++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อยู่กับคนที่ศีลไม่เท่ากัน


อยู่กับคนที่ศีลไม่เท่ากัน


งดงาม
rngodngam@gmail.com




ในสังคมเราย่อมจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเป็นเรื่องธรรมดานะครับ
เราเองก็ย่อมจะต้องได้พบปะและคบหากับคนที่ศีลไม่เท่ากันเป็นธรรมดาเช่นกัน
หากว่าเราสามารถเลือกได้แล้ว ถามว่าเราควรจะคบหาสมาคมกับคนที่มีศีลอย่างไร?
ในคำถามนี้ ขอให้เราลองพิจารณา “เสวิตัพพสูตร” ซึ่งสอนเรื่องบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบ
(จากพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต ปุคคลวรรค)
โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ต่ำต้อยโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญานั้น
เราไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เว้นแต่เอ็นดู หรืออนุเคราะห์
สำหรับบุคคลที่เป็นผู้เสมอกันโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา
เราควรสมาคม ควรคบหา ควรเข้าใกล้
เพราะเมื่อเราทั้งหลายมีศีล สมาธิ หรือปัญญาเสมอกันแล้ว
เราก็จักพูดกันในเรื่องศีล สมาธิ หรือปัญญาได้ราบรื่น
และการสนทนาในเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความผาสุกแก่พวกเรา

สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ยิ่งโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญากว่าเรานั้น
เราควรสักการะเคารพแล้วจึงสมาคม จึงควรคบหา จึงควรเข้าใกล้
เพราะเราจะได้ทำกองศีลที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์บ้าง
จะได้ทำกองสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์บ้าง
จะได้ทำกองปัญญาที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์บ้าง

กล่าวโดยย่อก็คือว่า คนผู้คบคนทราม (ในด้านศีล สมาธิ และปัญญา) ย่อมเสื่อม
ส่วนคนผู้คบคนเสมอกัน (ในด้านศีล สมาธิ และปัญญา) ไม่เสื่อมในกาลไหน ๆ
ผู้คบคนที่ประเสริฐกว่า (ในด้านศีล สมาธิ และปัญญา) ย่อมเจริญเร็ว
เพราะฉะนั้น เราจึงควรคบคนที่ยิ่งกว่าตน (ในด้านศีล สมาธิ และปัญญา)

ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ใดเป็นผู้มีศีล และปัญญายิ่งกว่าเรา?
ใน “ชฏิลสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค)
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
“ศีล” พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญา จึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
“ปัญญา” พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้
ผู้มีปัญญา จึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

บางท่านอาจจะบอกว่า ในปัจจุบันนี้หาผู้ที่ประเสริฐในศีล สมาธิ และปัญญาได้ยากมาก ๆ
แล้วเราจะไปคบหากับบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร
ผมขอแนะนำว่าหากเราหารอบ ๆ ตัว หรือหาใกล้ ๆ ตัวไม่พบแล้ว
ก็ให้นึกถึงครูบาอาจารย์ก็ได้ครับ โดยเราก็พยายามคบหากับครูบาอาจารย์เข้าไว้
การที่ “คบหา” กับครูบาอาจารย์นี้ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเดินทางไปอยู่ใกล้ ๆ ท่าน
แต่หมายถึงว่าเราสนใจอ่าน ฟัง หรือศึกษาคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์
และนำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นนิจ
(คำว่า “ครูบาอาจารย์” ในที่นี้ หมายรวมถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายด้วย)

ถามว่าการที่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนเช่นนี้ เราจะเรียกว่า “คบหา” ได้ไหม?
เราก็ลองนึกถึงสภาพที่เราคบหากับเพื่อนสักคนหนึ่งนะครับ เราทำอะไรกันบ้าง
เช่น เราคุยให้เพื่อนฟัง เพื่อนคุยให้เราฟัง เราแนะนำเพื่อน เพื่อนแนะนำเรา
เราให้ของเพื่อน เพื่อนให้ของเรา เราและเพื่อนทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
ในกรณีนี้ เราฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์แนะนำเรา
ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดธรรมะให้แก่เรา เราปฏิบัติธรรมตามคำสอนของครูบาอาจารย์ ฯลฯ
ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวผมแล้ว ก็เรียกว่า “คบหา” ได้แล้วล่ะครับ
เพียงแต่ว่าเราคบหาท่านในฐานะที่เราเป็นศิษย์ หรือผู้ดำเนินรอยตามเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กรณีก็ไม่ได้แปลว่าเราจะคบหากับผู้ที่มีศีลด้อยกว่าเราไม่ได้นะครับ
โดยใน “เสวิตัพพสูตร” สอนว่าเราคบหากับผู้ที่มีศีลด้อยกว่าได้ในกรณีที่เอ็นดูหรืออนุเคราะห์
กล่าวคือเราอนุเคราะห์ช่วยเหลือแนะนำผู้ที่มีศีลด้อยกว่านั้น

