++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ท้าวมหาชมพู” พระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร

จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “ท้าวมหาชมพู” พระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร
ศานติ ภักดีคำ
ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ภาพจิตรกรรมบนผนังด้านหลังพระประธาน แสดงภาพพระมหานครของพระเจ้าราชาธิราช

บทนำ
วัดนางนองวรวิหารน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยตั้งอยู่ในย่านชุมชนโบราณอย่างน้อยตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ดังปรากฏนามย่าน “นางนอง”ใน โคลงกำศรวลสมุทร หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “โคลงกำศรวลศรีปราชญ์” สันนิษฐานว่าแต่งขึ้น

ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้รื้อสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม หลังปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปผูกพัทธสีมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดนางนองเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของไทย จิตรกรรมฝาผนังบริเวณพื้นที่เหนือ

ช่องหน้าต่างและช่องประตูเป็นเรื่องราวของท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร ภาพเขียนตอนล่างเป็นภาพกำมะลอบนแผ่นไม้ผนึกกับ

ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง มีทั้งหมด ๑๒ ช่อง แต่ละช่องมีสี่ภาพ รวมทั้งหมดจึงมี ๔๘ ภาพ

นอกจากนี้ ยังมีลวดลายรดน้ำตามบานประตูและหน้าต่าง เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระมหาจักรพรรดิราช สอดคล้องกับองค์พระ

ประธานที่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

ภาพลายกำมะลอเรื่องสามก๊กได้เคยมีผู้ศึกษาไปบ้างแล้ว แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณเหนือขอบประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ

ยังไม่เคยมีการอธิบายภาพทั้งหมด ส่วนใหญ่จะกล่าวเพียงว่าเป็นภาพจากเรื่อง ชมพูบดีสูตร เท่านั้น แต่มิได้ศึกษาวิจัย เนื่องจากความ

ชำรุดลบเลือน หรือบางท่านถึงขนาดตั้งข้อสงสัยว่าเป็นภาพเรื่องชมพูบดีจริงหรือไม่ เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ชำรุดมากจนแทบ

ไม่สามารถศึกษาได้

บทความเรื่องนี้ ผู้เขียนนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดนางนองในส่วนที่เป็นเรื่องท้าวมหาชมพูซึ่งค่อน

ข้างชำรุดลบเลือน แต่ยังสามารถใช้ในการศึกษาตีความได้ เพื่อวิเคราะห์ว่าภาพจิตรกรรมชุดนี้เป็นภาพเล่าเรื่องท้าวมหาชมพู หรือเป็น

เรื่องอื่นใด และหากเป็นเรื่องท้าวมหาชมพู ช่างได้วาดเรื่องราวตอนใดบ้าง


พระประธาน

๑. เรื่องท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร และความแพร่หลายในสังคมไทย
ท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร เป็นพระสูตรนอกนิบาต คือนอกพระไตรปิฎก

ต้นฉบับที่พบมีเฉพาะในล้านนา ล้านช้าง อยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ และในกรุงกัมพูชาเท่านั้น จึงน่าจะเป็นพระสูตรที่แต่งขึ้นในบริเวณ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า

“...แต่วัตถุนิทานเรื่องท้าวมหาชมพูนี้ หามีในพระไตรปิฎกคัมภีร์หนึ่งคัมภีร์ใดไม่ ต้นหนังสือที่ปรากฏในประเทศนี้ มีตัวอรรถภาษาบา

ฬีตลอดเรื่องเปนหนังสือผูก ๑ นับในหมวดสุตตสังคหะ คือพวกหนังสือซึ่งสงเคราะห์เข้าในพระสุตันตปิฎก หนังสือชมพูบดีวัตถุที่สมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์โปรดให้คัดส่งไปเมืองลังกาก็คงเปนหนังสืออรรถนี้นั้นเอง ผู้ชำนาญภาษาบาฬีได้ตรวจสำนวน เห็นว่าจะเปน

หนังสือแต่งในแถวประเทศของเรานี้ ภายหลังหนังสือจามเทวีวงศ์แลรัตนพิมพวงศ์ ทำนองจะได้เรื่องวัตถุนิทานมาแต่คัมภีร์ทางลัทธิ

มหายาน เอามาแต่งอรรถเปนภาษาบาฬีขึ้นในสยามประเทศนี้ เพราะฉนั้นหนังสือเรื่องชมพูบดีวัตถุจึงมิได้มีในลังกาทวีป แลไม่ปรากฏ

ว่ามีในประเทศพม่ารามัญ แต่ทราบกันแพร่หลายในสยามประเทศตั้งแต่ฝ่ายใต้ตลอดขึ้นไปจนฝ่ายเหนือ...”

ท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยเชื่อกันว่า พระสูตรเรื่องนี้

เป็นตำนานของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ดังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำอธิบายเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“ไทยเราถือเปนคติกันมาแต่โบราณ ว่าพระพุทธรูปทรงเครื่องเปนพระปางเมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ บันดาลให้ท้าวมหา

ชมพูเห็นพระองค์ทรงเครื่องต้นเปนพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราช แลนับถือกันว่าสร้างพระทรงเครื่องมีอานิสงส์มาก เห็นจะเปนเพราะ

เหตุที่อาจบริจาคแก้วแหวนเงินทองของมีค่าอันเปนที่รักมาแต่ก่อน เปนพุทธบูชาปรากฏอยู่ยั่งยืนประการ ๑ แลการสร้างพระพุทธรูป

ทรงเครื่องต้องมีช่างฝีมือดีแลมีทุนทรัพย์มากจึงจะสร้างได้ สร้างยากกว่าพระพุทธรูปปางอื่นๆ จะเปนเพราะเหตุนี้ด้วยอิกประการ ๑ ผู้มี

ยศศักดิ์แลทรัพย์สมบัติมากแต่กาลก่อน นับแต่สมเด็จพระราชาธิบดีเปนต้น จึงมักสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เรื่องท้าวมหาชมพูก็เปน

เรื่องที่นับถือกันสืบมา โดยฐานที่เปนตำนานของพระพุทธรูปทรงเครื่องทั้งปวงนั้น”

ความนิยมนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อพระเจ้าเกียรติศิริแห่งศรีลังกาส่งทูตมาขอพระสงฆ์ไทยไปสืบพระ

ศาสนาในลังกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดฯ ให้พาทูตไปชมพระอารามหลวง ทูตไปพบเห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจึงถามเจ้า

พนักงานว่าเหตุใดไทยจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างเทวรูป และในลังกาไม่มีพระพุทธรูปเช่นนี้ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงส่ง

หนังสือ ชมพูบดีวัตถุ ไปให้อรรคมหาเสนาบดีลังกาเพื่อจะได้สั่งสอนพราหมณ์ในลังกาทวีป และกราบทูลเรื่องนี้แก่พระเจ้าแผ่นดินลังกา

ด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระสูตรเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ด้วย ดังปรากฏการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง เช่น พระพุทธรูปฉลองพระองค์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมนำนิทานเรื่องท้าวมหาชมพู

หรือ ชมพูบดีสูตร มาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ปรากฏในวัดหลายแห่ง ได้แก่

๑. จิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู พระอุโบสถวัดราชบุรณะ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ (พระอุโบสถหลังนี้ถูกระเบิดสมัยสงคราม

โลกครั้งที่ ๒ เสียหายหมดแล้ว พระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเดิม)

๒. จิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่

เขียนรวมอยู่ในภาพชุดพระพุทธประวัติ

๓. จิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู พระวิหารวัดมหาธาตุ เพชรบุรี เขียนอยู่ที่ฝาผนังหลังพระประธาน

๔. จิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู พระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร เขียนอยู่ที่ฝาผนังบริเวณเหนือขอบหน้าต่างและขอบประตู ทั้งสี่

