++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“เรียนรู้ ทำได้ตลอดชีวิต” ข้อคิดศิษย์เก่า มธ. นร.ทุนยุโรป 3 ประเทศ

ศิษย์เก่าจากรั้วแม่โดมคนหนึ่ง มีโอกาสได้รับทุนสหภาพยุโรป ทำให้รู้จักการใช้ชีวิตและระบบการศึกษาที่แตกต่างไปจากเดิม พร้อมยังมีแนวคิดสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของนักเรียนทุนคนนี้ คือ การยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นองค์ต้นแบบในการเรียนรู้ตลอดชีวิต



“มิ้นท์ - มินตรา ภูริปัญญวานิช” ศิษย์เก่าจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเรียนทุนอีราสมุส มุนดุส (Erasmus Mundus) หรือทุนสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับโอกาสที่ดีในการศึกษาต่อถึง 3 สถาบัน 3 ประเทศ ได้แก่

Aarhus University - School of Education เดนมาร์ก , Deusto University , Bilbao สเปน และ Institute of Education London University สหราชอาณาจักร โดยเลือกศึกษาในสาขา European Masters in Lifelong Learning Policy & Management



ไลฟ์ ออน แคมปัส มีโอกาสได้พบกับ มิ้นท์ ในช่วงปิดภาคการศึกษา หลังจากที่เธอกลับมาจากเดนมาร์ก โดยนักเรียนทุนคนเก่งเล่าว่า เลือกศึกษาต่อทุนสหภาพยุโรป เพราะทุนนี้ไม่มีข้อผูกมัด ไม่ต้องใช้ทุน ไม่ว่าจะจบไปทำอะไรก็ตาม มีเพียงข้อแม้ว่า “ให้ตั้งใจเรียน” พร้อมย้ำว่า ทุนนี้ไม่ได้มอบให้แค่สายวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะเปิดกว้างให้ทุกสาขา และสหภาพยุโรปก็มีการศึกษาที่หลากหลายมาก

“คุณสมบัติในการสมัครแต่ละโครงการอาจแตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานก็จะมีคะแนน IELTS 7.0 เกรดเฉลี่ยตามเกณฑ์แต่ละทุน และถ้ามีประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษามาก่อนก็ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนจะเรียนอะไรก็ขึ้นอยู่กับโครงการ เช่น โครงการที่ตัวเองสมัครนี้ จะเปิดกว้างให้กับนักศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์”



มิ้นท์ เล่าถึงบรรยากาศในห้องเรียนที่ประเทศเดนมาร์ก ว่ามีนักศึกษามาจากหลายทวีป เป็นห้องเล็กๆ เน้นสอนแบบบรรยาย แบ่งกลุ่มอภิปรายในประเด็นต่างๆ โดยให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น และภายในห้องเรียนนั้น ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สามารถแสดงความคิดเห็นได้เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ หรือนักศึกษา

“โปรแกรมที่มิ้นท์เลือกเรียนนั้น ตอนที่สมัครต้องเขียนว่า เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Life long learning บ้าง ซึ่งมิ้นท์ เขียนเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของตนเอง ทรงเป็น Life long learner เพราะพระองค์ทรงมีอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน เป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพระองค์ทรงไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ ”



ด้านเนื้อหาที่เรียน สาวคนเก่งเผยว่า จะเรียนเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา เช่น นโยบายการศึกษาของ Life long ของยุโรปเป็นอย่างไร และเอาความรู้ของแต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนกันว่าเป็นอย่างไร

“หากถามว่าการเรียนเกี่ยวกับยุโรป เอากลับมาใช้อะไรในเมืองไทยได้บ้าง ก็คงเป็นประสบการณ์ตรง เช่น การเรียนที่เดนมาร์กนั้น สนับสนุนให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นเต็มที่ แต่ในเมืองไทย แม้อาจารย์พยายามเปิดโอกาส แต่เด็กยังไม่ชิน เราก็ต้องนำแนวคิดแบบนี้ปลูกฝังให้เป็นประโยชน์”



นักเรียนทุนยุโรป ยังบอกเล่าชีวิตในต่างทวีปว่า ในสถาบันที่ไปเรียนนั้น เธอเป็นนักศึกษาคนไทยเพียงคนเดียว จึงได้นำอาหารไทยไปให้เพื่อนๆได้ชิม และพยายามบอกเล่าเพื่อนๆที่สนใจอยากมาเที่ยวเมืองไทย

“อยู่ที่โน่น ทำอาหารเอง จะประหยัดได้มาก และได้สิ่งที่เราชอบทานด้วย ก็เลือกทำหลายๆแบบ เพราะอาหารไทยที่เดนมาร์กหาไม่ยาก เนื่องจากมีคนไทยอาศัยอยู่มาก มีร้านขายของไทยโดยเฉพาะเลย นอกจากเรื่องอาหารและท่องเที่ยวแล้ว ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องความรุนแรงในเมืองไทยพอดี เพื่อนๆก็สนใจมาถามกัน ว่าเหตุการณ์น่ากลัวอย่างที่เห็นในโทรทัศน์หรือเปล่า ซึ่งเราก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริงเพราะไม่ได้อยู่เมืองไทย แต่อาศัยติดตามข่าวสารจากทางบ้าน เพื่อนฝรั่งก็จะตกใจกัน มองว่ากลุ่มคนเสื้อแดงถูกกระทำจากทหาร แต่มิ้นท์ก็บอกเค้าว่า ต้องฟังความหลายๆด้าน โดยฟังข้อมูลจากฝ่ายอื่นด้วย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ทหารก็เป็นฝ่ายถูกกระทำและเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน”



มิ้น เล่าว่าการไปเรียนในต่างแดนครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเธอเคยไปศึกษาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนมาก่อนในสมัยมัธยมศึกษา สอดคล้องกับแนวคิดที่ยึดเรื่องการเรียนรู้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด

“การไปเรียนในฐานะนักเรียน กับ นักศึกษา ก็มีความแตกต่างกัน เมื่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เรารู้สึกว่าโตขึ้นอีกระดับ เพราะการศึกษามีความเข้มข้นแตกต่างกัน และมีกิจกรรมสังสรรค์มากกว่า แต่เราก็ต้องตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะมีความเข้าใจมากกว่าเดิม โดยสิ่งสำคัญ จะต้องเป็นการพิสูจน์ตัวเอง เพราะเราแบกรับสถานะของความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มาจากเมืองไทยด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น