++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

กระแสมนตรยานในนิกายเถรวาท เสถียร โพธินันทะ

มนตรยาน คือลัทธินิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประมาณเวลาของกำเนิดมนตรยาน เห็นจะไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๘

ลัทธินี้มาปรากฏมีอิทธิพลขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ล่วงแล้ว ลักษณะพิเศษของมนตรยานที่แตกต่างจากลัทธิอื่น ๆ คือ นับถือพิธีกรรม

และการท่องบ่นสาธยายเวทมนตร์อาคมเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็มีหลักธรรมไม่สู้แปลกจากลัทธิมหายานเท่าใดนัก ชื่อเวทมนตร์แต่ละ

บทเรียกว่า ธารณี มีอานิสงส์ความขลังความศักดิ์สิทธิ์พรรณนาไว้วิจิตรลึกล้ำหนักหนา ธารณีมนต์เหล่านี้มีทั้งประเภทยาวหลายหน้าสมุด

และประเภทสั้นเพียงคำสองคำ ซึ่งเรียกว่าหัวใจคาถาหรือหัวใจธารณี สามารถทำให้ผู้สาธยายพ้นจากทุกข์ภัยนานาชนิด และให้ได้รับ

ความสุขสวัสดิมงคล โชคลาภตามปรารถนาด้วย

ฉะนั้นเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ลัทธินี้จะได้รับการต้อนรับจากพุทธศาสนิกชนผู้ยังเป็นปุถุชนอยู่ ด้วยสามัญปุถุชนย่อมแสวงหาที่พึ่งไว้

ป้องกันภัย ศาสนาพราหมณ์จึงอ้างเอาอานุภาพของพระเป็นเจ้าปกป้อง พระพุทธศาสนาลัทธิมนตรยานจึงแต่งมนต์อ้างอานุภาพพระ

รัตนตรัย และอ้างอานุภาพของพระโพธิสัตว์ ตลอดจนอานุภาพของเทพเจ้า ซึ่งนับถือกันว่าเป็นธรรมบาล รวมเอาเทพเจ้าในศาสนา

พราหมณ์เอาไว้ด้วยก็มี แล้วสั่งสอนแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนได้เจริญสาธยาย นานมามนต์เหล่านี้เพิ่มยาว เป็นการยากแก่การ

จำของสามัญชน จึงได้ย่อเป็นหัวใจเพื่อสะดวกในการจำและการระลึก ธรรมเนียมเช่นที่กล่าวนี้มิได้จำกัดเฉพาะลัทธิมนตรยานเท่านั้น

แม้ในพระพุทธศาสนาผ่ายสาวกยาน มีนิกายเถรวาทเป็นต้นก็มี คือ พระปริตต์ซึ่งประกอบด้วยพุทธมนต์เจ็ดตำนานบ้าง ๑๒ ตำนานบ้าง

บางทีจะเป็นการเอาอย่างลัทธิมนตรยานก็ได้ แต่มีข้อแตกต่างกัน คือ พระปริตต์ของเราแต่งเป็นบาลีภาษา และส่วนใหญ่เป็นพระพุทธ

ภาษิตที่ปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นคติธรรมสอนใจ และการสาธยายอำนวยสวัสดิมงคล ก็ไม่มีพิธีรีตองอะไร และไม่พรรณนาคุ

ณานิสงส์ล้นเหลือ ผิดกับลัทธิมนตรยาน ธารณีของเขา แต่งเป็นภาษาสํสกฤตบ้าง ภาษาปรากฤตบ้าง และมีตำนานบอกกำกับไว้ด้วยว่า

จะต้องจัดมณฑลพิธีบูชาอย่างนั้น และจะต้องสวดเท่านั้นจบเท่านี้จบ รายละเอียดเกี่ยวกับลัทธิมนตรยาน ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ไนหนังสือ

เรื่องปรัชญามหายาน ซึ่งพิมพ์จำหน่ายแล้ว

อิทธิพลลัทธิมนตรยาน ได้แพร่หลายข้ามสมุทรเข้ามาในเกาะลังกา ซึ่งเป็นป้อมปราการของพระพุทธศาสนาเถรวาท ครั้งแผ่นดินพระ

