++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ฉือจี้ ชุมชนคนทำดี พระไพศาล วิสาโล

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.visalo.org/article/budtZuchi.htm)


ฉือจี้ ชุมชนคนทำดี
พระไพศาล วิสาโล
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนไทยมักจะรู้จักไต้หวันในฐานะประเทศที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็น ๑ ใน ๔ เสือเอเซีย(หรือ “นิกส์”)ที่เราเองอยากเลียนแบบ ยิ่งมาระยะหลังด้วยแล้ว แม้แต่ชาวบ้านตามชนบทก็รู้จักประเทศนี้ เพราะญาติพี่น้องไป “ขุดทอง” กันมาก จนมีปริมาณนับแสนคน แต่ยังดีที่ไม่ค่อยมีเรื่องอื้อฉาวสะเทือนใจอย่างสาวไทยที่ถูกหลอกไปขายตัวที่ญี่ปุ่น
ทั้ง ๆ ที่ไต้หวันอยู่ไม่ไกลจากเมืองไทย บินแค่ ๓ ชั่วโมงก็ถึงไทเปแล้ว แต่คนไทยกลับมีความรู้เกี่ยวกับไต้หวันน้อยมาก ตรงกันข้ามหากพูดถึงฮ่องกง สิงคโปร์ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เราจะรู้สึกคุ้นเคยมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะบินไปเที่ยวบ่อย หาไม่ก็รู้จักผ่านสื่อ โดยเฉพาะภาพยนตร์และละคร
ที่จริงไต้หวันเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง เป็นแต่อาจจะไม่ถูกใจคนไทยที่ชอบความหวือหวาวุ่นวายอย่างฮ่องกง หรือมีแหล่งชอปปิ้งที่ฟู่ฟ่าอย่างสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามในช่วง ๒-๓ ปีมานี้ ไต้หวันกลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนไทยระดับนำในหลายวงการ อาทิ วงการแพทย์และสาธารณสุข วงการศึกษา วงการพัฒนา และวงการศาสนา คณะแล้วคณะเล่าบินไปไต้หวันแล้วกลับมาเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเห็นอย่างตื่นตาตื่นใจ บางคนมาถึงกรุงเทพ ฯ ได้หลายวันแล้วแต่ก็สารภาพว่า “ยังปีติจนขนลุกไม่หาย”
อะไรที่ดึงดูดคนเหล่านั้นให้ไปไต้หวัน? คำตอบคือ “ฉือจี้”
องค์กรการกุศลข้ามชาติ
ฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีสมาชิกกว่า ๕ ล้านคน (หรือเกือบ ๑ ใน ๔ของประชากรไต้หวัน) มีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติถึง ๖ โรง มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของตนเอง ที่สามารถผลิตแพทย์และพยาบาลที่มีทั้งสมองและ “หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” ขณะเดียวกันโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยมของฉือจี้ก็สามารถผสานความรู้กับคุณธรรมได้อย่างกลมกลืน นอกจากนั้นยังมีสถานีโทรทัศน์ที่ปลอดพิษภัย และได้รับการโหวตจากชาวไต้หวันว่า เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขามากที่สุด ทั้งหมดนี้อาศัยพลังขับเคลื่อนของอาสาสมัครซึ่งมีร่วม ๒ แสนคนกระจายทั่วประเทศ ซึ่งมีงานประจำอีกอย่างหนึ่งคือ การแยกขยะ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครเหล่านี้มีงานอีกอย่างหนึ่งที่ทำแทบไม่ขาด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเกิดเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น หากพร้อมจะทำงานในทุกจุดของโลก ดังที่ได้เคยทำมาแล้วในกว่า ๖๐ ประเทศ รวมทั้งในเมืองไทยคราวเกิดสึนามิ และในสหรัฐเมื่อประสบภัยจากเฮอริเคนแคทริน่า ปัจจุบันฉือจี้ได้ขยายสาขาไปยัง ๓๙ ประเทศ มีสมาชิกทั่วโลกราว ๑๐ล้านคน และอาสาสมัคร ๑ ล้านคน
