่มีความกังวล
เพราะจิตวางภาระ มีความรู้อยู่จำเพาะใจดวงเดียว คือ ความเป็นหนึ่ง
(เอกคฺคตารมณ์) นี่คือผลที่ได้รับจากการเจริญอานาปานสติกรรมฐาน
ในกรรมฐานบทอื่นพึงทราบว่า ผู้ภาวนาจะต้องได้รับผลเช่นเดียวกันกับบทนี้

การบริกรรมภาวนามีบทกรรมฐานนั้นๆเป็นเครื่องกำกับใจด้วยสติ
จะระงับความคะนองของใจได้เป็นลำดับ จะปรากฏความสงบสุขขึ้นที่ใจ
มีอารมณ์อันเดียว คือรู้อยู่จำเพาะใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านใดๆ
ไม่มีสิ่งมากวนใจให้เอนเอียง เป็นความสุขจำเพาะใจ
ปราศจากความเสกสรรหรือปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น เพียงเท่านี้
ผู้ปฏิบัติจะเห็นความอัศจรรย์ในใจ ที่ไม่เคยประสบมาแต่กาลไหนๆ
และเป็นความสุขที่ดูดดื่มยิ่งกว่าอื่นใดที่เคยผ่านมา

อนึ่งพึงทราบ ผู้บริกรรมบทกรรมฐานนั้นๆ
บางท่านอาจปรากฏอาการแห่งกรรมฐาน ที่ตนกำลังบริกรรมนั้นขึ้นที่ใจ
ในขณะที่กำลังบริกรรมอยู่ก็ได้ เช่น ปรากฏผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น
กระดูก เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง ประจักษ์กับใจเหมือนมองเห็นด้วยตาเนื้อ
เมื่อปรากฏอย่างนี้ พึงกำหนดดูอาการที่ตนเห็นนั้นให้ชัดเจนติดใจ
และกำหนดให้ตั้งอย่างนั้นได้นาน และติดใจเท่าไรยิ่งดี
เมื่อติดใจแนบสนิทแล้วจงทำความแยบคายในใจ กำหนดส่วนที่เห็นนั้น
โดยเป็นของปฏิกูลโสโครก ทั้งอาการส่วนใน และอาการส่วนนอกของกายโดยรอบ
และแยกส่วนของกายออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นแผนกๆ ตามอาการนั้นๆ โดยเป็นกองผม
กองขน กองเนื้อ กองกระดูก ฯลฯ

เสร็จแล้วกำหนดให้เน่าเปื่อยลงบ้าง กำหนดไฟเผาบ้าง กำหนดให้
แร้ง กา หมา กินบ้าง กำหนดให้แตกลงสู่ธาตุเดิมของเขา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
บ้างเป็นต้น การทำอย่างนี้เพื่อความชำนาญ คล่องแคล่วของใจในการเห็นกาย
เพื่อความเห็นจริงในกายว่า มีอะไรอยู่ในนั้น
เพื่อความบรรเทาและตัดขาดเสียได้ซึ่งความหลงกาย
อันเป็นเหตุให้เกิดราคะตัณหา คือ ความคะนองของใจ
ทำอย่างนี้ได้ชำนาญเท่าไรยิ่งดี ใจจะสงบละเอียดเข้าทุกที
ข้อสำคัญเมื่อปรากฏอาการของกายขึ้น อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ
และอย่ากลัวอาการของกายที่ปรากฏ จงกำหนดไว้เฉพาะหน้าทันที
กายนี้เมื่อภาวนาได้เห็นจนติดใจจริงๆ จะเกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชตน
จะเกิดขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลลงทันที อนึ่ง
ผู้ที่ปรากฏกายขึ้นเฉพาะหน้าในขณะภาวนา ใจจะเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว
และจะทำปัญญาให้แจ้งไป พร้อมๆกันกับความสงบของใจที่ภาวนาเห็นกาย

ผู้ที่ไม่เห็นอาการของกาย จงทราบว่า การบริกรรมภาวนาทั้งนี้
ก็เป็นการภาวนาเพื่อจะยังจิตให้เข้าสู่ความสงบสุขเช่นเดียวกัน
จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยที่ตรงไหนว่า จิตจะไม่หยั่งลงสู่ความสงบ
และเห็นภัยด้วยปัญญาในวาระต่อไป จงทำความมั่นใจในบทภาวนา
และคำบริกรรมของตนอย่าท้อถอย ผู้ดำเนินไปโดยวิธีใด พึงทราบว่า
ดำเนินไปสู่จุดประสงค์เช่นเดียวกัน และจงทราบว่า บทธรรมทั้งหมดนี้
เป็นบทธรรมที่จะนำใจไปสู่สันติสุข คือ พระนิพพาน
อันเป็นจุดสุดท้ายของการภาวนาทุกบทไป ฉะนั้น
จงทำตามหน้าที่แห่งบทภาวนาของตน อย่าพะวักพะวนในกรรมฐานบทอื่นๆ
จะเป็นความลังเลสงสัย ตัดสินใจลงไปสู่ความจริงไม่ได้
จะเป็นอุปสรรคแก่ความจริงใจตลอดกาล

