Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก
ศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก
ทันทีที่กระสุนปริศนาทะลุผ่านศีรษะ ร่างของเขาล้มฟุบลงทันที แต่ก่อนสติจะดับวูบ เขาก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยโทรศัพท์ พอจับใจความได้ว่า... ตัวเขาคง ไม่รอด!!
• นาทีชีวิต กับการใช้ชีวิต
ที่เหลืออยู่
แต่เหมือนปาฏิหาริย์ หมอสามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้ และแม้จะต้องนอนอยู่ในห้องไอซียูนานนับเดือน ต้องทำการผ่าตัดสมองถึง 6 ครั้ง แต่ช่วงนาทีที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตายอยู่ใกล้กันแค่ชั่วพริบตานี่เองที่ทำให้ ‘ธานินทร์ พันธ์ประภากิจ’ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน ตระหนักว่า ชีวิตนี้สั้นนัก และเขาขอใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำความดีเพื่อช่วยเหลือผู้คน ทดแทนคุณแผ่นดิน
อันเป็นที่มาของการเปิดศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก บริการแก่ผู้ป่วยที่ยากไร้โดย ไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) และ ‘บริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด’
“ตอนที่ผมถูกลอบทำร้าย ผมก็ได้ยินเสียงคนคุยโทรศัพท์ว่าผมถูกยิง ปลาย สายคงถามว่า ผมเป็นยังไงบ้าง ทางนี้บอกเลยว่า คิดว่าอาจจะไม่เกินครึ่งชั่วโมงแต่หลังจากนั้นผมต้องนอนอยู่ห้องไอซียู 45 วัน เข้ารับการผ่าตัดที่ศีรษะถึง 6 ครั้ง ผมคิดว่ามันคงเป็นเวรกรรม
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มันทำให้เราได้คิดนะ คือมีอยู่วันหนึ่งช่วงที่ผมอยู่ระหว่าง การฟื้นฟู พยาบาลพาเดินออกไปทำกายภาพบำบัด ตอนขาไปผมยกมือไหว้อาม่าเตียงข้างๆ แต่พอกลับเข้ามาปรากฏว่าอาม่าเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตของมนุษย์มันนิดเดียวเอง
แล้วตอนอยู่ไอซียูก็มีคนเสียชีวิตทุกวัน เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ..เมื่อไรจะถึงเตียงเรา ก็เลยเริ่มตระหนักว่า เงินไม่สามารถซื้อชีวิตคนได้ ผมเลยคิดว่าหลังจากรอดตาย ชีวิตที่เหลือจะลงไปช่วยพี่น้อง ประชาชนที่ยากไร้ในแผ่นดินนี้”
• แรงบันดาลใจ จาก “ในหลวง”
เปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก
นักธุรกิจหนุ่มเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาตั้งใจอุทิศตน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีปัญหาด้านดวงตา ว่า
“แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผมมาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่โตมาเราก็เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จไปช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ในชนบทมาตลอด
สมัยหนุ่มๆผมเคยเดินตามหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ซึ่งท่านพูดเสมอว่า ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน ทุกข์ของแผ่นดินคือทุกข์ของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเหนื่อยยากเพื่อพวกเรามามาก
ผมจึงอยากเดินตามรอยพระบาทขององค์ท่าน ช่วยเหลือคนที่เขาด้อยโอกาสเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งปณิธานตรงนี้ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมาว่า เราจะต้องเดินให้ได้ ต้องอดทน เพราะมีสิ่งสำคัญรอเราอยู่ และก็มาตกผลึกว่า จะเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก เพราะบ้านเรามีคนที่เป็นโรคนี้เยอะ”
• ปณิธานอันแน่วแน่
ดำเนินรอยตามพระราชดำริ
หลังจากนั้นธานินทร์จึงไปปรึกษากับ นพ.วิทิต อรรณเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วในขณะนั้น ว่าเขาอยากจะเปิดศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก โดยไม่คิดค่ารักษา ซึ่งคุณหมอวิทิตย้ำว่า จะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
แต่ธานินทร์ก็ไม่ลังเลใจที่จะนำเงินเก็บ ที่สั่งสมทั้งชีวิตมาใช้ทำโครงการนี้ ด้วยมองว่า การช่วยให้คนคนหนึ่งกลับมามอง เห็นได้เป็นปกติอีกครั้งนั้น เป็นสิ่งที่มิอาจประเมินค่าได้