เพียงเท่านี้ก็คงเห็นได้ว่าฉือจี้ไม่ใช่องค์กรการกุศลธรรมดา หากเป็นองค์กรระดับข้ามชาติเลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ คุณภาพของอาสาสมัคร ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีน้ำใจ อ่อนน้อมถ่อมตน และทำงานหนัก ไม่ว่าจะไปทำงานที่ใด มักจะออกจากพื้นที่เป็นกลุ่มสุดท้าย เพราะงานที่ทำมักจะเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน เช่น ก่อสร้างบ้านและโรงเรียน (บางครั้งก็สร้างมัสยิดให้ด้วย) คนเหล่านี้ทำงานโดยไม่มีเงินเดือน แถมต้องออกค่าเครื่องบินไปเองด้วย แต่ที่ทำเช่นนี้ได้ก็เพราะพลังแห่งเมตตา (ซึ่งเขาแปลว่า “รักโดยไม่แบ่งแยก”) และอุเบกขา (ซึ่งเขาแปลว่า “ให้โดยไม่หวังผล”) อาสาสมัครเหล่านี้ ไม่ใช่คนหนุ่มอย่างที่คนไทยมักเข้าใจกัน หลายคนมีอายุแล้ว บางคนเป็นวิศวกร เป็นแพทย์ เป็นนักธุรกิจ เป็นซีอีโอ บางคนเป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านหรือพันล้านด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ทำโดยอาศัยแบบอย่างจากพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งมหากรุณาในพุทธศาสนาแบบมหายาน
ฟังดูดีจนไม่น่าเชื่อ แต่คนที่ไปดูงานมาแล้ว ยืนยันเช่นนั้น เราจึงอดไม่ได้ที่จะต้องหาเวลา “ตามไปดู”
ขยะสร้างคน
คณะของเราประกอบด้วยอธิการบดีและคณบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน และรวมทั้งผู้อำนวยการและกรรมการสถานศึกษาทุกภาคของประเทศ กับพระอีก ๒ รูป รวมแล้วกว่า ๕๐ คน โดยมีศูนย์คุณธรรมเป็นผู้จัดการดูงานครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ศูนย์คุณธรรมเคยจัดคณะมาดูงานมาแล้ว ๖ ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมคณะมาก
ทันทีที่เราบินถึงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน จุดแรกที่ดูงานคือ โรงงานแยกขยะ เวลาพูดถึง “โรงงาน” เรามักนึกภาพเครื่องจักร แต่โรงงานแยกขยะของฉือจี้ เห็นแต่คนกับขยะเท่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นคนแก่นั่งบนเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ เป็นกลุ่ม ๆ ประมาณ ๒๐ คน บ้างกำลังฉีดกระดาษ บ้างกำลังไขสกรู บ้างกำลังแยกขวดพลาสติก ระหว่างที่เขาบรรยาย พวกเราก็ได้รับเชิญให้มานั่งทำงานแยกขยะกับเขาด้วย นับเป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมขนานแท้ แต่ละจุดมีผู้บรรยาย ๑ คน เมื่อบรรยายเสร็จ เราก็ย้ายไปจุดใหม่ซึ่งจัดการกับวัสดุอีกประเภทหนึ่ง เวียนกันไปเช่นนี้จนครบ ๔ จุด คือ แยกขยะกระดาษ แยกขยะพลาสติก แยกขยะที่เป็นผ้า และแยกขยะที่เป็นโลหะ ขยะเหล่านี้เมื่อแยกแล้วก็นำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปใหม่ ผู้บรรยายได้เล่าให้ฟังว่า ขวดน้ำเปล่า ๒๐ ขวดสามารถแปรเป็นเสื้อยืดได้ ๑ ตัว และหากเพิ่มเป็น ๑๐๐ ขวดสามารถแปรเป็นผ้าห่มผืนใหญ่ได้ ๑ ผืน
โรงงานแยกขยะที่เราเห็นไม่ได้ดูใหญ่โตอะไร แต่เมื่อได้รู้ว่าฉือจี้มีโรงงานแบบนี้ถึง ๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ และทำงานตลอดทั้งปี ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีส่วนช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้มากมายเพียงใด เฉพาะการนำกระดาษไปรีไซเคิลใหม่ ฉือจี้สามารถลดการตัดไม้เมื่อปีที่แล้วได้ถึง ๑ ล้านต้น ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ รายได้จากการนำขยะเหล่านี้ไปรีไซเคิล ท่านเดิมแท้ ชาวหินฟ้า พระไทยที่ไปอยู่ไต้หวันและศึกษางานของฉือจี้มาหลายปีแล้ว บอกว่า โรงงานแต่ละแห่งทำรายได้หลายแสนบาทต่อปี บางแห่งถึง ๗ แสนบาท หากรวมรายได้จากโรงงานทั่วประเทศ ก็คงไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท เงินเหล่านี้ฉือจี้เอาไปสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ประมาณว่า ๑ ใน ๔ ของรายรับของสถานีโทรทัศน์ “ต้าอ้าย”(มหากรุณา)มาจากขยะรีไซเคิลเหล่านี้เอง