ในชีวิตจริงของเรานั้น เป็นไปได้ยากที่จะเลือกคบหาเฉพาะคนที่มีศีลยิ่งกว่าเราทุกคน
เพราะว่าเราก็ยังต้องอยู่พบปะ ติดต่อ อาศัย หรือทำงานกับคนอื่น ๆ ในสังคม
เราจึงย่อมจะพบปะ ติดต่อ อาศัย และทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีศีลแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ เราต้องพบปะ ติดต่อ อาศัย หรือทำงานกับคนต่างศาสนาที่มีศีลต่างกันอีกด้วย
ในกรณีดังกล่าว เราจึงต้องระมัดระวังตนเองเป็นอย่างมาก
โดยเราพึงที่จะรักษาศีลของเรา แต่เราก็ต้องระวังว่าไม่ไปสร้างเรื่องทะเลาะกับคนอื่น ๆ

อย่างเช่น เราคบหากับเพื่อนต่างศาสนาคนหนึ่ง ซึ่งศาสนาเขาไม่ได้ห้ามการดื่มสุรา
แต่ศีลในศาสนาพุทธของเราห้ามการดื่มสุรา
เพื่อนคนนี้อาจจะชักชวนเราไปดื่มสุรากับเขา หรือต้องการให้เราซื้อสุราเป็นของขวัญให้เขา
โดยหากเราไปดื่มสุรากับเขา หรือซื้อสุราเป็นของขวัญให้เขา
เราไม่ได้ทำผิดตามหลักศาสนาของเขา แต่เราทำผิดศีลในศาสนาพุทธของเราเองได้

ถามว่าความเชื่อในศาสนาที่แตกต่างกัน จะทำให้เกิดอกุศลด้วยกันไหม?
อย่างเช่นคนที่นับถือศาสนาอื่นซึ่งไม่ได้ห้ามดื่มสุรากับชาวพุทธไปดื่มสุราด้วยกัน
คนศาสนาอื่นไม่ได้ผิดศีลตามศาสนาอื่น แต่ชาวพุทธผิดศีลตามศาสนาพุทธ
ถามว่าทั้ง ๒ คนนี้จะเกิดอกุศลด้วยกันไหม?
(อนึ่ง ผมใช้คำว่าเกิด “อกุศลด้วยกัน” นะครับ ไม่ได้ใช้คำว่า “อกุศลเหมือนกัน”)

ในกรณีนี้ เราลองพิจารณาว่าความเชื่อนั้นจะเปลี่ยนความจริงได้ไหม
สมมุติว่าเรามีความเชื่อว่ากินยาพิษแล้วไม่ตาย แต่จะทำให้สุขภาพดี
ถามว่าเรากินยาพิษลงไปเยอะเลย แล้วเราจะตายหรือจะมีสุขภาพดี
หรือเรามีความเชื่อว่าเราเอามือจุ่มลงในน้ำเดือดแล้วจะทำให้ผิวดี
ถามว่าเราเอามือจุ่มลงในน้ำเดือดแล้วจะทำให้มือเราพุพองเจ็บปวดหรือทำให้ผิวดี
หรือเรามีความเชื่อว่าการดื่มสุรามาก ๆ จะช่วยให้เราบรรลุธรรม
ถามว่าเราดื่มสุรามาก ๆ แล้ว เราจะยิ่งห่างไกลจากธรรม หรือจะทำให้บรรลุธรรม เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าความเชื่อไม่สามารถเปลี่ยนข้อเท็จจริงไปได้
ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าเราจะมีความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำลงไปนี้ไม่เป็นอกุศลก็ตาม
แต่หากโดยสภาพแล้วมันเป็นอกุศล มันก็เป็นอกุศลครับ ไม่ได้เปลี่ยนความจริงไปได้