เจ้าศิลาเมฆเสน เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ก่อนหน้าขึ้นไปก็ปรากฏว่ามีลัทธินิกายมหายานบ้าง ลัทธินิกายสาวกยานอื่นๆ ที่ไม่ใช่

เถรวาทบ้าง แพร่หลายเข้ามาเหมือนกัน และสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูงของลังกาในยุคนั้นแห่งหนึ่ง คือ “คณะอภัยคีรีวิหาร” ได้ต้อน

รับลัทธินิกายเหล่านี้ ผิดกับสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูงอีกแห่งหนึ่ง คือ “คณะมหาวิหาร” ซึ่งไม่ยอมรับรองด้วยประการใด ๆ เลย จน

ถึงรัชสมัยพระเจ้าศิลาเมฆเสนดังกล่าว มีคณาจารย์อินเดียในลัทธิมนตรยานรูปหนึ่งชื่อ พระนาคโพธิ หรือ พระสมันตภัทราจารย์ เข้ามา

สั่งสอนลัทธิในลังกา และสำแดงอภินิหารเป็นที่เคารพเลื่อมใสของกษัตริย์ยิ่งนัก เนื่องด้วยมีคัมภีร์สูตรสำคัญของมนตรยานอยู่สูตรหนึ่ง

ชื่อ วัชรเสขรสูตร และผู้สำเร็จในลัทธิได้รับยกย่องเป็น วัชราจารย์ ชาวลังกาจึงเรียกพวกมนตรยานว่า นิกายวัชรบรรพต ลังกาจึงกลาย

เป็นศูนย์กลางของลัทธิมนตรยาน ซึ่งชาวต่างประเทศ ต้องแวะเข้ามาศึกษา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของจีนว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๒๘๔ พระ

อโมฆะวัชระ (ปุคคงกิมกัง) ภิกษุในมนตรยาน เดินทางไปเผยแผ่ลัทธิในประเทศจีนปรารถนาจะศึกษาลัทธินิกายให้แตกฉานพิสดารยิ่ง

ขึ้น พาลูกศิษย์จำนวน ๒๗ คน ลงเรือที่เมืองกวางตุ้ง ผ่านคาบสมุทรอินโดจีนมาเกาะลังกา ได้รับพระราชูปถัมภ์จากพระเจ้าศิลาเมฆเสน

เข้าศึกษากับพระนาคโพธิจนสำเร็จวิทยาตามปรารถนาแล้วจึงกลับไป

ในสมัยเดียวกับลัทธิมนตรยาน กำลังแพร่หลายอยู่ในลังกาทวีป ประเทศทางคาบสมุทรมลายู ซึ่ง ณ ยุคนั้นมีจักรวรรดิศรีวิชัยได้เป็น

ใหญ่อยู่ ก็ได้รับเอา ลัทธิมนตรยานโดยตรงจากมคธและเบงคอลเข้ามานับถือ แล้วส่งผลแพร่หลายเข้าไปในอาณาจักร ทางลุ่มน้ำเจ้า

พระยา อาณาจักรขอมโบราณ และอาณาจักรจามปาด้วย ทางประเทศพม่าเล่า ลัทธิมนตรยาน ก็เข้าครอบครองอยู่หลายศตวรรษ แต่

เนื่องด้วยต่อมาลัทธิมนตรยานแตกออกเป็นหลายสาขา มีสาขาหนึ่งย่อหย่อนในธรรมปฏิบัติเกินไป สาขานี้แพร่สู่พม่าเหนือช้านาน

และที่สุดก็หมดสิ้นไปเมื่อรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา ฉะนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท บัดนี้ล้วนปรากฏว่า ในอดีต

ลัทธิมนตรยานเคยรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่งทั้งนั้น แม้ภายหลังจะเสื่อมสูญไป แต่กระแสของมนตรยานก็มิได้หมดสิ้น เช่นในประเทศไทย