แต่สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็เห็นจะได้แก่ คนในโรงงานเหล่านี้ ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยงานเปล่า ๆ หลายคนมีฐานะดี มีชีวิตสะดวกสบาย แต่ก็ไม่รังเกียจที่จะมาทำงานที่ดูเหมือน “ต่ำต้อย” แต่สิ่งที่หลายคนได้พบก็คือรู้สึกมีความสุขขึ้นเพราะได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ คนแก่เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีงานทำแล้ว อยู่บ้านเฉย ๆ จนอาจรู้สึกเป็นภาระของลูก ๆ ด้วยซ้ำ (ไม่เหมือนคนแก่ในชนบทที่ยังมีงานทำเสมอ โดยเฉพาะการช่วยดูแลหลาน ๆ) แต่พอได้มาทำงานจะรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ บางคนถึงกับพูดว่าตัวเองเป็น “ขยะคืนชีพ”
โรงงานแยกขยะเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่ช่วยฟื้นคุณค่าของขยะที่เป็นวัสดุเท่านั้น หากยังช่วยฟื้นคุณค่าของคนที่คิดว่าตัวเองเป็นขยะสังคมด้วย เราได้รู้ในเวลาต่อมาว่าคนที่เป็นสมาชิกเต็มขั้นของฉือจี้ทุกคน ต้องผ่านงานแยกขยะมาแล้วทั้งนั้น และยังมีบทบาทเวียนวนอยู่กับงานนี้ เช่น ช่วยเก็บรวบรวมขยะตามละแวกบ้านทุกเช้า หรือช่วยขนขยะมาส่งที่โรงงาน เขาถือว่าเป็นงานที่มีเกียรติมาก แม้แต่คุณยายอายุ ๙๐ ปีก็ยังขอมีส่วนร่วมกับงานนี้ ตามทางเข้าของโรงงาน จะมีภาพและเรื่องราวของอาสาสมัครตัวอย่างที่อุทิศตัวให้กับงานแยกขยะ มีทั้งเด็กเล็กและคุณปู่คุณย่า จะเรียกว่าโรงงานแยกขยะเป็นสถานฝึกฝนอบรมสมาชิกของฉือจี้ก็คงไม่ผิด ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่อาสาสมัครฉือจี้เป็นคนไม่รังเกียจงาน และอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นได้ทั้งจากอาสาสมัคร ๓ คนที่เป็นมัคคุเทศก์ให้เราตลอดงาน และอาสาสมัครที่คอยต้อนรับและบริการพวกเราตามจุดต่าง ๆ
สิ่งที่ดูต่ำต้อยด้อยค่านั้น ที่จริงกลับมีความสำคัญมาก นี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโรงงานแยกขยะของฉือจี้ ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดเขาจึงพามาดูงานที่โรงงานแยกขยะก่อน เพราะนี้คือพื้นฐานที่สำคัญของกิจการของฉื้อจี้ทั้งหมด ไม่ว่า โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีโทรทัศน์ เปรียบเสมือนรากที่เป็นฐานให้แก่ลำต้นและกิ่งก้าน แม้จะไม่โดดเด่นเห็นได้ยากเพราะอยู่ใต้ดิน แต่ก็มีความสำคัญอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
เยือนฮวาเหลียน เยี่ยมโรงเรียนคุณธรรม
จากโรงงานแยกขยะ พวกเราเดินทางต่อไปยังสนามบินในประเทศ เพื่อลัดฟ้าไปยังเมืองฮวาเหลียน อันเป็นทั้งจุดกำเนิดและศูนย์กลางของฉือจี้ ฮวาเหลียนเป็นเมืองเล็ก ๆ ติดทะเล ๔๐ ปีก่อนถือเป็นชนบทที่ห่างไกลความเจริญ เนื่องจากมีภูเขาขวางกั้นเป็นแนวยาว รถเข้าถึงยาก แต่ปัจจุบันการคมนาคมสะดวกมาก
ฉือจี้มีกำเนิดที่เมืองนี้เมื่อ ๔๑ ปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๐๙)โดยเริ่มจากคน ๆ เดียว คือภิกษุณีวัย ๒๙ ปี ชื่อเจิ้งเหยียน ท่านมาจากครอบครัวที่มีฐานะ แต่เมื่อสูญเสียบิดา ก็ตั้งคำถามกับชีวิต และตัดสินใจออกบวชเมื่ออายุ ๒๖ ปี ท่านได้แสวงหาครูบาอาจารย์จนพบท่านธรรมาจารย์อิ้นซุน ซึ่งแนะนำท่านด้วยถ้อยคำสั้น ๆ ว่า ให้อุทิศตัว “เพื่อพระศาสนาและเพื่อสรรพสัตว์” ที่ฮวาเหลียนนี้เองที่ท่านเจิ้งเหยียนได้พบเห็นความทุกข์ของคนยากจน หลายคนตายเพราะไม่มีเงินค่ารักษาพยบาล ด้วยเหตุนี้ท่านจึงชักชวนแม่บ้าน ๓๐ คน ให้ช่วยกันสละเงินวันละ ๕๐ เซ็นต์ไต้หวัน (๒๕ สตางค์เมื่อเทียบกับเงินบาทในสมัยนั้น) โดยหยอดใส่กระบอกไม้ไผ่ทุกเช้า เงินบริจาคเหล่านี้เมื่อรวบรวมได้มากพอก็นำไปสงเคราะห์คนยากจน
