++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เลือกสถานีรถไฟนาทาหนองคายประเดิมเชื่อมต่อลอจิสติกส์ทางราง

หนองคาย- เปิดโฉมโครงข่ายคมนาคมขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ บนพื้นที่ 290 ไร่ของสถานีรถไฟนาทา หนองคาย ขยายการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางราง เริ่มปี 2555 เบื้องต้นกำหนด 2 ระยะ คาดสามารถรองรับการปรับรูปแบบการขนส่งจากรถบรรทุกหันมาใช้บริการคอนเทนเนอร์ 240,000 ตู้ โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง ข้าวมอลต์และยางพารา เชื่อมต่อจีน-ไทย-ลาว

นายสาโรช แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 พื้นที่โครงการ “โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์เพื่อการจัดการลอจิสติกส์” ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งทางราง โดยดูแลรักษาและเชื่อมต่อเส้นทางให้มีประสิทธิภาพในการเดินรถและลดการใช้พลังงานในภาคการขนส่ง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่มีความพร้อม

ทั้งนี้ คำนึงถึงวินัยทางการคลัง การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ เพื่อการจัดการลอจิสติกส์ จึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่สำคัญ และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบัง มีการใช้งานเกินความจุมานานหลายปี เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถรองรับการพัฒนาระบบ การจัดการขนส่งสินค้าและบริการเพื่อการส่งออกของประเทศได้อย่างเพียงพอ

จึงจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมพร้อม เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขนส่งสินค้าในการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการสินค้าและบริการ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ

เมื่อกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาสถานีที่เป็นที่ตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างทางธุรกิจ เช่น สายเดินเรือ ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ส่งออกและนำเข้า อีกทั้งในแง่ของการลงทุนจะต้องมีความพร้อมในเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งมีความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการกระจายสินค้าด้วยการขนส่งทางรถไฟ

สำหรับการขนส่งระยะทางปานกลางและระยะไกล ร่วมกับระบบการขนส่งรูปแบบอื่นให้มีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีกรอบเวลาศึกษาขอบเขตงาน 9 เดือน

ระยะแรกได้พิจารณาจากปริมาณความต้องการขนส่งสินค้า ตามพื้นที่ศักยภาพและมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น โดยคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่โดยรอบน้อยที่สุด รวมถึงพิจารณาข้อมูลเดิมหรือตำแหน่งสถานีรถไฟ พบว่ามีสถานีที่มีศักยภาพเป็นตัวแทนในแต่ละพื้นที่ 8 แห่ง ประกอบด้วย สถานีห้างฉัตร จ.ลำปาง, สถานีบ้านตูม จ.พิษณุโลก, สถานีหนองคาย จ.หนองคาย, สถานีท่าพระ จ.ขอนแก่น, สถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี , สถานีทุ่งมะเม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์, สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีนาม่วง จ.สงขลา ซึ่งผลการคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญโดยการเปรียบเทียบทางด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า พื้นที่จังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุด

รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายกล่าวต่อว่า สถานีรถไฟหนองคาย มีสถานีรถไฟนาทา ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 3.5 กม. ซึ่งสถานีนาทามีข้อได้เปรียบสถานีหนองคายหลายด้าน เช่น อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะกิจ ประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า มีทางเข้าออกสถานี 2 ด้านทั้งทางเลี่ยงเมืองและถนนมิตรภาพ เป็นพื้นที่ราบและเป็นทุ่งโล่ง มีชุมชนอาศัยอยู่เบาบางบริเวณสถานี อยู่นอกเขตเมืองทำให้การจัดการจราจรสะดวก หากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ สถานีห่างจากแม่น้ำโขง 4.5 กม. แต่ไม่มีปัญหาเรื่องความลาดชัน

จากผลการศึกษาของกรมการขนส่งทางบกพบว่า เป็นสถานีที่มีความเหมาะสมในการเป็นสถานีขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกในเมืองหลัก และจังหวัดชายแดน โดยเนื้อที่ทั้งหมด 290 ไร่ ราคาที่ดินประมาณ 260,000-300,000 บาทต่อไร่ เหล่านี้ทำให้สถานีนาทาเป็นสถานีที่มีความเหมาะสมที่สุดในการเป็นสถานีศักยภาพและนำไปศึกษาออกแบบรายละเอียดเพื่อจัดทำเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์เพื่อจัดการลอจิสติกส์

ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ปริมาณสินค้าในอนาคต โดยกรมการขนส่งทางบก ได้คาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคาย ที่สถานีรถไฟนาทา ในปี 2555 จะมีรถบรรทุก วันละ 90 เที่ยว หรือปีละ 32,850 เที่ยว ในปี 2565 รถบรรทุกสินค้าวันละ 240 เที่ยว ปีละ 87,600 เที่ยว และปี 2575 รถบรรทุกสินค้าวันละ 620 เที่ยว ปีละ 226,300 เที่ยว ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าจากประเทศจีนตะวันตก ในปี 2560 จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 1.672 ล้านตัน หรือ 66,885 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.727 ล้านตัน หรือ 108,968 ตู้ และ 4.436 ล้านตัน หรือ 177,451 ตู้ ในปี 2570 และ ปี 2580 ตามลำดับ

การขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ในอนาคตจะเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ การขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกของจังหวัดหนองคายและพื้นที่ใกล้เคียง, การขนส่งสินค้าผ่านแดนของ สปป.ลาว-ประเทศที่สาม และการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกของจีนตะวันตก

สำหรับสินค้าที่มีโอกาสเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้การขนส่งทางรถไฟที่สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์หนองคาย ประกอบด้วย สินแร่ทองแดง ซึ่ง สปป.ลาวได้เปิดสัมปทานในการทำเหมืองแร่ทองแดงบริเวณเหมืองภูเบี้ย เมืองไซสมบูน แขวงเชียงขวาง ตอนเหนือของประเทศ ปัจจุบันมีการส่งผ่านสินแร่ทองแดงผ่านชายแดนไทย บริเวณด่านศุลกากรหนองคายไปยังท่าเรือศรีราชาฮาเบอร์ เพื่อส่งผ่านไปยังประเทศที่สาม

ส่วนใหญ่จะส่งต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย การส่งผ่านสินแร่ทองแดงผ่านชายแดนไทยประมาณ 20,000-30,000 ตันต่อเดือน คิดเป็น 1,000-1,500 TEU ต่อเดือน, ข้าวมอลต์ ซึ่งลาวได้นำเข้าสินค้าประเภทข้าวมอลต์จากประเทศที่ 3 เพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มจำพวกเบียร์ โดยผ่านทางท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบัง สินค้าดังกล่าวมีแหล่งผลิตที่ประเทศจีน ออสเตรเลีย และประเทศในแถบยุโรป

โดยนำเข้าเดือนละ 2,000 ตัน, ยางพารา ซึ่งจังหวัดหนองคายมีพื้นที่ปลูกยางพารา 801,878 ไร่ และจะเพิ่มเป็นหนึ่งล้านไร่ในอนาคต ปัจจุบันสามารถกรีดยางได้ 225,046 ไร่ หรือร้อยละ 28 และไทยยังเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก เป็นต้น

บทบาทหน้าที่ของสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์จังหวัดหนองคาย จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม และกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ในบริเวณพื้นที่โดยรอบเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้านำเข้า-ส่งออกจากประตูการค้า เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ บริเวณด่านชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์จะทำหน้าที่ให้บริการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งจากรถบรรทุกมาใช้รถไฟเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพและสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยได้กำหนดพื้นที่จังหวัดหนองคายเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งโดยรถบรรทุกสินค้าที่ข้ามจาก สปป.ลาว และประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนจากรถบรรทุกไปใช้รถไฟไปยังประตูการค้าแหลมฉบังหรือส่งออกไปยังจีนตะวันตก

ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้ 2 ระยะ คือ การพัฒนาระยะที่ 1 เพื่อให้รองรับการบริการขนส่งสินค้าตามการคาดการณ์ปริมาณสินค้า กรณีที่ 1 ที่มีปริมาณประมาณ 30,000 ตู้ต่อปี และสามารถขนส่งได้ 80,000 ตู้ต่อปี และการพัฒนาระยะที่ 2 เพื่อให้การรองรับการบริการที่เพิ่มขึ้นจากระยะแรกที่มีปริมาณประมาณ 160,000 ตู้ต่อปี ซึ่งพื้นที่ของสถานีนาทาด้านทิศตะวันออกมีพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ สามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์และกิจกรรมได้สูงสุดถึง 240,000 ตู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น