++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กับดักทางความคิด




“กับดักความคิด” (Conceptual block) ที่นักวิชาการทั้งหลายถือว่าเป็นกำแพงในจิตใจ
ซึ่งปิดกั้นการรับรู้ ละการไตร่ตรอง เพื่อหาทางออกที่สร้างสรรค์ให้แก่ปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อเราติดกับดักความคิดแล้ว ไม่ต้องหวังว่าเราจะคิดอย่างรอบคอบ รอบด้าน และสร้างสรรค์ได้ ความคิดเราก็จะวนเวียนอยู่ในกับดักนั่นเอง และกับดักนั้นมักจะเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่ เคยชินอยู่ เชื่ออยู่ อาทิ กับดักของทรรศนะ (Perceptual block) หรือการรับรู้ซึ่งบางครั้งเกิดเพราะคนอื่นสร้างกับดักขึ้น แล้วเราไปคิดตามเขา ลองดูตัวอย่างบทสนทนาระหว่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับนักศึกษาในวันหนึ่งในห้องเรียน...

ไอน์สไตน์ “มีคนซ่อมปล่องไฟสองคน ก็เล็งซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาลงมาจากปล่องไฟ ปรากฏว่าคนหนึ่งตัวสะอาด อีกคนหนึ่งตัวเลอะเทอะ มอมแมม เต็มไปด้วยเขม่า คำถามมีอยู่ว่า คนไหนจะอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาคนหนึ่งตอบทันทีว่า “ก็ต้องคนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควันสิครับ”

ไอน์สไตน์ “แน่ใจหรือ ลองคิดดูให้ดี คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองสกปรกเหมือนกันแน่ ส่วนอีกคนก็เห็นฝ่ายตรงกันข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่าตัวเองสะอาดเหมือนกัน ถึงตอนนี้ ขอถามอีกทีว่า ใครกันแน่ที่จะอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาอีกคนตอบด้วยความมั่นใจว่า “อ๋อ! รู้แล้ว คนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่ เพราะเห็นอีกคนตัวสกปรก ก็นึกว่าตนเองสกปรก แต่อีกคนซึ่งตัวสกปรก เห็นเพื่อนตัวสะอาด ก็นึกว่าตัวเองสะอาด จึงไม่ไปอาบน้ำ...ใช่ไหมครับ”

ไอน์สไตน์มองไปรอบๆ ห้องแล้วเฉลยว่า “คำตอบนี้ก็ผิดทั้งสองคน ออกมาจากปล่องไฟเหมือนกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งตัวสกปรก อีกคนหนึ่งตัวสะอาด เป็นไปไม่ได้! นั่นแสดงว่า เราติดกับดักแห่งความคิด เพราะความคิดของเราถูกชักนำไปด้วยประเด็นหนึ่ง หรือสถานการณ์หนึ่งๆ ซึ่งในที่นี้คือ สะอาดและสกปรก จนเราละเลยความเป็นเหตุเป็นผล และบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถแยกแยะและหาแก่นของประเด็นที่แท้จริง” (ดู ดร.เดชา เตชะวัฒนไพศาล, 2552)

เห็นไหมละครับว่า เมื่อติดกับดักความคิดแล้ว เราจะได้คำตอบผิดๆ อย่างไร ความจริงกับดักความคิดยังมีอีกหลายประเภท เช่น กับดักจากอารมณ์ (emotional block) เช่น อารมณ์โกรธ อิจฉา น้อยใจ ลองนึกดูว่า ถ้าเซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโลกถูกแอบเปิ้ลหล่นใส่หัว เกิดความโกรธว่า ใครวะเอาแอบเปิ้ลขว้างหัวเรา! โลกทั้งโลกก็จะไม่ได้ศึกษาทฤษฎีแรงโน้มถ่วงหรอก เพราะความคิดของนิวตันถูก กับดักความโกรธบังไว้แล้ว!

นอกจากนั้น ก็ยังมีกับดักทางวัฒนธรรม กับดักสิ่งแวดล้อม กับดักทางปัญญา กับดักทางวาจา กับดักความเคยชิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้บดบังความสร้างสรรค์ทั้งสิ้น หากเราจะก้าวข้ามกับดักนี้ได้ เราต้องปรับวิธีคิดให้รอบคอบ รอบด้าน ปราศจากอคติ

พระพุทธเจ้าเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์แยกเป็น ๑๐ อย่างหลักๆ ตั้งแต่ คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย แยกแยะส่วนประกอบ คิดแบบอริยสัจเพื่อแก้ปัญหา คิดแบบเห็นคุณและโทษและทางออก คิดแบบวิภัชชวาท (คือไม่หนักไปทางเดียว) ฯลฯ

อ้อนแอ้นและท่านผู้อ่านเคยติดกับดักความคิดหรือเปล่า? แล้วหาทางออกอย่างไรครับ?

ติดบ่อยมากค่ะ โดยส่วนใหญ่จะติดกับดักอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นโกรธ หรือน้อยใจ แล้วตัวเองมักจะคิดวนอยู่อย่างนั้น จนทำให้เกิดความเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งคิดไม่ออกค่ะ

ทางออกของอ้อนแอ้นหรอคะ ปรึกษาคุณพ่อค่ะ มีอะไรไม่สบายใจหรือคิดไม่ตก จะเก็บไว้คนเดียวทำไม มีพ่อ เป็นปราชญ์ทั้งที ปรึกษาทุกทีก็ได้ข้อคิดดีๆ เสมอค่ะ

ดิฉันมีอีกหนึ่งตัวอย่างของกับดักความคิดมาให้ท่านผู้อ่านคิดตามสนุกๆ ค่ะ

ชาย ๓ คนเป็นเพื่อนกันมีเงินคนละ ๑๐ บาท เห็นส้มที่แม่ค้าขายกิโลละ ๓๐ บาทน่าทาน จึงรวมเงินให้เด็กไปซื้อมาให้ เมื่อเด็กซื้อส้ม ๑ กิโล แม่ค้าใจดีจึงลดราคาให้ ๕ บาท เด็กคิดว่าถ้าเอาเงินทอน ๕ บาทไปคืนหมดจะแบ่งกันลำบาก จึงเก็บไว้เอง ๒ บาท และคืนชายทั้ง ๓ คนละบาท

สรุปว่า ชาย ๓ คน จ่ายค่าส้มคนละ ๙ บาท เท่ากับ ๒๗ บาท อยู่กับเด็กอีก ๒ บาท รวมเป็น ๒๙ บาท แล้วเงินหายไปไหนหนึ่งบาทคะ?

เฉลยคือ ผิดที่บทสรุปค่ะ เพราะควรสรุปว่า ทั้ง ๓ จ่ายไปทั้งหมด ๒๗ บาท คือค่าส้ม ๒๕ บาท กับให้เด็กไปอีก ๒ บาท ก็เลยเหลือคนละบาทค่ะ

ดังนั้น อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น และอย่าเชื่ออะไรโดยไม่คิดนะคะ

บทความโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ อิสริยาภรณ์ อุวรรณโณ คอลัมน์ มุมมองสองวัย, นสพ.เดลินิวส์

ที่มา...https://www.facebook.com/pages/Dhammachak-social-network/132513600133623

และ  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=281382475298749&set=a.222819157821748.32276.155736391196692&type=1&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น