ไค้สำแดงออกในรูปของไสยเวท ด้านพุทธาคม การปลุกเสกพระเครื่องราง ลงเลขยันต์อักขรพิธีพุทธาภิเษก พิธีอัญเชิญพระเข้าตัวบุคคล

ซึ่งถือกันว่าเป็นสมถกัมมัฏฐานแบบหนึ่ง ฯลฯ ไสยเวทด้านพุทธาคมเหล่านี้ล้วนมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งเกิดจากอำนาจความ

ยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย และตบะเดชะแห่งกระแสจิตของครูบาอาจารย์ ดังปรากฏเสมอ ในบุคคลผู้มีความอยู่ยงคงกระพันเป็นต้น

อุทาหรณ์แห่งกระแสมนตรยานในประเทศไทย ข้าพเจ้าจะยกมาให้เป็นนิทัศนะ นอกจากที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีประเภทมนต์ และสูตรอีก

เช่น มีพระอาการวัตตาสูตร ๑ พระอุณหิสวิชัยสูตร ๑

พระอาการวัตตาสูตร

เป็นสูตรโบราณนับถือกันมาว่าศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ไม่ปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎกเลย เนื้อเรื่องก็เป็นทำนองพระพุทธภาษิต ตรัสแสดง

แก่พระสารีบุตร ณ ภูเขาคิชฌกูฎ แขวงเมืองราชคฤห์ พระเถรเจ้าได้เล็งญาณเห็นส่ำสัตว์ผู้หนาด้วยกิเลส ได้ประกอบอกุศลกรรมต้องไป

อบาย จึงมีความปริวิตก กรุณาในส่ำสัตว์ทั้งหลายยิ่งนัก เห็นอยู่แต่พระบารมี ๓๐ ทัศ ซึ่งพระบรมศาสดาบำเพ็ญมาเท่านั้นจะช่วย

ป้องกันสัตว์เหล่านั้นได้ จึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค พรรณนาความปริวิตกของท่านให้ทรงทราบ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรง

แสดงพระอาการวัตตาสูตร กำหนดด้วยวรรค ๑๗ วรรค คือ อรหาทิคุณ ๑ อภินิหารวรรค ๑ คัพภวุฏฐานวรรค ๑ อภิสัมโพธิวรรค ๑

มหาปัญญาวรรค ๑ ปารมิวรรค ๑ ทสปารมิวรรค ๑ วิชชาวรรค ๑ ปริญญาณวรรค ๑ โพธิปักขิยวรรค ๑ ทสพลญาณวรรค ๑ กายพล

วรรค ๑ ถามพลวรรค ๑ จริยาวรรค ๑ ลักขณวรรค ๑ คตัฏฐานวรรค ๑ ปเวณีวรรค ๑ รวม ๑๗ วรรค มีข้อความพิสดาร แต่ล้วนเป็นคำ

สรรเสริญพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบริบูรณ์ด้วยพระคุณอย่างนี้ ๆ เช่น ในอรหาทิคุณวรรค มีข้อความดังนี้

“อิติปิ โส ภควา อรหํ อิติปิ โส ภควา

สมฺมาสมฺพุทฺโธ อิติปิ โส ภควา วิชฺชาจรณสมฺ-

ปนฺโน อิติปิ โส ภควา สุคโต อิติปิ โส ภควา

โลกวิทู อิติปิ โส ภควา อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

อิติปิ โส ภควา สตถา เทวมนุสฺสานํ อิติปิ โส

ภควา พุทฺโธ อิติปิ โส ภควา ภควาติ”

ในอภิสัมโพธิวรรค มีข้อความดังนี้

“อิติปิ โส ภควา อภิสมฺโพธิปารมิสมฺปนฺโน

สิลขนฺธปารมิสมฺปนฺโน สมาธิขนฺธปารมิสมฺปนฺ-

โน ปญฺญขนฺธปารมิสมฺปนฺโน ทฺวตฺตึสมหาปุริส

ลกฺขณปารมิสมฺปนฺโน อภิสมฺโพธิวคฺโค จตุตฺโถ”