ไม่น่าเชื่อว่าภายใน ๔๐ ปีหรือไม่ถึง ๒ ชั่วอายุคน เงินจำนวนแค่ ๑๕ เหรียญไต้หวันต่อวัน จะเพิ่มพูนจนเป็นแสนล้าน ในรูปของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน สถานีโทรทัศน์ ตลอดจนเงินที่ลงไปช่วยผู้ประสบภัยนับแสน ๆ คนทั่วโลก จากแม่บ้านเพียง ๓๐ คนได้ขยายไปเป็นคนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพนับ ๑๐ ล้านคนทั่วทุกทวีป ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะอานุภาพของความรักหรือเมตตา ซึ่งท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนเชื่อว่ามีในจิตใจของทุกคน และหากนำมารวมกันได้จะผนึกเป็นกำลังที่มีอานุภาพยิ่งใหญ่
เช้าวันที่ ๒ แห่งแรกที่เราไปเยือนคือโรงเรียนประถมและมัธยมของฉือจี้ ฉือจี้มาจับงานด้านการศึกษาเมื่อ ๗ ปีมานี้เอง แต่ก็ทำได้อย่างน่าสนใจเพราะสามารถผสานความรู้กับคุณธรรมได้อย่างแยบคาย เรื่องการสอนเด็กให้เรียนเก่งนั้น ที่ไหนก็ทำได้ แต่ฉือจี้มีวิสัยทัศน์ไกลกว่านั้น คือต้องการให้เด็กเป็นคนดีด้วย ไม่ใช่แค่ดีแบบไม่ไปเบียดเบียนใครเท่านั้น แต่ต้องดีชนิดที่พร้อมจะช่วยคนอื่นด้วยและมีความสุขกับการกระทำดังกล่าว
โรงเรียนของฉือจี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูเขาสูง มีอาณาบริเวณกว้างขวาง อาคารใหญ่และมั่นคง เสาแต่ละต้นใหญ่หลายคนโอบ เพื่อป้องกันแผ่นดินไหว สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือไม่มีร้านขายของหรือร้านอาหาร เด็กที่นี่ไม่ได้รับอนุญาตให้เอาอาหาร ขนม หรือของเล่น มาโรงเรียน (โทรศัพท์มือถือไม่ต้องพูดถึง) ทุกคนจะกินอาหารร่วมกันและกินอย่างเดียวกัน ทุกคนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงครูด้วย ไม่มีการแยกห้องเพื่อให้ครูกินอาหารที่พิเศษจากนักเรียน
จุดเด่นอย่างหนึ่งของโรงเรียนนี้คือ วิชาจริยศิลป์ ได้แก่ วิชาจัดดอกไม้ ชงชา และเขียนพู่กันจีน เด็กจะเรียนตั้งแต่ป.๑ ไปจนถึงมัธยม และตามไปถึงมหาวิทยาลัย (แม้แต่นักศึกษาแพทย์ก็ต้องเรียนวิชาดังกล่าว) วิชาดังกล่าวไม่ใช่แค่วิชาศิลปะธรรมดา ๆ อย่างวิชาวาดเขียน แต่เป็นวิชาที่มุ่งกล่อมเกลาจิตใจและพัฒนาพฤติกรรม ให้เป็นไปในทางที่ส่งเสริมคุณธรรม กล่าวคือเป็นการฝึกจิตให้ละเมียดละไม เข้าถึงสุนทรียรส จิตเช่นนี้จะเป็นจิตที่ไม่แข็งกระด้าง และสามารถเข้าถึงความสุขประณีตได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความสุขแบบหยาบ ๆ จากวัตถุ ขณะเดียวกันครูบาอาจารย์ก็อาศัยวิชานี้เป็นสื่อในการปลูกฝังคุณธรรม เช่น แนะให้เด็กเรียนคติธรรมจากดอกไม้แต่ละชนิด หรือเรียนจริยธรรมจากการจัดดอกไม้ อาทิ จะจัดดอกไม้ให้สวย ก็ต้องมีการริดกิ่งริดใบที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ฉันใดก็ฉันนั้น ชีวิตที่งดงามได้ก็ต้องรู้จักเสียสละ
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการมีวินัยในตน รู้จักควบคุมกายวาจาของตนได้ ดังนั้นเด็กป.๑ ก็ต้องเรียนรู้ตั้งแต่การวางรองเท้าให้เป็นระเบียบก่อนเข้าห้องชงชา และเมื่ออยู่ในห้องก็รู้จักรักษากายวาจาให้สงบ วันที่ไปเยี่ยมโรงเรียน ได้เห็นนักเรียนตัวเล็ก ๆ ฟังครูสอนวิธีชงชาอย่างสงบ หน้าห้องมีรองเท้าที่จัดวางเป็นแถวอย่างมีระเบียบมาก ฟังมาว่าวิชาชงชายังมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังจิตใจที่ใฝ่ช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเมื่อชงชาแล้วก็ต้องบริการผู้อื่นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำอย่างหุนหันพลันแล่นหาได้ไม่
