++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระบบแอดมิชชัน : นวัตกรรมที่ล้มเหลว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อนักเรียน เรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง
และตัวเด็กเองก็มุ่งมั่นที่จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย
แต่นักเรียนที่เรียนจบมีจำนวนมากกว่าที่มหาวิทยาลัย (ปิด)
ของรัฐจะรับได้หมด จึงต้องมีการสอบคัดเลือกขึ้น
ยิ่งคณะและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็มีอัตราการแข่งขันสูง
สมัยก่อนโน้นมหาวิทยาลัยจัดสอบกันเอง
นักเรียนต้องไปวิ่งสมัครและสอบกันเอง
จนมีการจัดสอบคัดเลือกในระบบกลางที่เรียกว่าระบบเอนทรานซ์ (ENTRANCE)
ซึ่งจัดสอบโดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
ทำการทดสอบความรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องประมาณ 4-6 รายวิชา
ให้ผู้สมัครเลือกคณะที่ต้องการได้ 6 คณะ
แล้วนำคะแนนมาเทียบกันว่าใครได้คะแนนสูงกว่าก็ติดคณะที่เลือกได้ในลำดับต้น
ลดหลั่นกันไป ก็ใช้ระบบนี้อยู่หลายปี

ผู้เขียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2524 ก็สอบในระบบนี้เช่นกัน
ระบบเอนทรานซ์นี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการสอบคัดเลือกที่ยุติธรรม
และเชื่อถือได้มากที่สุดระบบหนึ่งในเมืองไทยก็ว่าได้
(แต่มาถูกทำลายอย่างย่อยยับด้วยนายกฯรักลูกคนหนึ่ง)

อยู่มาวันหนึ่งมีคนกล่าวหาว่าระบบนี้สอบแต่ความรู้
ไม่ได้คนที่มีทักษะ เอาแต่เรียนพิเศษก็สอบได้
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้ประชุมกันคิดค้นวิธีการสอบเข้า
มหาวิทยาลัยใหม่ เอาคะแนนชั้นมัธยมปลาย (GPAX) คะแนนสอบมาตรฐาน (ONET)
และวิชาเฉพาะ (ANET) ที่ล่าสุดในปีนี้เปลี่ยนเป็นการสอบทักษะทั่วไป (GAT)
และ ทักษะเฉพาะ (PAT) อ้างว่า จะได้นักเรียนที่มีทักษะมากขึ้นกว่าเดิม
สนใจการเรียนในห้องเรียนมากกว่าเดิม ลดการเรียนพิเศษ
ผลลัพธ์ที่เกิดเมื่อใช้มาเป็นเวลาหลายปี
พบว่าคณะได้นักเรียนที่มีความถนัดไม่ตรงกับสาขาที่สอบได้
คนติดคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แทนที่จะเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์
เคมี แต่กลับเก่งภาษาอังกฤษ ไทย สังคม ทำให้นิสิตชั้นปีที่ 1
สอบตกวิชาฟิสิกส์ เป็นจำนวนครึ่งค่อนคณะ และมหาวิทยาลัยต่างๆ
จึงต้องจัดสอบตรงเป็นจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้นักเรียนเดือดร้อนเดินทางไปสมัครหลายที่
และเสียเงินเสียทองมากกว่าที่ควรจะเป็น
คนที่มีโอกาสไปสมัครหลายที่ก็ได้เปรียบคนจนที่ไม่มีโอกาส