ทีนี้ หากเราจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่นให้มาถือศีลตามเรา ก็คงจะยากมาก ๆ
ดีไม่ดีก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องขัดแย้งกันหรือทะเลาะกันเพราะเรื่องความเชื่อทางศาสนา
ในทางกลับกัน หากเราจะไหลตามเขาไป โดยเราไปทำอะไรตามเขาทั้งหมด
ก็ย่อมจะเป็นการที่เราทำผิดศีล เป็นบาปอกุศลแต่ตัวเราเอง และพาตนเองไปอบายภูมิ

หากเราเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่เราก็ไม่ต้องการปล่อยตนเองให้ไหลตามเขาไป จะทำอย่างไร?
ในกรณีนี้ ขอแนะนำให้ศึกษากรณีของภริยาของพรานกุกกุฏมิตรเป็นตัวอย่างนะครับ
ภริยาของพรานกุกกุฏมิตรนั้นเป็นพระโสดาบัน
โดยสามีของนางคือพรานกุกกุฏมิตรนั้นประกอบอาชีพเป็นนายพรานล่าสัตว์
แต่ทั้ง ๒ คนก็อยู่ร่วมกันได้ โดยที่ภริยาของพรานกุกกุฏมิตรนั้นมิได้ทำผิดศีล
(เรื่องของพรานกุกกุฏมิตรอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

ตามเนื้อเรื่องนั้น ภริยาซึ่งเป็นพระโสดาบันอาศัยอยู่กับพรานป่า และได้รับคำสั่งของสามีอยู่เรื่อย ๆ
ว่า “หล่อนจงนำธนูมา นำลูกศรมา นำหอกมา นำหลาวมา นำข่ายมา”
นางก็ได้นำสิ่งเหล่านั้นไปให้แก่สามีของนาง
หลังจากนั้น พรานกุกกุฏมิตรได้ถือเครื่องประหารเหล่านั้นไปทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ต่าง ๆ

ต่อมาเรื่องดังกล่าวได้ทราบถึงเหล่าภิกษุ แล้วก็ได้มีพระภิกษุสงสัยว่า
แม้พระโสดาบันทั้งหลายยังทำปาณาติบาตอยู่หรือ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายให้พระภิกษุเหล่านั้นเข้าใจว่า
พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต
แต่ภริยาของพรานกุกกุฏมิตรได้ทำเช่นนั้นด้วยคิดว่า “เราจักทำตามคำสามี”
จิตของนางไม่มีเลยว่า สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต
เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ ฉันใด
ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นางจะได้นำเครื่องประหารทั้งหลาย
มีธนูเป็นต้นออกให้แก่สามี เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน

หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
“ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้ บุคคลพึงนำยาพิษไปด้วยฝ่ามือได้
เพราะยาพิษย่อมไม่ซึมเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้น”

ฉะนั้นแล้ว การที่ถือหรือส่งเครื่องประหารให้แก่ผู้อื่น ไม่ได้แปลว่าทำบาปอกุศลเสมอไป
ขึ้นอยู่กับเจตนาในจิตใจของเราเอง
ยกตัวอย่างเช่น เราส่งมีดเล่มหนึ่งให้กับเพื่อน เพื่อนคนนั้นอาจจะนำมีดเล่มนั้นไปหั่นผัก
ไปตัดเชือก ไปทำกับข้าว ฯลฯ หรือนำไปใช้ทำร้ายคนอื่นก็ได้
ปัญหาของเราอยู่ที่ว่าเราส่งมีดให้เพื่อนด้วยเจตนาอย่างไร
หากเราส่งมีดให้เพื่อนโดยมีอกุศลเจตนาแล้ว ก็ย่อมถือว่าเราทำบาปอกุศลแล้ว
แต่หากเราส่งมีดให้โดยไม่มีอกุศลเจตนาแล้ว อกุศลก็ย่อมไม่มีแก่เรา
ฉันใดฉันนั้นกับการที่เราต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่มีศีลด้อยกว่านะครับ
เราพึงระมัดระวังจิตใจและเจตนาของเราให้ดี แล้วเราก็จะหลีกเลี่ยงไม่ทำอกุศลได้ครับ
ฟังดูเหมือนยาก แต่ไม่เกินวิสัยครับ เริ่มต้นด้วยการฝึกมีสติรู้ทันใจตนเองก่อน

ที่มา http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=926&Itemid=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น