จงตั้งใจทำด้วยความมีสติจริงๆ และ อย่าเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา
ให้นอกไปจากใจ เพราะกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อยู่ที่ใจ
ใครไม่ได้เรียงรายเขา เมื่อคิดไปทางผิด มันก็เกิดกิเลสขึ้นมาที่ใจดวงนั้น
ไม่ได้กำหนดหรือนัดกันว่า ใครจะมาก่อนมาหลัง มันเป็นกิเลสมาทีเดียว
กิเลสชนิดไหนมา มันก็ทำให้เราร้อนได้เช่นเดียวกัน
เรื่องของกิเลสมันจะต้องเป็นกิเลสเรื่อยไปอย่างนี้
กิเลสตัวไหนจะมาก่อนมาหลังเป็นไม่เสียผล ทำให้เกิดความร้อนได้ทั้งนั้น
วิธีการแก้กิเลสอย่าคอยให้ศีลไปก่อน สมาธิมาที่สอง ปัญญามาที่สาม
นี่เรียกว่า ทำสมาธิเรียงแบบ เป็นอดีต อนาคตเสมอไป
หาความสงบสุขไม่ได้ตลอดกาล

ปัญญาอบรมสมาธิ


ความจริงการภาวนาเพื่อให้ใจสงบ
ถ้าสงบด้วยวิธีปลอบโยนโดยทางบริกรรมไม่ได้ ต้องภาวนาด้วยวิธีปราบปราม
ขู่เข็ญ คือค้นคิดหาเหตุผลในสิ่งที่จิตติดข้องด้วยปัญญา
แล้วแต่ความแยบคายของปัญญา จะหาอุบายทรมานจิตดวงพยศ
จนปรากฏใจยอมจำนนตามปัญญาว่า เป็นความจริงอย่างนั้นแล้ว
ใจจะฟุ้งซ่านไปไหนไม่ได้
ต้องหยั่งเข้าสู่ความสงบเช่นเดียวกับสัตว์พาหนะตัวคะนอง
ต้องฝึกฝนทรมานอย่างหนักจึงจะยอมจำนนต่อเจ้าของ ฉะนั้น ในเรื่องนี้
จะขอยกอุปมาเป็นหลักเทียบเคียง เช่น ต้นไม้บางประเภท
ตั้งอยู่โดดเดี่ยวไม่มีสิ่งเกี่ยวข้อง
ผู้ต้องการต้นไม้นั้นก็ต้องตัดด้วยมีดหรือขวาน เมื่อขาดแล้ว
ไม้ต้นนั้นก็ล้มลงสู่จุดที่หมาย แล้วนำไปได้ตามต้องการ
ไม่มีความยากเย็นอะไรนัก แต่ไม้อีกบางประเภท ไม่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว
ยังเกี่ยวข้องอยู่กับกิ่งแขนงของต้นอื่นๆอีกมาก
ยากที่จะตัดให้ลงสู่ที่หมายได้ ต้องใช้ปัญญาหรือสายตาตรวจดู
สิ่งเกี่ยวข้องของต้นไม้นั้นโดยถี่ถ้วน แล้วจึงตัดต้นไม้นั้นให้ขาด
พร้อมทั้งตัดสิ่งเกี่ยวข้องจนหมดสิ้นไป
ไม้ย่อมตกหรือล้มลงสู่ที่หมายและนำไปได้ตามความต้องการฉันใด
จริตนิสัยของคนเราก็ฉันนั้น

คนบางประเภท ไม่ค่อยมีสิ่งแวดล้อมเป็นภาระกดถ่วงใจมาก
เพียงใช้คำบริกรรมภาวนา พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เป็นต้น
บทใดบทหนึ่งเข้าเท่านั้น ใจก็ได้รับความสงบเยือกเย็นเป็นสมาธิลงได้
กลายเป็นต้นทุนหนุนปัญญา ให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างสบายที่เรียกว่า
สมาธิอบรมปัญญา

แต่คนบางประเภทมีสิ่งแวดล้อมเป็นภาระกดถ่วงใจมาก
และเป็นนิสัยชอบคิดอะไรมากอย่างนี้
จะอบรมด้วยคำบริกรรมอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น
ไม่สามารถที่จะยังจิตให้หยั่งลงสู่ความสงบเป็นสมาธิได้
ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเหตุผล ตัดต้นเหตุของความฟุ้งซ่านด้วยปัญญา
เมื่อปัญญาได้หว่านล้อมในสิ่งที่จิตติดข้องนั้นไว้อย่างหนาแน่นแล้ว
จิตจะมีความรู้เหนือปัญญาไปไม่ได้ และจะหยั่งลงสู่ความสงบเป็นสมาธิได้
ฉะนั้น คนประเภทนี้ จะต้องฝึกฝนจิตให้เป็นสมาธิได้ด้วยปัญญา ที่เรียกว่า
ปัญญาอบรมสมาธิ ตามชื่อหัวเรื่องที่ให้ไว้แล้วในเบื้องต้นนั้น
เมื่อสมาธิเกิดมีขึ้นด้วยอำนาจปัญญา อันดับต่อไป
สมาธิก็กลายเป็นต้นทุนหนุนปัญญาให้มีกำลังก้าวหน้า
สุดท้ายก็ลงรอยเดียวกันกับหลักเดิมที่ว่า สมาธิอบรมปัญญา

ผู้ต้องการอบรมใจให้เป็นไป เพื่อความฉลาด
รู้เท่าทันกลมายาของกิเลส อย่ายึดปริยัติจนเกิดกิเลส
แต่ก็อย่าปล่อยวางปริยัติจนเลยศาสดา
ผิดพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งสองนัย คือ ในขณะที่ทำสมาธิภาวนา
อย่าส่งใจไปยึดปริยัติจนกลายเป็นอดีตอนาคตไป ให้ตั้งจิตลงสู่ปัจจุบัน คือ
เฉพาะหน้า มีธรรมที่ตนเกี่ยวข้องเป็นอารมณ์เท่านั้น เมื่อมีข้อข้องใจ
ตัดสินใจลงไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เวลาออกจากที่ภาวนาแล้ว
จึงตรวจสอบกับปริยัติ แต่จะตรวจสอบทุกขณะไปก็ผิด
เพราะจะกลายเป็นความรู้ในแบบ ไม่ใช่ความรู้เกิดจากภาวนาใช้ไม่ได้