เมื่อ คณะต่างๆ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบแอดมิชชัน
ทปอ.ก็เพิกเฉย อ้างว่า ประกาศแล้วต้องใช้ไป 3 ปี ทั้งๆ ที่ระบบที่
ทปอ.ประกาศใช้นั้น ล้มเหลวในการคัดเลือกนักเรียนให้ตรงสาขา (ตัวอย่างเช่น
กลุ่มคณะแพทย์และทันตแพทย์แยกไปสอบเองเลย) ที่สำคัญคือ ระบบแอดมิชชัน
กลับทำให้นักเรียนสนใจเรียนในห้องน้อยลง เรียนพิเศษมากขึ้น
เพราะนักเรียนชั้น ม.5 ก็มีสิทธิ์สอบ GAT PAT ได้ และสอบปีละ 4 ครั้ง
ตั้งแต่ต้นปี ยังไม่ได้เรียนอะไรก็สอบแล้ว นักเรียนก็อยากไปสอบตั้งแต่ ม.
5 เพราะจะได้ดูแนวข้อสอบ (นักเรียนเล่าให้ฟัง)
การให้สิทธิ์สอบเช่นนี้ทำให้นักเรียนแทนที่จะสนใจในห้องเรียน
กลับต้องไปเรียนพิเศษ เพื่อเตรียมสอบตั้งแต่ขึ้นชั้น ม.5 ด้วยซ้ำ

ผู้เขียนเรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบคือ ทปอ.และแอดมิชชันฟอรัม
เปิดใจให้กว้าง จึงจะสามารถรับรู้ปัญหาที่เกิดจากระบบที่ตนได้คิดค้นขึ้น
ว่า เกิดผลกระทบรุนแรงกว้างขวางเพียงใด และรีบทำการแก้ไขโดยด่วน
เลิกอ้างว่า ประกาศใช้แล้วต้องใช้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 ปี
ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีขึ้น
นักเรียนเขาก็ยอมรับได้ คณะก็จะได้รับนักเรียนที่มีความถนัดตรงสาขา หาก
ทปอ.ยอมรับความคิดเห็นของผู้ที่ท้วงติงอย่างมีเหตุผลแล้ว
ก็จะก่อให้เกิดการปรับปรุงระบบแอดมิชชันไปในทางที่ดีขึ้น
ผู้เขียนขอเสนอระบบการสอบคัดเลือกที่เชื่อว่าจะทำให้ได้นักเรียนที่ตรงสาขา
เรียนในห้องเรียนจนจบไม่ต้องเร่งรีบไปเรียนพิเศษ
ไม่ต้องสอบหลายครั้งมากไป ที่สำคัญคือ ลดการสอบแยก ให้เหลือน้อยที่สุด

1.การจัดทดสอบต่างๆ ควรจัดเพียงปีละ 2 ครั้ง
ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ และปลายเดือนมีนาคม แล้วนับคะแนนที่ดีกว่า
ให้สอบได้เฉพาะนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่หรือจบชั้นมัธยม 6 แล้ว
(นักเรียนจะได้สนใจเรียนในห้องเรียน ไม่ต้องรีบเร่งเรียนนัก)

2.คงการใช้ เกรดเฉลี่ย GPAX และการทดสอบมาตรฐาน ONET ไว้
แต่คิดสัดส่วนให้น้อยที่สุด (ไม่เกิน 10 %) หรือใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ
(กลุ่มคณะแพทย์ศาสตร์ตั้งเกณฑ์ ONET ไว้สูงถึง 60%
เพราะต้องการคัดนักเรียนเก่ง สำหรับคณะอื่น อาจตั้งไว้ที่ประมาณ 40%
ก็พอ) เพราะคะแนน 2 ส่วนนี้ มีความคลาดเคลื่อนสูง

3.การทดสอบความถนัดทั่วไป GAT ไม่ควรมีสัดส่วนเกิน 20-30%

4.ควรจัดสอบวิชาเฉพาะ 3-4 วิชา ตามแต่คณะต้องการ
(คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50%) แต่ออกข้อสอบโดยส่วนกลาง
ไม่ใช่คณะออกข้อสอบเอง
ส่วนนี้ทำให้คณะได้นักเรียนที่มีความถนัดในสาขาที่จะเรียน

5.อนุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดสอบแยก ไม่เกิน 20%
ของจำนวนนิสิตที่จะรับ และต้องมีเหตุผลจำเป็น
ต้องการได้นักเรียนที่มีคุณสมบัติเฉพาะเท่านั้น
จึงจะอนุญาตให้จัดสอบแยกได้ เพราะการจัดสอบแยก ทำให้นักเรียนเดือดร้อน
และไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่มีโอกาสไปสมัครหลายที่

