++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

#‎รู้จักมหาหิงค์‬...ยาแก้เด็กปวดท้อง

#‎รู้จักมหาหิงค์‬...ยาแก้เด็กปวดท้อง
มหาหิงคุ์ เป็นยางที่ได้จากต้นไม้ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula assafoetida L. อยู่ในวงศ์ Umbelliferae (หรือเดิมคือ Apiaceae) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักชี ผักชีลาว พืชชนิดนี้ถูกค้นพบมานานมากแล้ว มีต้นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียกลาง ตั้งแต่แถบประเทศอิหร่านทางตะวันออกไปจนถึงอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมหาหิงคุ์จะมีปลูกอยู่ในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถานเท่านั้น และถูกส่งออกไปขายทั่วโลก
ส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นยาหรืออาหารคือส่วนของลำต้นใต้ดินหรือบางคนอาจเรียกว่า หัวหรือราก (ใต้ดิน) ซึ่งในส่วนนี้จะมีน้ำยางที่เราเรียกว่าโอลิโอ กัม เรซิ่น (oleo gum resin) หมายถึง มีน้ำมันหอมระเหย ยางชันและส่วนของกัมรวมๆกัน (กัมมีโครงสร้างเป็นน้ำตาลเกาะกันยาวๆคล้ายแป้ง แต่ร่างกายคนย่อยไม่ได้) น้ำยางนี้มีลักษณะ เป็นก้อนแข็งๆสีน้ำตาลอมเหลืองและมีกลิ่นฉุน การเก็บยางเอามาใช้ ทำได้เมื่อต้นมหาหิงคุ์อายุประมาณ 4-5 ปี และ ส่วนลำต้นใต้ดิน มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 12.5 - 15 ซม
ในสมัยโรมัน มหาหิงคุ์ถูกนำไปใช้สำหรับปรุงแต่งรสชาติอาหารควบคู่ไปกับเมล็ดสน (Pine nuts) หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูกนำไปแช่ในน้ำมันร้อนๆ พอละลายดีแล้วก็จะหยดลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารนิยมใช้กับอาหารจำพวกเห็ดจานโปรด ผักต่างๆ หรือ พวกเนื้อทอด เนื้อย่างบาร์บีคิว ในหลายๆประเทศยังใช้มหาหิงคุ์เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง ในการทำลูกชิ้น (meat ball) และผักดอง (pickles) ต้นมหาหิงคุ์นี้ยังสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้อีกด้วย
มหาหิงคุ์ถูกนำมาใช้เป็นยาช่วยย่อย (digestive aid) มานานมากแล้ว ในบางประเทศหมอพื้นบ้านยังนิยมนำมหาหิงคุ์มาทำเป็นยาแก้พิษ ถอนพิษ (antidote) ของฝิ่น (opium) ได้ด้วย โดยจะใช้มหาหิงคุ์ในประมาณที่เท่ากับปริมาณฝิ่นที่เสพเข้าไป กินเข้าไปเพื่อล้างพิษกัน
@งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมหาหิงคุ์และการทดลองทางคลินิก
มหาหิงคุ์มีผลต่อทางเดินอาหาร โดยช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง (antispasmodic), ขับลม (carminative), ช่วยย่อย (digestive), ระบาย (laxative) และมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิบางชนิด (anthelmintic)
ส่วนประโยชน์อื่นๆ ของมหาหิงคุ์ ก็ได้แก่ ขับเสมหะ (expectorant), ช่วยกล่อมประสาท ทำให้นอนหลับดี (sedative), แก้ปวดอย่างอ่อน (analgesic), และฆ่าเชื้อเฉพาะที่ (antiseptic)
อย่างไรก็ดี ไม่พบการใช้มหาหิงคุ์ ในแง่มุมอื่น นอกจากการใช้ขับลม โดยในยาแผนปัจจุบัน มีเฉพาะการใช้มหาหิงคุ์ทิงเจอร์ ทาท้องเด็ก บรรเทาอาหารท้องขึ้น ท้องเฟ้อเท่านั้น ฤทธิ์อื่นๆไม่พบมีการใช้จริง อาจเนื่องจากรายงานวิจัยที่มียังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน
‪#‎มหาหิงคุ์ใช้กินได้หรือไม่‬
คำถามสำหรับแม่ที่ลูกยังเล็กมักถามว่า ที่ผู้ใหญ่บอกให้เอาทิงเจอร์มหาหิงคุ์หยดใส่น้ำ หรือ บางคนให้หยดใส้ผ้าผูกไว้ที่ข้อมือ ซึ่งบางครั้ง เด็กก็อาจกินเข้าไปด้วย ใช้ได้จริงหรือ อันตรายมั๊ย
ถึงแม้ว่า ไม่พบการใช้กินในยาแผนปัจจุบัน แต่ที่จริงในยาตำรับของไทย (สำหรับเด็กเล็ก) ที่บรรจุในยาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาประสะกะเพรา ก็มีมหาหิงคุ์ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามขนาดรับประทาน ครั้งละ 100-200 มิลลิกรัม จะได้รับมหาหิงคุ์ ประมาณ 8.7-17 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่ามากกว่าการหยดทิงเจอร์มหาหิงคุ์ในน้ำ 1-2 หยด แต่อย่างไรก็ดี ก็ไม่แนะนำให้ใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์โดยวิธีหยดในน้ำ เนื่องจากในทิงเจอร์มหาหิงคุ์นั้นมีแอลกอฮอล์มาก อาจทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็น สำหรับการผูกข้อมือหรือทาท้อง ก็ควรทำในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก เพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยออกไป เจือจางในบรรยากาศ โดยเด็กไม่ได้สูดดม
@คำแนะนำในการใช้มหาหิงคุ์ในเด็ก
มหาหิงคุ์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะทิงเจอร์มหาหิงคุ์) ไม่ควรให้เด็กรับประทาน เพราะแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะมีผลเสียต่อเด็ก แต่ถ้าหยดเพียงเล็กน้อยผสมกับน้ำแล้วรับประทานชั่วครั้งชั่วคราวก็สามารถทำได้
ถ้าเป็นยาทาควรทาเฉพาะที่ ในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก หรือที่หลายๆ คนได้ลองทำแล้วก็คือ หลังจากทายาที่ท้องแล้ว ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็ก ก็อาจช่วยให้ท้องอุ่น ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของยาได้ดีขึ้น
ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตาหรือสัมผัสกับเนื้อเยื่ออื่น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผลหรือรอยถลอก
ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บรวมกับยารับประทานตัวอื่นๆ
ควรสำรวจวันหมดอายุของยา เนื่องจากการเก็บยาไว้นานๆ จะทำให้ตัวยาออกฤทธิ์สลายตัวและให้ผลได้ไม่เต็มที่
credit http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/…/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น