สรุปความ ถ้าจิตสงบได้ด้วยอารมณ์สมถะ คือ คำบริกรรมด้วยธรรมบทใด
ก็บริกรรมบทนั้น ถ้าจะสงบได้ด้วยปัญญาสกัดกั้นโดยอุบายต่างๆ
ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อความสงบเสมอไป
ผลรายได้จากการอบรมทั้งสองวิธีนี้ คือ ความสงบและปัญญา
อันจะมีรัศมีแฝงขึ้นจากความสงบนั้นๆ

สมาธิ


สมาธิ ว่าโดยชื่อและอาการแห่งความสงบ มี ๓ คือ

ขณิกสมาธิ ตั้งมั่นหรือสงบชั่วคราวแล้วถอนขึ้นมา

อุปจารสมาธิ ท่านว่า รวมเฉียดๆ นานกว่า ขณิกสมาธิ
แล้วถอนขึ้นมา จากนี้ขอแทรกทัศนะของ " ธรรมป่า " เข้าบ้างเล็กน้อย
อุปจารสมาธิ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว ไม่อยู่กับที่ถอยออกมาเล็กน้อย
แล้วตามรู้เรื่องต่างๆ ตามแต่จะมาสัมผัสใจ
บางครั้งก็เป็นเรื่องเกิดจากตนเอง

ปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมา ดีบ้าง ชั่วบ้าง
แต่เบื้องต้นเป็นนิมิตเกิดกับตนมากกว่า ถ้าไม่รอบคอบก็ทำให้เสียได้
เพราะนิมิตที่จะเกิดขึ้นจากสมาธิประเภทนี้ มีมากเอาประมาณไม่ได้
บางครั้งก็ปรากฏเป็นรูปร่างของตัวเองนอนตายและเน่าพองอยู่ต่อหน้า
เป็นผีตาย และเน่าพองอยู่ต่อหน้าบ้าง มีแต่โครงกระดูกบ้าง
เป็นซากศพเขากำลังหามผ่านมาต่อหน้าบ้าง เป็นต้น ที่ปรากฏลักษณะนี้
ผู้ฉลาดก็ถือเอาเป็น อุคคนิมิตเพื่อเป็นปฏิภาคนิมิตได้
เพราะจะยังสมาธิให้แน่นหนา และจะยังปัญญาให้คมกล้าได้เป็นลำดับ
สำหรับผู้กล้าต่อเหตุผล เพื่อจะยังประโยชน์ตนให้สำเร็จ
ย่อมได้สติปัญญาจากนิมิตนั้นๆเสมอไป

แต่ผู้ขี้ขลาดหวาดกลัวอาจจะทำใจให้เสียเพราะสมาธิประเภทนี้มีจำนวนมาก
เพราะเรื่องที่น่ากลัวมีมาก เช่น ปรากฏมีคน รูปร่าง สีสัน วรรณะ น่ากลัว
ทำท่าจะฆ่าฟัน หรือจะกินเป็นอาหาร อย่างนี้เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นผู้กล้าหาญต่อเหตุการณ์แล้ว ก็ไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น
ยิ่งจะได้อุบายเพิ่มขึ้นจากนิมิตหรือสมาธิประเภทนี้เสียอีก
สำหรับผู้มักกลัว ปกติก็แส่หาเรื่องกลัวอยู่แล้ว
ยิ่งปรากฏนิมิตที่น่ากลัวก็ยิ่งไปใหญ่
ดีไม่ดีอาจจะเป็นบ้าขึ้นในขณะนั้นก็ได้

ส่วนนิมิตนอกที่ผ่านมา จะรู้หรือไม่ว่าเป็นนิมิตนอก
หรือนิมิตเกิดกับตัวนั้น ต้องผ่านนิมิตใน
ซึ่งเกิดกับตัวไปจนชำนาญแล้วจึงจะสามารถรู้ได้ นิมิตนอกนั้น
เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ของคนหรือสัตว์ เปรต ภูตผี เทวบุตร
เทวดา อินทร์ พรหม ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิในเวลานั้น
เช่นเดียวกับเราสนทนากันกับแขกที่มาเยี่ยม
เรื่องปรากฏขึ้นจะนานหรือไม่นั้น แล้วแต่เหตุการณ์จะยุติลงเมื่อใด
บางครั้งเรื่องหนึ่งจบ เรื่องอื่นแฝงเข้ามาต่อกันไปอีกไม่จบสิ้นลงง่ายๆ
เรียกว่า สั้นบ้างยาวบ้าง เมื่อจบลงแล้ว จิตก็ถอนขึ้นมา
บางครั้งก็กินเวลาหลายชั่วโมง