พระบรมศาสดา ได้ตรัสพรรณนาคุณานิสงส์ของพระสูตรนี้ว่า “ดูก่อนสารีบุตร ครั้งเมื่ออาการวัตตาสูตรนี้ ชนทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่ง

ได้กล่าวอยู่เป็นอัตราแล้ว บาปกรรมทั้งหมด ก็จะไม่ได้ช่องที่จะหยั่งลงไปในสันดาน แม้ถึงผู้นั้นกล่าวอยู่สักครั้งหนึ่งก็ดี ได้บอกกล่าวก็ดี

หรือได้เขียนเองก็ดี และได้ให้ผู้อื่นเขียนก็ดี หรือได้ทรงจำไว้ได้ก็ดี หรือได้กระทำสักการบูชานับถือก็ดี หรือได้ระลึกเนือง ๆ โดยเคารพ

พร้อมด้วยไตรประณามก็ดี จะปรารถนาสิ่งใด ๆ ก็จะสำเร็จแก่บุคคลผู้นั้น ตามประสงค์พร้อมทุกสิ่งสรรพ์ ฯลฯ ก็ถ้าหากว่าบุคคลผู้ใดมี

ศรัทธาจะระลึกตามอาการวัตตาสูตรนี้เนือง ๆ บุคคลผู้นั้นเมื่อละเสียซึ่งอัตภาพร่างกายในปัจจุบันชาตินี้แล้ว จะปฏิสนธิในภพเบื้องหน้า

ในภพใดภพหนึ่ง ก็จักไม่เกิดในเดรัจฉาน ในเปตวิสัย จักไม่เกิดในชีพนรก ในอุสุทะนรก ในสังฆาฏะนรก ในโรรุวะนรก ในมหาโรรุวะ

นรก ในดาบนรก ในมหาดาบนรก ในอเวจีนรก ฯลฯ และไม่ไปเกิดเป็นอสุรกาย กำหนดนับถึง ๙๐ แสนกัปป์เป็นประมาณ ฯลฯ จะได้

ไปเกิดในสุคติภพ บริบูรณ์ด้วยสุขารมณ์ต่ำ ๆ มีอินทรีย์ผ่องใสสมบูรณ์ มีปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ จะได้เกิดเป็นพระอินทร์กำหนดถึง

๓๖ กัปป์โดยประมาณ จะได้สมบัติจักรพรรดิราช เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร กำหนดนานถึง ๓๖ กัปป์ ฯลฯ

ในปัจจุบันภพ ก็จะเป็นผู้ปราศจากภัยเวรต่าง ๆ ปราศจากโรคาพยาธิเบียดเบียน มีอายุมั่นขวัญยืนอยู่เย็นเป็นสุข ฯลฯ” เมื่อพระผู้มีพระ

ภาค ตรัสประกาศคุณเดชานุภาพ และอานิสงส์ผลของพระสูตรนี้จบลง ธรรมาภิสมัยก็บังเกิดแก่หมู่ชนที่ได้สดับ ประมาณแปดหมื่นโกฏิ

ด้วยประการฉะนี้

อุณหิสวิชัยสูตร

สูตรนี้เลือนแปรมาจาก “อุษณีวิชัยธารณี” ในภาษาสํสกฤต ของมนตรยานอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ตัวคาถากลับแต่งเป็นบาลี และไม่มีเค้า

เหมือนฝ่ายสํสกฤตเลย เข้าใจว่าจะเป็นด้วย ท่านผู้แต่ง คงไม่ได้ฉบับสํสกฤตมาเป็นแบบเป็นราก แต่คงจะได้ทราบความขลังความ

ศักคิ์สิทธิ์ของอุษณีวิชัยธารณีมาเป็นอย่างดี จึงได้คิดแต่งเป็นสูตรในภาษาบาลีขึ้น ทีจะแต่งในลังกาหรือในเมืองไทยนี้เอง อุณหิสวิชัย

