++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

พระราหุลเถระ


พระราหุลเถระ

   พระราหุล เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ กับพระนางยโสธรา (พิมพา)
เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์
เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
ประทับอยู่ที่นิโครธาราม
วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธราพระราชเทวีเก่าของพระองค์
พระนางได้ส่งพระราหุลกุมาร
ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ควรจะได้ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่าง
ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ
จึงร้องทูลขอราชสมบัติพลางตามเสด็จพระบรมศาสดาทรงดำริว่า
ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ที่จะมั่นคงถาวร
และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี
ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า
สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลบวชเถิด
ขณะนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท
พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร
พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นเหตุ
จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตรที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณร
ด้วยการให้สรณคมน์ ๓ นับได้ว่าราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา
และพระอุปัชฌาย์ของตนไป ครั้นมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

    วันหนึ่งในขณะที่พระราหุลพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์
พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น
ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า
บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น
ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป ต่อมาอีก
วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสสอนด้วยมหาราหุโลวาท
ซึ่งว่าด้วรรูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน,อาโปธาตุ
ธาตุน้ำ,เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม และอากาศธาตุ ช่องว่าง ให้ใช้
ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา
ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเราเป็นต้น
ในที่สุดก็ตรัสสอนในกรรมฐานอื่น ๆ ให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
อสุภสัญญา อนิจจสัญญา
ครั้นทรงสอนจบแล้วพระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา
ต่อมาพระราหุลได้ฟังพระพุทโธวาทเกี่ยวกับวิปัสสนา
คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์
เพียงแต่ในที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕
ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์

    พระราหุลนั้น ท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย
ตามประวัติกล่าวไว้ว่า
ครั้นท่านลุกขึ้นแต่เช้าก็ไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว
ตั้งความปรารถนาว่า
ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสอนจากสำนักของพระบรมศาสดา
หรือจากสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้
ด้วยเหตุนี้เอง พระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา
ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น