สมาธิประเภทนี้แม้รวมนานเท่าใดก็ตาม
เมื่อถอนขึ้นมาแล้วก็ไม่มีกำลังเพิ่มสมาธิให้แน่นหนา
และไม่มีกำลังหนุนปัญญาได้ด้วย เหมือนคนนอนหลับแล้วฝันไป
ธาตุขันธ์ย่อมไม่มีกำลังเต็มที่ ส่วนสมาธิที่รวมลงแล้วอยู่กับที่
พอถอนขึ้นมาปรากฏเป็นกำลังหนุนสมาธิให้แน่นหนา
เช่นเดียวกับคนนอนหลับสนิทดีไม่ฝัน พอตื่นขึ้นธาตุขันธ์รู้สึกมีกำลังดี
ฉะนั้น สมาธิประเภทนี้ ถ้ายังไม่ชำนาญ และรอบคอบด้วยปัญญา ก็ทำให้เสียคน
เช่นเป็นบ้าไปได้ โดยมากนักภาวนาที่เขาเล่าลือกันว่า " ธรรมแตก " นั้น
เป็นเพราะสมาธิประเภทนี้

แต่เมื่อรอบคอบดีแล้วก็เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ได้ดี
ส่วนอุคคหนิมิตที่ปรากฏขึ้นจากจิตตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นนั้น
เป็นนิมิตที่ควรแก่การปฏิภาคในหลักภาวนา
ของผู้ต้องการอุบายแยบคายด้วยปัญญาโดยแท้
เพราะเป็นนิมิตที่เกี่ยวกับอริยสัจ นิมิตอันหลังต้องน้อมเข้าหา
จึงจะเป็นอริยสัจได้บ้าง แต่ทั้งนิมิตเกิดกับตน และนิมิตผ่านมาจากภายนอก
ถ้าเป็นคนขลาดก็อาจเสียได้เหมือนกัน
สำคัญอยู่ที่ปัญญาและความกล้าหาญต่อเหตุการณ์
ผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทสมาธิประเภทนี้โดยถ่ายเดียว เช่น งูเป็นตัวอสรพิษ
เขานำมาเลี้ยงไว้เพื่อถือเอาประโยชน์จากงูก็ยังได้
วิธีปฏิบัติในนิมิตทั้งสองซึ่งเกิดจากสมาธิประเภทนี้
นิมิตที่เกิดจากจิตที่เรียกว่า " นิมิตใน " จงทำปฏิภาค มีแบ่งแยก เป็นต้น
ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว นิมิตที่ผ่านมาอันเกี่ยวแก่คนหรือสัตว์
เป็นต้น ถ้าสมาธิยังไม่ชำนาญ จงงดไว้ก่อนอย่าด่วนสนใจ
เมื่อสมาธิชำนาญแล้ว จึงปล่อยจิตออกรู้ตามเหตุการณ์ปรากฏ
จะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตอนาคตไม่น้อยเลย
สมาธิประเภทนี้เป็นสมาธิที่แปลกมาก
อย่าด่วนเพลิดเพลินและเสียใจในสมาธิประเภทนี้โดยถ่ายเดียว
จงทำใจให้กล้าหาญขณะที่นิมิตนานาประการเกิดขึ้นจากสมาธิประเภทนี้
เบื้องต้นให้น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ ขณะนิมิตปรากฏขึ้นจะไม่ทำให้เสีย

แต่พึงทราบว่า สมาธิประเภทที่นิมิตนี้ ไม่มีทุกรายไป
รายที่ไม่มีก็คือเมื่อจิตสงบแล้ว รวมอยู่กับที่ จะรวมนานเท่าไร
ก็ไม่ค่อยมีนิมิตมาปรากฏ หรือจะเรียกง่ายๆก็คือ รายที่ปัญญาอบรมสมาธิ
แม้สงบรวมลงแล้วจะอยู่นานหรือไม่นานก็ตามก็ไม่มีนิมิต
เพราะเกี่ยวกับปัญญาแฝงอยู่กับองค์สมาธินั้น ส่วนรายที่สมาธิอบรมปัญญา
มักจะปรากฏนิมิตแทบทุกรายไป เพราะจิตประเภทนี้ รวมลงอย่างเร็วที่สุด
เหมือนคนตกบ่อตกเหวไม่คอยระวังตัว ลงรวดเดียวก็ถึงที่พักของจิต
แล้วก็ถอนออกมารู้เหตุการณ์ต่างๆ จึงปรากฏเป็นนิมิตขึ้นมาในขณะนั้น
และก็เป็นนิสัยของจิตประเภทนี้แทบทุกรายไป แต่จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม
ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญประจำสมาธิประเภทนั้นๆ เมื่อถอนออกมาแล้ว
จงไตร่ตรองธาตุขันธ์ด้วยปัญญา เพราะปัญญากับสมาธิเป็นธรรมคู่เคียงกัน
จะแยกจากกันไม่ได้ ถ้าสมาธิไม่ก้าวหน้าต้องใช้ปัญญาหนุนหลัง
ขอยุติเรื่องอุปจารสมาธิแต่เพียงเท่านี้

อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่ละเอียดและแน่นหนามั่นคง
ทั้งรวมอยู่ได้นาน จะให้รวมอยู่หรือถอนขึ้นมาได้ตามต้องการ
สมาธิทุกประเภทพึงทราบว่า เป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ตามกำลังของตน คือ
สมาธิอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ก็หนุนปัญญาอย่างหยาบ
อย่างกลาง และอย่างละเอียดเป็นชั้นๆไป แล้วแต่ผู้มีปัญญาจะนำออกใช้
แต่โดยมากจะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตามปรากฏขึ้น ผู้ภาวนามักจะติด
เพราะเป็นความสุข ในขณะที่จิตรวมลงและพักอยู่
การที่จะเรียกว่าจิตติดสมาธิ หรือติดความสงบได้นั้นไม่เป็นปัญหา
ในขณะที่จิตพักรวมอยู่ จะพักอยู่นานเท่าไรก็ได้ตามขั้นของสมาธิ
ที่สำคัญก็คือ เมื่อจิตถอนขึ้นมาแล้วยังอาลัยในความพักของจิต
ทั้งๆที่ตนมีความสงบพอ ที่จะใช้ปัญญาไตร่ตรองและมีความสงบจนพอตัว
ซึ่งควรจะใช้ปัญญาได้อย่างเต็มที่แล้ว
แต่ยังพยายามที่จะอยู่ในความสงบไม่สนใจในปัญญาเลย อย่างนี้เรียกว่า
ติดสมาธิถอนตัวไม่ขึ้น

ปัญญา


ทางที่ถูกและราบรื่น ของผู้ปฏิบัติก็คือ
เมื่อจิตได้รับความสงบพอเห็นทางแล้ว ต้องฝึกหัดจิตให้คิดค้นในอาการของกาย
จะเป็นอาการเดียวหรือมากอาการก็ตาม ด้วยปัญญาคลี่คลายดูกายของตน
เริ่มตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า ๆ ฯลฯ
ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ของกาย สิ่งเหล่านี้
ตามปกติเต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดตลอดเวลา
ไม่มีอวัยวะส่วนใดจะสวยงามตามโมหนิยม ยังเป็นอยู่ก็ปฏิกูล
ตายแล้วยิ่งเป็นมากขึ้นไม่ว่าสัตว์ บุคคลหญิงชาย
มีความเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ในโลกนี้เต็มไปด้วยของอย่างนี้
หาสิ่งที่แปลกกว่านี้ไม่มี ใครอยู่ในโลกนี้ต้องมีอย่างนี้
ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้ ความเป็นอนิจฺจํ ไม่เที่ยง
ก็กายอันนี้ ทุกฺขํ ความลำบากก็กายอันนี้ อนตฺตา
ปฏิเสธความประสงค์ของสัตว์ทั้งหลายก็กายอันนี้
สิ่งที่ไม่สมหวังทั้งหมดก็อยู่ที่กายอันนี้
ความหลงสัตว์หลงสังขารก็หลงกายอันนี้
ความถือสัตว์ถือสังขารก็ถือกายอันนี้
ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารก็พลัดพรากจากกายอันนี้
ความหลงรักหลงชังก็หลงกายอันนี้ ความไม่อยากตายก็ห่วงกายอันนี้
ตายแล้วร้องไห้หากันก็เพราะกายอันนี้
ความทุกข์ทรมานแต่วันเกิดจนถึงวันตายก็เพราะกายอันนี้
ทั้งสัตว์และบุคคลวิ่งว่อน ไปมาหาอยู่หากิน ไม่มีวันไม่มีคืน
ก็เพราะเรื่องของกายอันเดียวนี้ มหาเหตุมหาเรื่องใหญ่โตในโลก
ที่เป็นกงจักรผันมนุษย์และสัตว์ไม่มีวันลืมตาเต็มดวงประหนึ่งไฟเผาอยู่ตลอด
เวลา ก็คือเรื่องของกายเป็นเหตุ กิเลสท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอด
ก็เพราะกายอันนี้ สรุปความเรื่องในโลก
คือเรื่องเพื่อกายอันเดียวนี้ทั้งนั้น

เมื่อพิจารณากายพร้อมทั้งเรื่องของกายให้ แจ้งประจักษ์กับใจ
ด้วยปัญญาอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันหยุดยั้ง
กิเลสจะยกกองพลมาจากไหนใจจึงจะสงบลงไม่ได้ ปัญญาอ่านประกาศความจริง
ให้ใจฟังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจจะฝืนความจริงจากปัญญาไปไหน
เพราะกิเลสก็เกิดจากใจ ปัญญาก็เกิดจากใจ เราก็คือใจ
จะแก้กิเลสด้วยปัญญาของเราจะไม่ได้อย่างไร
เมื่อปัญญาเป็นไปในกายอยู่อย่างนี้ จะไม่เห็นแจ้งในกายอย่างไรเล่า ?
เมื่อเห็นกายแจ้งประจักษ์ใจด้วยปัญญาอย่างนี้ ใจต้องเบื่อหน่ายในกายตน
และกายคนอื่นสัตว์อื่น ต้องคลายความกำหนัดยินดีในกาย
แล้วถอนอุปาทานความถือมั่นในกาย โดยสมุจเฉทปหาน
พร้อมทั้งความรู้เท่ากายทุกส่วน ไม่หลงรักหลงชังในกายใดๆอีกต่อไป