โรงเรียนนี้มีหลายวิธีในการปลูกฝังจิตใจใฝ่บริการ ที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำความสะอาดห้องเรียนและโรงเรียน โรงเรียนนี้ไม่มีภารโรง ดังนั้นนักเรียนและครูจะต้องช่วยกัน การทำความสะอาดถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร คือทำในเวลาเรียน ตอน ๑๐ โมงเช้า ไม่ได้ทำนอกชั่วโมงเรียนอย่างในเมืองไทย ที่น่าสนใจก็คือจำเพาะเด็กที่เรียนเก่งเท่านั้นที่จะได้ทำความสะอาดห้องน้ำ จะเรียกว่านี่เป็นการยกระดับงานทำความสะอาดห้องน้ำให้เป็นงานที่มีเกียรติก็ได้ หรือมองในอีกแง่หนึ่ง เป็นวิธีการลดตัวตนของเด็กเรียนเก่งที่มักจะถือตัวว่าเหนือกว่าคนอื่น จะมองในแง่ไหนก็ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น
ถ้าเป็นที่เมืองไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง พ่อแม่คงไม่ชอบใจแน่ที่ลูกมาทำงานแบบนี้ เพราะมีทัศนคติว่างานเหล่านี้เป็นงานของคนใช้ จึงอยากให้ลูกห่างไกลจากไม้กวาดและผ้าถูพื้น หารู้ไม่ว่านี่เป็นวิธีการเสี้ยมสอนให้เด็กเป็นคนหยิบโหย่ง รังเกียจงาน และไม่รู้จักนึกถึงส่วนรวม เด็กเหล่านี้โตขึ้นย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารัก และเมื่อมีลูก ลูกก็ไม่น่ารักตามไปด้วย แถมทำอะไรไม่เป็นเช่นเดียวกับพ่อแม่
ได้ทราบมาว่านักเรียนฉือจี้ยังมีกิจวัตรอีกอย่างคือ เยี่ยมคนป่วยหรือสงเคราะห์คนชราอนาถา และที่หนีไม่พ้นก็คือ งานเก็บและแยกขยะ งานอย่างหลังนี้ช่วยให้เด็กมีสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม และระมัดระวังในการบริโภค ไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือใช้ของอย่างฟุ่มเฟือย
ระหว่างที่เยี่ยมเยียนตามห้อง ได้พบแม่บ้านอยู่กลุ่มหนึ่งกำลังทำงานอยู่ สอบถามจึงได้ความว่าเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยงานโรงเรียน อาสาสมัครเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้เป็น “แม่อุปถัมภ์” มีหน้าที่ช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของตน แม่และพ่ออุปถัมภ์จะทำงานเป็นทีม ทีมหนึ่งมีประมาณ ๕ คน แต่ละทีมดูแลนักเรียน ๑๕ คน แต่ละห้อง (ซึ่งมีนักเรียน ๓๐ คน)จึงมีพ่อแม่อุปถัมภ์ ๒ ทีม
พ่อแม่อุปถัมภ์จะคอยติดตามผลการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ของลูกอุปถัมภ์ อาจจะโทรศัพท์ไปคุยที่บ้าน หรือมาเยี่ยมที่โรงเรียน บางคราวก็มาจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม เช่น เล่านิทานในห้องเรียน หรือสอนการจัดดอกไม้ พ่อแม่อุปถัมภ์จึงช่วยผ่อนเบาภาระของครูและพ่อแม่ตัวจริงได้มาก
จากโรงเรียนประถมและมัธยม ซึ่งมีนักเรียน ๔๐๐ คนและ ๘๐๐ คนตามลำดับ เราได้ไปเยี่ยมวิทยาลัยเทคโนโลยีของฉือจี้ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆกัน วิทยาลัยนี้เดิมเป็นวิทยาลัยพยาบาล มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลของฉือจี้ (เพราะตอนแรก ๆ มีพยาบาลน้อยคนที่จะมาทำงานในโรงพยาบาลของฉือจี้เนื่องจากเป็นโรงพยาบาล “บ้านนอก”) แต่ตอนหลังขยายเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยี นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ขาดโอกาสในการศึกษา คนเหล่านี้หากสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็คงสู้เขาไม่ได้ วิทยาลัยดังกล่าวจึงเป็นช่องทางให้ลูกหลานชนกลุ่มน้อย (ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นชาวเขา) มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น หลายคนจบแล้วก็ไม่ได้ไปไหน แต่กลับไปช่วยเหลือชุมชนของตน
การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