ด้านเป็นเรื่องท้าวมหาชมพูทั้งหมด


ภาพจิตรกรรมบนผนังตรงข้ามพระประธาน แสดงภาพนครปัญจาลราษฐ

๒. เรื่องท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร
พระสูตรเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาที่วัดเวฬุวนารามใกล้กรุงราชคฤห์ กล่าวถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามชมพูบดี เสวย

ราชย์ในเมืองปัญจาลราษฐ์ เมื่อพระเจ้าชมพูบดีปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ได้เกิดเสาทองสูง ๑๘ ศอก ในพระนคร ครั้นพระเจ้าชมพู

บดีประสูติ ขุมทองในแผ่นดินก็ผุดขึ้นมา ขุมทองอันอยู่ปลายไม้ก็ตกลงมาสู่พื้นแผ่นดิน ขุมทองในน้ำก็ผุดขึ้นมาจากน้ำไปสู่ท่าเมือง

และฉลองพระบาทอันแล้วด้วยแก้วมณีโชติก็ลอยมาจากภูเขาวิบูลยบรรพตเข้ามาสวมพระบาทพระเจ้าชมพูบดีในขณะเมื่อประสูติจาก

ครรภ์พระมารดา

เมื่อประสูติแล้วพราหมณ์ได้พยากรณ์ว่า พระราชกุมารนี้จะได้เป็นใหญ่ในสกลชมพูทวีปและนาคพิภพ แล้วจึงถวายพระนามว่า ชมพูบดี

เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระเจ้าชมพูบดีทรงใช้ลูกศรเป็นราชทูตไปหาท้าวพระยาทั้งปวงในชมพูทวีปให้มาเฝ้า หากองค์ใดไม่มา ลูกศรนั้น

จะร้อยพระกรรณของกษัตริย์องค์นั้นมาสู่ที่ประทับของพระเจ้าชมพูบดี

พระเจ้าชมพูบดีมีพระอัครมเหสีทรงพระนามกาญจนราชเทวี

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าชมพูบดีทรงสวมฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ แล้วเหาะไปถึงปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงดำริว่าใครเป็นเจ้า

ของปราสาทนี้ แล้วก็ทรงพระพิโรธ ยกพระบาทถีบยอดปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยอำนาจที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพุทธอุบาสก

คุณนั้นก็คุ้มครองยอดปราสาทนั้นไว้ พระบาทและพระชาณุของพระเจ้าชมพูบดีกลับแตกโลหิตไหล ครั้นพระเจ้าชมพูบดีทรงเอาพระ

แสงขรรค์ฟันยอดปราสาท ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า เทวดาก็บันดาลให้พระขรรค์นั้นบิ่นไปอีก พระเจ้าชมพูบดีจึงเดินทางกลับมา

ถึงเมือง แล้วใช้ให้วิษศรเหาะไปร้อยพระกรรณพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารตกพระทัยเสียงวิษศรที่ดังมาในเวหา ทรงหนีไปสู่เวฬุ

วนาราม พระพุทธเจ้าจึงทรงใช้จักรไปทำลายวิษศร วิษศรสู้พุทธจักรไม่ได้ก็หนีไปถึงปราสาทพระเจ้าชมพูบดี พุทธจักรจึงกลับไป

ต่อมา พระเจ้าชมพูบดีให้ฉลองพระบาทเป็นพญานาคราชไปจับพระเจ้าพิมพิสารกลับมาอีก แต่เมื่อพญานาคไปถึงวัดเวฬุวนาราม พระ

พุทธเจ้าจึงทรงเนรมิตพญาครุฑให้เข้าต่อสู้ด้วยพญานาค นาคราชทั้งสองมิอาจต่อฤทธิ์ได้ก็แทรกแผ่นดินหนีไป พระเจ้าชมพูบดีเห็นดัง

นั้นก็เสียพระทัย

ฝ่ายพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าพระเจ้าชมพูบดีมีวาสนาปัญญา อาจสำเร็จพระอรหันตผลได้ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกพระ

อินทร์ให้เป็นราชทูตไปหาตัวพระเจ้าชมพูบดีมาเฝ้า พระอินทร์เหาะไปถึงเมืองปัญจาลราษฐ์ เมื่อถึงแล้วก็ตรัสกับพระเจ้าชมพูบดีว่า เหตุ

ใดพระเจ้าชมพูบดีจึงไม่แต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายบังคมพระเจ้าราชาธิราช บัดนี้พระเจ้าราชาธิราชให้เรามาเป็นราชทูตมาหา

ตัวท่านไปเฝ้า

พระเจ้าชมพูบดีได้ฟังดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ ทรงเอาวิษศรขว้างไปที่ราชทูต ราชทูตก็เนรมิตจักรอันหนึ่งขว้างมา วิษศรสู้ไม่ได้ก็หนีไป

เข้าแล่ง พระเจ้าชมพูบดีลุกหนี ราชทูตบอกว่าให้พระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอมไป ราชทูตจึงให้จักรนั้นเข้าติดพันพระ

บาทพระเจ้าชมพูบดีจนตกจากพระแท่น พระเจ้าชมพูบดีสู้ไม่ได้ ถูกจักรลากไปได้รับทุกขเวทนา จึงขอผัดว่าวันรุ่งขึ้นจะไปเฝ้าพระเจ้า

ราชาธิราช แล้วราชทูตก็กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระยากาฬนาคราชเนรมิตแม่น้ำและตลาดบกตลาดน้ำ ในหนทางที่พระเจ้าชมพูบดีจะเดินทางมา

แล้วทรงบันดาลให้เวฬุวันกลายเป็นมหานครใหญ่ มีกำแพงเจ็ดชั้น ให้พระยาครุฑเป็นนายช่างทอง ให้ช้างฉัททันต์มาอยู่ในโรงช้าง ม้า

พลาหกมาอยู่ในโรงม้า มีนกกรวิกและนกแขกเต้านำบุปผชาติมาโปรยในพระนคร ฝูงกินนรกินรีมาขับร้องร่ายรำ ส่วนพระพุทธเจ้าทรง

เนรมิตวิมาน แล้วทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชประทับอยู่เหนือบัลลังก์ในปราสาท มีท้าวมหาพรหมยืนถือเศวตฉัตร พระ

ราหุลเป็นขุนคลัง พระสาวกเป็นพระยาประเทศราช พระอาทิตย์พระจันทร์เป็นนายทวาร พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นเสนาบดี

ผู้ใหญ่ ทั้งยังมีตลาดต่างๆ นางสุชาดาและบริวารขายทอง นางสุธรรมาขายเครื่องเงิน นางสุจิตราขายผ้า นางสุนันทาขายผลไม้ ฯลฯ

รุ่งเช้า พระเจ้าชมพูบดีประทับเหนือคอช้าง เสด็จพร้อมด้วยพระยาร้อยเอ็ดนคร ออกจากพระนครมาสู่สำนักแห่งพระเจ้าราชาธิราช

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงโปรดให้มาฆสามเณรไปย่นระยะทางและพาพระเจ้าชมพูบดีเข้ามา เมื่อใกล้จะถึงพระนคร มาฆสามเณร

บังคับให้พระเจ้าชมพูบดีลงจากหลังช้าง พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอม มาฆสามเณรจึงเนรมิตกายใหญ่โตเข้าไสช้างจนล้มไปในที่นั้น พระเจ้า

ชมพูบดีจึงต้องเสด็จด้วยพระบาทเข้าไปยังพระนคร

ระหว่างทางที่พระเจ้าชมพูบดีเสด็จผ่าน พบเห็นนางนาคทั้งหลายที่เป็นแม่ค้าขายของในตลาดน้ำ แล้วไปถึงโรงทองของพญาครุฑ โรง