สูตรฝ่ายบาลีดำเนินเรื่องว่า

ในสมัยครั้งพระผู้มีพระภาค เสด็จขึ้นไปเทศนาพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาและเทวบริษัท ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังเทวนิกรทั้ง

หลายให้ได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อสุปดิศ มีความประมาทมัวเมาในทิพยกามสมบัติ ไม่ได้สดับพระ

ธรรมเทศนา จึงอากาศจารีเทพเจ้าผู้มีหน้าที่ฝ่ายประกาศชักชวนเทพบริษัทให้ไปสดับธรรม ได้มาพบเข้า ทั้งอากาศจารีเทพยังหยั่งทราบ

ว่า สุปดิศเทพบุตรจะเสวยบุญอีก ๗ วันเท่านั้น ก็จักสิ้นบุญ แล้วจะไปถือกำเนิด ณ อเวจีมหานรก เพราะวิบากแห่งอกุศลกรรมเก่าก่อน ๆ

ตามมาให้ผล เมื่อพ้นจากนรกแล้ว ก็จะต้องไปเสวยทุกข์ในทุคติภูมิอื่น ๆ อีก อากาศจารีเทพจึงแจ้งความเป็นไปนี้ให้สุปดิศเทพทราบ สุ

ปดิศเทพจึงเริ่มไม่สบายใจ ประกอบทั้งนิมิตแสดงว่าจะต้องจุติเคลื่อนจากสวรรค์ก็ปรากฏก่อน จึงเลยหวั่นวิตกกลัวภัยที่จะมาในเบื้องหน้า

ในที่สุดพระอินทร์เทวราชแห่งดาวดึงส์ จึงนำไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอถึงพระองค์เป็นสรณะที่พึ่ง ยังความสวัสดีให้เกิดแก่สุปดิศเทพ

ต่อไป พระพุทธองค์จึงตรัสอุณหิสวิชัย คือมงกุฎยอดแห่งธรรม อันมีคุณานุภาพ อาจต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไปด้วยบาทพระคาถาว่า

อตฺถิ อุณฺหิสวิชโยม
ธมฺโน โลเก อนุตฺตโร
สพฺพสตฺตหิตตฺถาย
ตํ ตฺวา คณฺหาหิ เทวเต
ปริวชฺเช ราชทณฺเฑ
อมนุสฺเสหิ ปาวเก
พฺยคฺเฆ นาเค วิเส ภูเต
อกาลมรเณน วา
สพุพสฺมา มรณา มุตฺโต
เปตฺวา กาลมาริตํ
ตสฺเสว อานุภาเวน
โหตุ เทโว สุชี สทา
สุทฺธิสีลํ สมาทานํ
ธมฺมํ สุจริตํ จเร
ตสุเสว อานุภาเวน
โหตุ เทโว สุขี สทา
ลิขิตํ จินฺติตํ ปูโช
ธารณํ วาจนํ คุรุ 
ปเรสํ เทสนํ สุตฺวา
ตสฺส อายุ ปวฑฺฒติ
อนึ่ง พึงตั้งอยู่ในธรรมคือประพฤติตามราชบัญญัติ รักษาศีล, ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง, สักการบูชา, เจริญภาวนาถึงคุณพระรัตนตรัย,

ให้ยาเป็นทาน, ให้อาหารเป็นทานเป็นต้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็จักยืนยงด้วยชนมายุ ไม่วิบัติทำลายลงไปในท่ามกลางด้วยภัยเวรต่าง ๆ

ยกเสียแต่ความตายเพราะสิ้นอายุเท่านั้น ฯลฯ บุคคลผู้ใดได้เขียนหรือ ได้อ่าน หรือได้สักการบูชาจำทรงไว้ อนึ่งได้กล่าวสั่งสอนแก่ผู้อื่น

และมาเคารพปฏิบัติตาม ก็จักมีอายุวัฒนายืนยาว ฯลฯ

สุปดิศเทพครั้นได้สดับพระพุทธบรรหารแล้ว จึงเจริญกุศลตามพระพุทธโอวาท ก็กลับเป็นผู้มีชนมายุยั่งยืนอยู่สิ้น ๒ พุทธันดร ได้เสวย

