++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชาวดอนทอง ไม่หมองศรี ส่งเสริมสุขภาพดี ด้วยกองทุนฯ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบล ดอนทอง อ.เมือง จ.สระบุรี

เรียบเรียงโดย ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลออ

            ดอนทอง..ตำบลนี้อยู่ใน จ.สระบุรี มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อเสริมสร้างการมีสุขภาพของคนในชุมชน
            สำนักงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอนโยบายกองทุนฯ เข้ามา นายก อบต.ดอนทองก็ตอบรับโดยพลัน เพาะเห็นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ และเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบของ อบต.อยู่แล้ว อีกทั้งมีเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เพิ่มเติม เมื่อเห็นแสงสว่าง (แห่งสุขภาพ)  รำไรอยู่แล้ว จะไม่ให้เดินตามได้อย่างไร ดังที่ นายก อบต.ดอนทอง บอกเล่าอย่างกันเองว่า
            "เขาเอาผลประโยชน์มาให้กับชาวบ้าน... ผมก็มาปรึกษากับคณะกรรมการ... ว่ามันมีเงินเข้ามา .. เรื่องกองทุนฯ อะไรอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์ชาวบ้านผมจะเอาก่อน"

            เมื่อเริ่มต้นจากความไม่รู้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทุนฯ จึงค่อยๆร่วมเรียนรู้ตามแนวทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างที่หัวหน้าสถานีอนามัยดอนทองเล่าให้ฟังว่า "ปีที่ 2 เราถึงจะมีคณะอนุกรรมการ ปีแรกเรามีแต่บอร์ด ... คิดว่าแล้วจะเอาคนที่ไหนไปทำประชาคม เพราะชุดนี้ก็คงไม่ได้.. พอปีต่อมาเราก็เลยมาตั้งเป็นคณะทำงาน"
            นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้ที่มีความรู้มาช่วยชี้แนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ หัวหน้าสถานีอนามัยคนเดิมเล่าว่า " คณะกรรมการและอนุฯ มีเราแต่งตั้ง 2 กลุ่ม ..มาสรุปร่วมกันว่า จะทำโครงการต่อไปเนี่ย มันจะมีปัญหาว่า อันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ก็ตกลงกันไม่ได้ ... เราก็เลยเชิญ สปสช. มาให้ความรู้ ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป เพราะว่าทั้ง อบต.ทั้งส่วนคณะกรรมการก้ไม่เข้าใจ .เชิญ สปสช.มาเลย แล้วจัดเป็นคอร์สพิเศษ แนวทางการบริหารการขับเคลื่อนกองทุนฯ"

            จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนและประสานงานกัน เริ่มตั้งแต่คณะทำงาน ที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำของอบต. ที่อยู่ในทีมคณะอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยกัล อสม. ที่เป็นทีมงาน และระดับชุมชนซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างประชาชนกับ อสม. และประชาชนกลุ่มต่างๆในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ
            คณะทำงานในทุกระดับ มีการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารงานกองทุนฯ เมื่อผู้นำของกองทุนฯ ไปร่วมประชุมกับ สปสช. ก็จะกลับมาถ่ายทอดให้คณะทำงานฟังอย่างต่อเนื่อง เมื่อคณะทำงานเกิดความสับสนในระเบียบกองทุนฯ ก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่  สปสช. มาอบรมทีมงานเพิ่มเติม และตอบข้อสงสัย
            เมื่อทีมงาน มีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน การดำเนินงานก็มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการสื่อสารกับชาวบ้าน ทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ของกองทุนฯ ส่งผลให้การดำเนินงานกองทุนฯ ในปีงบประมาณต่อมา (พ.ศ.2550) ได้รับการสมทบเงินภาคประชาชนทุกครอบครัวเพิ่มขึ้น
            "...ทีแรกประชาชนไม่เข้าใจ การมีส่วนร่วมก็จะน้อย พอได้รับข้อมูลว่า ความต้องการของหมู่บ้านต้องการอย่างนี้ๆ เขาต้องการอย่างนี้ เราทำได้ดั่งใจเขา ๆเห็นชัดเจน... ประชาชนเขาก็มีส่วนร่วมเยอะขึ้น ถึงได้เป็นอย่าง 70%  มาเป็น 100 %  ..คณะกรรมการทำงานเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา .." อาสาสมัครสาธารณสุขท่านหนึ่งว่าไว้อย่างนั้น