ช้างฉัททันต์ โรงม้าพลาหก ทอดพระเนตรเห็นนกกรวิก นกแขกเต้า กินนร กินนรี ท้าวจตุมหาราชิกา อุทยาน สระโบกขรณี ตลาดขาย

เนื้อ ปลา ตลาดข้าวสาร ตลาดดอกไม้ ตลาดผลไม้ ตลาดผ้า ตลาดเงิน ตลาดทอง ทอดพระเนตรเห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ในที่

สุดก็มาถึงที่ประทับของพระเจ้าราชาธิราช

พระเจ้าราชาธิราชแสดงฤทธิ์ต่อสู้กับพระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีสู้ฤทธิ์ไม่ได้จึงยอมแพ้ แล้วพระเจ้าราชาธิราชจึงกลับแสดง

พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเทศนาจนพระเจ้าชมพูบดีเลื่อมใสออกผนวชและสำเร็จพระอรหันตผลในที่สุด

บรรดาข้าราชบริพารของพระเจ้าชมพูบดีจึงกลับไปถึงเมืองปัญจาลราษฐ์ นำเนื้อความไปทูลพระนางกาญจนเทวี พระอัครมเหสีของพระ

เจ้าชมพูบดี และเจ้าศิริคุตรราชกุมารฟัง พระนางกาญจนเทวีและเจ้าศิริคุตรราชกุมารจึงเดินทางมายังวัดเวฬุวนาราม ขอพบกับพระ

ชมพูบดีเถระ พระพุทธเจ้าให้นางพิจารณาดู ก็เห็นเป็นพระชมพูบดีเถรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่ารูปใดคือชมพูบดี พระพุทธเจ้าจึงให้นางกาญจนเทวี

เรียกจึงได้รู้ว่าเป็นองค์ใด นางกาญจนเทวีได้เข้านมัสการพระชมพูบดีเถระแล้ว พระนางจึงขอบวชในสำนักพระพิมพาเถรี ส่วนเจ้าศิริคุต

รได้บรรพชาในสำนักพระชมพูบดีเถระ ก็สำเร็จพระอรหันตผลทั้งสิ้น

เนื้อความในพระชมพูบดีสูตรมีเพียงเท่านี้

๓. จิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู พระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องท้าวมหาชมพู ในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร เขียนเรื่องท้าวมหาชมพูตามเนื้อหาในพระสูตรตั้งแต่ต้นจน

จบ โดยเริ่มเรื่องที่ผนังตรงข้ามพระประธาน แล้วลำดับเรื่องต่อไปที่ฝาผนังด้านขวาของพระประธาน ฉากสำคัญของเรื่องเขียนอยู่ด้าน

หลังพระประธาน จากนั้นจึงดำเนินเรื่องตอนท้ายพระสูตรที่ฝาผนังด้านซ้ายของพระประธาน ดังมีรายละเอียดดังนี้

๑. ผนังด้านตรงข้ามพระประธาน

จิตรกรรมฝาผนังด้านสกัดตรงข้ามพระประธาน แสดงเรื่องราวในเมืองปัญจาลราษฐ์ทั้งหมด โดยมีศูนย์กลางของภาพอยู่ที่ปราสาทของ

พระเจ้าชมพูบดี ส่วนทางด้านซ้ายและขวาเป็นปราสาทและตำหนักของพระเจ้าชมพูบดีเช่นกัน แต่ความสำคัญไม่เท่าปราสาทหลังกลาง

ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระเจ้าชมพูบดีแพ้ฤทธิ์ของราชทูต จนถูกจักรของราชทูตลากลงมาจากพระแท่น

อย่างไรก็ตาม ภาพจิตรกรรมในฝาผนังนี้ (เท่าที่เหลืออยู่) อาจแบ่งรายละเอียดของภาพออกได้ ดังนี้ (ดูแผนผังที่ ๑)


พระเจ้าชมพูบดีทรงรับฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ

๑.๑ พระเจ้าชมพูบดีทรงรับฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่แนวกลางภาพถัดขึ้นไปด้านบนสุด พระเจ้าชมพูบดีประทับอยู่บนบัลลังก์ ถัดมาทางขวามีขุนนางหมอบเฝ้า

ถวายฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ เหตุการณ์นี้น่าจะแสดงเรื่องตอนพระเจ้าชมพูบดีรับฉลองพระบาทแก้วมณีโชติแล้วทรงสวมเพื่อเดิน

ทางไปสู่สำนักพระยาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ ดังปรากฏในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“…สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีแรกทอดพระเนตรเห็นปริมณฑลพระจันทรอันขึ้นมาในอากาศแล้วแลเดิรเข้าไปใกล้ดาวนักขัตฤกษ์นั้น จึงทรง

พระปริวิตกว่าดวงจันทรนี้เปนใหญ่กว่าดาว มีอุประมาดังตัวเราเปนใหญ่กว่าพระยาทั้งร้อยเอ็จพระองค์ๆ นั้นมีอุประมาดังว่าหมู่ดาว

นักขัตฤกษ์ พระจันทรเทพบุตรเดิรเข้าไปใกล้ดาวนักขัตฤกษ์นั้นโดยทางอากาศแลมีฉันใด อาตมาก็จะเข้าไปสู่สำนักนิ์แห่งพระยาทั้งร้อย

เอ็จพระองค์โดยทางนภาไลยประเทศเวหาส์ ให้เหมือนดังปริมณฑลพระจันทร อันเข้าไปสู่ที่ใกล้แห่งดาวนักขัตฤกษ์นั้น สมเด็จพระเจ้า

ชมพูบดี ทรงพระดำริห์ฉนั้นแล้ว ก็สวมสอดฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ อันมาแต่เขาวิบุลยบรรพตนั้นแล้ว ก็เหาะไปโดยทางครรคณะอุ

ลยประเทศ...”


พระเจ้าชมพูบดีให้วิษศรไปร้อยพระกรรณพระเจ้าพิมพิสาร

๑.๒ พระเจ้าชมพูบดีให้วิษศรไปร้อยพระกรรณพระเจ้าพิมพิสาร
เหตุการณ์ตอนนี้ปรากฏอยู่ภาพด้านขวาของผนัง ภายในแนวกำแพงเมือง พระเจ้าชมพูบดียืนโก่งศรยิงไปยังแนวกำแพงเมือง โดยมี

ขุนนางหมอบเฝ้าอยู่ด้านข้าง ดังปรากฏเรื่องราวในเรื้อท้าวมหาชมพูว่า

“…สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีจึงมีพระโองการตรัสว่า “อยํ ตุเมห น กุชฌามิ” เราหาขึ้งโกรธแก่ท่านทั้งปวงไม่ เราโกรธแก่ผู้อื่น ตรัสฉนี้แล้ว

ก็ยกขึ้นซึ่งวิษศรย้อมด้วยพิษนาค วางศรนั้นไว้เหนือพื้นแห่งพระหัตถ์ แล้วก็มีพระโองการตรัสว่า ดูกรวิษศร ท่านจงไปสู่เมืองราชคฤห์

มหานคร ข้างบุรพทิศตวันออก ร้อยกรรณแห่งพระยาเจ้าเมืองนั้น นำมาสู่สำนักนิ์แห่งเราบัดนี้ ตรัสแล้วก็สละวิษศรนั้นไปฯ…”


พระเจ้าชมพูบดีมองอาวุธที่พ่ายแพ้อาวุธของพระพุทธเจ้ากลับมา

๑.๓ พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรวิษศร
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนบนของภาพในแนวเดียวกับภาพที่ ๑.๑ แต่อยู่ทางซ้าย เป็นภาพพระเจ้าชมพูบดีประทับอยู่บนบัลลังก์

ทอดพระเนตรวิษศรที่ทรงใช้ให้ไปร้อยพระกรรณของพระเจ้าพิมพิสารลอยกลับมา ด้วยพ่ายแพ้แก่พุทธจักรของพระพุทธเจ้า ดังความ

ในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...วิษศรนั้น มิอาจต่อสู้พุทธจักรนั้นได้ ก็ถึงซึ่งปราไชยพ่ายแพ้หนีไป พุทธจักรนั้นก็ประชิตไล่ติดตามวิษศรไปกราบเท่าถึงเมืองอุดร

ปัญจาลธานี วิษศรนั้นหนีเข้าอยู่ในยอดบราลีปรางค์ปราสาทแล้ว พุทธจักรจึงกลับมา “ชมพูปติ ตํ ทิสฺวา” พระยาชมพูบดีเห็นวิษศรแพ้

แต่อำนาจจักร หนีมาณครั้งนั้น เสียน้ำพระไทยนัก ประหนึ่งอสรพิษอันบุคคลถอนเขี้ยวเสียแล้ว...”