สุขสมบัติสืบสกนธ์ต่อไป

พิจารณาดู ๒ สูตร เป็นแบบแผนเหมือนกับพระสูตรของลัทธิมนตรยาน คือเริ่มด้วยการปรารภเหตุการณ์แล้วพระพุทธองค์ ทรงประ

ทานธารณี ลงท้ายเป็นพรรณนาคุณานิสงส์ของธารณี แต่ที่มาแต่งเป็นภาษามคธ เห็นจะเกิดขึ้นเมื่อลัทธิมนตรยานเสื่อมลง ภาษาสํสก

ฤตจึงพลอยสูญตามไปด้วย อาจารย์ชั้นหลังซึ่งนับถือลัทธิเถรวาทแล้วจึงดัดแปลงแต่งเป็นภาษามคธขึ้น

ถ้าจะถามว่า หากสาธยายเจริญมนต์ ๒ บทนี้จะได้บุญไหม ? ผู้เขียนขอตอบว่า ได้บุญแน่ๆ แต่ต้องทราบความหมายของคำสวดด้วย

เช่นในอาการวัตตสูตรก็เป็นเรื่องสรรเสริญพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงพระคุณอย่างนั้น ๆ ผู้เจริญส่งใจไปตามคำ

สวด เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธคุณขึ้น ชื่อว่าได้เจริญพุทธานุสสติ ก็ผู้ที่มีพุทธานุสสติเป็นประจำ รับรองว่าปิดอบายภูมิไค้ มีสุคติ

เป็นอันหวังได้แน่นอน ส่วนอุณหิสวิชัยสูตร ถ้าแปลเนื้อความคาถาดูก็เป็นการสั่งสอนให้บำเพ็ญสุจริตธรรมและความดี อาศัยที่ได้

บำเพ็ญก้าวหน้าในกุศลธรรมยิ่ง ๆ จนกระทั่งได้ผลานิสงส์ต่าง ๆ พิสดารตามที่พรรณนาได้ แต่จะเอาดีทางลัด สวดกัน ๒-๓ จบ แล้ว

ปรารถนาคุณานิสงส์มากมาย เห็นว่าเหลือเกินไป

ยังมีสูตรซึ่งแพร่หลายมาแต่โบราณสูตรหนึ่ง คือ มหาชมพูบดีสูตร เนื้อเรื่องเล่าว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่ง ครองกรุงปัจจาละ มีฤทธิ์อำนาจ

พิเศษด้วยของคู่บุญหลายอย่าง เช่น ฉลองพระบาท ซึ่งสวมใส่แล้วสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ และศรวิเศษอาจบังคับไปทำร้ายศัตรู

ในที่ต่าง ๆ กษัตริย์องค์นี้มีพระนามว่า พระเจ้าชมพูบดี

ราตรีหนึ่งเป็นวันเพ็ญอุโบสถ พระเจ้าชมพูบดีจึงสวมฉลองพระบาทเที่ยวเหาะชมดูบ้านเมืองในชมพูทวีป จนกระทั่งลุถึงเมืองราชคฤห์

ทอดพระเนตรเห็นยอดปราสาทอันวิจิตรของพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองนคร ก็บังเกิดความริษยา ยกพระบาทถีบยอดปราสาทหมายจะให้

ล้มพินาศ แต่อานุภาพแห่งบุญของพระเจ้าพิมพิสารคุ้มครอง พระบาทและพระชานุของพระเจ้าชมพูบดี กลับแตกทำลายได้ทุกขเวทนา

คราวนี้ทรงพิโรธจัด ใช้พระขรรค์วิเศษฟันยอดปราสาทอีก ด้วยพุทธานุภาพซึ่งแผ่มาป้องกัน พระขรรค์นั้นกลับย่อยยับเป็นธุลีไป พระ

เจ้าชมพูบดีจึงเหาะกลับกรุงปัญจาละ แล้วปล่อยศรวิเศษลอยมาทำร้ายพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปทูลขอให้พระ

