++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย “เอกชัย วรรณแก้ว” บัณฑิตหนุ่มพิการหัวใจเกินร้อย





บัณฑิตหนุ่มร่างเล็ก พิการไร้แขน มีเพียงเท้าสั้นๆ ช่วยพยุงตัวให้ลุกขึ้นเดินทักทายเพื่อนบัณฑิตด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจในระหว่างพิธีซ้อมพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประจำปีการศึกษา 2553
     
       “เอกชัย วรรณแก้ว” คือบัณฑิตหนุ่มผู้พิการ วัย 30 ปี เดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ เข้าเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ปี มุ่งหน้าสู่รั้วแดงดำ “เพาะช่าง” ตามหาความฝันที่อยากเรียนศิลปะ มุ่งมานะ อดทน ต่อความยากลำบาก และดูแลตัวเองตามลำพังมาโดยตลอด พร้อมกับหารายได้เสริมจ่ายค่าเทอมตลอดชีวิตของการเป็นนักศึกษา จนประสบความสำเร็จคว้าปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 25 เมษายน 2555 นี้
     
       ไร้แขน ไร้ขา (แต่) ทำได้ทุกอย่าง
     
       ผมโตในครอบครัวของชาวนา ที่ฐานะค่อนข้างยากจน ใน จ.นครสวรรค์ ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูเหมือนคนปกติ ไม่เคยคิดว่าลูกเป็นเด็กพิการ พร้อมกับเหตุผลที่ว่าพ่อแม่อาจจะอยู่กับเราไม่ได้ตลอด ท่านจึงพยายามสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ซักผ้า หุงข้าว แปรงฟัน ด้วยการใช้หัวไหล่ในการหยิบจับของบางอย่าง แต่บางอย่างก็ต้องใช้เท้า หรือไม่ก็อาศัยถัดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพยุงตัวเดินลุกขึ้นเดิน ออกมาเดินเล่นหน้าบ้านกับเพื่อน แต่บางวันเพื่อนก็หายไป เราก็งง “เฮ้ย หายไปไหนกันหมดว่ะ” จนเพื่อนๆ มาเล่าให้ฟังว่าเขาไปโรงเรียนมา มีเพื่อนเยอะ ทำให้เราอยากเรียน จึงตัดสินใจคุยกับพ่อแม่”
     
       อยากเรียนแต่ (เขา) ไม่ให้เรียน
     
       เนื่องจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเอกไม่ใช่เรื่องง่าย บวกกับความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลัวว่า ลูกจะมีปมด้อยด้วยสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนคนปกติ “พ่อถามว่า ลูกจะรับได้ไหม ถ้าเพื่อนถามว่า ทำไมไม่มีแขน ไม่มีขา ลูกอาจจะรำคาญหรือเปล่า จะเหนื่อยที่จะตอบคำถามกับเพื่อนไหม แต่พอเอาเข้าจริงๆ ผมยังไม่ทันจะได้ตอบ หรืออธิบายอะไรกับใคร ทางโรงเรียนไม่รับเข้าเรียน ทำให้ผมรู้สึกท้อและเกิดคำถามว่า ทำไมเขาไม่ฟังเราบ้าง จากนั้นครึ่งปีผมนอนอยู่บ้าน ดูทีวี และได้ยินนโยบายของรัฐบาลว่า “เด็กอยากเรียน ต้องได้เรียน” จึงตัดสินใจปรึกษาพ่อ วันรุ่งขึ้นพ่อพาผมไปศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ ผมเล่าทุกอย่างให้ท่านฟัง และให้ผมทดลองช่วยเหลือตัวเอง ตั้งแต่กินข้าว ใส่เสื้อผ้า หรือแม้แต่เขียนหนังสือ จนท่านรับรู้ว่า ผมทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ และในที่สุด ผมก็ได้เข้าเรียนจนกระทั่งจบ ม.3”
     