พระอินทร์เป็นราชทูตมาเชิญพระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า

๑.๔ พระอินทร์เป็นราชทูตมาเชิญพระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างของภาพทางด้านขวา เป็นภาพพระเจ้าชมพูบดีประทับอยู่บนบัลลังก์ มีท้าวพระยาสามนต์และขุนนาง

นั่งเฝ้าแวดล้อมอยู่ มีภาพพระอินทร์ซึ่งพระพุทธเจ้าให้เป็นราชทูตมานำพระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้าลอยอยู่ทางด้านขวา ดังความในเรื่องท้าว

มหาชมพูว่า

“...สมเด็จพระอัมรินทราธิราช รับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็นฤมิตรเพศเปนราชทูตไปยังเมืองปัญจาลราษฎ์ เปล่งรัศมีโอภาษสว่างทั่วไปทั้ง

พระนคร มีอุประมาดังสุริยเทพบุตรเมื่อแรกอุไทย ประดิษฐานอยู่เฉพาะพระภักตรพระเจ้าชมพูบดี แลอำมาตย์แสนหนึ่ง อันอยู่ในที่

เฝ้าของพระเจ้าชมพูบดีนั้น แล้วก็มีเทวบัญชาตรัสว่า ดูกรชมพูบดี ทำไมท่านนี้สำคัญว่าตัวใหญ่ฤๅ ไม่มีผู้เสมอแล้วฤๅ ท่านจึงมิได้

ตกแต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชเจ้านายของเรา ดูกรพระยาชมพูบดี ตัวของท่านนี้เปนพ

ระยาอันเศร้าหมอง มีอุประมาดังพรานเนื้อเที่ยวฆ่าเนื้อในป่า “กสฺมา อคนฺตวา” เหตุอไรฤๅท่านจึงมิได้ไปสู่ที่เฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

มาตั้งเนื้อตั้งตัวว่าเปนใหญ่อยู่ฉนี้ ด้วยเหตุผลอันใด นี่แน่พระยาชมพูบดี “อหํ ทูโต” ตัวของเรานี้เปนราชทูตแห่งสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช

สมเด็จพระเจ้าราชาธิราชใช้ให้เรามาหาตัวท่าน ท่านเร่งไปสู่ที่เฝ้าอย่าช้า ถ้าท่านมีไปพระเจ้าราชาธิราชจะทรงพระพิโรธ...”


พระเจ้าชมพูบดีแพ้ราชทูตตกลงจากพระแท่น

๑.๕ พระเจ้าชมพูบดีแพ้ราชทูต ตกลงจากพระแท่น
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างกลางภาพ เป็นภาพสำคัญที่สุดของผนังด้านนี้ เนื่องจากเป็นภาพการต่อสู้ระหว่างพระเจ้าชมพูบดีกับ

พระอินทร์ซึ่งเป็นราชทูตที่พระพุทธเจ้าใช้ให้มาหาตัวพระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า แต่พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอม จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น ในภาพ พระ

เจ้าชมพูบดียิงวิษศรใส่พระอินทร์ พระอินทร์จึงเนรมิตจักรเข้าต่อสู้ วิษศรแพ้ เกิดไฟไหม้ปราสาทของพระเจ้าชมพูบดี ดังความในเรื่อง

ท้าวมหาชมพูว่า

“...สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังราชทูตตอบดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธว่า เรานี้เปนใหญ่ในสกลชมพูทวีป หาผู้จะเสมอมิได้ เหตุไฉน

ท่านจึงมาว่ากล่าวฉนี้ พระเจ้าชมพูบดีลุกขึ้นจากอาศน์แล้ว พระหัดถ์ฉวยเอาวิษศรขว้างไปจะให้ร้อยกรรณแห่งราชทูต ในกาลครั้งนั้น “

ราชทูโต เอกํ มาเปตฺวา” ฝ่ายว่าราชทูตนั้นก็กระทำอิทธิฤทธิ์นฤมิตรจักรอันหนึ่งแล้วก็ขว้างมา จักรนั้นก็ตีสกัดน่าวิษศรนั้นไว้...วิษศรมิ

อาจทนทานแก่อานุภาพจักรนั้นได้ ก็ถึงแก่ปราไชยพ่ายแพ้หนีเข้าอยู่ในพุ่มไม้อันหนึ่ง จักรนั้นก็เปล่งรัศมีเปนเปลวไฟ ไล่ติดตามเผาซึ่ง

พุ่มไม้อันนั้น วิษศรมิอาจทนทานในสถานที่นั้นได้ ก็ออกจากพุ่มไม้แล้วก็ชำแรกแทรกหนีลงไปในแผ่นดิน จักรก็ไล่เผาติดตามไปใน

แผ่นดิน วิษศรนั้นมิอาจอยู่ในแผ่นดินได้ ก็หนีไปในน้ำ จักรก็ไล่เผาติดตามไปในน้ำ วิษศรหนีไปในอากาศ จักรก็ติดตามไปในอากาศ วิ

ษศรหนีเข้าไปในภูเขา จักรก็ติดตามไปในภูเขา วิษศรหนีไปในสถานที่ใดๆ ที่อันนั้นก็ไหม้เปนเถ้าเปนจุณไปด้วยอานุภาพจักรนั้น เมื่อ

หนีจักรไปในที่ทั้งปวงมิได้พ้นแล้ว ภายหลังก็กลับเข้าแล่งของพระเจ้าชมพูบดีๆ เห็นจักรไล่ติดตามใกล้เข้ามา ก็มิอาจทรงแล่งธนูไว้ได้

ทิ้งแล่งธนูลงเสีย แล้วก็วิ่งหนีออกไปไกลจากประเทศที่นั้น จักรนั้นติดตามวิษศรมาทันก็ทุบต่อยวิษศร เผาวิษศรเพลิงไหม้ช่วงโชติขึ้นใน

ปรางค์ปราสาท อำมาตย์ทั้งหลายแสนหนึ่งนั้น ต่างคนต่างก็แล่นหนีเปลวอัคคีอันบังเกิดด้วยอำนาจจักรนั้น สว่างไปทั่วทั้งพระนคร...”

