++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำไมต้องไหว้ครู...? และไหว้ครูจำเป็นแค่ไหน?

ทำไมต้องไหว้ครู...? และไหว้ครูจำเป็นแค่ไหน?

ทำไมต้องไหว้ครู? และไหว้ครูจำเป็นแค่ไหน?
หลายวันที่ผ่านมาภูเตศวรกับคุณทมยันตีต้องถึงกาล ‘อยู่ร้อนนอนทุกข์’ กับการต้องคอยรับโทรศัพท์จากท่านผู้อ่านขวัญเรือนอย่างมิยอมว่างเว้น...หลัง จากขวัญเรือนได้ประมวลภาพวันไหว้ครูของเราลงไปในฉบับครบวัยเบญจเพสของเธอ จนไม่ต้องเป็นอันทำงานทำการกัน
โทรศัพท์ที่มีเข้ามาส่วนใหญ่อยู่ในสองประเด็นหลัก
หนึ่ง คือ...มีความต้องการให้ภูเตศวรช่วยไปเป็นเจ้าพิธีให้กับตัวเองในงานไหว้ครู
สอง ถามไถ่รายละเอียดของพิธีไหว้ครู และการไหว้ครูเกี่ยวข้องกับธรรมะของชาวพุทธหรือไม่?
ทั้งปวงจึงเป็นเหตุให้ ‘ธรรมะ ๕ นาที’ ในวันนี้ต้องยกประการดังกล่าวขึ้นเป็นหัวข้อวิสัชนา
ครู...มาจากคำว่า ‘คุรุ’ ในภาษาสันสกฤต
ครูถือเป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งยวดต่อมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ครูทำให้เรามีสรรพวิชาเอาไว้ทำประโยชน์ในการเลี้ยงชีพและดำรงชีพ
เช่นนั้น เราจึงควรรำลึกถึงพระคุณของท่าน เมื่อถึงกาลเวลาอันสมควร...
กระทรวงศึกษาธิการกำหนดวัน ‘ครู’ เอาไว้เป็นทุกวันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปี คำถามก็เลยเกิดขึ้นว่าทำไมต้องเป็นวันนั้น แต่จนบัดนี้ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถสอบถามหรือค้นได้ว่าทำไม?
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทย การไหว้ครูมีมาตั้งแต่โบราณกาล โดยแยกประเภทของครูออกไปตาม ‘วิชา’ แห่งศาสตร์ทั้งหลาย อาทิ...ครูเวทมนตร์คาถา ครูศิลปการช่าง ครูวรรณกรรม ครูดนตรี ฯลฯ
ผู้เขียนขอยกข้อเขียนของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ในหนังสือ ‘คัมภีร์พระเวท ปฐมบรรพ’ บางตอนมากล่าวอ้าง ถึงความสำคัญของการไหว้ครูให้เด่นชัดขึ้นสักนิด ท่านอาจารย์ว่าไว้อย่างนี้ครับ.....
“สมเด็จ พระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศน์เทพวราราม (เป็นปรมาจารย์สร้างพระกริ่งผู้ยิ่งยงไม่แพ้สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศฯ) ทรงถือประเพณีในเรื่องการเคารพครูบาอาจารย์นี้เป็นยิ่งนัก ถ้าทรงทราบว่าผู้ใดที่เล่าเรียนในเรื่องคาถาอาคม และประกาศตนว่าเรียนรู้มาได้เอง โดยมิได้มีครูบาอาจารย์ ทรงรับสั่งติเตียนและทักท้วงว่าแม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณอันสูงสุดด้วยพระองค์ท่านเอง แม้ถึงกระนั้นก็ดี พระองค์ยังทรงรำลึกถึงคุณดาบส ผู้เป็นบุพพาจารย์แต่แรกเริ่ม...
ประสาอะไรกับเราท่านทั้งหลายจะได้เรียนรู้กันได้โดยปราศจากครูบาอาจารย์ และคำว่า ‘ครู’ นี้มิได้หมายความว่า เป็นผู้อบรมสั่งสอนโดยตรงทีเดียวก็หาไม่ แม้แต่เราแอบจดจำมาจากผู้อื่น หรือได้พบในตำรับตำราต่าง ๆ สิ่งที่มาเหล่านั้นก็นับเนื่องว่าเป็นครูเราด้วยเหมือนกัน แม้มิใช่ทางตรงก็เป็นทางอ้อม ฉะนั้นท่านจึงได้เรียกขานกันว่า ‘ครูภักดิ์-รักจำ’ ดังนี้...”