       หักกิ่งไม้ ใช้เท้าวาดรูป
     
       นอกจากการฝึกช่วยเหลือตัวเองให้ได้เหมือนคนปกติ ยามว่างและยามเหงา เอกชัยมักจะหักกิ่งไม้และใช้เท้าวาดรูป จินตนาการไปเรื่อยๆ ตามที่สายตามองผ่าน หมา แมว หรือรูปคนก็ตาม “ผมชอบศิลปะ เพราะศิลปะทำให้ผมมีความสุข จินตนาการได้ยิ่งใหญ่ตามแต่ใจเรา ไม่จำเป็นต้องมีหลักการและเหตุอะไร แต่ผมก็อยากรู้ว่า พู่กัน สีน้ำ กระดาษวาดรูป มันเป็นยังไง”
     
       จากนั้น เอกชัย เลือกทำตามความฝันอีก ด้วยการเลือกเรียนต่อในระดับปวส.ในคณะจิตรกรรม วิทยาลัยอาชีวนครสวรรค์ ซึ่งไกลจากบ้านเดินทางไปกลับกว่า 40 กิโล และใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนรับจ้างวาดรูป หารายได้ส่งตัวเองเรียน
     
       “ผมลองขอพ่อแม่ก่อน ถ้าเรียนได้ก็จะเรียน ลำบากก็ยอม ท่านก็อนุญาต วันแรกตื่นเช้าไปเรียน 6 โมง พ่อขี่มอไซต์มาส่งไปศาลารอรถเมล์ ด้วยความเคยชินที่พ่อเคยขี่มอไซต์มาส่งตอนเรียนใกล้บ้าน อุ้มผมลงจากรถแล้วก็ขี่กลับบ้านทันที ผมก็งง ทำอะไรก็ไม่ได้ จะโบกรถก็ไม่มีมือ ตะโกนเรียกก็คงจะไม่ได้ยิน วันนั้นยืนอยู่ที่ศาลาทั้งวัน รอจนเย็น ถึงเวลาพ่อก็มารับกลับตามปกติ พ่อนึกว่าเราเพิ่งกลับมาจากโรงเรียนแล้ว แต่จริงๆ เรายังไม่ได้ไปไหนเลย พอวันที่ 2 พ่อชวนแม่มาด้วย มาช่วยกันโบกรถ และอุ้มขึ้น ผมก็บอกว่าพี่คนขับรถ “พี่วันไหนเห็นผมใส่ชุดนักเรียน ให้จอดรับด้วยนะ” เอกชัย หัวเราะชอบใจกับเรื่องในอดีตอีกครั้ง
     
       พี่ยอมขายควาย ส่งน้องเรียน
     
       หลังจากที่เรียนจบอนุปริญญา เอกบอกกับตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย ว่า การศึกษาแค่นี้เพียงพอแล้ว แม้ว่าในก้นบึ้งลึกๆ ของหัวใจ เขายังอยากเรียนต่อทางด้านศิลปะให้สูงที่สุด จนกระทั่งความหวังในการเรียนต่อเกิดขึ้นอีกครั้ง
     
       “อาจารยสอนวาดรูป แนะนำว่า วุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาอาจจะน้อยไปสำหรับเอก บวกกับสภาพร่างกายที่ใครบางคนอาจจะมองว่า ถ้ารับเอกเข้างานอาจจะเป็นภาระได้ แต่ถ้าเอกไปเรียนให้สูงขึ้นนี้ เอาฝีมือไปสู้กับคนอื่น ทำให้ทุกคนอึ้งกับผลงานของเอก และอึ้งกับสภาพร่างกายที่สร้างผลงานให้คนอื่นประทับใจได้ ครูอยากให้เอกไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
     