การที่จิตใช้กล้อง คือ ปัญญา ท่องเที่ยวในเมือง "กายนคร "
ย่อมเห็น " กายนคร " ของตน และ " กายนคร " ของคนและสัตว์ทั่วไปได้ชัด
ตลอดจนทางสามแพร่ง คือไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และทางสี่แพร่ง
คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั่วทั้งตรอกของทางสายต่าง ๆ คือ
อาการของกายทุกส่วน พร้อมทั้งห้องน้ำ ครัวไฟ (ส่วนข้างในของร่างกาย )
แห่งเมืองกายนคร จัดเป็น โลกวิทู
ความเห็นแจ้งในกายนครทั่วทั้งไตรโลกธาตุก็ได้ด้วย ยถาภูตญาณทัสสนะ
ความเห็นตามเป็นจริงในกายทุกส่วน หมดความสงสัยในเรื่องของกายที่เรียกว่า
รูปธรรม
ต่อไปนี้ จะอธิบายวิปัสสนาเกี่ยวกับ นามธรรม คือ เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า
แต่ละเอียดไปกว่ารูปขันธ์ คือ กาย ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่รู้ได้ทางใจ
เวทนา คือ สิ่งที่จะต้องเสวยทางใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง สัญญา คือ
ความจำ เช่น จำชื่อ จำเสียง จำวัตถุสิ่งของ จำบาลีคาถา เป็นต้น สังขาร
คือ ความคิด ความปรุง เช่น คิดดี คิดชั่ว คิดกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว หรือ
ปรุงอดีตอนาคต เป็นต้น และ วิญญาณ ความรับรู้ คือ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น
รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้มากระทบ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย และใจ นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นอาการของใจ ออกมาจากใจ รู้ได้ที่ใจ
และเป็นมายาของใจด้วย

ถ้าใจยังไม่รอบคอบ จึงจัดว่า
เป็นเครื่องปกปิดความจริงได้ด้วย การพิจารณานามธรรมทั้งสี่
ต้องพิจารณาด้วยปัญญา โดยทางไตรลักษณ์ล้วนๆ
เพราะขันธ์เหล่านี้มีไตรลักษณ์ประจำตนทุกอาการที่เคลื่อนไหว
แต่วิธีพิจารณาในขันธ์ทั้งสี่นี้ ตามแต่จริตจะชอบในขันธ์ใด ไตรลักษณ์ใด
หรือทั่วไปในขันธ์ และไตรลักษณ์นั้นๆ
จงพิจารณาตามจริตชอบในขันธ์และไตรลักษณ์นั้นๆ
เพราะขันธ์และไตรลักษณ์หนึ่งๆ เป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงกัน
จะพิจารณาเพียงขันธ์หรือไตรลักษณ์เดียวก็เป็นเหตุให้ความเข้าใจหยั่งทราบไป
ในขันธ์และไตรลักษณ์อื่นๆ ได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพิจารณาไปพร้อม ๆ
กัน เพราะขันธ์และไตรลักษณ์เหล่านี้มีอริยสัจเป็นรั้วกั้นเขตแดนรับรองไว้แล้ว

เช่นเดียวกับการรับประทาน อาหารลงในที่แห่งเดียว
ย่อมซึมซาบไปทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่รับรองไว้แล้ว
ฉะนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจงตั้งสติและปัญญา ให้เข้าใกล้ชิดต่อนามธรรม
คือ ขันธ์สี่นี้ ทุกขณะที่ขันธ์นั้นๆ เคลื่อนไหว คือ ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่
และดับไป และไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาประจำตน
ไม่มีเวลาหยุดยั้งตามความจริงของเขา ซึ่งแสดงหรือประกาศตนอยู่อย่างนี้
ไม่มีเวลาสงบ แม้แต่ขณะเดียว ทั้งภายใน ทั้งภายนอก
ทั่วโลกธาตุประกาศเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ปฏิเสธความหวังของสัตว์ พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมทั้งนี้ไม่มีเจ้าของ
ประกาศตนอยู่อย่างอิสรเสรีตลอดกาล ใครหลงไปยึดเข้าก็พบแต่ความทุกข์
ด้วยความเหี่ยวแห้งใจตรอมใจ หนักเข้ากินอยู่หลับนอนไม่ได้
น้ำตาไหลจนจะกลายเป็นแม่น้ำลำคลองไหลนองตลอดเวลา
และตลอดอนันตกาลที่สัตว์ยังหลงข้องอยู่ ชี้ให้เห็นง่ายๆ
ขันธ์ทั้งห้าเป็นบ่อหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ลุ่มหลงนั่นเอง
การพิจารณาให้รู้ด้วยปัญญาชอบในขันธ์และสภาวธรรมทั้งหลาย
ก็เพื่อจะประหยัดน้ำตาและตัดภพชาติให้น้อยลง
หรือให้ขาดกระเด็นออกจากใจผู้เป็นเจ้าทุกข์
ให้ได้รับสุขอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

สภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้นนี้ จะเป็นพิษสำหรับผู้ยังลุ่มหลง
ส่วนผู้รู้เท่าทันขันธ์และสภาวธรรมทั้งปวงแล้ว
สิ่งทั้งนี้จะสามารถทำพิษอะไรได้
และท่านยังถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้เท่าที่ควร
เช่นเดียวกับขวากหนามที่มีอยู่ทั่วไปใครไม่รู้ไปโดนเข้าก็เป็นอันตราย
แต่ถ้ารู้ว่าเป็นหนามแล้วนำไปทำรั้วบ้านหรือกั้นสิ่งปลูกสร้าง
ก็ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรฉะนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติ
จงทำความแยบคายในขันธ์และสภาวธรรมด้วยดี
สิ่งทั้งนี้เกิดดับอยู่กับจิตทุกขณะ
จงตามรู้ความเป็นไปของเขาด้วยปัญญาว่าอย่างไรจะรอบคอบและรู้เท่านั้น
จงถือเป็นภาระสำคัญประจำอิริยาบถ
อย่าได้ประมาทนอนใจธรรมเทศนาที่แสดงขึ้นจากขันธ์และสภาวธรรมทั่วไปในระยะนี้
จะปรากฏทางสติปัญญาไม่มีเวลาจบสิ้น และเทศน์ไม่มีจำนนทางสำนวนโวหาร
ประกาศเรื่องไตรลักษณ์ประจำตลอดเวลา ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง
นอน

