++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทความธรรมะเรื่อง "โมโห" โดยท่านอคฺคธมฺโมภิกขุ วิถีธรรม นำชีวิต


 บทความธรรมะเรื่อง "โมโห" โดยท่านอคฺคธมฺโมภิกขุ วิถีธรรม นำชีวิต

    “อย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้ได้ไหม  ฉันกำลังโมโหอยู่” ทุกครั้งที่ได้ฟังคำพูดเช่นนี้ทุกท่านจะรู้ได้ทันทีว่าคนพูดอยู่ในช่วงเสวยทุกขเวทนาที่เกิดจากอารมณ์โกรธ   แต่ท่านเคยตั้งข้อสงสัยหรือเปล่าว่า การใช้คำว่า โมโห บอกถึงอารมณ์โกรธนั้น เป็นการสื่อความหมายที่ถูกหรือผิด  สำหรับอาตมาเคยคิดว่าเป็นการใช้คำที่ผิด  เพราะคำว่า โมโห มาจาก โมหะ ซึ่งแปลว่า ความเขลา ความหลง อันหมายถึงความหลงผิด หรือเข้าใจผิด อันเกิดขึ้นเพราะขาดการใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆจนเข้าถึงความจริงอย่างถ่องแท้ เป็นเหตุให้ไม่เชื่อเรื่อง บุญ บาป กรรมและการให้ผลของกรรม    รวมถึงการไม่รู้  ไม่เข้าใจ ปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่มากระทบกับจิตตามความเป็นจริง  จนทำให้ไม่รู้จัก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค   แต่คนโดยทั่วไปจะเข้าใจความหมายของโมหะในความหมายว่า “ความโง่”  ดังนั้นการใช้คำนี้สื่อถึงอารมณ์โกรธจึงน่าจะไม่ถูกต้อง  เพราะมีความหมายไม่ตรงกับสภาวะความจริง จะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนาได้

                แต่เมื่อมองในอีกมิติหนึ่ง การใช้คำนี้นอกจากไม่ผิดแล้ว ยังได้สื่อให้เห็นถึงกุสโลบายอันลึกซึ้งของคนสมัยก่อนที่ต้องการใช้คำพูดชี้ให้เห็นว่า โมหะ คือต้นตอของความโกรธที่กำลังเกิดขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ ความโกรธเกิดจากการขาดสติขณะรับอารมณ์ทางประสาทสัมผัส ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง หากเป็นรูปหรือเสียงที่ไม่ชอบใจหรือไม่ได้ดั่งใจเราก็จะโกรธ ทั้งนี้เพราะหลงไปตามอำนาจของกิเลสที่ปรุงแต่งจิตให้โกรธ หรือตามไม่ทันการปรุงของกิเลส  ดังนั้น เมื่อเกิดความโกรธขึ้น การพูดว่า โมโห  จึงเป็นการสื่อความหมายให้รู้ว่า  กำลังโง่   คือโง่กว่าอารมณ์ที่มากระทบ  หรือโง่กว่ากิเลสที่ปรุงแต่งจิตนั้นเอง   การพูดคำนี้ออกมาทำให้เห็นถึงกิเลสสองประเภทที่ทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันในขณะนั้น กริยาอาการภายนอก เช่นหน้าแดง หูอื้อ  ตาลาย  มือ เท้า หรือปากสั่น แสดงให้เห็นถึง  โทสะ คือความโกรธที่เกาะกุมจิตใจแล้วกระตุ้นให้ร่างกายแสดงกิริยาอาการดังที่กล่าวออกมา  คำพูดที่เปล่งออกมาว่าโมโห บอกให้รู้ถึงสาเหตุหลักคือความโง่ของจิตที่ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ  โกรธมากก็โง่มาก โกรธบ่อยก็โง่บ่อย

                หากกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว  กิเลสทุกประเภททั้งความโลภ ความโกรธ ความอิจฉา ริษยา ความอาฆาต พยาบาท ฯลฯ ที่สามารถปรุงจิตให้มีอาการต่างๆจนประสบกับความทุกข์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ก็เพราะมีอวิชชาหรือโมหะ คือความเขลา ความโง่ หรือการไม่รู้ตามสภาพความเป็นจริงเป็นต้นเหตุ  ดั่งคำที่หลวงพ่อพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ  ความทุกข์จะไม่โผล่  ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ  ความทุกข์เกิดไม่ได้  ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ”

                วิธีป้องกันไม่ให้โมหะเป็นต้นเหตุให้จิตเราเป็นทุกข์เพราะอารมณ์โกรธหรืออารมณ์อื่นๆนั้น ต้องอาศัย ปัญญา คือ การพิจารณาสิ่งต่างๆจนรู้และเข้าใจตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งจะเป็นการสกัดการทำหน้าที่ของโมหะ  เช่น เมื่อตาเห็นรูปแล้วมองเห็นสภาวะความเป็นจริงว่า รูปทั้งสวยและไม่สวยเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุทั้งสี่ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนที่มั่นคงถาวร ย่อมแตกสลายไปในที่สุด ไม่อาจยึดครองเป็นเจ้าของได้ เมื่อเห็นกระจ่างเช่นนี้ ความใคร่อยากเป็นเจ้าของรูปที่สวยงาม  หรือความโกรธ ไม่พอใจเมื่อเห็นรูปที่น่าเกลียดก็จะไม่เกิดขึ้น  จิตใจก็จะสงบไม่ถูกบีบคั้นทำร้ายให้เป็นทุกข์ด้วยกิเลส และสิ่งที่จะช่วยเสริมการทำหน้าที่ของปัญญาให้สมบูรณ์มากยิ่งก็คือสติและสัมปชัญญะ เพราะเมื่อใช้ชีวิตบนครรลองของการระลึกรู้อยู่ทุกขณะปัญญาก็พิจารณาไดทันเกมส์ของกิเลส  หากขาดสติถึงมีปัญญามากก็ไร้ประโยชน์

                ดังนั้น  ผู้ที่ไม่ต้องการให้โมหะบงการชีวิต  ก็จงหมั่นใช้ปัญญาบริสุทธิ์พิจารณาให้เข้าถึงสภาวะความเป็นจริงของสรรพสิ่งรอบตัว โดยใช้การเจริญสติทุกขณะการดำเนินชีวิตเป็นพลังคอยเกื้อกูลสนับสนุน  เสียงประจานตัวด้วยถ้อยคำที่น่าสังเวชใจที่ว่า “ฉันกำลังโมโห” ก็จะค่อยๆจางหายไป เพราะถูกแทนที่ด้วยเสียงแห่งบรมธรรมที่ว่า “สุข สงบ เย็น”...เจริญพร  ...อคฺคธมฺโมภิกขุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น