++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ตามรอยธรรม "หลวงปูมั่น" อิ่มบุญ อิ่มใจ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


หลายคนมักจะ หันหน้าเข้าหาวัด
ก็ต่อเมื่อยามที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ไปไหว้พระ สงบสติหาความสงบ
เพิ่มความสบายใจ แต่เมื่อยามที่มีความสุขกายสบายใจ
กลับไม่ชอบเข้าวัดไหว้พระทำบุญสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้วการเข้าวัด
ทำบุญ ถือศีลภาวนานั้นเป็นเรื่องที่ดี
ที่เราชาวพุทธซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติ
และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ดังนั้นทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" จึงขอหันหลังให้ทางโลกชั่วคราว
แล้วหันหน้าเข้าหาทางธรรมไป"ตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
บูรพาจารย์แห่งอีสาน" กับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)

สำหรับหลวงปู่มั่นเป็นพระเกจิสายวิปัสสนากรรมฐานวัดป่า
ซึ่งที่ผู้คนให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากอัตชีวประวัติ
ระบุว่า ท่านเกิดในสกุลแก่นแก้ว เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม
ตรงกับวันที่ 20 ม.ค. 2413 ที่บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
มีบิดาคือนายคำด้วง มารดาคือนางจันทร์

หลวงปู่มั่นมีบุคลิกลักษณะ ร่างเล็ก ผิวขาวแดง คล่องแคล่ว ว่องไว
สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความประพฤติ อัธยาศัยเรียบร้อย ว่าง่ายสอนง่าย
ชอบศึกษาธรรมะ

พระพุทธรูปแกะจากไม้ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม
อายุ 15 ปี บรรพชาเป็นสามเณรได้ 2 ปี ลาสิกขามาช่วยงานทางบ้าน
พออายุ 22 ปีได้มาศึกษาธรรมที่วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์เสาร์
กันตสีโล จากนั้นอายุ 24 ปี ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดศรีทอง จ.อุบลฯ
แล้วท่านได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
เดินธุดงค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระยะแรก 24 พรรษา
บั้นปลายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 พรรษา ที่วัดป่าบ้านหนองผือ 5 พรรษา
มรณะภาพ ปี 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร รวมอายุ 80 ปี

เมื่อได้รู้ประวัติของหลวงปู่มั่นกันพอสมควรแล้ว
เราเริ่มออกทัวร์ตามรอยหลวงปู่มั่นกันเลยดีกว่าเริ่มด้วยสถานที่แรก
วัดศรีทอง หรือ วัดศรีอุบลรัตนาราม(อ.เมือง จ. อุบลราชธานี)
เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ และได้รับการขนานนามมคธว่า
"ภูริทัตโต" ที่แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด"

วัดศรีทองมีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กทม.
เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจ.อุบลราชธานี
ที่มีความงามสง่าตามพุทธลักษณะอีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม
ที่ภายในเก็บรวบรวมโบราณวัตถุน่าสนใจไว้มากมาก อาทิ พระพุทธรูปแกะจากไม้
ตู้เก็บพระไตรปิฎกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน
บาตรและเชิงบาตรสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

รูปหล่อ 5 บูรพาจารย์ประดิษฐานอยู่ภายในสิมที่วัดบูรพาราม
จากวัดศรีทองเราเดินทางมายัง วัดบูรพาราม (ต.ในเมือง อ.เมือง
จ.อุบลฯ) วัดนี้เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นท่านมาศึกษาวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์
กันตสีโล ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจให้เที่ยวชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
สิม(โบสถ์) แบบทึบ หันหน้าสู่แม่น้ำมูล ก่อสร้างด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม
ตัวฐานอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน ผนังภายในเป็นไม้ระแนงฉาบดินเหนียวผสมน้ำ
ฟาง และฉาบทับด้วยปูนขาว

ภายในมีรูปหล่อของ 5 บูรพาจารย์คือ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน
พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญานวิศิษย์สิงห์
ขันตญาคโม และพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (สี ธัมมธโร)
ให้ได้กราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

ศาลาอนุสรณ์สถานบ้านเกิด หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลังเที่ยวชมวัดบูรพารามจนอิ่มใจแล้ว
"ตะลอนเที่ยว"ออกเดินทางต่อไปยังบ้านเกิดของหลวงปู่มั่น ณ บ้านคำบง
อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ เพื่อสักการะ อนุสรณ์สถานบ้านเกิดหลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต ที่ภายในมีรูปหล่อหลวงปู่มั่นให้ได้กราบสักการระกัน