เขาจึงได้สั่งซื้ออุปกรณ์การผ่าตัดดวงตาจากต่างประเทศ และสั่งซื้อรถห้องผ่าตัดเคลื่อนที่หลายสิบล้านบาท และโชคดีที่ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกทำการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากมาย และภายหลังธานินทร์ได้เปิดเป็นศูนย์ผ่าตัดผู้ป่วยต้อกระจกที่กรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่สุขุมวิท ซอย 24
ในละปีที่นี่สามารถให้การรักษาผู้ป่วย ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย โดยนอกจากจะรักษาฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีที่พัก และอาหารไว้บริการผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัด รวมทั้งแจกแว่นตาและเครื่องใช้จำเป็นให้ผู้ป่วยนำติดตัวกลับบ้านอีกด้วย
และไม่เพียงแต่จะรับผู้ป่วยในเท่านั้น ศูนย์แห่งนี้ยังให้บริการเชิงรุกโดยจัดรถผ่าตัดเคลื่อนที่ออกไปให้บริการแก่ผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทั่วถึง เพราะธานินทร์ มองว่ายังมีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่อดมื้อกินมื้อ ไม่มีแม้กระทั่งค่ารถที่จะเดินมารับการรักษา หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ใครดูแล ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาผ่าตัดที่ศูนย์ในกรุงเทพฯได้
“ต้องเข้าใจว่า คนที่ยากจนเนี่ยะเขาจนจริงๆนะ จะกินให้ครบ 3 มื้อยังลำบาก หรือบางคนลูกหลานมาทำงานกรุงเทพฯ อยู่กันสองคนตายาย ไม่มีใครพามารักษา เราเลยต้องออกไปหาพวกเขา ก็ไปมาเกือบทั่วประเทศแล้ว ไปถึงเชียงราย ด้านที่ติดกับพม่า ไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปหมด โดยเราจัดรถไปรับผู้ป่วยเข้ามาผ่าตัดที่ศูนย์ในกรุงเทพฯ มาถึงที่โรงพยาบาลเราก็จัดอาหารการกินให้ มีที่พักให้ฟรีหมด รักษาเสร็จ ตอนเช้าเปิดดวงตา แจกแว่นตา แจกเสื้อ แจกอะไรเสร็จ ให้เขารับประทานอาหาร แล้วก็เอารถกลับไปส่งถึงบ้านเลย
โดยในระหว่างเดินทางเราทำประกันชีวิตให้ด้วย พอเขาถอดรองเท้าเข้าบ้านปุ๊บ ถือว่าภารกิจของเราเสร็จ อีกหนึ่งอาทิตย์เรากลับไปตรวจอีกที แล้วอีกหนึ่งเดือนก็กลับไปตรวจซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าดวงตาเขาเป็นปกติจริงๆ
ตอนแรกก่อนลงไป เราจะส่งทีมสำรวจไปก่อน ดูว่าจุดนั้นมีผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด แล้วก็ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ให้แจ้งกับชาวบ้านว่า เราจะลงไปรับผู้ป่วยวันไหน
แต่บางกรณีที่สามารถผ่าตัดในพื้นที่ได้ ก็ทำในพื้นที่เลย โดยเราจะประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ขอใช้สถานที่เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ส่วนหนึ่งก็จะเป็นทีมของเราที่ไปจากกรุงเทพฯ อีกส่วนก็จะเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่หรือในจังหวัดใกล้เคียง แต่เครื่องไม้เครื่องมือเรามีพร้อมอยู่แล้ว
ปณิธานของเราคือการดำเนินรอยตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา จะเห็นว่า พระองค์ไม่ได้รอให้พสกนิกร ที่เดือดร้อนเดินทางมาหาพระองค์นะ แต่พระองค์เสด็จออกไปหาประชาชน พระองค์เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเราเป็นใครล่ะ” ธานินทร์เล่าถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ได้ทำตลอดหลายปีที่ผ่านมา
• ทุกวันและทุกวินาที
จะทำความดีเพื่อแผ่นดิน
เนื่องจากการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกแต่ละราย ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่ารายละ 5,000-6,000 บาท ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของการรักษาสูงถึงปีละ 60 ล้านบาท ทำให้หลายคนสงสัยว่า อะไรที่ทำให้นักธุรกิจหนุ่มอย่างธานินทร์ทุ่มเทเงินทองมหาศาลเพื่อทำโครงการนี้
และไม่เพียงแต่กำลังเงินเท่านั้น เขายังทุ่มเททั้งแรงกายและเวลาในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากไร้อย่างเต็มที่ ชนิดที่เรียกได้ว่า งานที่โรงพยาลบาลบ้านแพ้วเป็นงานหลัก ส่วนการทำธุรกิจส่งออกเป็นงานรอง