พุทธองค์ปกป้อง จึงได้บังเกิดการต่อฤทธิ์กันขึ้น ระหว่างพระศาสดากับพระเจ้าชมพูบดี พระพุทธองค์ทรงจำแลงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

ราช มีพระอินทร์, พระพรหม, เทพยดา, นาค, ครุฑ, คนธรรพ์ เป็นบริวาร ทรงปราบทิฏฐิมานะของพระเจ้าชมพูบดีได้สำเร็จ พระเจ้า

กรุงปัญจาละกลับผิดเป็นชอบได้ เสด็จออกผนวช จนที่สุดได้บรรลุอรหัตผล

พระสูตรนี้เป็นพระสูตรในลัทธิมหายาน หรือมนตรยานอย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงเครื่องกษัตราธิราชในลัทธิมนตรยานมักเป็น

พระอาทิพุทธะ พระไวโรจนะพุทธะ และพระศากยมุนีพุทธะ ตามเรื่องราวในชมพูบดีสูตร

ว่ากันตามนัยแห่งลัทธิมนตรยานแล้ว พระพุทธเจ้าทั้งปวงย่อมเป็นภาคหนึ่งของพระอาทิพุทธ หรือพระไวโรจนะพุทธะนั่นเอง พระ

มหาชมพูบดีสูตรจะแต่งขึ้นในอินเดียแล้วแพร่มาลังกา หรือว่าจากอินเดียมาสู่แหลมอินโดจีนโดยตรงก็ได้ แต่คติของสูตรนี้แพร่หลาย

ในประเทศไทยมาช้านานมาก ดังปรากฏปฏิมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่องมีมาครั้งขอมมีอำนาจ สมัยลพบุรีจำนวนมาก โดยเฉพาะที่

เป็นประเภทพระพิมพ์ จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยาก็ยังนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง และพระพิมพ์ทรงเครื่อง

เมื่อรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษ มีราชทูตลังกาเข้ามาขอพระราชทานสมณวงศ์ออกไปตั้งสมณวงศ์ในประเทศของตน พวกราชทูตได้ไป

นมัสการพระพุทธปฏิมาทรงเครื่อง ที่วัดแห่งหนึ่งที่อยุธยา เกิดความสงสัยว่าทำไมจึงเหมือนเทวรูปนัก ทั้งนี้เพราะชาวลังกาไม่เคยเห็น

พระทรงเครื่องอย่างนี้เลย ไทยต้องชี้แจงเรื่องราวในชมพูบดีสูตรให้ฟัง และเมื่อพวกทูตจะกลับคืนบ้านเมือง ไทยยังได้เรื่องชมพูบดีสูตร

ส่งไปแพร่หลายให้ชาวลังกาทราบ แถมยังมีหนังสือกำกับให้เสนาบดีลังกา กราบทูลพระเจ้ากรุงลังกาให้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง

ขึ้นบ้าง จักเจริญพระราชกุศลยิ่ง ๆ ขึ้น บางทีคติเรื่องชมพูบดีสูตรจักสูญจากความทรงจำของชาวลังกามานาน ทั้งที่ครั้งหนึ่งลัทธิมน

ตรยานรุ่งเรืองในลังกา อย่าว่าแต่จะหาลัทธิมนตรยานไม่ได้เพราะเสื่อมสูญมาช้านานเลย แม้สมณวงศ์ลัทธิฝ่ายเถรวาทในลังกาก็ยังขาด

สูญ จนต้องมาขอสงฆ์ไทยออกไปตั้งวงศ์ใหม่ขึ้น

กระแสมนตรยานในลัทธิเถรวาท จึงคงสืบสายยั่งยืนมาในรูปไสยเวทพุทธาคมจวบจนกาลปัจจุบัน และข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่า ตราบใด

ชาติไทยยังเคารพนับถือพระพุทธศาสนาดำรงอยู่ กระแสอันนี้ก็ยังจักดำรงอยู่คู่ชาติไม่มีวันสลาย เพราะบางส่วนได้กลายเป็นวัฒนธรรม

ประเพณีของชาติไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น