ส่วนพระเจ้าชมพูบดี เมื่อปราสาทถูกเผาดังนั้นก็ตรัสแก่ราชทูต ราชทูตให้พระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าชมพูบดีไม่

ยอม พระอินทร์ผู้เป็นราชทูตจึงให้จักรเข้าลากพระเจ้าชมพูบดีไป พระเจ้าชมพูบดีถูกจักรลากตกลงจากบัลลังก์ที่ประทับ เหล่าขุนนางเข้า

ช่วยก็ไม่ได้ ในที่สุดพระเจ้าชมพูบดีจึงยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ขอผัดพระอินทร์ว่าจะไปวันพรุ่งนี้ ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...ตรัสแล้วก็ทิ้งจักรนั้นไปด้วยฉับพลัน จักรนั้นก็เข้าติดพันพระบาทแห่งพระเจ้าชมพูบดีราช แล้วก็ร้องด้วยศรัพทสำเนียงเสียงอันดังว่า

“อุฏฺเฐหิ อุฏฺเฐหิ” ท่านจงลุกขึ้นๆ ร้องฉนี้แล้ว จักรนั้นก็คร่าเท้าแห่งพระเจ้าชมพูบดีออกมา จนพระเจ้าชมพูบดีตกลงจากพระแท่นทอง

ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าชมพูบดีได้ความละอายแก่อำมาตย์ทั้งหลายแสนหนึ่งนั้นเปนพ้นวิไสย มิอาจต่อสู้ได้ ก็ซบพระเศียรทรุดนั่งลงใน

สถานที่นั้นๆ จักรนั้นก็ลากไปมิให้นั่งอยู่ได้ อำมาตย์ราชเสวกทั้งปวงนั้น ช่วยกันเข้าช่วยพระมหากระษัตริย์ บางคนจับพระหัดถ์ บางคน

จับพระบาท บางคนจับท่ามกลางพระองค์ ช่วยกันยื้อยุดฉุดพระมหากระษัตริย์ไว้ ก็มิอาจฉุดไว้ได้ จักรนั้นลากพระเจ้าชมพูบดีออกไป

จากปรางค์ปราสาท กำหนดแต่บัลลังก์ที่เสด็จนั่งนั้น ออกไปได้ไกลอุศภหนึ่ง คือเส้นหนึ่งกับ ๑๕ วา...”

๑.๖ พระเจ้าชมพูบดีทรงช้างพระที่นั่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เหตุการณ์ตอนนี้ปรากฏอยู่ที่มุมขวาของภาพ เป็นรูปพระเจ้าชมพูบดีประทับหลังช้างพระที่นั่ง พร้อมกระบวนพยุหยาตราเดินทางไป

เฝ้าพระพุทธเจ้า ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...แล้วสมเด็จพระเจ้าชมพูบดี ก็เสด็จเหนือฅอช้างพระที่นั่งเสด็จไปโดยพื้นแผ่นพสุธา ตามมรรคาโดยอนุกรมลำดับ...”

๑.๗ ขุนนางพระเจ้าชมพูบดีกลับมาเฝ้านางกาญจนเทวี
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างของภาพทางด้านซ้าย เป็นภาพเสวกามาตย์ของพระเจ้าชมพูบดีเดินทางกลับมาเฝ้าพระนางกาญจนเทวี

กราบทูลเรื่องพระเจ้าชมพูบดีออกผนวชในสำนักของพระพุทธเจ้า และถวายเครื่องทรงของพระเจ้าชมพูบดี พระนางกาญจนเทวีจึงให้

จัดกระบวนไปเฝ้าพระเจ้าชมพูบดีพระราชสวามีที่วัดเวฬุวนาราม ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...พวกพลนิกายทั้งหลายนั้นกลับมาถึงพระนครแล้ว ก็กราบทูลแจ้งประพฤติข่าวสาส์นนั้นแก่นางกาญจนเทวี แลเจ้าศิริคุตรราชกุมาร

นางกาญจนเทวีแลเจ้าศิริคุตรกุมารได้ฟังประพฤติข่าวสาส์น ก็เสด็จออกนอกพระนครกับด้วยเสนางคนิกรทั้งหลายเปนอันมากมาสู่สำ

นักนิ์พระชมพูบดีเถร...”


ภาพจิตรกรรมบนผนังด้านขวาพระประธาน แสดงภาพนครราชคฤห์

๒. ผนังด้านขวาของพระประธาน
จิตรกรรมฝาผนังด้านขวาขององค์พระประธาน จากการสันนิษฐานตามภาพที่ปรากฏ (เท่าที่เห็นได้) สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔

เหตุการณ์สำคัญ คือ ฉากเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร ฉากเวฬุวนาราม ฉากเมืองเวฬุวันเนรมิต ส่วนตอนล่างของภาพเป็น

ภาพกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคของพระเจ้าชมพูบดี และมาฆสามเณรเนรมิตกายไสช้างพระที่นั่งของพระเจ้าชมพูบดีล้ม

๒.๑ พระเจ้าชมพูบดีทำลายยอดปราสาทพระเจ้าพิมพิสาร
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนบนด้านซ้ายสุดของผนังด้านขวาของพระประธาน แสดงเรื่องราวในเมืองราชคฤห์ ส่วนบนเป็นเหตุการณ์

เมื่อพระเจ้าชมพูบดีเหาะมาเห็นปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารก็โกรธจะทำลาย แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าชมพูบดีจึงส่งวิษศรมาขู่พระเจ้า

พิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารตกใจหนีไปยังเวฬุวนาราม ที่ประทับของพระพุทธเจ้า ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...สมเด็จพระเจ้าชมพูบดี...เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นยอดกุฎาคารปราสาท สมเด็จพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงพระดำริ

ห์ว่า “อยํ ปาสาโท” ปราสาทนี้สูงนัก ใครหนอเปนเจ้าของปราสาทอันนี้ ดำริห์ฉนี้แล้วก็ทรงพระพิโรธ ยกพระบาทขึ้นถีบเอายอดปรางค์

ปราสาทของสมเด็จพระเจ้าพิมพิสารในกาลครั้งนั้น “พุทฺธอุปาสกสฺส เตเชน” ด้วยอำนาจพระบารมีของพระเจ้าพิมพิสาร เปนพุทธอุบาสก

คุณนั้นก็คุ้มครองรักษายอดปรางค์ปราสาทนั้นก็มิได้กัมปนาทหวาดหวั่นไหวจลาจล พระบาทแลพระชาณุของพระเจ้าชมพูบดีนั้นก็

แตกทำลายโลหิตไหลอาบทั้งพระบาทได้ความลำบากเวทนา “กิลมนฺโต กุชฺเฌนฺโต” พระยาชมพูบดีนั้นก็เร่งทรงพระพิโรธ จึงฟาดฟัน

ยอดปรางค์ปราสาทนั้นด้วยพระแสงขรรค์สำหรับราชาภิเศก “พุทฺธานุภาเวน” ด้วยอานุภาพคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าคุ้มครองรักษา

กรุงพิมพิสาร เทพยดาก็บันดาลให้ยอดปรางค์ปราสาทนั้นเปนเหล็กเพ็ชร์ เมื่อพระยาชมพูบดีฟาดฟันในครั้งนั้น พระแสงขรรค์แห่ง

พระยาชมพูบดีก็บิ่นย่อยยับไปสิ้นทั้งนั้น..พระยาชมพูบดีก็เหาะไปสู่ที่อยู่แห่งพระองค์...แล้วก็ยกขึ้นซึ่งวิษศรย้อมด้วยพิษนาค วางศร

นั้นไว้เหนือพื้นแห่งพระหัดถ์ แล้วก็มีพระโองการตรัสว่า ดูกรวิษศร ท่านจงไปสู่เมืองราชคฤห์มหานครข้างบุรพทิศตวันออก ร้อยกรรณ

แห่งพระยาเจ้าเมืองนั้นมาสู่สำนักนิ์แห่งเราบัดนี้...วิษศรนั้นก็เหาะลอยขึ้นไปในเวหาส์..แผดร้องก้องสำเนียงสนั่น...กูนี้เปนราชทูตแห่ง

สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีราช กูจะทำลายเสียซึ่งสีสะแห่งพระยาพิมพิสาร กูจะผ่าเสียซึ่งอุระแห่งพระเจ้าพิมพิสาร...เสียงวิษศรร้องอื้ออึง

คนึงมาในอากาศเวหาส์ด้วยประการฉนี้...พระเจ้าพิมพิสาร ครั้นได้ทรงสวนาการเสียงวิษศรร้องอื้ออึงคนึงมาในเวลาปัจจุสมัย มาถึง

ยอดปรางค์ปราสาทแล้วแลพระหึมครึมคร่ำ ขู่คำรนอยู่ณยอดปรางค์ปราสาทดังนั้น...สดุ้งตกพระไทยนัก เสด็จออกจากพระนครแต่ภาย

ในอรุณ เข้าไปสู่สำนักนิ์สมเด็จพระมหากรุณาเสด็จอยู่ในเวฬุวันมหาวิหาร...”


พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเวฬุวนาราม พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเฝ้า

๒.๒ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวนาราม
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนบนตรงกลางของผนังด้านขวาของพระประธาน แสดงเรื่องราวเมื่อพระเจ้าพิมพิสารตกใจกลัวศรของพระ

เจ้าชมพูบดี หนีมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวนาราม เพื่อขอพระพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง ในภาพจะเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนพระแท่น

ส่วนพระเจ้าพิมพิสารประทับอยู่ด้านล่าง ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...(พระเจ้าพิมพิสาร)...ถวายนมัสการสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าแล้ว ก็กราบทูลถามว่า “ภนฺเต ภควา” ข้าแต่พระสรรเพ็ชญ์พุทธองค์

กระหม่อมฉันได้ยินเสียงคุกคามอื้ออึงคนึงอยู่ในที่ยอดปรางค์ปราสาท จะเปนเสียงอันใดพระพุทธเจ้าข้าฯ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เสียงร้องอื้ออึงอยู่ที่ยอดปราสาทนั้น คือเสียงวิษศรแห่งพระยาชมพูบดี อันเสวยสมบัติในเมืองปัญจาลราษฐ์

ขึ้งโกรธแก่พระองค์ ใช้ให้วิษศรมาจะให้ร้อยกรรณแห่งบพิตรนำไปสู่ที่เฝ้าแห่งตนฯ “ภิตตสิโต หุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงฟัง

ก็ยิ่งสดุ้งตกพระไทยสทกสท้านยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงกราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉันนี้คิดอ่านเปนประการใด จึงจะพ้นไภย

ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์อย่าโศกเศร้าไปเลย ตถาคตจะช่วย...”

ในภาพเดียวกันนี้ยังน่าจะปรากฏเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงช่วยปราบวิษศร และฉลองพระบาทของพระเจ้าชมพูบดีจนแพ้พ่ายไปด้วย

แล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าพระเจ้าชมพูบดีมีวาสนาจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงตรัสใช้ให้พระอินทร์ไปเป็นราชทูตนำตัวพระ

เจ้าชมพูมาเฝ้า พระอินทร์จึงไปยังเมืองปัญจาลราษฐ์ ดังภาพในฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานที่ได้กล่าวมาแล้ว

๒.๓ พระเจ้าชมพูบดีเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างกลางผนังด้านขวาของพระประธาน แสดงเรื่องราวตอนที่พระเจ้าชมพูบดีประทับช้างพระที่นั่งเดินทาง

ไปเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช ระหว่างทาง มาฆสามเณรได้มารับและให้พระเจ้าชมพูบดีลงจากช้าง พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอม มาฆสามเณรจึง

แปลงกายให้ใหญ่โต จับงาช้างแล้วไสช้างของพระเจ้าชมพูบดีให้ล้มลง บังคับให้พระเจ้าชมพูบดีเสด็จด้วยพระบาทเข้าสู่นครของพระเจ้า

ราชาธิราช ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...เจ้ามาฆสามเณรรับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็กระทำอิทธิฤทธิ์ไปด้วยฉับเฉียว ประมาณลัดมือเดียวก็บันลุถึงสำนักนิ์ของพระเจ้าชมพูบดี

ครั้นถึงจึงสำแดงกายเปนราชทูตแล้ว ไปประดิษฐานอยู่ตรงน่าช้างพระที่นั่งแล้วก็ร้องว่า “มหาราช” ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เชิญ

บพิตรลงจากช้างพระที่นั่งดำเนิรเข้ามาจึงจะควร อันบพิตรทรงช้างเข้ามาถึงเชิงพระนครสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมนารถพระเจ้า

ราชาธิราชนี้หาควรไม่ บพิตรเร่งลงจากคอช้าง “ชมพูปติราชา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ทรงฟังก็โทมนัศ ทรงพระพิโรธ ตรัสบังคับ

พวกพลนิกายทั้งปวงว่า เหวยสูชาวเจ้าทั้งปวงเร็วๆ อย่าช้า จับเอาตัวราชทูตผู้นี้ให้จงได้ฆ่าเสียให้ถึงแก่ความตาย โยธาทั้งหลายก็กลุ้มรุม

กันเข้ามาจับตัวเจ้าสามเณร เจ้าสามเณรก็กระทำอิทธิฤทธิ์ นฤมิตรกายใหญ่หลวง น่าพิฦกพึงกลัวยิ่งนัก กระทืบพื้นแผ่นพสุธา ให้

กัมปนาทหวาดหวั่นไหว แล้วก็แล่นเข้าไปจับหางช้างพระที่นั่ง ไสช้างพระที่นั่งให้ล้มกลิ้งไปในสถานที่นั้น...”

๒.๔ พระเจ้าชมพูบดีเสด็จเข้าพระนครของพระเจ้าราชาธิราช
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนบนด้านขวาของผนังด้านขวาพระประธาน แสดงเรื่องราวตอนที่พระเจ้าชมพูบดีต้องลงจากช้างพระที่นั่ง

แล้วเสด็จพระราชดำเนินตามมาฆสามเณร แวดล้อมไปด้วยพระยาร้อยเอ็ดนครและอำมาตย์แสนหนึ่งเข้าไปในนครของพระเจ้า

ราชาธิราช พระเจ้าชมพูบดีได้ทอดพระเนตรเห็นตลาดน้ำและตลาดบกซึ่งบรรดาเทพดามาช่วยกันเนรมิตไว้ ก็ละทิษฐิว่าดีกว่าบ้านเมือง

ของตนไปทุกสิ่งทุกอย่าง มาฆสามเณรก็พาพระเจ้าชมพูบดีจนถึงเขตกำแพงชั้นนอกของวัง (สุดผนังที่เหตุการณ์นี้) ดังความในเรื่องท้าว

มหาชมพูว่า

“...พระเจ้าชมพูบดีเสด็จดำนิรตามเข้ามาตามมรรคาถนนหลวง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคทั้งหลายอันทรงรูปโฉมมีพรรณอันอุดม

ที่ถือเพศเปนแม่ค้า ลงเรือเงิน เรือทอง เรือแก้ว พายไปมา ซื้อเข้าขายของในท้องตลาดน้ำ อันเปนตลาดของนางวิมลาผู้เปนอรรคมเห

ษีพระยากาฬนาคราชนั้น...พระเจ้าชมพูบดีเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงทองของพระยาครุธ...เบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้

ทอดพระเนตรเห็นช้างทั้งหลายแปดหมื่น แต่พื้นตระกูลฉัททันต์...แล้วเสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นม้าทั้งหลายมีม้า

พลาหกเปนต้นเปนประธาน...เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทรงฟังเสียงนกการเวกทั้งหลาย...เสด็จไปเบื้องน่าแต่นั้น ก็ได้ทอดพระเนตร

เห็นนกแขกเต้าทั้งหลายอันคาบดอกพฤกษาชาติ เปนต้นว่าดอกจันทน์ มาแต่หิมวันตประเทศ...เห็นกินรกินรีทั้งหลายอันตั้งสนามฟ้อน

แล้วขับร้องรำฟ้อนเล่น...ได้ทรงฟังเสียงดุริยางคดนตรีของคนธรรพ์...เห็นท้าวจาตุมหาราชา...เห็นสวนอุทยานแลสระโบกขรณี...เห็น

หมู่นาคทั้งหลาย อันถือเพศเปนคนตักน้ำ...บันลุถึงตลาดเนื้อปลา...เห็นร้านตลาดทั้งหลายอันขายเข้าสุก...ถึงตลาดเข้าสาร...ถึงตลาดป่า

ดอกไม้...ถึงตลาดผลไม้ อันเปนตลาดนางสุนันทา...ถึงตลาดผ้า นางสุจิตรา...ถึงตลาดขายเงินนั้นเล่า นางสุธรรมาอันเปนใหญ่ในตลาดขาย

เงินนั้นเล่าก็ร้องเรียก...ถึงตลาดขายทองนั้นเล่า นางสุชาตาอันเปนใหญ่ในตลาดขายทองนั้น จึงร้องเรียก...ถึงโรงทองแห่งท้าว

มหาพรหม...ถึงประเทศที่ใกล้แห่งกำแพงทองเหลืองชั้นนอก...”

