++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “นางฟ้ากับซาตาน”

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 15 พฤศจิกายน 2553 09:27 น.










ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

แทบจะทันทีที่ “อองซาน ซูจี” ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังถูกกักขังอยู่ในบ้านพักเป็นระยะเวลายาวนาน “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ฉวยโอกาส ออกแถลงการณ์ โยงกรณีของ “อองซาน ซูจี” เข้าสู่วาระทางการเมืองของตนเองอย่างไม่กระดากอาย

สื่อมวลชนไทยบางสำนัก ถึงกับเรียกขานพฤติการณ์ของทักษิณในครั้งนี้ว่า “ซุกผ้านุ่ง ซูจี”

คล้ายๆ กับ ที่ทักษิณและบริวารลูกจ้างของเขา เคยพยายามหยิบยกตัวเองขึ้นไปเปรียบเทียบกับ “อองซาน ซูจี” หลายครั้งหลายหน

“ทักษิณ ชินวัตร” กับ “อองซาน ซูจี” เปรียบเทียบกันได้หรือไม่?

ถ้าลองเปรียบเทียบกันแล้ว ควรจะได้เรียนรู้ความเหมือนหรือความต่างประการใด?

1) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน

“ซูจี” เกิดเมื่อปี พ.ศ.2488 ส่วน “ทักษิณ” เกิดปี 2492 แก่กว่ากันเพียง 4 ปี

2) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็น “นักเรียนนอก” เหมือนกัน

แต่ “ซูจี” จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร (มหาวิทยาลัยเดียวกันกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ส่วน “ทักษิณ” จบระดับปริญญาเอก ด้านอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต สหรัฐอเมริกา (ใครรู้จักบ้าง ยกมือขึ้น)

3) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีจุดกำเนิดทางการเมืองแตกต่างกัน

เมื่อปี 2530 ประชาชนพม่าไม่พอใจ “ระบอบเนวิน” (อดีตผู้นำเผด็จการทหารพม่า) เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเงินตรา ทำให้เกิดการประท้วงลุกลาม แผ่ขยายออกไป กระทั่งนายพลเนวินลาออกไปแล้ว ก็ยังมีการชุมนุมประท้วง ก่อนจะนำมาซึ่งการใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน มีคนล้มตายจำนวนมาก แล้ว “ซูจี” ก็แสดงบทบาท ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน โดยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป

“ซูจี” ขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่วันที่ 26 สิงหาคม ต่อหน้าประชาชนกว่า 500,000 คน ที่มาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง เรียกร้องประชาธิปไตย หลังจากนั้น ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ

ตรงกันข้ามกับทักษิณอย่างสิ้นเชิง

ปี 2540 ประชาชนไทยเดือดร้อนจากการลอยตัวค่าเงินบาทโดยรัฐบาลพลเอกชวลิต ท่ามกลางครหาว่าทักษิณมีส่วนรับรู้ข้อมูลลับ ทำให้สามารถเอาตัวรอด หรือได้ผลประโยชน์ส่วนตัวบนความพินาศของเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้น โดยไม่เคยแสดงบทบาทยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องคนไทยเลยแม้แต่น้อย

หลังจากนั้น 14 ก.ค.2541 “ทักษิณ” จึงได้จัดตั้งพรรคไทยรักไทย ใช้เงินเป็นเครื่องมือซื้อความจงรักภักดีจากนักการเมืองพรรคต่างๆ ดึงดูดเข้ามาสนับสนุนตนเองเป็นหัวหน้าพรรค และหลังจากนั้น ยังใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน บีบและซื้อพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กให้ยุบเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย และสร้าง “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาครอบงำประชาธิปไตยไทย

4) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีสถานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

“ซูจี” ไม่มีธุรกิจส่วนตัว ไม่เคยวิ่งเต้นเข้าหาเผด็จการทหารพม่า เพื่อให้ตนเองได้รับสัมปทานผูกขาด เพื่อกอบโกยร่ำรวย แต่ “ทักษิณ” ถึงกับลาออกจากราชการตำรวจ เพื่อทำธุรกิจส่วนตัว โดยอาศัยเส้นสาย หากินกับหน่วยงานของรัฐ และวิ่งเต้นเข้าหาเผด็จการทหาร รสช. จนกระทั่งได้สัมปทานผูกขาดกิจการดาวเทียม

และเมื่อมีการปราบปรามประชาชน พฤษภาทมิฬ 2535 ทักษิณก็ไม่เคยออกมาประท้วง หรือแสดงท่าทีต่อต้านเผด็จการ รสช.เลยแม้แต่น้อย

สัมปทานผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ได้กลายเป็นฐานอำนาจทางธุรกิจ ทำให้ทักษิณสามารถกอบโกยผลประโยชน์ สั่งสมอำนาจทุน กลายเป็นมหาเศรษฐีอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งเมื่อได้อำนาจ เป้นนายกรัฐมนตรี ก็ยังใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจส่วนตัว จนกระทั่งถูกศาลฎีกาฯ พิพากษายึดทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบให้ตกเป็นของแผ่นดิน

5) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีสถานะทางการเมืองแตกต่างกัน

“ซูจี” ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยอยู่ในอำนาจรัฐ แต่เป็นพลเมืองพม่า ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และเพื่อให้ชาวพม่าได้มีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมในทางการเมือง

การต่อสู้ของ “ซูจี” เป็นการเรียกร้องเพื่อชาวพม่าโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะเหตุนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจึงไม่ต้องการให้ “ซูจี” อยู่ในประเทศพม่า ถึงกับเสนอให้หลบหนีออกไปอยู่ต่างแดน

ตรงกันข้ามกับทักษิณ

“ทักษิณ” เคยเข้าไปมีอำนาจรัฐ เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ยึดกุมอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่งตั้งคนของตนเข้าไปยึดครองกลไกของรัฐไว้เกือบทั้งหมด แล้วใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ควบคู่ไปกับการใช้นโยบาย “ลดแลกแจกแถม” และการตลาดการโฆษณา สร้างภาพลักษณ์และบุญคุณทางการเมือง เพื่อให้ตนเองได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน

วันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะรัฐประหาร คมช.ยึดอำนาจทักษิณ โดยประกาศเจตนาว่าต้องการหยุดยั้งระบอบทักษิณที่ทุจริตโกงกินและสร้างความเสียหายแก่สถาบันหลักของบ้านเมืองเท่านั้น มิได้จะยึดเอาอำนาจรัฐธาธิปัตย์มาเป็นของตัวอย่างถาวร คมช.จึงมิได้แทรกแซงอำนาจตุลาการศาลยุติธรรม และยังกุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไว้เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้น ได้จัดให้มีรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ทำหน้าที่บริหาร มีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่นิติบัญญัติ ส่วนอรรถคดีต่างๆ ก็ให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการต่อไปตามเดิม ด้วยเหตุนี้ สังคมส่วนใหญ่จึงไม่แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 มีแต่คนมามอบดอกไม้ให้ทหาร

คณะทหารของไทยไม่ได้ขับไล่ให้ทักษิณหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ต้องการให้ทักษิณยืนหยัดต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมและระบบศาลยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งบางคดีก็ปรากฏว่าทักษิณเป็นฝ่ายชนะคดี แต่บางคดีที่ศาลตัดสินให้มีความผิด ทักษิณกลับหลบหนีออกนอกประเทศไปเสียเอง

ยิ่งรัฐบาลไทยปัจจุบัน ยิ่งไม่ต้องการให้ทักษิณหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ต้องการให้กลับเข้ามาต่อสู้คดีเยี่ยงประชาชนคนไทยในประเทศ โดยพร้อมที่จะส่งคนไปรับ หรือให้มีกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยซ้ำ

สถานะทางการเมืองของ “ซูจี” กับ “ทักษิณ” จึงแตกต่างกันคนละขั้ว

“ซูจี” คือ ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อคนพม่า แต่ “ทักษิณ” คือ ผู้หลบหนีความผิด เพื่อเอาตัวเองรอด

6) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีสถานะทางกฎหมายแตกต่างกัน

“ทักษิณ” อยู่ในฐานะผู้ร้ายหนีคำพิพากษาลงโทษจำคุกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง อันเป็นระบบยุติธรรมปกติของไทย ที่มีมาตั้งแต่ก่อนทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมีคดีอาญา ข้อหาโกงกินบ้านเมืองอีกหลายคดี ที่ทักษิณหลบหนี ไม่ยอมมาขึ้นศาล

มิใช่ทักษิณไม่ยอมรับระบบยุติธรรมไทย เพราะได้ว่าจ้างทีมทนายให้ดำเนินการต่อสู้แก้ต่างอย่างเต็มที่ แต่กลัวแพ้คดี กลัวติดคุก จึงเอาตัวเองหลบหนีไปอยู่ต่างแดน

ทักษิณชอบอ้างว่า ตนเองถูก “คดีการเมือง” ทั้งๆ ที่ คดีที่ทักษิณถูกตั้งข้อหา ถูกดำเนินคดี หรือถูกศาลพิพากษาไปแล้วนั้น เป็น “คดีเผาเมือง” - “คดีโกงกินบ้านเมือง” - “คดีอาญาแผ่นดิน”

ต่างจาก “ซูจี” ที่ถูกเล่นงานด้วยข้อหาทางการเมือง หรือ “คดีการเมือง” ถึงกับขังไว้ในบ้านเฉยๆ

