++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"แสงรายา กิติเสถียรพร" น้องหนูกู้ชาติ ทายาทศิลปิน"แสง ธรรมดา" จากปักษ์ใต้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

ตลอด 193 วันในปี 2551 ที่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
รวมมวลชนเรือนแสนร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนขึ้นในประเทศ
ไทย ด้วยการสร้างวีรกรรมกอบกู้บ้านเมืองจากการครอบงำของกลุ่มทุนสามานย์ที่
รู้จักกันในชื่อ "ระบอบทักษิณ"

"ด. ญ.แสงรายา กิติเสถียรพร" บุตรสาววัย 9 ขวบเศษของ "แสง ธรรมดา"
พี่เอื้อยของพวกพ้องน้องพี่ศิลปินเพื่อชีวิตในปักษ์ใต้
ก็ได้มีส่วนร่วมในการเขียนประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนในครั้งนี้ด้วย
และเป็นที่รับรู้กันของมวลชนพันธมิตรฯ ว่าเธอคือ "น้องหนูกู้ชาติ"
จากแดนใต้

ทั้งนี้ก็ด้วยศิลปินผู้พ่ออยากให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการต่อสู้ของภาค
ประชาชน จึงได้พาครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ-แม่-ลูกสาว
เดินทางไปร่วมกู้ชาติกับมวลชนพันธมิตรฯ อย่างต่อเนื่องหลายระลอก
ตั้งแต่การรวมตัวชุมนุมครั้งแรก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
สู่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ทำเนียบรัฐบาล
สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของ
"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา"
ก็ได้จัดเวทีคู่ขนานตลอดการต่อสู้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันมาโดยตลอด
โดยมีทั้งการตั้งจอโปรเจกเตอร์ถ่ายทอดการชุมนุมจากกรุงเทพฯ
และจัดให้มีการปราศรัยที่มีทั้งแกนนำพันธมิตรฯ และนักเคลื่อนไหวฝีปากกล้า
รวมทั้งศิลปินเพลงเพื่อชีวิตทั้งจากเวทีส่วนกลางและในพื้นที่แวะเวียนกันมา
ขึ้นต่อเนื่องนั้น

เด็ก หญิงวัย 9 ขวบเศษ
สายเลือดศิลปินเพลงเพื่อชีวิตจากสะตอแดนใต้นี้
เธอก็ได้ร่วมเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้กู้ชาติในปักษ์ใต้กับเขาด้วย
โดยเฉพาะเวทีพันธมิตรฯ สงขลา ณ ลานประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน
หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ถึงแม้เธอจะเป็นเพียงเด็กหญิงตัวน้อย
แต่เธอได้มีส่วนร่วมในการทำให้ผองพี่น้องพันธมิตรฯ ได้รับความบันเทิง
และได้ผ่อนคลายในระหว่างการต่อสู้ที่เคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง
โดยหนูน้อยได้ร่วมขับกล่อมบทเพลงบนเวทีพันธมิตรฯ ทั้งในที่กรุงเทพฯ
และในภูมิภาคมานับครั้งไม่ถ้วน

ลูกไม้ที่หล่นอยู่ใต้ต้น

ด. ญ.แสงรายา กิติเสถียรพร หรือน้องรายา เป็นบุตรสาวของ แสง
ธรรมดา โต้โผใหญ่ของศิลปินเพื่อชีวิตปักษ์ใต้กับ นางสาวยิหวา จักรทอง
ซึ่งน้องรายาได้ติดตามพ่อกับแม่ไปร่วมต่อสู้การเมืองภาคประชาชนตั้งแต่ปี
2549 จนมาถึงการต่อสู้อย่างยาวนานในปี 2551 ซึ่งครอบครัว "กิติเสถียรพร"
ก็แทบจะอยู่จนเกือบจะครบทั้ง 193 วันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

ความจริงแล้ว
ก่อนที่น้องรายาและครอบครัวจะเข้าร่วมต่อสู้ที่กรุงเทพฯร่วมกับกองทัพเสื้อ
เหลืองของผองพี่น้องพันธมิตรฯ จากทั่วประเทศ
ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนอยู่ ณ ลานประวัติศาสตร์
หน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ร่วมกับพี่น้องพันธมิตรฯ สงขลา
มาตั้งแต่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2551 ก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ
ในวันที่ 25 พฤษภาคมเสียอีก


เมื่อการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตรฯ สงขลาได้เริ่มต้นขึ้น
เหล่าศิลปินนักดนตรีในพื้นที่หลายชีวิตรวมทั้ง แสง ธรรมดา
กับลูกสาวได้ออกจรยุทธ์ร้องเพลงบอกเล่าเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมืองให้พี่น้อง
ประชาชนในพื้นที่รอบนอกเขตเมืองหาดใหญ่-สงขลา
ได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองในขณะนั้น
และส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุนในการจัดเวทีการเมืองภาคประชาชนของพันธมิตรฯ
สงขลา ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนอย่างอบอุ่น
ทำให้ภาคประชาชนชาวสงขลาได้ตื่นตัวและเริ่มลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อโค่นล้ม
ระบอบทักษิณ