๓. ผนังด้านหลังพระประธาน
๓.๑ พระเจ้าชมพูบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ผนังด้านหลังพระประธาน แสดงเรื่องราวตอนสำคัญที่สุดของพระสูตรนี้ คือเหตุการณ์ที่มาฆสามเณรพาพระ

เจ้าชมพูบดีผ่านกำแพงชั้นต่างๆ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งทรงเพศเป็นสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ มีท้าว

มหาพรหมถือเศวตฉัตร พระเจ้าชมพูบดีประทับอยู่ที่พื้นด้านล่างกับมาฆสามเณร ภาพพระพุทธเจ้าทรงเครื่องพระเจ้าราชาธิราชนี้เป็น

ภาพเดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งเป็นพระประธานของพระอุโบสถ และวาดอยู่ในตำแหน่งหลังพระเศียรขององค์พระพุทธรูปพอดี

เหตุการณ์ที่พระเจ้าชมพูบดีเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าราชาธิราชนั้น ปรากฏในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีก็ได้ทอดพระเนตรเห็นองค์สมเด็จพระมหากรุณา อันทรงพระรูปพระโฉมงามยิ่งกว่าท้าวมหาพรหม ประดับ

ไปด้วยพระทวดึงษมหาปุริสลักษณะ แลพระอสีตยานุพยัญชนะแปดสิบประการ รุ่งเรืองไปด้วยฉัพพรรณรังษี พระรัศมีหกประการอัน

เปล่งออกจากพระสริรกายสว่างกระจ่างแจ้ง งามประดุจดังว่าแก้วมณีโชติได้แสนดวง เสด็จอยู่เหนือรัตนบัลลังก์อันประเสริฐ มีท้าว

มหาพรหมถือทิพเสวตรฉัตรกางกั้นอยู่ในทิศาภาคย์ข้างพระปฤษฎางค์ เมื่อท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นองค์สมเด็จพระมหากรุณาครั้งนั้น

มิอาจดำรงทรงพระกายอยู่ได้ พระกายนั้นหวั่นไหวกลัวเกรงพระเดชพระคุณนั้นเปนพ้นกำลัง “มาณวํ ปุจฺฉิ” มีพระโองการตรัสถามเจ้า

มาฆสามเณรว่า ดูกรมาณพนี้แลฤๅคือองค์สมเด็จพระเจ้าราชาธิราช “อาม” เออ ดูกรบพิตรนี้แลคือองค์พระเจ้าอยู่หัวบรมนารถพระเจ้า

ราชาธิราชแล้ว “ภีโต หุตฺวา” สมเด็จพระเจ้าชมพูบดีได้ยินว่าพระเจ้าราชาธิราช มีความสดุ้งตกพระไทยกลัวยิ่งนัก มีอุประมาดังว่าสุนักข์

จิ้งจอกอันกลัวแต่เสือโคร่ง ท้าวเธอก็ซุดนั่งลงในสถานที่นั้น พระยาทั้งร้อยเอ็จแลอำมาตย์แสนหนึ่งนั้นก็นั่งอยู่แต่ภายนอก...”


ภาพจิตรกรรมบนผนังผนังด้านซ้ายพระประธาน แสดงภาพเวฬุวนาราม

๔. ผนังด้านซ้ายของพระประธาน
จิตรกรรมฝาผนังด้านซ้ายขององค์พระประธานลบเลือนไปมากที่สุดในบรรดาภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน อย่างไรก็ตาม สันนิษฐาน

จากภาพที่ปรากฏ (เท่าที่เห็นได้) น่าจะแบ่งออกได้เป็น ๔ เหตุการณ์ เหมือนกับฝาผนังด้านขวา และตอนล่างของภาพเป็นภาพกระบวน

เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากภาพจิตรกรรมบริเวณด้านซ้ายของผนังลบเลือนมาก ไม่อาจตีความได้ว่าเป็น

เรื่องราวตอนใด ในที่นี้สามารถอธิบายความได้เพียง ๓ เหตุการณ์ ดังนี้

๔.๑ พระเจ้าชมพูบดีออกผนวช
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนกลางของผนังด้านซ้ายพระประธาน จิตรกรรมลบเลือนมาก จากร่องรอยที่ปรากฏเป็นภาพพระเวฬุวนาราม

มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกปรากฏอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะแสดงเรื่องราวตอนที่พระพุทธเจ้าเนรมิตพระนครพระเจ้าราชาธิราชให้กลับ

คืนเป็นเวฬุวนาราม พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเทศนาแก่พระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีได้ฟัง

พระธรรมเทศนาก็สละราชสมบัติออกผนวชเป็นภิกษุ แล้วให้อำมาตย์นำไพร่พลกลับไปเมืองปัญจาลราษฐ์ เพื่อทูลพระนางกาญจนเทวี

และเจ้าศิริคุตรกุมาร ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...ฝ่ายพระยาชมพูบดีจึงกราบทูลถามสืบต่อไปเล่าว่า “ภนฺเต ราชาธิราช” ข้าแต่พระเจ้าราชาธิราชผู้ประเสริฐ พระเจ้าข้า ข้าพเจ้านี้

ปรารถนาจะใคร่ได้ซึ่งพระนฤพาน ทำไฉนข้าพเจ้าจึงจะได้พระนฤพานสำเร็จความปราถนา ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าพระองค์ปรา

ถนาพระนฤพานจงสละสมบัติออกทรงบรรพชาเถิด “ปพฺพาเชสฺสามิ” พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าก็ใคร่ทรงบรรพชาทำไฉนจะได้บรรพชาเล่า

ดูกรบพิตรพระราชสมภาร บพิตรอย่าปริวิตกเลย ตรัสเท่าดังนั้นแล้ว พระองค์คลายเสียซึ่งอิทธาภิสังขาร พระนครอันใหญ่กว้างก็สูญ

หายกลับกลายเปนเวฬุวันมหาวิหารขึ้นดังเก่า ส่วนพระพุทธองค์นั้นกลับกลายเปนสมเด็จพระพุทธเจ้าโดยปรกติฯ...ฝ่ายสมเด็จพระเจ้า

ชมพูบดี...ก็กราบทูลพระกรุณาว่า...ข้าพเจ้านี้จะมอบเวรร่างกายถวายแก่พระองค์บัดนี้แล้ว...ตัวข้าพเจ้าก็จะบวชในสำนักนิ์แห่ง

พระองค์บัดนี้แล้ว...พระพุทธองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานบรรพชาแก่ข้าพระองค์บัดนี้เถิด

สมเด็จพระมหากรุณามีพระพุทธฏีกาตรัสว่า...ดูกรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์จงประพฤติซึ่งสาสนพรหมจรรย์ในสาสนธรรม อัน

พระตถาคตตรัสเทศนาไว้ บพิตรจงกระทำให้สิ้นทุกข์สิ้นไภยวันนี้บัดนี้เถิดฯ...เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกพระกรรมฐาน ด้วยประการ

ฉนี้ พระยาชมพูบดีเถรได้รับประทานฟัง ก็บันลุถึงพระอรหัตตัดกิเลสธรรมทั้งปวงได้ขาดจากขันธสันดาน...”

