++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร พระไพศาล วิสาโล


นิตยสารซีเครท :  Vol.4 No.90 26 March 2012
Joyful Life & Peaceful Death

เปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร
พระไพศาล วิสาโล


ยูริ กาการิน เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ท่องอวกาศและโคจรรอบโลก เรื่องราวของเขากลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่คนทั้งโลก เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้แก่สหภาพโซเวียตในฐานะผู้นำด้านอวกาศก่อนที่จะ เสียตำแหน่งให้แก่สหรัฐอเมริกาในไม่กี่ปีต่อมา

มีเรื่องเล่าว่าระหว่างที่เขาล่องลอยอยู่ในอวกาศและกำลังพิศวงอยู่กับโลกสีครามอันงดงามเบื้องล่างนั้น เขาได้ยินเสียงเหมือนเหล็กกระทบกัน ดัง ปิ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ เขาพยายามหาที่มาของเสียง เพื่อดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ แต่ก็หาไม่พบ ผ่านไปเป็นชั่วโมง เสียงนั้นก็ยังดังต่อไป ปิ๊ก ๆ ๆ ๆ ยิ่งเวลาผ่านไปเขาก็ยิ่งรู้สึกรำคาญกับเสียงนั้น เขาพยายามสืบหาว่าเสียงมาจากที่ใด จะได้กำจัดเสียงนั้น แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ลำพังการอยู่ในห้องนักบินที่คับแคบ เขยื้อนขยับแทบไม่ได้ ก็สร้างความอึดอัดแก่เขาอยู่แล้ว เมื่อมีเสียงปิ๊ก ๆ ๆ ๆ รบกวนไม่หยุดซ้ำเข้าไปอีก เขาก็เริ่มกระสับกระส่าย ยิ่งคิดต่อไปอีกว่าเขาจะต้องอยู่กับเสียงนี้อีกหลายชั่วโมง เขาก็หัวเสียขึ้นมาทันที

แต่ก็มีวูบหนึ่งที่เขาได้สติ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ในเมื่อหนีเสียงนี้ไม่พ้น ทำไมไม่ลองทำใจรักมันดูล่ะ แล้วเขาก็หลับตา ทำใจสงบ และจินตนาการว่าเขากำลังได้ยินเสียงเพลงบรรเลง สักพักใหญ่เขาก็ลืมตาขึ้น ปรากฏว่าเสียงปิ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ หายไป สิ่งที่มาแทนที่คือเสียงเพลง เขาแย้มยิ้มทันที นับแต่นั้นบรรยากาศในห้องนักบินก็เปลี่ยนไป ความอึดอัดกลายเป็นความผ่อนคลาย จนกระทั่งยานวอสต็อค ๑ พาเขากลับมาสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย

น่าคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับกาการินหากเขายังคิดต่อสู้หรือเป็นปฏิปักษ์กับเสียงประหลาดนั้น เขาอาจคลุ้มคลั่ง หรือเป็นประสาทอ่อนๆ ไปเลยก็ได้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปทันทีเมื่อเขาเพียงแต่หันมาทำใจรักเสียงนั้น เรื่องราวของเขาบอกเราว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกกับสิ่งนั้นอย่างไร เสียงปิ๊ก ๆ ๆ ๆ ๆ อาจทำให้ใครบางคนเป็นบ้าไปได้หากรู้สึกจงเกลียดจงชังมันอย่างรุนแรง แต่มันกลับกลายเป็นเสียงเพลงกล่อมใจขึ้นมาทันทีเมื่อรู้สึกรักมันหรือเป็นมิตรกับมัน

คนเรานั้นเมื่อมีอะไรมากระทบใจ ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ เรามักทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ จัดการกับมัน หรือไม่ก็หนีไปไกล ๆ เช่น ถ้าเจอเสียงดัง ก็หาทางระงับเสียงนั้น หรือไม่ก็เดินห่างจากเสียงนั้น แต่บ่อยครั้งเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำทั้งสองอย่างได้ หรือทำแต่ไม่สำเร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความทุกข์ หลายคนมักมองว่าที่ตนทุกข์นั้นเป็นเพราะเสียงดังกล่าว แต่แท้จริงแล้ว สาเหตุแห่งความทุกข์อยู่ที่ใจของตนเองต่างหาก นั่นคือความรู้สึกปฏิเสธ ผลักไส ชิงชังเสียงนั้น ยิ่งรู้สึกลบต่อเสียงนั้นมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น บางคนถึงกับคุมอารมณ์ไม่อยู่ ออกไปทะเลาะวิวาทเจ้าของเสียง ซึ่งอาจเป็นเพื่อนบ้านที่กำลังเลี้ยงฉลองหรือเปิดเพลงดัง บางกรณีถึงกับฆ่ากันตายเพราะเหตุดังกล่าว