ทุกครั้งที่ออกจรยุทธ์ น้องรายา
ในฐานะศิลปินน้อยก็จะติดตามศิลปินใหญ่อย่าง แสง ธรรมดา ไปด้วยทุกครั้ง
เพื่อไปสร้างสีสันร่วมร้องเพลงบนเวทีพันธมิตรฯ ทั่วทุกสารทิศ
ซึ่งในขณะนั้นน้องรายาร่วมร้องเพลงกับพ่อเพียง 2 เพลงคือ "เพลงดอกไม้"
และ "เพลงผีเสื้อ" ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา
กวีซีไรต์ ผู้เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวคนเดือนตุลาฯเช่นกัน

*** ที่มา "เพลงน้องหนูกู้ชาติ"

"จูงมือกับปะป๋า มากู้ชาติ คาดผ้าโพกหัวสีชมพู จูงมือกับมาม่า
มาทั้งคู่ สอนให้หนูเรียนรู้หาความจริง มีบ้านกางผ้าเต็นท์กลางถนน
มีคนใจดีทั้งชายหญิง มีขนมให้หนูกิน มีทุกสิ่ง ช่วยกันจริง
พึ่งพาเอื้ออาทร เต้นรำ เต้นรำ เต้นระบำฟังดนตรี พลัง พลัง
แห่งความดีมาอวยพร เทพบุตร เทพธิดา มารำฟ้อนกันสลอน
ให้นครเมืองรุ่มร้อนได้ร่มเย็น...

"น้องหนูมาเรียนรู้การกู้ชาติ ฉลาดรู้ทันและคิดเป็น
ทำดีได้ดีมีให้เห็น จึงสวยเด่น น่ารักน่าเอ็นดู ชุมนุมที่สุดหรูไทยคู่ฟ้า
ลุงป้าน้าอามาเป็นครู ชักชวนเพื่อนๆ หนูมากอบกู้
เป็นน้องหนูนักสู้ชูธงธรรม มือตบ มือตบ ให้สยบคนไม่ดี อ้าวโห่ อ้าวโห่
ไล่ไปทีคนใจดำ สร้างบ้าน สร้างเมือง ให้รุ่งเรืองงามเลิศล้ำ
เพื่อน้อมนำสิ่งที่ดีมาให้หนู"

นี่คือเนื้อเพลง "น้องหนูกู้ชาติ" ที่น้องรายาขับร้อง
และศิลปินผู้พ่อ แสง ธรรมดา ได้ประพันธ์เนื้อร้องนี้ด้วยตัวเอง

แสง ธรรมดา เล่าถึงความเป็นมาของเพลงนี้ว่า
ช่วงการต่อสู้ของผองพี่น้องพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์
ได้เห็นผู้ปกครองพาเด็กๆ พาหนูๆ มาร่วมต่อสู้กันเยอะมาก
ก็เกิดไอเดียขึ้นมา ซึ่งก็เหมือนกับน้องรายา ซึ่งเด็กๆ
ที่มาร่วมต่อสู้ต่างก็มากับพ่อแม่ หรือไม่ก็มากับพี่ป้าน้าอา
ก็เลยเขียนเพลงน้องหนูกู้ชาติขึ้นมา

"ความจริงตอนนั้นได้แต่งเพลงให้น้องรายาร้อง 2 เพลงด้วยกัน
แต่ที่เผยแพร่ไปแล้วก็ยังแค่เพลงเดียวคือ เพลงน้องหนูกู้ชาติ
ส่วนอีกเพลงที่เหลือกำลังให้น้องรายาฝึกร้องอยู่คือ เพลงปีศาจแดง
ตอนนี้จึงยังไม่ได้เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้"

ด้านน้องรายาเอง บอกว่า พ่อแต่งเพลงให้ร้องโดยเฉพาะ 2 เพลง
แต่เวลาขึ้นไปร้องบนเวทีที่ผ่านๆ มาจะได้ร้อง 3 เพลงคือ เพลงดอกไม้
เพลงผีเสื้อ และเพลงน้องหนูกู้ชาติ
ซึ่งอีกเพลงที่พ่อแต่งให้กำลังฝึกร้องอยู่ ยังไม่ได้นำไปร้องที่ไหนคือ
เพลงปีศาจแดง

