++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

การแผ่เมตตา

มีหลายครั้งหลายคราที่ผู้เขียนได้ยินคำถาม ‘แผ่เมตตาเป็นยังไง?’ หรือไม่ก็ ‘แผ่เมตตายังไงถึงจะถูกต้อง?’ ถ้าใครเคยเข้าวัดร่วมสวดมนต์ จะเห็นว่าตอนท้าย ๆ จะมีสวดบทแผ่เมตตา ที่เห็นใช้กันทั่วไปก็คือ

...สัพเพ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ...ซึ่งแปลว่าสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ขออย่าได้มีเวรมีภัยต่อกันและกันเลย ขออย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอให้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

บทแผ่เมตตาอย่างนี้ใช้กันแพร่หลาย แต่คำแปลของบทนี้อาจผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วใจความก็เหมือน ๆ กัน นอกจากนี้ในบทสวดมนต์ ‘เมตตาสูตร’ ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า...

กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อภิสะเมจจะ ฯลฯ ก็เป็นบทแผ่เมตตาเหมือนกัน และเป็นบทที่พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนไว้



ถึงตรงนี้อยากให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูคำแปลให้ละเอียด แล้วจะทราบความหมายได้ดีว่า การแผ่เมตตานั้นหมายความอย่างไร ผู้ที่แผ่เมตตาจะได้รับประโยชน์อย่างไร และผู้ที่ได้รับจะได้ประโยชน์เช่นใด

ในบทแผ่เมตตาตามนัยของเมตตาสูตร กล่าวไว้ว่ากุลบุตรผู้ต้องการจะบรรลุถึงทางสงบคือพระนิพพานนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้แผ่เมตตา คือให้อธิษฐานกล่าวในใจ หรือจะกล่าวด้วยวาจาก็ได้ดังนี้

“ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุข มีความเกษม มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด” (สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา)



“สัตว์เหล่าใดก็ตามซึ่งมีชีวิตอยู่ จะยังเป็นผู้สะดุ้งอยู่ (คือมีตัณหา) หรือเป็นผู้มั่นคงแล้ว (ไม่มีตัณหาแล้ว) ก็ตาม”

(เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา)



“สัตว์เหล่าใด ซึ่งจะเป็นชนิดตัวยาว (เช่นงู) หรือสัตว์ใหญ่ (เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย) หรือจะเป็นชนิดปานกลาง หรือจะเป็นชนิดตัวสั้นตัวน้อย อ้วนผอมก็ตาม”

(ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา)



“จะเป็นผู้ที่เราเคยเห็นหรือไม่เคยเห็นก็ตาม จะอยู่ใกล้หรือไกลก็ตาม ที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือกำลังแสวงหาภพที่เกิดก็ตาม

(ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร ภูตา วา สัมภะเวสี วา)



“ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงซึ่งความสุขเถิด”

(สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา)



“และขอให้สัตว์ทั้งหลายอย่าได้ข่มเหงทำร้ายซึ่งกันและกันเลย”

(นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ)



“และขออย่าดูหมิ่นใคร ๆ ไม่ว่าในเรื่องอะไร และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ๆ”

(นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ)



“และขออย่าได้ปรารถนาความทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธหรือเพราะความแค้นเลย”

(พยาโรสะนา ปฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ)



“มารดาผู้มีบุตร ซึ่งเกิดจากตนเพียงคนเดียว ย่อมจะมีเมตตาอย่างซาบซึ้งในบุตร และทะนุถนอมบุตรนั้นด้วยชีวิตฉันใด ก็พึงมีใจเมตตาในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหมือนมารดาเมตตาบุตร โดยไม่จำกัดว่าใครหรือเป็นอะไรฉันนั้น”

(มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง)



“อนึ่งพึงมีใจประกอบไปด้วยเมตตา โดยไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น (เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง) ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องล่าง ซึ่งในการแผ่เมตตานั้น ขออย่าทำใจคับแคบ อย่าให้มีใจขุ่นเคือง มีเวรมีภัยต่อใคร เป็นศัตรูกับใคร (อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง)”



“ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น จะยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี หรือนอนอยู่ก็ดี ตราบใดที่ไม่ง่วง ก็ขอให้ตั้งสติอันนี้ไว้” (คือให้จิตมีแต่ความเมตตาอยู่ทุกอิริยาบถ)

(ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ)



“ผู้มีใจประกอบด้วยเมตตาทุกอิริยาบถ ทั้งมีเมตตาในสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกหน้าเช่นนี้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวว่า ผู้นี้เป็นพรหมในโลกนี้”

(พรหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ)



“และผู้ที่มีเมตตาเช่นนี้ หากไม่เข้าถึงทิฐิ (คือไม่เป็นมิจฉาทิฐิ) เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยทัสนะ (คือได้โสดาปัตติมรรค) และกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายได้หมดแล้ว (คือตัดกามราคะ ปฏิฆะ สังโยชน์ ไม่ขาด) ก็จะไม่มานอนในครรภ์อีกต่อไป (คือจะไม่มาเกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยท้องแม่...นอนในครรภ์ เพราะผู้ละสังโยชน์หมดแล้วจะไปเกิดเป็นโอปปาติกะ ในแดนพรหมชั้นสุทธาวาส และสามารถสำเร็จเข้าสู่แดนนิพพานได้เลยโดยไม่ต้องลงมาเกิดอีก) (ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ)



บทแผ่เมตตาทั้งสองบทที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการแผ่เมตตาคือการแพร่ความคิดอันประกอบด้วยความเป็นมิตร ความปรารถนาดีไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่มีความเมตตาในความหมายทางพุทธศาสนาคือผู้ไม่คิดประทุษร้ายใคร ไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่คิดทำให้ใครเดือดร้อน ไม่โกรธ...ไม่เกลียด ไม่ริษยา ไม่มีความอาฆาต ตรงกันข้ามในจิตใจมีแต่ความปรารถนาดี ต้องการให้สัตว์บุคคลต่าง ๆ มีความสุขความเจริญพ้นจากภัย นี่คือความหมายของการเจริญเมตตา

ผลดีจากการเจริญเมตตา ที่จะเกิดกับผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอยู่เสมอนั้น คือในใจจะมีแต่ความสุข ความแจ่มใส ความเบิกบาน ไม่มีความโกรธเกลียดริษยาเข้าครอบครองใจ อันนี้ตรงกับความว่า ‘พุทโธ’ คือผู้ตื่น...ผู้เบิกบาน ตรงกับแก่นแท้แห่งพุทธศาสนาที่ว่า

‘ทำดี ละเว้นชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส’

คนที่แผ่เมตตา เจริญเมตตาอยู่เสมอ จะพัฒนาจิตใจจากคนมักโกรธ ขี้ใจน้อย กลายเป็นความเยือกเย็น...มีสติและปัญญาในที่สุด

ข้อสำคัญในการเจริญเมตตา ต้องทำหรือกล่าวออกมาด้วยความจริงใจ อย่าสักแต่ว่าเมื่อเขาบอกให้ทำ บอกให้กล่าว ก็ทำไปอย่างนั้น หรือทำไปด้วยความเคยชิน ตามประเพณี แต่ใจจริงมิได้มีความรู้สึกเมตตาต่อคน ต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างที่พูดหรือย่างที่คิดแผ่นั้นเลย

ข้อสำคัญอยู่ที่ความจริงใจ ต้องหัดทำใจให้เกิดความรักความปรารถนาดี เกิดความเอ็นดู ความสงสาร แม้กระทั่งคนที่เคยเป็นศัตรูกันมา พยายามหัดลบล้างความรู้สึกโกรธพยาบาทให้หมดไปให้ได้!

ใครที่สามารถสร้างความรักความเมตตา...สัตว์และบุคคลทั้งหลายได้เหมือนมารดาผู้เมตตาบุตรของตน ย่อมได้รับอานิสงส์มากอย่างยิ่ง อานิสงส์ของเมตตาธรรมมีดังนี้

1. หลับเป็นสุข

2. ตื่นเป็นสุข

3. ไม่ฝันร้าย

4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

6. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา

7. ไฟ ศาสตราหรือยาพิษใดมิอาจทำร้ายได้

8. จิตเป็นสมาธิเร็ว

9. สีหน้าผิวพรรณผ่องใส

10. ตายแล้วไม่หลงภพ

11. แม้จะยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่เมื่อตายแล้วจะได้ไปเกิดในพรหมโลก



เอ้า รู้อย่างนี้แล้ว...คงไม่ต้องย้อนถามนะครับว่าเราทั้งหลายควรเจริญเมตตาหรือเปล่า...
ทำเถิดครับ อย่างน้อยเมตตาธรรมก็ค้ำจุนโลก ด้วยความทุกข์ของสัตว์ล้วนมาจากการเบียดเบียนกันเองอย่างที่เห็นชัด ๆ ทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์นั่นแหละครับ
--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น