       เอก เล่าต่ออีกว่า ตอนแรกพ่อแม่ก็ไม่ยอม เพราะครอบครัวไม่มีญาติอยู่กรุงเทพ ลูกจะอยู่กับใคร ถ้าไม่สบายใครจะดูแล และสิ่งที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากขึ้นกว่าหลายเท่าตัว “จริงๆ ก็ไม่ได้ฝันอะไรมาก เพราะเราก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าคงไม่ได้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่พอพ่อแม่เห็นความตั้งใจของเราและอาจารย์ก็มาช่วยพูด ทำให้พ่อแม่เริ่มใจอ่อน พี่ชายช่วยพูด บอกกับพ่อแม่ว่าจะส่งน้องเรียนเอง จะทำงาน ขายวัว ขายควาย ส่งน้องเรียน แต่เอกจะต้องตั้งใจเรียน อย่าเกเร ถ้าเกเร ไม่ต้องใจเรียนต้องกลับบ้าน หรือถ้าเอกเรียนไม่ไหว ก็ต้องกลับบ้านเหมือนกัน”
     
       มุ่งเข้ากรุง ตามฝัน คว้าปริญญา
     
       หลังจากที่เอกได้รับอนุญาตจากครอบครัวอนุญาตให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ที่ “เพาะช่าง” วิทยาลัยชั้นนำด้านศิลปะที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงในเมืองไทย และติวเข้มก่อนสอบนานกว่า 1 เดือน
     
       “สอบช่วงแรกวิชาพื้นฐาน วิทย์ คณิต อังกฤษ เราสอบตกทั้งหมด อ่านไม่รู้เรื่อง มันไม่เหมือนที่เราติว ซึ่งมีข้อสอบบางข้อที่ผมจำมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างคำถามวิชาความรู้ทั่วไป ถามว่า สะพานพุทธ ก่อตั้งในปี พ.ศ.อะไร ผมละงง ถามแบบนี้เด็กต่างจังหวัดก็แย่ เพราะผมเพิ่งเข้ากรุงเทพฯครั้งแรก ผมยังไม่รู้เลยว่า สะพานไหนเรียกว่า สะพานพุทธ มารู้ตอนหลังสอบว่า มันอยู่ใกล้ๆ แค่นี้เอง แต่สำหรับสอบปฏิบัติวาดรูป ผมทำได้ ผมมั่นใจ แต่พอคะแนนสอบโดยรวมปรากฏว่า สอบไม่ผ่าน
     
       ความรู้สึกคือหมดแล้ว สิ่งที่เราหวังไว้หมดลงตรงนั้น ไม่รู้จะเอายังไงดี อยากกลับบ้าน แต่รุ่นพี่ที่ติวบอกว่า ให้อยู่ก่อนอย่าเพิ่งกลับ พออยู่ไปสักพักรุ่นพี่เขาเข้ามาส่งงานอาจารย์ที่เพาะช่าง มีอาจารย์คุมสอบจำผมได้ ก็บอกให้ผมรอก่อน รอคนที่มาสอบสัมภาษณ์แล้วไม่ผ่าน จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักศึกษาคนหนึ่งเขาสละสิทธิ์ อาจารย์เขาเลยยื่นเรื่องให้ผมเป็นกรณีพิเศษ จนผมได้เข้าเรียนที่เพาะช่าง”
     
       ห้องพักภารโรง หอพักระดับเฟิร์สคลาส
     
       สำหรับเงินก้อนแรกจำนวน 3,000 บาท ที่พ่อแม่ส่งมาให้เอกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน เอกสัญญากับตัวเองว่า จะต้องใช้ให้คุ้มค่าและนานที่สุด อย่างน้อยเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัวได้บ้าง
     
       “ผมมักจะมีคำถามให้กับตัวเองเสมอ พอสอบติด ได้เรียน แต่ไม่มีเงินเรียน จะเอาตังค์ที่ไหนมาจ่ายค่าเทอม ค่ากิน ค่าอยู่ หรือจะพักอยู่กับรุ่นพี่ก็เกรงใจที่ต้องมาดูแลเรา เวลาไปเรียนต้องเหมารถตุ๊กตุ๊กวันละ 70 บาท ขนเฟรม อุปกรณ์การเรียนไปวิทยาลัย เราแบกขึ้นรถเมล์ไม่ได้ ก็เกรงว่าจะไปเกะกะผู้โดยสารคนอื่น จากนั้นค่อยมาประหยัดในส่วนค่าอาหาร เคยกินมาม่า 1 ห่อ หักครึ่ง 2 ส่วน แบ่งกินเช้า เย็น บางครั้งรุ่นพี่ก็พาไปกินข้าว แต่ผมก็เกรงใจ สุดท้ายเข้าปรึกษาอาจารย์ ท่านทำเรื่องขอฝ่ายอาคารสถานที่ให้เรามาอาศัยอยู่ในวิทยาลัย”
     
