" ปล่อยวางไม่ได้เสียที แม้จะรู้และเข้าใจ "
Dtom Dechsupa – กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ ดิฉันมีข้อติดขัดจากการเฝ้าดูจิตดูใจในเรื่องทุกข์ของตนเอง อยากได้รับคำชี้แนะจากพระอาจารย์ค่ะ.... ทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนจากการรู้ การเห็น การเข้าใจ ว่าทุกข์เกิดจากอะไร และควรปล่อยวางมันลง ... ไปสู่การปล่อยวางอย่างแท้จริงได้ (ทุกวันนี้ปล่อยไปแล้วเดี๋ยวก็กลับมาอีก) ... การฝึกฝนที่เหนือขึ้นไปจาก การรู้ การเห็น การเข้าใจ คืออะไรคะ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ค่ะ
พระไพศาล วิสาโล - การปล่อยวางที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสิ่งใดเลยที่น่ายึดติดหรือถือมั่นได้เลย หากยึดติดถือมั่นเมื่อไหร่ก็พร้อมจะเป็นทุกข์ได้ทุกเวลา เพราะสิ่งเหล่านั้นย่อมผันผวนแปรปรวนและถูกทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ปัญญาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็จากการพินิจพิจารณากายและใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่เรียกว่าวิปัสสนา แต่ขณะที่ปัญญายังไม่เกิดนั้น การมีสติก็ช่วยให้ปล่อยวางได้แม้จะไม่ถาวรหรือเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐานหรือการเจริญมรณสติ ล้วนช่วยให้ใจคลายความยึดติดถือมั่นได้ทั้งสิ้น
สติปัฏฐานนั้นช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง เมื่อมีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็รู้ทัน เมื่อรู้ก็จะวางได้เอง ใจไม่เผลอจมเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ หรือยึดถือว่าเป็น “ตัวกูของกู” พูดง่าย ๆ สติปัฏฐานช่วยให้ “เห็น” ไม่เข้าไป “เป็น” เช่น เห็นความโกรธ แต่ไม่เป็นผู้โกรธ นี้เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ปล่อยวางอารมณ์อกุศลได้
ส่วนมรณสติก็เตือนใจให้เห็นว่าชีวิตของเรานั้นไม่เที่ยง เมื่อตายไปก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่าง (นอกจากบุญและบาปที่จะติดไปด้วย) ดังนั้นจึงช่วยให้ไม่ยึดติดชีวิตตลอดจนทรัพย์สมบัติและโลกธรรมทั้งหลายที่ใคร ๆ อยากได้อยากมีและอยากเป็น
ที่มา พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น