++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

คนจิตบอด

หลายวันมานี้ได้อ่านบทความทางธรรมะรวมทั้งฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์มากและใกล้เคียงกับระดับปกติที่เคยทำ แต่ใจมันประหวัดหรือหวนนึกถึงเรื่องราวต่างๆไม่อยู่นิ่ง
แต่ที่ฟังเทศน์บางกัณฑ์เข้าใจ ก็เพราะฟังมาหลายสิบเที่ยวแล้ว
ท่านผู้อ่านจะว่าผู้เขียนโง่ก็ไม่เป็นไร เพราะความจริงมันก็เป็นเช่นนั้น ที่ผู้เขียนฟังเทศน์เที่ยวเดียวแล้วไม่เข้าใจ แต่การฟังเทศน์กัณฑ์เดียวกันซ้ำๆ ในทุกครั้งที่ฟังจะเห็นความจริงในกัณฑ์เทศน์ไม่เคยซ้ำกันเลย
แต่ไม่ใช่ผู้เขียนจะเป็นแบบนี้คนเดียวนะ เคยมีครูบาอาจารย์พูดให้ฟังและรับรองแล้วว่าโดยทั่วไปมักจะเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม...อย่างน้อยก็ได้รับความสุขอันประณีต ให้จิตมันคลายลงจากความยึดมั่นถือมั่นลงไปบ้าง
หลายๆครั้งก็รู้ตัว หลายๆครั้งก็ไม่รู้ตัว แต่ก็ช่างมันเถอะ เพราะเราเพียงแต่หัดทำความรู้ ตัวอย่างเดียว ก็น่าจะพอเป็นฐาน ส่วนจะทำกิจอย่างอื่นเสริมก็อีกเรื่องหนึ่ง
หลวงปู่เคยเทศน์ให้ฟังว่าบางคนพูดว่า ถ้าได้เกิดในสมัยพุทธกาลก็จะดี จะได้บรรลุธรรมได้ง่ายๆเหมือนกับผู้ฟังธรรมในสมัยนั้น ฟังๆแล้วดูดี แต่มันไม่มีอะไรดี เพราะหลังพุทธกาลมาแล้ว เรายังมีพระสุปฎิปันโนที่เราเชืื่อว่าท่านบรรลุธรรมให้กราบไหว้และได้ฟังกัณฑ์เทศน์ของท่านเป็นจำนวนไม่น้อย ดังคำสอนและเล่าเรื่องของครูบาอาจารย์สายวัดป่าหลายต่อหลายรูป
ความจริงแล้วไม่แปลกเลยเรื่องการบรรลุธรรมของครูบาอาจารย์ ถ้าจะยกพระพุทธพจน์ที่ทรงตร้ัสสอนพระอานนท์มาให้อ่านกัน
.....
ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา


"ภิกษุทั้งหลาย! แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ. แต่ถ้าเธอนั้น มากไปด้วยอภิชฌา มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้; ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลจากเรา แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้นโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า? ภิกษุทั้งหลาย! ข้อนั้นเหตุเพราะว่า ภิกษุไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา"

"ภิกษุทั้งหลาย! แม้ภิกษุนั้นจะอยู่ห่าง (จากเรา) ตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าเธอนั้นไม่มากไปด้วยอภิชฌา ไม่มีกามราคะกล้า ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตเป็นสมาธิ ถึงความเป็นเอกัคคตา สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้; ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้กับเรา แม้เราก็อยู่ใกล้กับภิกษุนั้นโดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเห็นธรรม : เมื่อเห็นธรรม ก็ชื่อว่าเห็นเรา แล"
( อิติวุขุ)
………………………………………………………………………………………………………………

พระพุทธเจ้า อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดาดังนี้
อานนท์! พวกเธออย่าคิดดังนั้น
อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี
ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว
แก่พวกเธอทั้งหลาย

ธรรมวินัยนั้น
จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย
โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
(มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที.)
อย่างที่กล่าวถึงพระพุทธพจน์และพระสูตรนี้ พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ว่า หากจิตเข้าสู่ธรรมทั้งหลายในอริยสัจแล้ว เราจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่น่าจะสิ้นสงสัยว่าครูบาอาจารย์บรรลุธรรมจริงหรือไม่
หลวงปู่ยังเทศน์สอนต่อไปว่าคนที่อยากจะบรรลุธรรม ใช่ว่าจะต้องปิดหู ปิดตา ปิดจมูก หรืออายตนะตายหมดนะ คือหูหนวก ตาบอด จมูกเป็นไซนัส ลิ้นชิมรสไม่ได้ กายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่สามารถรับรู้สัมผัสเพื่อให้ออกห่างไปไกลจากกิเลสทั้งปวง ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เช่นนั้นมันก็จะเหมือนตายหมด
แล้วก็จบกัน อายตนะเป็นเหมือนเครื่องต่อไต่ให้รู้ความจริงของโลก คือตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสร้อนเย็นอ่อนแข็ง ใจสัมผัสความรู้สึกนึกคิด รับรู้อารมณ์ เมื่อรับรู้แล้วด้วยใจที่ฝึกฝนมาดีก็จะรับรู้ความจริงในทุกขสัจ เพื่อเป็นหนทางแห่งการบรรลุธรรมต่อไป
คนเราแม้ตาบอดย่างเดียวก็ลำบากยากเข็ญแล้ว หูมาหนวกอีก ลิ้นไร้รส จมูกดมกลิ่นไม่ได้ กายสัมผัสไม่ดี มีแต่ใจที่เป็นศูนย์รวมของความทุกข์ที่เกิดจากการรับรู้ทางอายตนะทั้งห้าแล้วจะเหลืออะไร
ที่สำคัญคือใจหรือจิตอย่าได้บอดเลย แม้อายตนะอื่นๆจะพิกลพิการไป ก็ยังพอจะมีความหวังบ้าง แต่ใจที่มืดบอดมันหมดความหวังโดยสิ้นเชิง
ใจที่บอดคือใจที่เป็นมิจฉาทิฐิ มีแต่ความเห็นผิด นึกว่า"กูรู้" ที่ร้องกูๆๆๆๆ เหมือนดังนกเขาทั้งวัน แต่ไม่รู้หรอกว่าใจของตนเหมือนกับชาล้นถ้วยหรือน้ำล้นแก้ว
ไหนเลยที่จะฟังสิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งธรรมหรือปัญญาได้ หลวงปู่สอนว่าคนพวกนี้เป็น ปัญหามากที่สุดในการอยู่ร่วมด้วย สอนยากสอนเย็น.....เอวัง

ธรรมะสวัสดี

สะมะชัยโย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น