++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กรรมดีที่ไม่ควรมองข้าม โดย หลวงพ่อไพศาล




พยาบาลผู้หนึ่งเมื่อรู้ว่าคนไข้ของตนอยู่ในระยะสุดท้าย  เธออยากทำความประสงค์ครั้งสุดท้ายของเขาให้เป็นจริง นั่นคือ ขอกลับไปตายที่บ้านท่ามกลางญาติพี่น้อง   แต่เขาเป็นคนยากจน ไม่มีเงินจ้างรถจากหาดใหญ่ไปยังบ้านเกิดที่ชัยภูมิซึ่งไกลกว่าพันกิโลเมตร  เธอจึงวิ่งเต้นขอเงินช่วยเหลือจากโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่พอ ต้องเรี่ยไรเพิ่มเติมจากผู้มีจิตศรัทธา ขณะเดียวกันก็ต้องติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลตำบลที่ชัยภูมิ เพื่อให้การดูแลเขาเมื่อกลับถึงบ้าน รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ออกซิเจน เพื่อให้เขาจากไปอย่างสงบ

ทั้งหมดนี้เธอต้องทำเองหมดเพราะโรงพยาบาลของเธอไม่มีระบบรองรับสำหรับกรณีแบบนี้ งานประจำของเธอก็มากอยู่แล้ว เมื่อมาช่วยเหลือคนไข้รายนี้ให้กลับถึงบ้านด้วยดี ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือความรับผิดชอบของเธอ เธอจึงเหนื่อยมาก  เพื่อนหลายคนยื่นมือมาช่วยเหลือเธอ  แต่มีบางคนไม่เพียงยืนดูเฉย ๆ แต่ยังพูดว่า สงสัยเธอเคยทำกรรมกับคนไข้คนนี้มาก่อนในชาติที่แล้ว  ชาตินี้ก็เลยต้องชดใช้กรรมด้วยการวิ่งช่วยเขาจนเหนื่อยอ่อน

คำพูดดังกล่าวนับว่าน่าสนใจ เพราะระยะหลังมีคนคิดแบบนี้มากขึ้น เคยมีสามีผู้หนึ่งทิ้งงานมาดูแลภรรยาที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยความใส่ใจ  เขาทุ่มเทให้กับเธอตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่เว้นแม้กระทั่งเช็ดอุจจาระปัสสาวะให้เธอ เพื่อนบ้านหลายคนเมื่อรู้เช่นนี้ก็พูดขึ้นว่า ชาติที่แล้วเขาคงทำกรรมกับผู้หญิงคนนี้เอาไว้ ชาตินี้จึงต้องมาชดใช้กรรม ด้วยการรับใช้เธออย่างลำบากลำบน

อันที่จริงสิ่งที่พยาบาลและสามีผู้ป่วยทำนั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง แต่เมื่อมองว่าทั้งสองท่านกำลังชดใช้กรรม(ไม่ดี)ที่เคยทำในอดีต  การกระทำซึ่งควรถือเป็นแบบอย่างที่พึงปฏิบัติตาม จึงมีสถานะไม่ต่างจากชะตากรรมจากของนักโทษที่กำลังชดใช้ความผิดที่ได้ทำ คำพูดเช่นนี้แทนที่จะให้กำลังใจเขา กลับเป็นการซ้ำเติมเสียอีก คำถามก็คืออะไรทำให้ผู้คนมีความคิดเช่นนั้น

คำตอบเห็นจะอยู่ตรงที่ว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิดเหมารวมว่า เมื่อใดที่ใครก็ตามประสบความยากลำบาก แม้เป็นผลจากการทำความดี ก็ถือว่าเป็นการใช้กรรมไปหมด  แต่เหตุใดจึงไม่มองว่า การทำความดีแม้ประสบความยากลำบากนั้น เป็นการสร้างกรรมดี หาใช่การชดใช้กรรมไม่  พูดอีกอย่างก็คือ ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมาก แยกไม่ออกระหว่าง การสร้างกรรมดี กับ การชดใช้กรรม

การชดใช้กรรมนั้น หมายถึง การ “ถูกกระทำ”  หรือจำต้องเผชิญกับสภาพที่ไม่พึงปรารถนาอันเป็นผลจากการกระทำของตน อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้( เช่น ขโมยที่ถูกจำคุกเพราะลักทรัพย์ หรือป่วยหนักเพราะติดเหล้า) ส่วนการสร้างกรรมดีนั้น หมายถึงการ “เลือกที่จะทำดี” ทั้ง ๆ ที่ไม่ทำก็ได้   ดังเช่นพยาบาลและสามีผู้ป่วยที่กล่าวถึง หากจะนิ่งดูดาย ไม่ยอมขวนขวายช่วยเหลือคนไข้และภรรยา  ก็ย่อมได้  แต่ทั้งสองเลือกทำสิ่งตรงข้าม  ไม่มีอะไรมาบังคับหรือกระทำให้ทั้งสองต้องเสียสละอย่างนั้น นอกจากมโนธรรมสำนึกหรือเมตตากรุณาในจิตใจของตน

อุปสรรคหรือความยากลำบากนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดี ซึ่งช่วยฝึกฝนขัดเกลาจิตใจให้เข้มแข็งและงดงาม หากไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบาก มุ่งมั่นทำความดีจนถึงที่สุด ย่อมถือได้ว่าเป็นการบำเพ็ญบารมีที่ยกจิตใจให้สูงขึ้น  ในทางตรงกันข้ามหากไม่ยอมทำความดีเพราะกลัวความยากลำบาก นั่นเท่ากับว่ากำลังบ่มเพาะความเห็นแก่ตัวให้เพิ่มพูนขึ้น

กฎแห่งกรรมนั้น พระพุทธเจ้านำมาตรัสสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทำความดีและมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น  แต่หากนำกฎแห่งกรรมมาใช้ในทางที่ผิดหรือด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก  ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดี  ดังที่มีคนจำนวนไม่น้อยนิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นประสบทุกข์ ( ทั้ง ๆ ที่คนนั้นอาจเป็นพี่น้องของตนด้วยซ้ำ) โดยให้เหตุผลว่า หากไปช่วยเขาจะกลายเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา  หรือทำให้เจ้ากรรมนายเวรของเขามาเล่นงานฉันแทน   ผู้ที่คิดเช่นนี้หารู้ไม่ว่า การเฉยเมยนิ่งดูดายเช่นนั้น แท้ที่จริงก็คือการสร้างกรรมใหม่นั่นเอง และเป็นกรรมที่ไม่ดี อันมีวิบากซึ่งตนต้องรับในอนาคต

ความเสียสละเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ไม่เพียงช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามีความสุขด้วย   แม้ทรัพย์จะพร่องไป แม้กายจะเหน็ดเหนื่อย แต่ย่อมได้บุญเพิ่มขึ้น  บุญนี้แหละที่ทำให้ใจเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและวันข้างหน้า จวบจนกระทั่งวันสิ้นลม ดังมีพุทธภาษิตว่า “บุญย่อมนำให้เกิดสุขในยามสิ้นชีวิต”  ตรงข้าม หากหวงทรัพย์และไม่ยอมเสียสละเพราะกลัวเหน็ดเหนื่อยและลำบากกาย จิตใจย่อมไกลบุญและยากจะซึ้งถึงความสุขใจ เมื่อสิ้นลมก็ไม่มีบุญที่จะช่วยน้อมใจให้จากไปอย่างสงบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น