แนวทางที่เสนอนี้ ยังใช้องค์ประกอบเดิมของระบบแอดมิชชัน
แต่เปลี่ยนสัดส่วน หรือวิธีการคิดคะแนน แล้วเพิ่มการสอบรายวิชาเฉพาะ
ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบเอนทรานซ์เดิม
ที่สำคัญคือจัดสอบให้ใกล้สิ้นปีการศึกษามากที่สุด และไม่ควรเกินสองครั้ง
ระบบที่เสนอนี้น่าจะทำให้คณะได้นักเรียนที่ตรงสาขา
และไม่เป็นภาระกับนักเรียนมากเกินไป ลดการเรียนพิเศษให้น้อยลง
คณะและมหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องจัดสอบตรงเอง
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทาง ทปอ.
และผู้รับผิดชอบจะรับฟังปัญหาต่างๆเหล่านี้ และดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
มิเช่นนั้น ทางคณะต่างๆก็จำต้องจัดสอบตรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เกิดความยากลำบากและไม่ยุติธรรมกับนักเรียนที่ขาดโอกาส

หมายเหตุ : ความเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัด

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000057155

มีบัณฑิตคนหนึ่ง พึ่งเรียนจบและกำลังรอสมัครงาน
มีเวลาว่าง ก็เลยไปเป็นติวเตอร์อยู่ที่ต่างจังหวัด
แค่เดือนเดียว ได้เงินค่าสอน มากกว่าสี่หมื่นบาท
อาชีพนี้ก็น่าสนใจ เพราะมีผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมาก
ให้ลูกเรียนพิเศษอย่างบ้าคลั่ง

ความจริงระบบการเรียนที่พัฒนามา ก็ดีอยู่หรอก
แต่ "คน" ต่างหากที่ไม่พัฒนา จะสอนเด็กให้เป็นเด็กดี
สนใจเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในท้อง
เลิก โทษคนอื่น แล้วลองมองดูตนเองบ้างว่า มีเวลาให้ลูกมากน้อยแค่ไหน
บางคนก็สนใจแต่ทำงาน ไม่มีเวลาให้ลูก ลูกก็เล่นเกมส์ ไม่สนใจเรียน
พอจะสอบเอนทรานซ์ ก็ต้องพึ่งติวเตอร์ อย่างนี้แหละ
สอบเอนไม่ได้ก็เรียนราม หรือมหาวิทยาลัยเอกชนก็ได้

ให้ลูกเรียนอย่างมีความสุข เป็นคนดีของสังคม ก็พอแล้ว
มองต่างมุม
++
สมัยก่อน สอบเอ็นท์ ครั้งเดียว

สุดยอด วัดกันไปเลย

ใครว่าเปลี่ยนวิธีการสอบใหม่คนสอบไม่เครียดไม่ต้องไปกวดวิชา

กลายเป็นตรงกันข้าม

เอาระบบเดิมมาใช้ดีกว่า

ไปเลียนแบบฝรั่งๆก็ไ่ม่ได้เวิรค์ไปกว่าเราเท่าไหร่เลย
คนสอบเอ็นท์ครั้งเดียว
++
สุดยอดแอดมิชชั่นเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ต้องใช้ PAT1
ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ไม่รู้ใช้สมองส่วนไหนคิด สร้างกรรมให้เด็กไทย %
เรียนไม่จบจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอีกมาก เพราะมีคะแนนทางวิทย์+คณิต 50 %
ที่ใช้คัดเด็กเข้าเรียน
ใช้ GPAX(คะแนนสะสม)20 % คุณครูช่วยได้ ถ้าเรียนพิเศษกับคุณครู
ONET ให้ค่าน้ำหนัก 30% โดยกำหนดให้วิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษา
วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ ให้ค่าน้ำหนักวิชาละ 5%
วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา วิชาศิลปะ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี
ให้ค่าน้ำหนักรวม 5%
GAT ความถนัดทั่วไป 15 % ภาษาอังกฤษ การเขียน อ่าน คิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา
PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ 15%
PAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ 20 %
แอดมิชชั่น
.++
ประเด็นหนึ่่งในบทความนี้คือเรื่องการเรียนพิเศษ
ที่ดูเหมือนว่าผู้เขียนบทความจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเรียนพิเศษเท่าใดนัก