       ในห้องพักไม่กี่ตารางเมตรของนักการภารโรงที่เพิ่งจะปลดเกษียณ กลายเป็นห้องพักของเอกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมาเรียน และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเขาอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ทุกๆ วัน เอกยังอาศัยพื้นที่ใต้สะพานพุทธ รับจ้างวาดภาพร่วมกับรุ่นพี่
     
       “หลังเลิกเรียน หรือวันหยุด ผมจะใช้เวลาตั้งแต่ 6 โมงเย็น - ตี 1 นั่งรับจ้างวาดรูป ช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จัก ก็รับงานมาจากรุ่นพี่ได้วันละ 150 บาท หรือบางครั้งนั่งทั้งคืนก็ไม่มีใครจ้าง แต่มีคนรู้จักก็เริ่มรับงานเอง ชิ้นละ 200-300 บาท หลังจากทำงานพิเศษก็กลับมาทำงานตัวเองถึงตี 3 ตื่น 5 ตีห้าลุกขึ้นมาอาบน้ำที่ห้องน้ำหญิง ก่อนที่เพื่อนๆ จะมาเรียนกัน เราใช้ชีวิตอยู่แบบนี้มา 3 ปี
     
       “เพนกวิน” ฉายานี้เพื่อนตั้งให้
     
       ด้วยรูปร่างลักษณะท่าทางการเดินที่ดูๆ ไป ก็คล้ายๆ นกเพนกวินนี่เอง ทำให้เพื่อนร่วมรุ่น รวมถึงทุกๆ คน ในวิทยาลัยลงความเห็นและเรียกเขาว่า “เพนกวิน” ฉายานี้อาจมาจากความแตกต่างทางร่างกาย แต่ไม่ว่าเขาจะถูกเรียกว่าอะไร และด้วยเหตุผลใด ก็ไม่ได้ส่งผลให้ “เอก” ต้องใช้ชีวิตที่แปลกแยกและแตกต่างจากเพื่อนๆ แต่อย่างใด
     
       “เพนกวินเป็นฉายาที่รุ่นพี่ตั้งให้ คนเขาก็เรียกกันติดปากทั้งเพาะช่าง บางทีถามหาเอกนี่เขาไม่รู้นะ แต่ถ้าบอกว่าที่เดินเหมือนเพนกวินนี่รู้ทันที ผมฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปมด้อยอะไรนะ กลับรู้สึกว่าน่ารักดีด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าจะคิดเป็นปมด้อยให้มันเจ็บปวดไปทำไม เขาไม่ได้มาด่าพ่อแม่หรือบังคับให้เราทำอะไรสักหน่อย ผมว่าถ้าเลือกคิดได้ ก็คิดในแง่ดีดีกว่า มันมีความสุขกว่าตั้งเยอะ”
     
       เรียนจบ ภูมิใจไม่ (ง้อ) มือ (ง้อ) เท้า
     
       เอกบอกว่า ชีวิตนักศึกษาเพาะช่างตลอด 4 ปีครึ่ง นอกจากทฤษฎีจากตำราเรียน และภาคปฏิบัติจากการได้วาดรูป ปัดพู่กันแล้ว อาจารย์และเพื่อนๆ ร่วมสถาบันยังช่วยเติมเต็มความรัก ความผูกพัน และความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเอกเช่นกัน
     
       “ผมภูมิใจกับสถาบันแห่งนี้ อาจารย์ที่นี้เก่ง มีศักยภาพที่ดีในการสอน ไม่ว่าจะเป็นความคิด การทำงาน ถ่ายทอดความรู้เทคนิคเขียนภาพให้ผมทุกอย่าง ทำให้ผมมีวันนี้ได้ ส่วนเพื่อนๆ ผมรักเพื่อนทุกคน เพราะเราลำบาก ทนร้อน ทนหนาว มาด้วยกันตลอด พวกเราไม่เคยทิ้งกัน
     
