++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อาหารใจ

อาหารใจ

ร่างกายต้องการอาหารเข้ามาหล่อเลี้ยง เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ หากร่างกายเริ่มขาดอาหาร จะแสดงอาการอ่อนแอ หมดเรี่ยวแรง ถ้าไม่ได้รับอาหารเลยก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ร่างกายต้องการอาหารกาย จิตใจก็ต้องการอาหารใจมาช่วยหล่อเลี้ยงด้วยเช่นเดียวกัน อาหารของใจคือ ธรรมะ หรือ คุณธรรมต่าง ๆ ใจที่มีสภาพเหี่ยวแห้ง หดหู่ ว้าเหว่ ขาดความแช่มชื่นแจ่มใส เป็นอาการของความหิวโหย เพราะขาดธรรมะไปหล่อเลี้ยง

แม้ว่าร่างกายจะได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่หากใจขาดคุณธรรมเข้าไปหล่อเลี้ยง ชื่อว่าดูแลแต่สุขภาพกายอย่างเดียว สุขภาพใจไม่ได้รับการดูแล ในแต่ละวันควรสำรวจดูว่า ได้ให้อาหารใจบ้างหรือยัง ใจกำลังแสดงอาการฟ้องให้ทราบหรือไม่ว่า กำลังหิวโหยและได้เวลาให้อาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงแล้ว

การสนองความต้องการของจิตใจ ด้วยการมุ่งแต่แสวงหาเงินทองทรัพย์สมบัติให้ได้มาก ๆ แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อแลกกับวัตถุเครื่องบำรุงบำเรอ และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ตามที่ใจต้องการ ไม่ได้เป็นการให้อาหารใจอย่างแท้จริง เพราะแม้ว่าใจจะได้รับทุกอย่างตามที่ต้องการแล้ว หากตรวจสอบสภาพจิตใจดูอย่างรอบคอบ จะพบว่าใจยังคงแสดงอาการหิวโหยอยู่ ยังมีความเหี่ยวแห้งหดหู่ ยังเป็นคนขี้เหงา เจ้าอารมณ์ วิตกกังวล อยู่เช่นเดิม

ใจที่ได้รับการปรนเปรอด้วยการหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองแต่อย่างเดียวเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นใจที่ได้รับการดูแล เพราะแม้ว่าใจจะได้รับสิ่งที่สนองความต้องการแล้ว ใจจะมีอาการยินดีและเพลิดเพลินเพียงชั่วครู่ เป็นความเพลิดเพลินยินดี เพราะความอยากของใจระงับไปคราวหนึ่ง ต่อไปใจจะเรียกร้องหรือเสนอความต้องการอันใหม่ขึ้นมาอีก ก็ต้องวิ่งหาสิ่งมาปรนเปรอ เพื่อระงับความอยากอีกครั้งหนึ่ง และชั่วชีวิตนี้ต้องวิ่งระงับความอยากไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีความอยากอีกมหาศาลจ่อคิวรออยู่ในใจ

ใจที่ได้รับการปรนเปรอเช่นนี้ จะเดือดร้อนดิ้นรนอยู่ไม่เป็นสุข มีอาการที่ไม่อิ่มอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นที่ว่า ไม่รู้ว่าต้องการอะไรกันแน่ รู้แต่เพียงว่า สภาพจิตในขณะนี้ ไม่น่ายินดี น่าเบื่อหน่ายเสียจริง ๆ ซึ่งต่างจากใจที่มีคุณธรรมเข้าหล่อเลี้ยง จะเป็นใจที่รู้สึกอิ่มเอิบอยู่ภายใน ไม่ต้องอาศัยการปรนเปรอตามใจ ก็มีความสุขได้
การให้อาหารใจ เป็นเรื่องง่ายจนแทบคิดไม่ถึง เป็นสิ่งที่อาจจะมองข้ามไปเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่ได้ทำบ่อยจนสังเกตได้ว่า นั่นคือการให้อาหารใจอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่คนรอบข้าง ยกมือไหว้ผู้ใหญ่ด้วยความเคารพอ่อนน้อม รอยยิ้มด้วยไมตรีที่มอบให้แก่คนคุ้นเคย การพูดคุยให้กำลังใจกัน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่ลำบากเดือดร้อน
หลักกว้าง ๆ คือ การทำสิ่งที่ดี พูดเรื่องดี คิดเรื่องดี อย่างหนึ่งอย่างใด เท่านี้ใจก็ได้รับอาหารใจเข้าหล่อเลี้ยงแล้ว ตามปกติทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ขอเพียงพยายามทำ ซึ่งก็ไม่ใช่เพื่อใคร การทำสิ่งที่ดี ๆ เพื่อคนอื่น ก็เพื่อสิ่งดี ๆ จะเกิดภายในใจ อันเป็นอาหารใจที่จะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของตนเองให้มีความแข็งแรง คือเป็นใจที่สุขเย็นและอิ่มอยู่เสมอ


....ธัมมาภินันโท ภิกขุ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น