ในชีวิตของเรานั้น มีอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่รบกวนจิตใจของเรา ไม่ใช่แต่เสียงประหลาดเท่านั้นในบรรดาสิ่งรบกวนเหล่านั้น มีมากมายที่เรามิอาจหนีพ้นหรือจัดการกับมันได้ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่งดังนั้นแทนที่จะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับมัน จะไม่ดีกว่าหรือหากเราทำใจให้เป็นมิตรกับมันหรือรักมัน เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราอยู่กับมันอย่างมีความสุข ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นงานการ ภูมิอากาศ จราจรที่แน่นขนัด หรือแม้แต่รูปร่างทรวดทรง

หลายคนทำงานอย่างมีความทุกข์ แต่เราสามารถจะทำงานอย่างมีความสุขได้หากเรียนรู้ที่จะรักงานนั้น แม้รูปร่างหน้าตาเราจะไม่สะสวยเหมือนคนอื่น แต่เราก็สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้หากเราเลิกชิงชังรังเกียจร่างกายของตน เอง จริงอยู่ปัญหาบางอย่างสมควรจะแก้ไข แต่หากยังแก้ไขไม่ได้ เราก็ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างมีความสุขหรือไม่ทุกข์มากไปกว่าเดิม นั่นคือหันมาเป็นมิตรกับมัน หรืออย่างน้อยก็ไม่ปฏิเสธชิงชังมัน

อะไรก็ตามที่เรารังเกียจชิงชัง สิ่งนั้นจะมีอำนาจหรืออิทธิพลทางลบต่อเรา และยิ่งเราผลักไสมันออกไป มันก็ยิ่งตามมารังควาญเรา ยิ่งปฏิเสธก็ยิ่งนึกถึง เคยมีการทดลองให้อาสาสมัครนั่งอยู่คนเดียวในห้อง ทุกคนได้รับคำสั่งว่า จะคิดอะไรก็ได้ มีเงื่อนไขอย่างเดียวคือห้ามคิดถึงหมีขาว เมื่อใดก็ตามที่คิดถึงหมีขาว ให้กดกริ่งทันที ผู้ทดลองให้คำสั่งได้ไม่นานเท่าใด เสียงกริ่งก็ดังระงมไปทั่ว

ไม่เพียงแต่สิ่งรบกวนจิตใจเท่านั้น สิ่งที่สร้างความทุกข์ทางกายก็เช่นกัน เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือความเจ็บปวด ความทุกข์ส่วนหนึ่งมักเกิดจากใจที่ปฏิเสธผลักไสอาการดังกล่าว หากโรคภัยไข้เจ็บหรือความเจ็บปวดนั้นอยู่ในวิสัยที่จะเยียวยาได้ ก็คงไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ในความเป็นจริงมีโรคภัยไข้เจ็บและความเจ็บปวดหลายประเภทที่ยากแก่การเยียวยาได้ ดังนั้นหากตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว มีทางออกใดเล่าจะดีไปกว่าการทำใจเป็นมิตรกับโรคภัยไข้เจ็บและความเจ็บปวด มีผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่พบว่าความทุกข์บรรเทาลงมากเมื่อหันมาเป็นมิตรกับมะเร็ง บางคนเรียกสิ่งแปลกปลอมในหน้าอกของตนว่า "คุณก้อนมะเร็ง"

ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครหนีความแก่ ความเจ็บ และความตายพ้น ในเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ แทนที่จะทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับมัน จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเป็นมิตรกับมัน

อะไรก็ตามที่เราหันมาเป็นมิตรได้ สิ่งนั้นจะคลายพิษสงลง และอาจกลายมาเป็นคุณแก่เราด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ครูบาอาจารย์ หลายท่านย้ำนักย้ำหนาว่า พบทุกข์ก็เห็นธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น