“ตอนที่ผมเริ่มทำโครงการนี้ใหม่ๆ ทุกคนมักจะถามว่า คุณเอาเงินมาจากไหน ผมอยากบอกว่า เงินที่ผมได้มานั้นไม่ใช่ของผม ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นเงินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เพราะแบงก์ทุกใบ มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน
ถามว่าวันนี้ผมพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ไหม โอโห...ทุกวันนี้ผมดีใจมากที่ได้อยู่ในแผ่นดินนี้ ผมดีใจมากที่ได้กินข้าวจากแผ่นดินนี้ ผมต้องกตัญญูต่อชาวนาที่ปลูกข้าวให้ผมกิน การที่ผมพาทีมแพทย์ออกไป รักษาดวงตาให้กับประชาชนในชนบทนั้น มันเท่ากับแค่เสี้ยวของบุญคุณที่เขามีต่อผม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเสียเงินเสียทองไปเท่าไรในการช่วยเหลือคนจนในแผ่นดินนี้ ผมไม่เคยเสียดาย
เราดำเนินรอยตามเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ผมพอแล้วกับทรัพย์สินเงินทอง มันปลื้มนะเวลาที่เราสามารถช่วยให้คนที่ดวง ตามืดมัว กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
มีอยู่เคสหนึ่งเป็นคุณครู อายุ 82 แล้ว อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านดีใจมาก ท่านบอกว่ารอมา 6 ปีแล้ว ได้แต่อุ้มหลาน แต่ไม่เคยเห็นหน้า วันนี้ได้เห็นหลานแล้ว...
คือสิ่งที่เราทำ มันมีคุณค่ามากมาย มหาศาล จนไม่สามารถตราลงในเอกสารใดๆได้ผมไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรือคะแนนนิยมอะไร เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ผมไม่ได้อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมอยู่ในสภาประชาชน ผมเป็นคนที่อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นทุกวันและทุกวินาที ผมจะทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ธานินทร์กล่าวด้วยประกายตาแห่งความปลื้มปีติ
• พระเจ้าในดวงใจ คือ
‘พระเจ้าแผ่นดิน’
ธานินทร์เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่รักและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันเป็นอย่างมาก เมื่อก้าวเข้าไปในสำนักงานของเขา จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของแต่ละพระองค์เรียงรายอยู่บนฝาผนัง
นอกจากนั้นเขายังเปลี่ยนชื่อถนนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นถนนของเขาเอง จาก ‘ถนนพระพรหมพานิช’ เป็น ‘ถนนเรารักในหลวง’ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
“ที่ผมเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนเรารักในหลวง’ เพราะผมอยากให้ทุกคนตระหนักว่า แผ่นดินนี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน พระเมตตาของพระองค์ทำให้คนไทยอยู่ เย็นเป็นสุข จะเห็นว่า ประเทศไทยมีคน หลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่ในหลวงของเราดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่านเท่าเทียมกันหมด ไม่แยกสีไม่มีเหล่า
ดังนั้น คนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด แต่เรามีพระเจ้าองค์เดียวกันคือ ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ เป็นพระเจ้าที่เราเห็นได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ พระองค์ทรงเป็น พระเจ้าที่ลงมาช่วยเหลือประชาชน โดยที่เราไม่ต้องอธิษฐานหรืออ้อนวอนร้องขอ
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า สิ่งเดียวที่เราจะตอบแทนพระองค์ได้ก็คือ การช่วยแบ่ง เบาภาระของพระองค์ท่าน ในการช่วยเหลือ คนไทยที่ยังลำบากยากจนและด้อยโอกาส” ธานินทร์กล่าวด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น
ผู้ที่ประสงค์จะผ่าต้อกระจกฟรี! ติดต่อไปยังโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือบริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด อาคารพระมหากรุณาธิคุณ เลขที่ 98 ซอยสุขุมวิท 24 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กทม. 10110 สอบถามรายระเอียด โทร.0-2262-9454-5,0-2261-8213-7 เวลาทำการจันทร์-วันศุกร์ 08.00-17.00 น.
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย วิบูลย์ สุขใจ)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น