++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เงินท่วมประเทศไทยรุนแรง

โดย สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


เรื่องเงิน ไม่ต่างไปจากเรื่องน้ำ น้ำแล้งก็ไม่ดี น้ำท่วมก็ไม่ดี เงินแห้งและเงินท่วมก็ไม่ดีเช่นกัน ปริมาณเงินพอดีๆ จึงจะดี

การพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 2521-2525 ทำให้เงินทุนไหลออกจากบาท จนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงถึงขีดอันตราย ทำให้เศรษฐกิจของระบบเสียหาย จนต้อง “ลดค่าเงินบาท” และเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเป็นครั้งแรก

การพังทลายของตลาดหุ้นไทยในปี 2537-2540 ทำให้เงินทุนไหลออกอย่างหนัก ทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจของระบบเสียหายหนักกว่าเดิม จนต้อง “ลอยค่าเงินบาท” ต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินต่อไอเอ็มเอฟเป็นครั้งที่ 2

การพังทลายของตลาดหุ้นแนสแดกซ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2543-2545 (2000-2002) ทำให้เงินทุนไหลออกจากดอลลาร์อย่างหนัก ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเสียหาย เกิดหนี้เสียท่วมท้น กลายเป็นประเทศยากจนใหม่ ขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณเงินเหรียญสหรัฐมีส่วนแบ่งของสกุลเงินโลกมากที่สุด ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ กล่าวได้ว่า เงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินสกุลของโลกได้

เงินที่ไหลออกจากดอลลาร์ หมายความว่ามีการทิ้งเงินสกุลดอลลาร์ไปถือเงินสกุลอื่น และสินทรัพย์ในเงินสกุลอื่น ส่งผลให้ “ราคา” เยน ยูโร ปอนด์ หยวน บาท ฯลฯ หุ้นประเทศต่างๆ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ สูงขึ้น ทุนสำรองของประเทศต่างๆสูงขึ้น

การที่ค่าเงินบาทสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หาใช่เพราะการขาดความเชื่อมั่นต่อเงินเหรียญสหรัฐแต่อย่างเดียวไม่ การเปิดตลาดอนุพันธ์ในตลาดหุ้นไทย คือตลาดขึ้นก็สามารถทำกำไรได้ ตลาดตกก็สามารถทำกำไรได้ ไม่มีทางขาดทุน ส่งผลให้มีการเข้ามาหาประโยชน์ในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น การเก็งกำไรและการปั่นจะเกิดใน 2 ตลาดเสมอ คือเก็งกำไรทั้งในตลาดทุนและตลาดเงินพร้อมกัน แรงเก็งกำไรรุนแรงมาก เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ปริมาณเงินที่ใช้ในการเก็งกำไรในตลาดทุน มากกว่าธุรกรรมภาคการผลิตจริง 2-5 เท่า และสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ฟองสบู่พองแล้วแตก พองแล้วแตกทุกๆ 10-15 ปี

วันที่ 19 ธันวาคม 2539 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทางการได้ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ เงินทุนไหลเข้า เป็นเครื่องชี้บอกว่า เงินทุนได้ท่วมประเทศไทยแล้ว มาตรการดังกล่าวประสบความล้มเหลวในวันแรก ทำให้หุ้นตกกว่า 100 จุด ต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวในวันเดียว เป็นการยอมจำนนต่อปัญหาเงินทุนไหลเข้า เสมือนเขื่อนที่พังทลายลง ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยรุนแรงมากกว่าเดิมอีก วันที่ออกมาตรการกันสำรอง ทุนสำรองการเงินตราระหว่างประเทศสุทธิของไทยอยู่ที่ 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปลายเดือนตุลาคม 2553 ทุนสำรองเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 183,650 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินท่วมประเทศมากกว่าเดิม และท่วมไทยรุนแรงมา 4 ปีแล้ว

เงินทุนไหลเข้าอย่างผิดปกติ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศผิดปกติไปหมด เกิดผลดี-ผลเสียอย่างผิดปกติ เกิดผลดีอย่างผิดปกติคือ ผู้นำเข้ามีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ เกิดผลเสียอย่างผิดปกติคือ ผู้ส่งออกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน คนฝากเงินได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราต่ำอย่างผิดปกติ คนกู้เงินก็ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้อัตราสูงอย่างผิดปกติ ธนาคารมีกำไรจากดอกเบี้ยน้อย จึงคิดหากำไรจากค่าธรรมเนียมต่างๆ มากขึ้น ผู้บริโภคต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารสูงขึ้น และแม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า ส่งผลให้ดอกเบี้ยผู้ฝากเงินติดลบ ซึ่งติดลบติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ผลเสียสูงมากกว่าผลดี

ประเทศไทยแก้แต่ปลายเหตุของปัญหาอยู่เช่นเดิม ทำให้ประเทศไทยเสื่อมทรุดลงตลอดเวลา ที่ยากจนอยู่แล้ว ก็จะยากจนลงไปอีก เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา

indexthai@yahoo.com
http://twitter.com/indexthai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น