รายา น้องหนูกู้ชาติ บนเวทีคอนเสิร์ต ที่สะพานมัฆวานฯ
"ส่วนการที่ตามพ่อไปรวมกู้ชาติตามที่ ต่างๆ นั้น
หนูได้เจอกับคนเยอะแยะเลย มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเขามาร่วมกู้ชาติกัน
เหมือนกับหนูที่มากับพ่อและแม่ และพี่ๆ นักดนตรีอีกหลายคน
และเวลาขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีหนูรู้สึกตื่นเต้นมาก
แต่ก็มีผู้ใหญ่ใจดีให้ทิปด้วย"

แสง ธรรมดา กล่าวต่ออีกว่า ที่พาน้องรายาไปร่วมกับพันธมิตรฯ
ก็ต้องการให้น้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชน
มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ได้เห็นผู้คน เห็นการต่อสู้
อยากให้น้องได้รับรู้ในสิ่งเหล่านี้ ถึงแม้ว่าน้องจะยังเล็ก
แต่คิดว่าน้องเข้าใจแล้วนะว่า เรากำลังต่อสู้กับใคร สู้เพื่อใคร
เพราะว่าการได้ฟังวิทยากร ได้ฟังพันธมิตรฯ
รุ่นลุงป้าน้าอาพูดบนเวทีทุกคืน คิดว่าเขามีความเข้าใจในระดับหนึ่งนะ

กู้ชาติดีเด่น เรื่องเรียนก็ไม่ด้อย

ด้วยครอบครัวที่มีกันเพียง 3 คนคือ พ่อ-แม่-ลูก
ถึงแม้ทั้งพ่อและแม่เองจะเป็นนักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน
แต่ในเวลานี้แม่ ยิหวา จักรทอง ต้องคอยดูแลพ่อ แสง ธรรมดา อย่างใกล้ชิด
เพราะสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง
ส่วนน้องรายานั้นยังเล็กเกินกว่าที่จะอยู่คนเดียวตามลำพังได้
จึงต้องติดสอยห้อยตามพ่อกับแม่ไปทุกหนแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเล่นดนตรีที่จังหวัดต่างๆ
และช่วงระหว่างการต่อสู้ต้องเดินทางขึ้น-ลงกรุงเทพฯ บ่อยมาก

อย่างไรก็ตาม
การที่ต้องติดสอยห้อยตามพ่อและแม่ไปร่วมเคลื่อนไหวตามสถานที่ต่างๆ
สิ่งนี้ได้ส่งผลให้น้องรายาต้องขาดเรียนบ่อยครั้ง
แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเรียนต้องสะดุดหรือมีปัญหา เพราะ
ด.ญ.แสงรายาเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนและเรียนเก่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ด. ญ.แสงรายากำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งน้องรายาบอกว่า
การเดินทางไปกับพ่อและแม่บ่อยๆ ทำให้ต้องขาดเรียนบ้าง
และบางครั้งก็ต่อเนื่องกันหลายวัน

"แต่คุณครูก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะคุณครูเป็นพันธมิตรฯ ทั้งนั้นเลย
และพอกลับมาเรียนหนูเองก็พยายามอ่านหนังสือ และตั้งใจเรียน
ก็ไม่ได้ทำให้การเรียนต้องมีปัญหา คุณครูจึงไม่ว่าอะไรหนู"
ด.ญ.แสงรายากล่าว

นอกจากนี้แล้ว น้องรายาและ แสง ธรรมดา
พร้อมวงดนตรีที่มีพ่อเป็นโต้โผยังมีโอกาสนำบทเพลงน้องหนูกู้ชาติขึ้นร้อง
โชว์บนเวทีให้คุณครูและเพื่อนๆ
ฟังในกิจกรรมวันผลิบานงานวิชาการของโรงเรียนวรพัฒน์อีกด้วย
โดยทางโรงเรียนได้เชิญให้มาร่วมสร้างสีสันสร้างความบันเทิงให้แก่เพื่อนนัก
เรียนและผู้ปกครองที่มาร่วมกิจกรรม

จากเหตุการณ์การต่อสู้การเมืองภาคประชาชนทั้ง 193
วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพมหานคร
หรือทั่วมุมเมืองในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลไหนของประเทศไทย
เลือดรักชาติรักประชาธิปไตยโยงใยถึงกันหมด เพื่อรวมใจเป็นหนึ่งเดียว พี่
ป้า น้า อา และญาติมิตรที่ต้องหอบลูกพาหลานไปร่วมต่อสู้มีไม่น้อยเลยทีเดียว

ทว่า ทุกชีวิตเล็กๆ ในวันนี้ของเหล่า "น้องหนูกู้ชาติ"
ล้วนแล้วแต่เป็นกำลังหลักสำคัญที่พร้อมจะเติบโตขึ้นมาเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทย
เราทั้งสิ้น

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000051584

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น