วันรุ่งขึ้น เราออกจากที่พักตั้งแต่ ๖ โมงเช้า เพื่อไปเยี่ยมเยียนสมณรามจิ้งซือ ของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งอยู่ชานเมือง ทุกเช้าจะมีการสนทนาธรรมระหว่างอาสาสมัครฉือจี้กับท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน โดยมีการถ่ายทอดไปยังเครือข่ายฉือจี้ทั่วโลก และผ่านสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายด้วย แต่เช้าวันนี้ท่านธรรมาจารย์ไปเยี่ยมเยือนสมาชิกในอีกเมืองหนึ่ง เราจึงเห็นแต่อาสาสมัครมาเล่าประสบการณ์ของตน แต่ละเรื่องที่เล่าล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากทำความดีโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ฉือจี้จะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันมาก เพราะธรรมะนั้นไม่ได้อยู่ที่นักบวชหรือในคัมภีร์เท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้ผ่านชีวิตจริงของผู้คน ท่านธรรมาจารย์เน้นเสมอว่า ทุกคนคือโพธิสัตว์ ทุกคนมีคุณงามความดีอยู่ในตัว และเราสามารถเรียนรู้จากความดีของกันและกันได้ ตรงนี้อาจต่างจากชาวพุทธจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยที่คิดว่า ต้องเรียนธรรมะจากพระหรือจากตำราเท่านั้น การปลูกฝังศีลธรรมจึงเน้นแต่การเทศน์การสอน ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี ๆ จากกันและกัน ศีลธรรมเลยกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและห่างไกลจากชีวิตของคนธรรมดา
สมณารามนี้มีแต่ภิกษุณี ปัจจุบันมี ๑๕๐ รูป ที่นี่มีข้อวัตรพิเศษอยู่ข้อหนึ่งคือ ไม่รับบริจาคด้วยประการทั้งปวง หากจะบริจาคก็บริจาคให้มูลนิธิฉือจี้เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ข้อวัตรดังกล่าวทำให้ภิกษุณีทุกรูปต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง สมณรามแห่งนี้มีคติว่า “ไม่ทำงาน ก็ไม่กิน” แต่ก่อนท่านต้องทำนาเอง ถึงกับลากคันไถเองก็เคยมาแล้ว แต่ตอนหลังก็เลี้ยงชีพด้วยการทำของขาย เช่น รองเท้าเด็ก ปัจจุบันท่านทำเทียนหล่อขาย รายได้นั้นไม่มากเท่าไร แต่ก็พอเลี้ยงตัวได้ แถมยังมีเงินเหลือสำหรับบูรณะและพัฒนาสมณราม ซึ่งทุกวันจะมีอาสาสมัครมาเยี่ยมเยียนหลายร้อยคน
จากสมณราม ถึงเวลาที่เราจะได้เยี่ยมเยือนโรงพยาบาลแห่งแรกของฉือจี้ โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของฉือจี้ เพราะตอนที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนตัดสินใจจะสร้าง มูลนิธิมีเงินแค่ ๓๐ ล้านเหรียญไต้หวัน ขณะที่โรงพยาบาลต้องใช้ทุนสร้างถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งเท่ากับ ๘ เท่าของงบประมาณประจำปีของฮวาเหลียน แทบไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะฉือจี้เป็นมูลนิธิเล็ก ๆ แต่ท่านธรรมาจารย์มั่นใจว่าจะสร้างได้ เพราะท่านเชื่อมั่นในน้ำใจของผู้คน ภายในเวลา ๗ ปี โรงพยาบาลขนาดพันเตียงก็สร้างได้สำเร็จ ด้วยเงินบริจาคของคนเล็กคนน้อยทั้งนั้น ว่ากันว่าเคยมีเศรษฐีญี่ปุ่นจะบริจาคเงินนับร้อยล้านเหรียญให้ท่าน แต่ท่านปฏิเสธ เพราะต้องการให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
โรงพยาบาลแห่งนี้ รวมทั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ไทเป ปัจจุบันเป็นเสมือน “เมกกะ” ของผู้ที่ต้องการศึกษา “การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์” (humanized health care) เพราะหมอและพยาบาลของที่นี่ นอกจากจะมีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย เพราะคำนึงถึงจิตใจของคนไข้พอ ๆ กับร่างกายของเขา ที่นี่จึงไม่ได้รักษา “โรค”เท่านั้น แต่ยังรักษา “คน”ด้วย
บรรยากาศของโรงพยาบาลแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป นอกจากจะโปร่งโล่ง สะอาด และไร้กลิ่นยาแล้ว ยังมีอาสาสมัครมาคอยช่วยดูแลคนไข้หรือให้บริการผู้เยี่ยมเยือน อาสาสมัครเหล่านี้มีทั้งผู้ที่เกษียณอายุแล้ว และที่ยังมีงานประจำอยู่ แต่ปลีกตัวมาช่วยโรงพยาบาล บางคนเป็นสถาปนิก บางคนเป็นนักธุรกิจ บางคนเป็นอาจารย์ อาสาสมัครเหล่านี้แหละที่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของโรงพยาบาล สร้างความประทับใจให้แก่คนไข้และญาติที่ได้รับบริการอย่างสุภาพอ่อนน้อม
เป็นเพราะความประทับใจดังกล่าว ผลพวงประการหนึ่งที่ตามมาก็คือ มีคนบริจาคร่างกายให้แก่นักศึกษาแพทย์ของฉือจี้เป็นจำนวนมาก จนล้นเกินความต้องการ ถึงกับต้องมอบให้โรงเรียนแพทย์แห่งอื่น ๆ คณบดีของคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ พาพวกเราไปดูห้องเก็บร่าง “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งทอดร่างนอนโดยมีผ้าขาวคลุมอย่างเป็นระเบียบ ฟังจากเรื่องที่ท่านเล่า ทำให้ทราบว่าที่นี่ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนไข้อย่างเคารพเท่านั้น แต่ยังทำเช่นนั้นกับผู้ที่ตายไปแล้วด้วย กล่าวคือก่อนที่นักศึกษาแพทย์จะทำการศึกษาร่างของอาจารย์ใหญ่ ทุกคนจะต้องไปศึกษาเรียนรู้ชีวิตของอาจารย์ใหญ่ตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่ โดยไปพูดคุยกับญาติหรือครอบครัวที่บ้าน กิจกรรมดังกล่าวทำให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกเคารพอาจารย์ใหญ่มากขึ้น และเกิดความกตัญญูรู้คุณโดยอัตโนมัติ หลายคนซาบซึ้งในบุญคุณเมื่อรู้ว่าอาจารย์ใหญ่ไม่ยอมฉายแสงหรือทำเคมีบำบัดเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เพราะต้องการให้ร่างกายอยู่ในสภาพธรรมชาติที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาแพทย์ หลายคนเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีเมื่อรู้ว่าอาจารย์ใหญ่ได้ทำความดีงามมากมายก่อนตาย นี้คือกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมให้แก่นักศึกษาแพทย์ที่ได้ผลมาก โดยไม่ต้องนิมนต์พระมาเทศน์หรือเชิญอาจารย์มาบรรยาย ตลอด ๔ ปีที่ศึกษากับอาจารย์ใหญ่ ทำให้นักศึกษาแพทย์จำนวนไม่น้อยตั้งปณิธานว่าจะอุทิศตัวเพื่อคนไข้เพื่อตอบแทนบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ หลายคนได้เรียนรู้จากญาติ ๆ ว่าก่อนตายอาจารย์ใหญ่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความรู้เหล่านั้นช่วยให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจมิติทางสังคมและจิตใจของคนไข้มากขึ้น มิใช่รู้แต่มิติทางกายภาพเท่านั้น
ที่โรงพยาบาลฉือจี้ในไทเป ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางในวันสุดท้าย เราได้ทราบเพิ่มเติมว่า ทุกวันมีอาสาสมัครมาช่วยงานโรงพยาบาลประมาณ ๒๒๐ คน คนเหล่านี้ใช่ว่าจะมีโอกาสมาช่วยงานได้ง่าย ๆ เพราะมีคนลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครถึง ๕,๐๐๐ คน และกว่าจะได้เป็นอาสาสมัครก็ต้องผ่านการอบรมก่อน งานของอาสาสมัครมีหลายอย่าง ตั้งแต่การเล่นเปียโนให้คนไข้นอกและญาติฟัง (ตอนที่ไปเยี่ยม อาสาสมัครสาวกำลังเล่นเพลง moon river ด้วยท่วงลำนองละมุนละไมอย่างยิ่ง) ไปจนถึงกวาดทางและตกแต่งสวน