ดังจะเห็นได้ว่า “ซูจี” ไม่เคยปลุกระดมคนพม่าให้ออกไปเผาบ้านเผาเมือง จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธชุดดำ ก่อการร้าย ระเบิดเอ็ม 79 รวมถึงไม่เคยอยู่ในอำนาจรัฐ จึงไม่เคยทุจริตโกงกินบ้านเมือง

7) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีสถานะทางสังคมแตกต่างกัน

ขณะที่ “ซูจี” ถูกเผด็จการทหารพม่าคุมขังให้เป็นนักโทษทางการเมืองนั้น “ทักษิณ” ยังเป็นผู้นำในการออกกฎหมายที่มีลักษณะเผด็จการในประเทศไทย ใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีตากใบ กรือเซะ ฯลฯ กรณีฆาตกรรมประชาชนกว่า 2,500 ศพ ในสงครามยาเสพติด, เกิดการลอบสังหารผู้นำประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งทนายสมชาย นีละไพจิตร ฯลฯ

มิหนำซ้ำ ระหว่างที่เป็นนายกฯ ทักษิณก็บินไปพบปะสัมพันธ์ หาผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้นำเผด็จการพม่าหลายครั้งหลายหน รวมถึงการบังคับให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้พม่าโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ลูกชายของเผด็จการทหารพม่า และบริษัทในเครือของทักษิณเอง โดยไม่เคยแสดงท่าทีห่วงใยในสถานการณ์สิทธิและประชาธิปไตยในพม่า ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของ “ซูจี” เลยแม้แต่น้อย

จนถึงวันนี้ “ซูจี” ก็ยังถือสัญชาติพม่า และปักหลักเสี่ยงชีวิต เสี่ยงภัย ต่อสู้ทางการเมืองอยู่ในประเทศพม่ามาโดยตลอด แตกต่างจาก “ทักษิณ” ที่พร้อมจะเปลี่ยนสัญชาติตลอดเวลา เร่ร่อน หลบหนีไปเรื่อยๆ เพื่อ “เอาตัวรอด” โดยอาศัย “เงินจ้างผีโม่แป้ง” ใช้ทีมนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหว นักการเมือง รับจ้างดำเนินการแทนตนเองที่คอยสั่งการจากต่างแดน ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประเทศชาติบอบช้ำรุนแรง

ระหว่างถูกกักขัง “ซูจี” ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

ตรงข้ามกับ “ทักษิณ” ระหว่างหลบหนีความผิดส่วนตัว และดิ้นรนจะกลับมาอำนาจรัฐ ได้มีส่วนร่วม สนับสนุน สั่งการ ชักจูง หรือบงการ กระทั่งเกิดการใช้ความรุนแรงในสังคมไทย ถึงกับได้รับการจัดอันดับโดยสื่อสากลระดับโลก ให้ติดอันดับ “อดีตผู้นำที่เลว”

8) “อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีหัวจิตหัวใจที่แตกต่างกัน

“ซูจี” เป็นผู้หญิงที่ใจเด็ดเดี่ยว เคยแยกทางกับสามีระยะหนึ่งก็เพื่อที่จะได้เดินตามอุดมคติของตนเอง ต่างจาก “ทักษิณ” เป็นผู้ชาย แต่ประกาศแยกทางกับภรรยา ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทางกฎหมาย

“ซูจี” ยอมสูญเสียอิสรภาพของตนเอง ไม่หลบหนีออกนอกประเทศตามความต้องการของเผด็จการทหารพม่า เพื่อแลกกับโอกาสในการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของชาวพม่าทุกคน แต่ “ทักษิณ” ทำให้ประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศตกอยู่ในความขัดแย้ง แตกแยก ติดหล่มความรุนแรง สูญเสียโอกาส เพื่อแลกกับการได้ต่อสู้เพื่อรักาผลประโยชน์ส่วนตัวของทักษิณ

คนพม่ารักซูจี เพราะซูจีไม่ทิ้งพม่า

ไม่ยอมออกไปรับรางวัลโนเบล และไม่ออกไปร่วมงานศพของสามีที่อังกฤษ เพราะกลัวจะไม่ได้กลับมาต่อสู้รว่มกับคนพม่า

แต่คนเสื้อแดงหลงทักษิณ ทั้งๆ ที่ ทักษิณละทิ้งแผ่นดินไทย เอาตัวรอด

ไม่ยอมกลับมาสู้คดีในศาลยุติธรรมเหมือนคนเสื้อแดง และไม่ยอมกลับเข้ามา แม้แต่ในโอกาสงานศพของญาติสนิทตน เพราะกลัวจะติดคุก ไม่ได้ใช้เงิน

“อองซาน ซูจี” กับ “ทักษิณ ชินวัตร”

ใครคือ นางฟ้า และ ซาตาน ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น