๔.๒ พระนางกาญจนเทวีเสด็จมาเฝ้าพระชมพูบดีเถระแล้วออกผนวช
เนื้อเรื่องตอนนี้ปรากฏอยู่ตอนบนด้านขวาของผนังด้านซ้ายพระประธานถัดมาจากภาพที่ ๔.๑ แสดงเรื่องราวตอนที่พระนางกาญจนเทวี

ทราบเรื่องพระเจ้าชมพูบดีออกผนวช จึงเดินทางมายังเวฬุวันมหาวิหารเพื่อจะมาขอพบพระชมพูบดีเถระ พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต

ต่อมาพระนางกาญจนเทวีได้ฟังธรรมจึงทรงออกผนวชในสำนักพระพิมพาเถรี และพระศิริคุตรกุมารก็ได้ออกผนวชเช่นเดียวกัน ดัง

ปรากฏความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“...เมื่อเสด็จถึงจึงลงจากสุวรรณสีวิกากาญจน์ยานมาศมีนางทั้งหลายพันหนึ่ง เปนบริวารไปสู่สำนักนิ์สมเด็จพระมหากรุณา ถวายนมัศ

การสมเด็จพระพุทธองค์แล้วก็กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระชมพูบดีเถรนี้อยู่ในสถานที่ใด ดูกรอุบาสิกาจงพิจารณาดูตามสำคัญแต่

ก่อนนั้นเถิด ครั้งนั้นพระชมพูบดีเถรนฤมิตรรูปนั้นถึงพันหนึ่ง แล้วก็นั่งอยู่ในท่ามกลางแห่งรูปนฤมิตรทั้งปวงนั้น นางกาญจนเทวีนั้น

ทอดพระเนตรแสวงไปในระหว่างแห่งรูปนฤมิตร ก็มิรู้จักว่าองค์ไหนเปนพระชมพูบดีเถร...สมเด็จพระมหากรุณา...จึงมีพระพุทธฎีกา

ตรัสว่า ดูกรพระราชเทวี “ปกฺโกสาหิ” ท่านจงร้องเรียกพระชมพูบดีเถรตามเคยแต่ก่อนนั้นเถิด นางกาญจนเทวีก็ร้องเรียกตามเคยเรียก

มาแต่ก่อน เมื่อรู้จักองค์แห่งพระชมพูบดีเถรแล้ว นางกาญจนเทวีก็เข้าไปใกล้ถวายนมัสการพระชมพูบดีเถรโดยสัจเคารพ แล้วมาฟัง

พระสัทธรรมเทศนาในสำนักนิ์ของสมเด็จพระมหากรุณา...นางกาญจนเทวี ก็ได้สำเร็จพระอรหัตรผลในขณะที่ทรงบรรพชา...เจ้าศิริคุต

รนั้นก็บรรพชาในสำนักนิ์แห่งพระชมพูบดีเถร ก็ได้สำเร็จพระอรหัต...”


กระบวนเสด็จของพระนางกาญจเทวี

๔.๓ กระบวนเสด็จของพระนางกาญจเทวี
ในภาพจิตรกรรมผนังด้านซ้ายของพระประธานมุมล่างขวาแสดงกระบวนเสด็จของพระนางกาญจนเทวีเพื่อมาเฝ้า พระพุทธเจ้าและ

พระชมพูบดีเถระ ซึ่งออกผนวช ในภาพจะเห็นกระบวนเครื่องสูงเดินนำไปทางซ้าย (มุ่งสู่เวฬุวนาราม) ตามมาด้วยราชรถซึ่งมีพระนาง

กาญจนเทวีประทับนั่งตามมา (เป็นภาพที่แสดงเรื่องราวต่อจากเหตุการณ์ที่ขุนนางพากันกลับไปเฝ้าพระนางกาญจนเทวีในผนังด้านตรง

ข้ามพระประธาน) ดังความในเรื่องท้าวมหาชมพูว่า

“…นางกาญจนเทวีแลเจ้าศิริคุตรได้ฟังประพฤติข่าวสาส์น ก็เสด็จออกนอกพระนครกับด้วยเสนางคนิกรทั้งหลายเปนอันมากมาสู่สำนักนิ์

พระชมพูบดีเถร...”

บทสรุป
จากการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องท้าวมหาชมพู หรือ ชมพูบดีสูตร ซึ่ง

เป็นพระพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชทรมานพระยาชมพูบดีให้ละทิฐิแล้วออกบวชจนสำเร็จ

พระอรหันต์

ภาพจิตรกรรมเรื่องท้าวมหาชมพู หรือชมพูบดีสูตร ชุดนี้ เขียนเรื่องเดียวกันทั้งสี่ด้าน โดยมีเนื้อหาต่อเนื่องกัน ได้แก่

ผนังตรงข้ามพระประธาน เขียนตอนพระเจ้าชมพูบดีทรงรับฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ พระเจ้าชมพูบดีให้วิษศรไปร้อยพระกรรณพระ

เจ้าพิมพิสาร พระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรวิษศร พระอินทร์เป็นราชทูตมาเชิญพระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า พระเจ้าชมพูบดีแพ้ราชทูตตกลง

จากพระแท่น พระเจ้าชมพูบดีเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และขุนนางพระเจ้าชมพูบดีกลับมาเฝ้านางกาญจนเทวีกราบทูลเรื่องพระเจ้า

ชมพูบดีออกผนวช

ผนังด้านขวาของพระประธานเขียนตอน พระเจ้าชมพูบดีทำลายยอดปราสาทพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาส่งวิษศรมาจับพระเจ้าพิมพิสาร

พระเจ้าพิมพิสารตกพระทัยเสด็จหนีออกจากนครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเวฬุวนาราม พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเฝ้า พระเจ้า

ชมพูบดีเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มาฆสามเณรไสช้างพระเจ้าชมพูบดีล้ม และพระเจ้าชมพูบดีทอดพระเนตรนครของพระเจ้าราชาธิราช

เห็นตลาดน้ำและตลาดบก

ผนังด้านหลังพระประธานเขียนตอนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางหมู่ท้าวมหาพรหม พระเจ้าชมพูบดีหมอบอยู่ที่ด้านล่างของแท่น

ผนังด้านซ้ายของพระประธานผนังมุมซ้ายลบเลือนมาก กลางผนังเขียนตอนพระเจ้าชมพูบดีออกผนวช และตอนพระนางกาญจนเทวี

เสด็จมาเฝ้าพระชมพูบดีเถระแล้วออกผนวช รวมทั้งกระบวนเสด็จของพระนางกาญจนเทวีมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่มุมขวาล่างของผนัง

ดังนั้น การศึกษาวิเคราะห์ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหารครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นว่าภาพจิตรกรรมชุดนี้เขียน

เรื่องท้าวมหาชมพูอย่างแน่นอน และเป็นการเขียนเพียงเรื่องเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ สอดคล้องกับการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็น

พระประธาน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ภาพจิตรกรรมชุดนี้ชำรุดลบเลือนมาก จนไม่อาจสามารถอธิบายความได้ทั้งหมด ทว่าอย่างน้อย บท

ความเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการศึกษาในระดับลึกต่อไป


ขุนนางพระเจ้าชมพูบดีกลับมาเฝ้านางกาญจนเทวีกราบทูลเรื่องพระเจ้าชมพูบดีออกผนวช

บรรณานุกรม
เพ็ญสุภา สุขคตะ, “การศึกษาภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร” วิทยานิพนธ์การศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร

มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรปีการศึกษา ๒๕๓๓.
เรื่องท้าวมหาชมพู. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรรฒธนากร, ๒๔๖๔.
สันติ เล็กสุขุม. จิตรกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ ๓: ความคิดเปลี่ยน การแสดงออกก็เปลี่ยนตาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๘.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น