ตรง นี้อยากให้พิจารณากันในฐานะติวเตอร์คนหนึ่ง เห็นว่า
การเรียนพิเศษเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นมา จากการศึกษาในระบบที่มีอยู่
ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่สมบูรณ์

ระบบการศึกษาไทยพัฒนาคนได้แย่มาก ในหลายๆ เรื่อง อาทิ
ทักษะทางภาษาัีอัีงกฤษ ที่เรียนกันถึง 12 ปี เป็นอย่างต่ำ
แต่พูดได้จริงไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น

การเรียนพิเศษ เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมตรงนี้ หากการเรียนพิเศษนั้น
ไม่ใช่มุ่งแต่การทำโจทย์ หรือใช้ความรู้แกรนๆ
ไปใ่่ส่กับเด็กเพียงอย่างเดียว

ผมเข้าเ อาเ องว่าเ
จ้าของบทความคงจะมองการเรียนพิเศษในฐานะที่เป็นการใส่ควาามรู้แบบไม่มีพื้น
มีฐานแก่เด็ก เด็กที่เรียนพิเศษจึงเก่งแต่ข้อสอบอย่างเดียว
แต่ขาดองค์ความรู้ที่จะก่อให้เกิดบูรณาการได้จริง

นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีที่เรียนพิเศษอีกหลายๆที่
และผมหวัีงให้มีอีกหลายๆ ที่ ที่จะพัฒนาองค์ความรู้
ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริง ในชีวิต มากกว่าใช้เพียงแค่สนามสอบ
เพื่อพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาในระบบของประเทศเรา
ติวเตอร์นิรนาม
++
เห็นด้วยกับคุณหมอมากเลยคะ คนๆเดียวสร้างปัญหาได้สาระพัด
แม้แต่กับระบบการศึกษา
ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับครอบครัวที่ต้องพาลูกมาตระเวรสอบทั่วประเทศโดยต้อง
ขับรถมาจากยะลาเพื่อมาสอบที่ขอนแก่น ต้องปิดร้านค้า เสียรายได้
พอสอบที่ขอนแก่นเสร็จต้องไปต่อที่เชียงราย และที่อื่นๆ
ไม่ทราบว่าผู้มีหน้ารับผิดชอบได้รับข้อมูลหลายด้านเพียงพอที่จะประมวลผลได้
ผลเสียที่เกิดขึ้นหรือเปล่า หากรู้ว่ามันมีปัญหาก็ควรจะแก้ไขไม่ใช่ดึงดัน
เพราะความมีอัตตา และใบหน้าที่ไม่อาจยอมรับความบกพร่องที่เกิดขึ้น
จอย
++
ขอร้องเถอะ กลับไปใช้ระบบ Entrance แบบเก่า เพราะเด็กจะได้มีโอกาสเลือก
ent ใหม่ให้เหมาะกับตัวเอง เราเข้ามหาวิทยาลัยตอนอายุ 16 ปี
อ่านเองแล้วสอบเทียบ อ่านทุกตำราที่มีในร้านหนังสือ
ไม่ต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชาเรียน 5 ปีตามหลักสูตรอย่างไม่มีปัญหา จบ ป
ตรีก็ได้ทุนเรียนต่อ ป โท จบตอนอายุ 23 ปี มีเพื่อนที่สอบเทียบเหมือนกัน
ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองด้วย
ต้องบอกว่าคุณภาพคนที่จบออกมาดีกว่ารุ่นที่มี addission นี่อีก
เด็กสมัยนี้อาจารย์ที่สอนเรามาหรือเพื่อนเราที่เป็นอาจารย์บ่นว่าแย่กว่า
รุ่น entrance เสียอีก
Sydney
++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น