ตรงกันข้ามกับอนุสรณ์ฯหลวงปูมั่นเป็นที่ตั้งของ
"วัดศรีบุญเรือง"หรือ"วัดบ้านคำบง" วัด
ที่หลวงปู่มั่นได้มาบรรพชาเป็นสามเณร
วัดนี้มีอาคารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่มีการบรรจุพระอัฐิธาตุ
และมีหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบเคารพบูชา

ถ้ำที่วัดภูหล่น ที่วิปัสสนากัมมัฎฐานของหลวงปู่มั่น
จากบ้านคำบง เราไปต่อยัง ภูหล่น หรือ วัดภูหล่น (ต.สงยาง
อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ)
สถานที่ที่หลวงปู่มั่นเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์เป็นที่แรก

ภูหล่น เป็นภูเขาขนาดย่อม มีต้นไม้ปกคลุมสลับกับโขดหินน้อยใหญ่
มีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่น ด้านบนมีลานหินกว้างมีถ้ำอยู่ 2 ถ้ำ
ซึ่งพวกชาวบ้านช่วยขนหิน ดิน
ขึ้นมาสร้างเป็นถ้ำเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและกันสัตว์ร้ายรบกวน
มีถ้ำของหลวงปู่เสาร์ที่มีรอยเท้าเสือปรากฏอยู่
และถ้ำของหลวงปู่มั่นที่ท่านใช้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนาธรรม
และมีรูปหล่อองค์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น
และพระพุทธรูปให้ได้กราบไหว้เสริมมงคล

กุฏิหลวงปูที่วัดป่านาคนิมิตต์
หลังจากเดินชมถ้ำบนภูหล่นได้สักครู่
เราลงจากภูเดินทางข้ามจังหวัดสู่ วัดป่านาคนิมิตต์ หรือ
ที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าบ้านนามน (บ้านนามน ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ
จ.สกลนคร) วัดนี้หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษาปฏิบัติธรรม
มีกุฏิที่ชาวบ้านจะสร้างกุฏิถวายแด่หลวงปู่มั่น
แต่ไม่รู้จะสร้างที่ใดในตอนกลางคืนพญานาคมาทำรอยเอาไว้ให้เหมือนขุดหลุมเสา
หลวงปู่มั่นก็ชี้บอกให้ชุดหลุมเสาตามรอยที่พญานาคทำไว้โดยไม่ต้องวัดหลุมเสา
เลย แล้วหลวงปู่มั่นก็บอกกับโยมว่าวัดนี้ให้ชื่อว่าวัดป่านาคนิมิตต์

ภายในวัดมีศาสนสถานสำคัญคือ
กุฏิหลวงปู่มั่นที่สร้างด้วยไม้ดูเงียบสงบ
ภายในประดิษฐานรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริง อัฐบริขาร
และภาพอริยาบทต่างๆขององค์ท่าน

รูปหล่อหลวงปู่มั่นและบริขารที่วัดป่าวิสุทธิธรรม
วัดป่าวิสุทธิธรรม หรือ วัดป่าบ้านโคก (บ้านโคก ต.ตองโขบ
อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร) คือวัดต่อไปในการเดินทางครั้งนี้
สำหรับวัดแห่งนี้ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ
สร้างขึ้นให้หลวงปู่มั่นอยู่พำนักจำพรรษา ภายในวัดมีกุฏิหลวงปู่มั่น
มีศาลาโรงธรรมที่ท่านใช้เป็นที่อบรมสานุศิษย์
ภายในศาลามีหุ่นขี้ผึ้งเหมือนองค์จริง มีอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้แสดงอยู่
และยังมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่อุ่น กัลยาณธัมโม
ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริง อัฐิธาตุและอัฐบริขาร
ให้ได้สักการะกันก่อนที่จะออกเดินทางไปยังวัดต่อไปที่รออยู่

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส
จากนั้น"ตะลอนเที่ยว"เดินทางต่อไปยัง วัดป่าสุทธาวาส
(ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร)
วัดนี้มีความสำคัญกับหลวงปู่มั่นเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเลือกที่ละสังขารที่นี่เมื่อวันที่ 11 พ.ย.
2492 เพราะหากตัวท่านต้องมรณภาพที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส บ้านหนองผือนาใน
จะต้องมีงานศพของท่านที่นั้น
และชาวบ้านต้องฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมากเพื่อมาเลี้ยงพระและญาติโยมที่มางาน
ด้วยความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ ท่านจึงให้นำร่างที่ใกล้มรณภาพ
มาไว้ที่วัดป่าสุทธาวาสและจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่าน ณ ที่นี้
ต่อมาได้สร้างพระอุโบสถครอบตรงที่ถวายเพลิงท่านไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ทุกวันจะ
มีนักท่องเที่ยวมา มาสักการะเป็นประจำ

