++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อนุกกม.สิ่งแวดล้อมฯวุฒิสภา แนะแก้ปัญหาน้ำเสียที่ปราจีนบุรี



ศูนย์ข่าวศรีราชา - อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติวุฒิสภา แนะแนวทางแก้ปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาน้ำเสีย กุ้ง ปลาตาย ที่แควพระปรง จังหวัดปราจีนบุรี

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เปิดเผยว่า เมื่อฅเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติวุฒิสภา ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีน้ำเน่าเสีย กุ้ง ปลาตายที่แควพระปรง จังหวัดปราจีนบุรี โดยเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 7 (สระบุรี) ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปราจีนบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมที่อาคารวุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติมีข้อเสนอแนะดังนี้

1.เนื่องจากปัญหาน้ำเน่าเสีย และกุ้ง ปลาตายในลำน้ำแควพระปรงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยพบว่าแควพระปรงรับน้ำมาจากแควหนุมาน แควโขมงซึ่งมีต้นน้ำอยู่เทือกเขาในเขตจังหวัดสระแก้ว และรับน้ำมาจากคลองสะทึงเทือกเขาในเขตจังหวัดปราจีนบุรีผ่านจังหวัดสระแก้วไหลมาบรรจบกันที่บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้ว ก่อนไหลลงแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งประชาชนร้องเรียนว่าอาจเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต้นน้ำได้แก๋ บริษัทรวยไทย ไฟเบอร์ อินตัสทรี (ไทยแลนด์)จำกัด ปราจีนบุรี ประกอบกิจการฟอกและตกแต่งสำเร็จด้ายและสิ่งทอบริษัทสระแก้วเจริญ จำกัด สระแก้ว ประกอบกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง บริษัทเอลีท คราฟท์ เปเปอร์ จำกัด สระแก้ว ผลิตกระดาษทำลอนลูกฟูก กระดาษทำผิวกล่อง และมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในโรงงานด้วย และบริษัทไทยเคน จำกัด ปราจีนบุรี ผลิตกระดาษ และมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในโรงงานด้วย

ดังนั้น จึงขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการติดตามการดำเนินงานของโรงงานอุสาหรรมดังกล่าวโดยเฉพาะประเด็นการปล่อยน้ำเสียในช่วงต้นฤดูฝน และขอให้คณะทำงานไตรภาคี เพื่อบริหารจัดการน้ำเสียและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชนแนวคลองพระปรง ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งกรมโรงงานอุสาหกรรมที่ 319/2555 ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการภาคประชาชน และภาคอุสาหรรมที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดน้ำเน่าเสีย และแก้ไขปัญหาน้ำเสียและด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆโดยตั้งเป้าว่าในปีถัดไปจะไม่ให้เกิดกรณีน้ำเน่าเสีย กุ้ง ปลาตายในแควพระปรงอีก

2.เห็นควรให้นำกฎกระทรวงตามบทบัญญัติในมาตรา80 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดการทำเป็นบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานการบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2555 มาใช้ในกรณีนี้อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ให้โรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายกฎกระทรวงซึ่งตั้งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบแควพระปรงดำเนินการส่งข้อมูลให้พนักงานท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป

3.เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา จังหวัดปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลย่านรี จังหวัดปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง จังหวัดสระแก้ว และเทศบาลตำบลศาลาลำดวน จังหวัดสระแก้วมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 จึงขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวประสานความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยเฉพาะทางกายภาพและควรจัดหาเครื่องมือตรวจคุณภาพน้ำอย่างง่ายประเภทพกพาและสามารถทราบผลได้ทันทีได้แก่ pH METER , DOMETERเป็นต้น และทำการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำหากพบว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณภาพน้ำจะเปลี่ยนแปลงให้หาแหล่งกำเนิดและเสนอต่อคณะทำงานไตรภาคีตรวจสอบทันที

4.เนื่องจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคจะไปสังกัดที่กรมควบคุมมลพิษจึงเห็นควรให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค เน้นในการควบคุมและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในลำน้ำสายหลักและตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่รับผิดชอบจึงเห็นควรเพิ่มบุคลากรและเสริมสร้างสมรรถนะต่อบุคลากรในส่วนนี้ให้สามารถทำงานในส่วนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย

5.เนื่องจากปัญหาน้ำเสียในลำน้ำและการลักลอบทิ้งกากของเสียหรือน้ำเสียในพื้นที่สาธารณะมักเกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ต่างๆและการกำหนดมาตราการป้องกันและแก้ไขปัญหาของหน่วยราชการเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อหน่วยงานราชการ จึงเห็นควรให้มีการจัดการประชุมแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันตามกฎหมายที่ได้รับมอบหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เพื่อวางแนวทางทั้งในด้านการป้องกันแก้ไขและฟื้นฟูในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์น้ำเสีย, การลักลอบทิ้งของเสียในที่สาธารณะและควรมีการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติให้ชัดเจนเพื่อที่แต่ละ หน่วยงานสามารถนำไปใช้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามอำนาจหน้าที่และเป็นการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาได้ทันที ทั้งนี้ขอให้กรมควบคุมมลพิษเป็นเจ้าภาพดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น