++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน” งานวิจัยจุฬาฯ ได้รับความสนใจไปทั่วโลก



ปัจจุบันการพัฒนาการเพาะเลี้ยงและควบคุมคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษยชาติ ด้วยความคาดหวังที่จะนำเซลล์เหล่านี้ไปศึกษาวิจัยในการรักษาด้วยวิธี “เซลล์บำบัด หรือการทดสอบคุณสมบัติทางสัชวิทยาของยา” ตลอดจนศึกษาสาเหตุและการดำเนินโรคต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งอาจคิดว่ารักษาไม่ได้

คณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิจัยพบว่าตัวอ่อนของมนุษย์ที่ได้รับการเก็บรักษาโดยวิธีการแช่แข็งไว้นานถึง 18 ปีสามารถนำกลับมาเลี้ยงและพัฒนาในห้องปฏิบัติการ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในการสร้างให้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์และด้านเภสัชวิทยาของยาต่างๆ และได้มีการพัฒนาเซลล์เหล่านี้ให้พร้อมใช้เก็บรักษาไว้ในธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนมนุษย์แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของ รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ หัวหน้าหน่วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไปทั่วโลก ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนที่สร้างจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้เป็นเวลานาน มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้หลายชนิด ไม่ต่างไปจากตัวอ่อนสดทั่วไป

คณะผู้วิจัยได้เริ่มงานวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว จำนวน 23 ใบ ทำการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จนกระทั่งแบ่งตัวภายใต้การควบคุมในห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม ตัวอ่อนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่วงการแพทย์ คือ เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนซึ่งมีคุณสมบัติในการแสดงตนว่ามีความสามาถจะถูกควบคุมให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ในร่างกายเป็นจำนวนมาก

ผลงานวิจัยนี้ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติโดยเป็นข่าวที่ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ทั้งใน The New York Times media , The World Health Organization ,Yahoo News และอีกกว่า 30 เว็บไซต์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นการนำเสนอทางเลือกใหม่ในการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งเป็นความหวังในการพัฒนาทางการแพทย์ที่สำคัญต่อไปในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น