            ..แล้วเงินนี้เอาไปทำอะไร? จากการทำประชาคมในทุกหมู่บ้าน ได้มีการตกลงกันว่า จะนำเงินทั้งที่มาจากเงินกองทุนและเงินสมทบจากภาคประชาชน ไปจัดทำโครงการ (1) รณรงค์เรื่องยาเสพติดเพื่อไม่ให้บุตรหลานเข้าไปยุ่งเกี่ยว (2) จัดหาแว่นตาให้กับผู้สูงอายุ (3) จัดซื้อเครื่องมือในการตรวจวัดด้านสุขภาพ นอกจากนั้นยังมีการจัดหาตู้ยาให้ครบทุกหลังคาเรือน
            ผลลัพธ์จากการดำเนินงานกองทุนฯ คือ ประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิประโยชน์ ที่จะได้รับเงินจากกองทุนฯ ซึ่งเห็นได้จากการที่ประชาชนสมทบทุนเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยผู้สูงอายุและวัยทำงาน ส่วนวัยรุ่นนิยมยังคงไปรักษาที่คลินิกนอกพื้นที่ เนื่องจากมองว่า สะดวกและรวดเร็วกว่า
            ส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไขคือ การดำเนินงานยังขาดความชัดเจนในการเขียนโครงการ การติดตามประเมินผลโครงการยังขาดความรัดกุม นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะวัยเด็ก ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการร่วมแสดงความคิดเห็นน้อยกว่ากลุ่มอื่น อย่างที่หัวหน้าสถานีอนามัยบอกว่า "กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ ..เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ก็ยังไม่ครอบคลุม เราก็ได้แต่ผู้สูงอายุมา เพราะว่าปีแรก เราไม่ค่อยรู้จะทำอะไร"

            การดำเนินงานกองทุนฯ ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้
            1. คณะกรรมการกองทุนฯ มีความตั้งใจจริง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ดังที่หัวหน้าสถานีอนามัยเล่าว่า " จุดเด่นก็คือ สนับสนุนในการทำงาน คณะกรรมการ ถ้าทำเพื่อประชาชน แล้วท่านสนับสนุนเต็มที่ ..โดยผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการฯ"
            2. ทีมงานมีการเรียนรู้ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของกองทุนฯ สำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างเป็นระบบ
            3. ประชาชนเชื่อถือและเห็นประโยชน์จากการดำเนินงานของกองทุนฯ ประชาชนผู้ใช้บริการคนหนึ่งเล่าว่า "อนามัยมีคนไปทุกเพศทุกวัย.. กลางวันไปดูได้นะ คนเยอะ อนามัยเขาบริการดีครับ ดีมากเลย..หมอพงษ์แกดีมาก" หรือผู้สูงอายุคนหนึ่งบอกว่า "...พอใจ..ช่วยสมทบเงินแต่ละปี..หลังคาละ 100 ทุกหมู่ ..ให้ได้ไม่ลำบาก เขาดูแลรักษาพยาบาลดี"
            ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน คือ
            1. คณะทำงานกองทุนฯ ควรให้ความสำคัญในการจัดทำแผนงาน/ โครงการที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วยให้กลุ่มเด็กวัย 0-6 ปี กลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
            2. สปสช. ควรสัมมนาเฟ้นหากิจกรรมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม พร้อมทำสื่อเผยแพร่
            3. สปสช. ควรพัฒนาทีมงานกองทุนฯ ในการเขียนโครงการ และการประเมินผลโครงการ
            4. ในช่วงการทำงานปีแรก คณะทำงานกองทุนฯของ อบต. แต่ละแห่ง ควรได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือให้ได้รับข้อมูลงานกองทุนฯ อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบจาก สปสช. เช่น จัดทำสื่อให้ความรู้ข้อมูลงานกองทุนฯ และจัดระบบการช่วยเหลือ

            ข้อเสนอเหล่านี้ คือที่มาของหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงของชาวดอนทอง ต่อไป

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.กุลธิดา พานิชกุล
ภูวสิทธิ์ สิงห์ประไพ
ปิยะรัตน์ หยกสุริยันต์
วพบ.สระบุรี   



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น