ทั้งเป็นระยะที่ปัญญาของเราควรแก่การฟังแล้ว
เหมือนเราได้ไตร่ตรองตามธรรมเทศนาของพระธรรมกถึกอย่างสุดซึ้งนั่นเอง
ขั้นนี้นักปฏิบัติจะรู้สึกว่าเพลิดเพลินเต็มที่
ในการค้นคิดตามความจริงของขันธ์ และสภาวธรรมที่ประกาศความจริงประจำตน
แทบไม่มีเวลาหลับนอน เพราะอำนาจความเพียรในหลักธรรมชาติ ไม่ขาดวรรคขาดตอน
โดยทางปัญญาสืบต่อในขันธ์หรือสภาวธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมชาติเช่นเดียวกัน
ก็จะพบความจริงจากขันธ์และสภาวธรรม ประจักษ์ใจขึ้นมาด้วยปัญญาว่า
แม้ขันธ์ทั้งมวลและสภาวธรรมทั่วไปตลอดไตรโลกธาตุ
ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของเขาอย่างนั้น
ไม่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาตามโนหนิยมแต่อย่างใด

อุปมาเป็นหลักเทียบเคียง เช่น
ของกลางที่โจรลักไปก็พลอยเป็นเรื่องราวไปตามโจร
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสอบสวนดูถ้วนถี่
จนได้พยานหลักฐานเป็นที่พอใจแล้ว ของกลางจับได้ก็ส่งคืนเจ้าของเดิม
หรือเก็บไว้ในสถานที่ควรไม่มีโทษแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ก็มิได้ติดใจในของกลาง ปัญหาเรื่องโทษก็ขึ้นอยู่กับโจร
เจ้าหน้าที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโจรและจับตัวไปสอบสวนตามกฎหมาย
เมื่อได้ความตามพยานหลักฐานถูกต้องตามกฎหมายว่าเป็นความจริงแล้ว
ก็ลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายและปล่อยตัวผู้ไม่มีความผิดและไม่มีส่วนเกี่ยว
ข้องออกไปเป็นอิสรเสรีตามเดิมฉันใด
เรื่องอวิชชาจิตกับสภาวธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น

ขันธ์และสภาวธรรมทั่วทั้งไตรโลกธาตุไม่มีความผิดและเป็นกิเลสบาปธรรมแต่อย่างใด
แต่พลอยเป็นเรื่องไปด้วย เพราะจิตผู้ฝังอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา
ไม่รู้ตัวว่าอวิชชา คือ ใคร อวิชชากับจิตจึงกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
เป็นจิตหลงไปทั้งดวง เที่ยวก่อเรื่องรัก เรื่องชัง ฝังไว้ตามธาตุขันธ์
คือ ตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตามตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
และฝังรักฝังชังไว้ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดไตรโลกธาตุ
เป็นสภาวะที่ถูกจับจองและรักชังยึดถือจากใจดวงลุ่มหลงนี้ทั้งสิ้น
เพราะอำนาจความจับจองยึดถือเป็นเหตุ ใจอวิชชาดวงนี้จึงเที่ยวเกิด แก่
เจ็บ ตาย หมุนเวียนไปได้ทุกกำเนิด ไม่ว่าสูง ต่ำ ดี ชั่ว ในภพทั้งสามนี้
แม้จะแยกกำเนิดของสัตว์ที่ต่างกัน ในภพนั้นๆ ไว้มากเท่าไร
ใจดวงอวิชชานี้สามารถจะไปถือเอากำเนิดในภพนั้นๆ
ได้ตามแต่ปัจจัยเครื่องหนุนของจิตดวงนี้ มีกำลังมากน้อย และดีชั่วเท่าไร
ใจดวงนี้ต้องไปเกิดได้ตามโอกาสที่จะอำนวย
ตามสภาวะทั้งหลายที่ใจดวงนี้มีความเกี่ยวข้อง
จึงกลายเป็นเรื่องผิดจากความจริงของตนไปโดยลำดับ

เพราะอำนาจอวิชชาอันเดียวเท่านี้ จึงก่อเหตุร้ายป้ายสีไปทั่วไตรโลกธาตุ
ให้แปรสภาพ คือ ธาตุล้วนๆ ของเดิมไป เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และเป็นความเกิด
แก่ เจ็บ ตาย ตามโมหะ (อวิชชา) นิยมเมื่อทราบชัดด้วยปัญญาว่า
ขันธ์ห้าและสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวเรื่องและตัวก่อเรื่อง
เป็นแต่พลอยมีเรื่อง เพราะอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ
บันดาลให้สภาวะทั้งหลายเป็นไปได้ตามอย่างนี้แล้ว
ปัญญาจึงตามค้นลงที่ต้นตอ คือ จิตดวงรู้
อันเป็นบ่อเกิดของเรื่องทั้งหลายอย่างไม่หยุดยั้งตลอดอิริยาบถ คือ ยืน
เดิน นั่ง นอน โดยความไม่วางใจในความรู้อันนี้
เมื่อสติปัญญาที่ได้ฝึกซ้อมเป็นเวลานานจนมีความสามารถเต็มที่
ได้แผ่วงล้อมแลฟาดฟันเข้าไปตรงจุดใหญ่ คือ
ผู้รู้ที่เต็มไปด้วยอวิชชาอย่างไม่รีรอ ต่อยุทธ์กันทางปัญญา
เมื่ออวิชชาทนต่อดาบเพชร
คือสติปัญญาไม่ไหวก็ทลายลงจากจิตที่เป็นแท่นบัลลังก์อันประเสริฐของอวิชชามา
แต่กาลไหนๆ เมื่ออวิชชาได้ถูกทำลายตายลงไปแล้วด้วยอำนาจ " มรรคญาณ"
ซึ่งเป็นอาวุธทันสมัย เพียงขณะเดียวเท่านั้น
ความจริงทั้งหลายที่ได้ถูกอวิชชากดขี่บังคับเอาไว้นานเป็นแสนกัปนับไม่ถ้วน
ก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาเป็นของกลาง คือ เป็นความจริงล้วนๆ ทั้งสิ้น
ธรรมที่ไม่เคยรู้ ได้ปรากฏขึ้นมาในวาระสุดท้าย " ยถาภูตญาณทัสสนะ "
เป็นความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างเปิดเผยไม่มีอะไรปิดบัง
แม้แต่น้อย