ภายในวัดนี้มีสถานที่ที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ภายในเป็นประดิษฐานรูปหล่อเหมือนองค์จริงหลวงปู่มั่น
และมีประวัติของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ มีอัฐิธาตุ
อัฐบริขารและสิ่งของต่างๆที่ท่านเคยใช้ประจำสมัยที่ยังมีชีวิต
และมีพิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
เป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์ที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างขึ้น
เพื่อบรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่หลุย จันทสาโร
ลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่นภายหลังจากที่ท่านได้มรณภาพแล้วให้ประชาชน
ได้มากราบเคารพบูชา

กุฏิที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส
ที่วัดป่าสุทธาวาสมีสิ่งให้ชมมากมาย จึงใช้เวลานานสักหน่อย
ก่อนที่จะเดินทางไปต่อยัง วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือ วัดป่าบ้านหนองผือ
(ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) เป็นวัดที่หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
สร้างให้หลวงปู่มั่นจำพรรษา ตอนแรกให้ชื่อว่าวัดสันติวนาราม
ต่อมาหลังจากหลวงปู่มั่น มรณภาพแล้ว พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร)
ได้เห็นถึงความสำคัญในสถานที่ที่หลวงปู่มั่นเคยพำนักจำพรรษาอยู่ถึง 5
ปีติดต่อกัน จึงดำริให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เพื่อเชิดชูบูชาคุณให้สอดคล้องกับนามฉายาของ
ท่านพระอาจารย์มั่น อันเป็นมงคลนามว่า วัดป่าภูริทัตตถิราวาส

วัดป่ากลางโนนภู่มีนิทรรศการชีวประวัติหลวงปู่มั่นให้ได้ชม
จากวัดป่าภูริทัตฯ จุดหมายต่อไปอยู่ที่ วัดป่ากลางโนนภู่
(บ้านกุดก้อม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร)
วัดอันเป็นที่ตั้งของศาลาไม้ที่ใช้เป็นที่พักขณะที่หลวงปู่มั่นอาพาธก่อนจะ
มรณภาพ ภายในศาลามีรูปหล่อหลวงปู่มั่น มีพระบรมสารีริกธาตุ
อัฐิธาตุหลวงปู่มั่น แคร่ที่ใช้หามหลวงปู่มั่นมาจากวัดป่าบ้านหนองผือ กลด
มุ้งกลด ที่นอน รวมทั้งสิ่งของที่ท่านเคยใช้เมื่อครั้งท่านอาพาธ
และจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภาพถ่ายต่างๆ
ให้ได้ชมและศึกษาหาความรู้กัน

อัฐบริขารต่างๆ ของหลวงปู่มั่นมีให้ชมที่วัดป่าโนนนิเวศน์
แล้วเราก็มาปิดทริปทัวร์ตามรอยธรรมหลวงปู่มั่นกันที่
วัดป่าโนนนิเวศน์ (อ.เมือง จ.อุดรธานี)
วัดนี้หลวงปู่มั่นมาจำพรรษาหลังจากกลับจากเชียงใหม่ โดยมาจำพรรษาอยู่ถึง
2 พรรษา ภายในวัดมีกุฏิจำลองของหลวงปู่มั่นให้ได้ชมกัน
และยังมีวิหารหลวงปู่มั่น-หลวงปู่ภูมี
ซึ่งในวิหารได้บรรจุรูปเหมือนหลวงปู่มั่น และหลวงปู่ภูมี
ได้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้ขอพร แล้วยังมีอัฐบริขารบางส่วน
ชีวประวัติของหลวงปู่ทั้งสองให้ได้ศึกษา และคำสอนต่างๆ
ของหลวงปู่มั่นให้ได้จดจำนำไปปฏิบัติใช้ในประจำวัน
ดำเนินชีวิตเจริญตามรอยธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต...สาธุ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * * *

ผู้ที่สนใจท่องเที่ยว "ตามรอยพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต
บูรพาจารย์แห่งอีสาน" สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย โทร. 0-2247-2517-20
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โทร. 0-2270 1505-8
สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย โทร. 0-2998-0744
สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย โทร. 0-2246-5659

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000055519

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น