       และที่สำคัญ ภูมิใจที่วันนี้ผมสามารถลบคำสบประมาทของคนบางคนที่พูดกับพ่อแม่ตอนที่ส่งผมเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ว่า “ส่งลูกไปเรียนทำไม เปลื้องเงิน เปลื้องทอง กลับมาก็ไม่มีงานทำ จะจบหรือเปล่าก็ไม่รู้” วันนี้ผมทำได้แล้ว ผมเรียนจบปริญญาตรี สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวได้แล้ว”
     
       หารายได้ จ่ายค่าเทอม-ปลดหนี้ให้พ่อแม่
     
       ก่อนหน้านี้ เอกเคยเป็นดาราคนดังคนหนึ่งในสังคมไทย หลังจากออกรายการโทรทัศน์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคนให้ความสนใจในตัวเขามากขึ้น พร้อมรายพิเศษจากงานโชว์ตัวและเดินสายพูดคุยเป็นวิทยากรตามรายการต่างๆ ทำให้เจ้าตัวมีเงินเก็บมากพอที่จะส่งกลับไปปลดหนี้ให้กับครอบครัว และปลูกบ้านหลังใหม่ให้กับพ่อแม่
     
       “ช่วงนั้นผมรับงานวาดภาพ วิทยากร พูดทั้งตลอดวัน ได้ค่าตัววันละ 6 พัน ผมเคยทำรายได้สูงสุดเดือนละ 50,000 บาท ใช้เวลาปีกว่าๆ เก็บตังค์ 200,000 บาท ปลดหนี้ ธ.ก.ส.ให้พ่อแม่ พร้อมกับปลูกบ้านหลังใหม่ให้กับครอบครัว จนปัจจุบันผมยังไม่มีตังค์เก็บสักบาท ส่งให้พ่อแม่ไปหมดแล้ว ตอนนี้ต้องมานั่งเก็บเงินใหม่”
     
       “โรงเรียนสอนวาดรูป” ฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
     
       หลังจากเรียนจบ เอกมีความฝันตามสไตล์เด็กศิลป์ คือ การเป็นครูสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสในกรุงเทพและต่างจังหวัดที่ห่างไกล “ตอนเด็กผมฝันอยากเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ เรียนฟรี เพราะผมไม่หวังกำไร คุณอยากเรียน ผมอยากสอน แต่สำหรับตอนนี้ผมอยากหาอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ประจำทุกเดือน และเพียงพอที่จะหาเลี้ยงครอบครัวได้ หรืออาจจะเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะ จากนั้นผมจะทำตามความฝันด้วยการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะให้ได้”
     
       สุดท้ายนี้ เอกยังฝากเคล็ดลับการเรียนให้กับถึงน้องๆ ทุกคนว่า การเรียนบางวิชาไม่เหมือนกัน ผมอาจจะให้คำแนะนำอะไรมากไม่ได้ แต่ผมอยากให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน อย่าท้อ ขอให้สู้อย่าไปกลัว เหมือนกับเวลาที่เราวาดภาพสักภาพหนึ่ง เราอาจจะกลัวว่าภาพจะออกมาไม่ดี กลัวว่าจะทำไม่ได้ ผมอยากให้น้องๆ หันไปมองคนอื่นที่วาดภาพแบบนี้ได้ และถามตัวเองว่า ทำไมเขาถึงทำได้ ใช่เพราะเขาก็เป็นคนเหมือนเรา มีสองมือ สองเท้า หรืออาจจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนกันเรา แต่ทำไมเขาทำได้ ดังนั้นเราต้องลองลงมือทำ ทำให้เต็มที ถ้าไม่ไหวจริงๆ ค่อยพูด คำว่า ทำไม่ได้ เราอย่าเพิ่งตัดสินทุกอย่าง ในเมื่อเรายังไม่ได้เริ่มทำอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น