เมื่ออวิชชาเจ้าผู้ปกครองนครวัฏฏะไปแล้วด้วยอาวุธ คือ
ปัญญาญาณ พระนิพพานจะทนต่อความเปิดเผยของผู้ทำจริง รู้จริง
เห็นจริงไปไม่ได้ แม้สภาวธรรมทั้งหลาย นับแต่ขันธ์ห้า อายตนะภายใน ภายนอก
ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ก็ได้เป็นธรรมเปิดเผยตามความจริงของตน
จึงไม่ปรากฏว่าจะมีอะไรที่เป็นข้าศึกแก่ใจต่อไปอีก
นอกจากจะปฏิบัติขันธ์ห้า พอให้ถึงกาลอันควรอยู่ ควรไป ของเขาเท่านั้น
ก็ไม่เห็นมีอะไร เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชา คือความรู้โกหกอันเดียวเท่านั้น
เที่ยวรังแกและกีดขวางต่อสภาวะให้เปลี่ยนไปจากความจริงของตน
อวิชชาดับอันเดียวเท่านั้น โลก คือสภาวะทั่วๆไปก็กลายเป็นปกติธรรมดา
ไม่มีใครจะไปตำหนิติชมให้เขาเป็นอย่างไรต่อไปได้อีกแล้ว
เช่นเดียวกับมหาโจรผู้ลือนาม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตายแล้ว
ชาวเมืองพากันอยู่สบายหายความระวังภัยจากโจรฉะนั้น

ใจทรงยถาภูตญาณทัสสนะ
คือความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างสมบูรณ์
และเป็นความรู้ที่สม่ำเสมอไม่ลำเอียงตลอดกาล
นับแต่วันอวิชชาได้ขาดกระเด็นไปจากใจแล้ว
ใจย่อมมีอิสระเสรีในการนึกคิดไตร่ตรองรู้เห็น
ในสภาวธรรมที่เกี่ยวกับใจได้อย่างสมบูรณ์ ตา หู จมูก ฯลฯ และรูป เสียง
กลิ่น รส ฯลฯ ก็กลายเป็นอิสระเสรีในสภาพของเขาไปตามๆกัน
ไม่ถูกกดขี่บังคับหรือส่งเสริมใดๆ จากใจอีกเช่นเคยเป็นมา
ทั้งนี้เนื่องมาจากใจเป็นธรรม
มีความเสมอภาคและให้ความเสมอภาคแก่สิ่งทั้งปวง
จึงหมดศัตรูต่อกันเพียงเท่านี้
เป็นอันว่าจิตกับสภาวธรรมทั้งหลายในไตรโลกธาตุ
ได้ประกาศสันติความสงบต่อกันลงในสัจจะความจริงด้วยกันอย่างสมบูรณ์
ภาระของจิตและเรื่องวิปัสสนาของนามธรรมที่เกี่ยวกับจิต
จึงของยุติเพียงเท่านี้

ฉะนั้น จึงขออภัยโทษเผดียงท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย
เพื่อกำจัดกิเลสด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า จงเห็นธรรมในคัมภีร์ทุกๆ
คัมภีร์ชี้ตรงเข้ามาหากิเลสและธรรมในตัวของเราโดยไปซุ่มซ่อนอยู่ในที่ใดที่
หนึ่ง ผู้ใดมี โอปนยิกธรรมประจำใจ ผู้นั้นจะเอาตัวรอดได้
เพราะศาสนธรรมสอนผู้ฟังให้เป็น โอปนยิกะ คือ น้อมเข้ามาสู่ตัวทั้งนั้น
และอย่าพึงเห็นว่า ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นอดีต อนาคต
โดยไปอยู่กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว และไปอยู่กับคนที่ยังไม่เกิด จงทราบว่า
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนตายแล้ว และไม่สอนคนที่ยังไม่เกิด
จงเห็นว่าพระองค์สอนคนเป็น คือ ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พวกเราทั้งหลาย
สมกับพระพุทธศาสนาเป็นปัจจุบันทันสมัยตลอดกาล

ขอความสวัสดีมงคล จงมีแต่ท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลายโดยทั่วหน้ากันเถิด ฯ

ชื่อ หนังสือ : "ปัญญาอบรมสมาธิ" จากฉบับเดือนมีนาคม 2542
ผู้พิมพ์/ตรวจ : นุชนาฏ / ปาริชาติ เทียนตระกูล
วัน ที่พิมพ์/ตรวจ : 20 กันยายน - 2 พฤศจิกายน 2544
***พิมพ์จากฉบับโรงพิมพ์เรือนแก้ว เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น