ระหว่างที่เดินผ่านสวนลอยในโรงพยาบาล ท่านเดิมแท้ได้ทักทายอาสาสมัครคนหนึ่งซึ่งกำลังตัดกิ่งไม้ในสวน ท่านกระซิบว่าคนนี้เป็นผู้จัดการบริษัท ได้ยินแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่เมืองไทยจะมีคนระดับผู้จัดการบริษัทสักกี่คนที่พร้อมมาทำงานใช้แรงแบบนี้ให้กับหน่วยงานการกุศล แต่สำหรับชาวฉือจี้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก อย่าว่าแต่ผู้จัดการบริษัทเลย เศรษฐินีบางคนซึ่งมีเงินนับร้อยล้านยังมาบริการน้ำชาและขนมให้แก่พวกเราด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือได้ทราบมาว่าเจ้าของโรงงานผลิตเหล็กกล้าอันดับต้น ๆ ของประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของฉือจี้ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ตุรกีหลายปีก่อน เจ้าตัวนอกจากจะบริจาคเงินเป็นจำนวนหลายสิบล้านแล้ว ยังมายืนถือกล่องบริจาคตามสถานที่สาธารณะ ในเมืองไทยภาพเช่นนี้ไม่เคยปรากฏ มีก็แต่บริจาคเงินต่อหน้าสื่อมวลชนหรือในรายการโทรทัศน์เพื่อให้เป็นข่าว
สถานีโทรทัศน์สีขาว
สถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายเป็นจุดสุดท้ายของการดูงาน สถานีดังกล่าวฉือจี้มุ่งให้เป็นสถานีโทรทัศน์แนวคุณธรรม แม้จะมีการรายงานข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่จะเสนอและวิเคราะห์ในแง่ของการส่งเสริมคุณธรรม ข่าวที่ส่งเสริมหรือสนองกิเลสคนดูในเรื่องเพศและความรุนแรง ไม่ปรากฏในสถานีนี้เช่นเดียวกับโฆษณาที่ส่งเสริมบริโภคนิยม รายการที่ได้รับความนิยมมากคือละครที่ถอดมาจากชีวิตจริงของคนทำดี ท่านเดิมแท้บอกว่า ละครที่เรียกน้ำตาคนดูอย่างละครเกาหลีนั้น หาดูได้จากต้าอ้ายได้ทุกวัน นอกจากนั้นยังมีสารคดีชีวิตของ “โพธิสัตว์รากหญ้า” รายการเหล่านี้มีการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมมายังเมืองไทยด้วย เพราะมีสมาชิกฉือจี้ถึง ๔,๐๐๐ คนที่บ้านเรา
สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวจัดว่าเป็นสถานี “ทางเลือก” โดยแท้ เพราะนายทุนเข้ามาควบคุมไม่ได้ รายได้ ๑ ใน ๔ มาจากการรีไซเคิลขยะ อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินบริจาคของสมาชิกฉือจี้ และอีกส่วนหนึ่งได้มาจากเงินบริจาคของบริษัทห้างร้านในรูปการอุปถัมภ์รายการ รายการของสถานีโทรทัศน์ต้าอ้ายแม้ไม่ได้มุ่งสนองความบันเทิงอย่างบ้านเรา แต่มีผู้ชมเยอะมาก เฉพาะสมาชิกของฉือจี้ก็มีเกือบ ๑ ใน ๔ ของประเทศแล้ว ท่านเดิมแท้เล่าว่ามีสมาชิกฉือจี้จำนวนมากที่ไม่เปิดดูช่องอื่นเลย ดูแต่ช่องของต้าอ้ายเท่านั้น เปรียบเทียบกันแล้ว เมืองไทยยังอยู่ห่างไกลนัก เพราะรายการธรรมะมีคนดูน้อยมาก ยังไม่ต้องพูดถึงช่องธรรมะ
เมืองไทยที่ใคร ๆ ชอบพูดว่าเป็นเมืองพุทธ เมื่อมาเปรียบกับไต้หวันแล้ว นับว่ายังห่างไกลกันนัก นอกจากผู้คนทั้งประเทศจะหมกมุ่นอยู่กับรายการทางวิทยุโทรทัศน์ที่ส่งเสริมโลภะ โทสะ โมหะอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว คนที่อยากจะทำความดีเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็มีน้อยมาก ใครที่ทำงานอาสาสมัครถือว่าโง่ เพราะไม่มีวันรวย และถ้าอยากรวยก็ไม่ต้องทำอะไรมาก หาจตุคามรามเทพรุ่นดี ๆ มาห้อยคอก็พอแล้ว ผลก็คือมีการปล้นจี้จตุคามรามเทพกัน เพิ่มยอดอาชญกรรมที่มากอยู่แล้วให้มากขึ้น
ตลอด ๔ วันที่อยู่ไต้หวัน แทบไม่ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการปล้นฆ่าหรือข่มขืนเลย ท่านเดิมแท้ซึ่งอยู่ไต้หวันมาหลายปีบอกว่าหากมีใครถูกฆ่าสักคนจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่นี่ผู้คนขยันทำมาหากิน ไม่คลั่งช็อปปิ้งหรือสินค้าแบรนด์เนม ไปไหนมาไหนเห็นแต่สินค้าที่ผลิตในประเทศ ยี่ห้อดัง ๆ จากฝรั่งเห็นน้อยมาก ในยุคที่ใคร ๆ ในเมืองไทยก็พร่ำพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง มีหลายอย่างมากที่เราควรเรียนรู้จากไต้หวัน ฉือจี้เป็นหนึ่งในนั้นที่เราควรศึกษาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น