ครับ...นั่นคือ ความเห็นของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) ซึ่งให้ความสำคัญต่อครู-อาจารย์เป็นที่ยิ่ง จึงสามารถกล่าวได้ว่า ในอดีตกาลนับเนื่องสืบทอดกันมา คนไทยทั้งหลายล้วนปฏิบัติการไหว้ครูเป็นแบบแผนที่ควรแก่การยกย่องมาโดยตลอด และในฐานะที่เป็นคนไทย คุณทมยันตีกับผู้เขียน จึงเห็นพ้องต้องกันในการจัดพิธีดังกล่าวอยู่สามประการ...
หนึ่ง คือเราได้อาศัยวรรณศิลป์มาเป็นวิชาชีพเลี้ยงตนและครอบครัว ได้อาศัยตัวอักษรที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชท่านทรงบัญญัติขึ้น เราควรกราบไหว้รำลึกถึงคุณของท่าน แต่ในการนี้เราจึงถือโอกาสไหว้พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า รวมทั้งคุณแห่งบิดามารดาซึ่งถือเป็น คุรุ ท่านแรกในชีวิตเราด้วย ประการนี้อยู่ในธรรมะข้อหนึ่งของพรหมวิหารสี่ คือการแสดงมุทิตาจิต
สอง สืบสานมรดกและวัฒนธรรมของไทยเอาไว้ มิให้เลือนหายไปตามการพัฒนาของโลกทางวัตถุ ในงานไหว้ครูจำต้องมี ‘บายศรี’ อันเป็นงานประณีตศิลป์ ช่างงานตองจะได้โชว์ฝีมืออันวิจิตรของตนอย่างเต็มที่ กับอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดมิได้ก็คือ ‘ปี่พาทย์’ ซึ่งเป็นดนตรีไทยโบราณที่นับวันอนุชนรุ่นหลังน้อยครั้งจะได้ยินได้ฟัง ประการทั้งปวงเพื่อเป็นการอนุรักษ์ความดีความงามของวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้
สาม เพื่อความเป็นสิริมงคลกับการได้ทำบุญ ในงานไหว้ครูจำต้องนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นมงคลประการหนี่งสำหรับผู้มาร่วมพิธี และตามธรรมเนียมของไทยเราจะถือโอกาสนั้นทำการเลี้ยงพระ เท่ากับเป็นการได้ทำบุญกุศลไปด้วย

ทั้งสามประการคือเหตุผลของผู้เขียนและคุณทมยันตี ต่อการจัดพิธีไหว้ครูของตนในทุกวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี...
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า คนเราต้องทำพิธีไหว้ครูทุกคนหรือ?
คำตอบก็คือ ‘ไม่จำเป็น!’ แต่ทุกคนควร ‘รำลึกถึงครู’ เพราะครูเป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่งยวดต่อเราทั้งหลาย...
บางท่านอาจจะมีคำถามต่อท้าย
‘การรำลึกถึงครูที่สมบูรณ์กระทำอย่างไร?’
‘ง่ายนิดเดียว’ เป็นคำตอบของหลวงพ่อที่ภูเตศวรเคารพนบไหว้ อีกทั้งยังแนะนำต่อด้วยว่า...
“ควรทำให้ได้ทุกวันด้วยก็จะดี” เพื่อเป็นการไม่เสียเวลาขอกล่าวโดยสรุปดังนี้ครับ...
คุณต้องรู้จักการไหว้หรือกราบ ๕ ครั้ง ซึ่งโดยปกติทั่วไปเราท่านทั้งหลายล้วนรู้จักการกราบสามครั้ง คือ ‘กราบพระรัตนตรัย’ อันหมายถึงคุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว
การกราบ ๕ ครั้ง จึงเป็นการรวมถึงคุณแห่งบิดามารดา และคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์เข้าไปด้วยเท่านั้นเอง เห็นไหมครับว่าง่ายแค่ไหน แต่ควรทราบว่า การกราบไหว้ ๕ ครั้งที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่ทำกันแบบลวก ๆ กราบกันแค่กิริยาให้เห็นอย่างเดียว การกราบที่ถูกต้องควรกราบลงช้า ๆ
กราบครั้งแรก ให้กำหนดนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงเป็นบรมคุรุผู้ทุ่มเท ความพากเพียรอย่างแรงกล้าไม่ว่าจะเป็นการทรมานกายสังขาร เพื่อบรรลุธรรมนำมาสั่งสอนเราให้พ้นทุกข์
กราบครั้งที่สอง กำหนดจิตรำลึกถึงคุณแห่งพระธรรมคำสั่งสอน อันเป็นสัจจปรมัตถ์ที่จะนำให้เราก้าวล่วงจากวัฏสงสารสู่การไม่เกิด ตายในอนาคตกาล
กราบครั้งที่สาม กำหนดจิตรำลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ผู้เป็นสุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
กราบครั้งที่สี่ กำหนดจิตนึกถึงพระคุณของบิดามารดา ผู้ให้กำเนิดชีวิต เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาเบื้องต้น พร้อมกับดูแลปกป้องรักษาเรามาด้วยความรักอันบริสุทธิ์ยิ่งมาโดยตลอด...
กราบครั้งที่ห้า กำหนดจิตรำลึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่อบรมสั่งสอนสรรพวิชาทั้งปวงแก่เรา เพื่อให้เรามีวิชาชีพเลี้ยงตนมาโดยตลอด

เห็นไหมครับการรำลึกถึงครูตามแบบฉบับนี้ง่ายเพียงใดต่อการปฏิบัติ เพียงแต่เวลาทำต้องทำด้วยความแน่วแน่ มีสมาธิ การทำอย่างมีสมาธิต้องทำช้า ๆ กำหนดจิตให้มุ่งตรงต่อผู้มีคุณทั้งห้าประการ อย่าให้จิตวอกแวก เท่านั้นก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว
เวลาเหมาะสมที่สุดของการรำลึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้น คือช่วงเช้าก่อนออกทำหน้าที่การงานของตน กับช่วงเวลาก่อนนอน เป็นดีที่สุด...
และ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ถ้าผู้ใดก็ตาม สามารถกระทำเยี่ยงนี้ได้เป็นกิจวัตรประจำวัน ยังมีคุณค่ามากกว่าการจัดพิธีไหว้ครูให้ใหญ่ ๆ โต ๆ เสียอีก เชื่อว่าผู้กระทำอย่างสม่ำเสมอจักได้รับความปกปักคุ้มครองจากพระรัตนตรัย และบิดามารดา ครูบาอาจารย์อย่างครบถ้วน ซึ่งจะเป็นผลต่อความสุขความเจริญแห่งชีวิตตนตลอดไป...
ท้ายสุดขอจบด้วย ธรรมสุภาษิตที่ว่า...

‘สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว’
ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อมแล

ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้รู้ดีด้วยเทอญ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น