++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เลือกเรียนหลักสูตรนานาชาติอย่างไร

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


       อยู่ในระหว่างการหาที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สำหรับบรรดานักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งผู้จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า หลายๆ คนกำลังเลือกสถานศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนที่มักจะเรียกกันว่า หลักสูตรอินเตอร์ หรือบางแห่งเรียกหลักสูตรนานาชาติ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกสอบเข้าเรียนที่ไหนดี
      
       เรามีคำแนะนำจาก ศ.ดร.จริยา รัตนะรัต บรอคเคลแมนผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (รักษาการ) ถึงเรื่องการเลือกสถานศึกษาว่าจะเลือกเรียนที่ไหนดี ศ.ดร.จริยาแนะนำว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องดูว่าตัวผู้ที่จะเข้าเรียนนั้น ต้องการอะไร หากต้องการใบปริญญาที่ระบุว่าจบหลักสูตรนานาชาติเท่านั้น ก็สามารถที่จะเข้าเรียนที่ไหนที่เปิดกันเป็นจำนวนมากในทุกวันนี้ก็ได้
      
       “หากต้องการเพียงใบปริญญาที่ระบุว่าจบหลักสูตรนานาชาติจะเรียนที่ไหน ได้ก็จริง แต่จะขาดเรื่องของการได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหลักสูตรแบบนานาชาติจะเป็นการเรียนแบบเรียนให้เข้าใจ วิเคราะห์ได้ ไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ”
      
       นอกจากนี้ศ.ดร.จริยา ยังแนะนำอีกด้วยว่า ควรจะถามให้ชัดเจนในเรื่องของรายวิชาที่สอนนั้น สอนเป็นภาษาอะไร อย่างน้อยทุกวิชาควรสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารระหว่างกันได้ ยกเว้นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาอื่นๆ เช่นวิชาภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส
      
       “ถ้าเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษรายวิชาต่างๆ ก็ควรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษจริงๆ เช่นคณะหนึ่งมีหลักสูตรบริหารภาคภาษาอังกฤษ ก็ไปเชิญอาจารย์ไม่ประจำมาสอนเป็นบางวิชา ตัวผู้เรียนเองก็ได้ความรู้ทางวิชาชีพจากผู้มาสอนด้วย แต่อาจารย์ไม่ประจำท่านนั้นก็ควรสอนเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน”
      
       กรณีคนมักจะมองว่าหลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ มีค่าเล่าเรียนแพง ศ.ดร.จริยา ยกตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวราดหน้า เพื่อเปรียบเทียบกับเหตุที่ค่าเล่าเรียนในหลักสูตรลักษณะนี้แพงว่า ก๋วยเตี๋ยวราดหน้ามีองค์ประกอบหลักๆ คือเส้นก๋วยเตี๋ยว ผัก น้ำที่ราด แต่แต่ละร้านราคาที่ขายอาจจะไม่เท่ากันมีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงหลัก ร้อยบาท อยู่ที่ตัวคนทานว่าจะเลือกทานแบบไหน
      
       ถ้าเลือกร้านทั่วๆ ไปราคาไม่กี่สิบบาทก็สามารถทานอิ่มได้เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าเขาใช้ผักปลอดสารพิษหรือไม่ ใช้หมูที่ผู้เลี้ยงใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือเปล่า แต่ถ้าเข้าร้านที่มีมาตรฐาน มีหน่วยงานรับรองว่าเขาใช้ผักปลอดสารพิษระบุแหล่งที่มาของผักได้ ใช้เนื้อหมูที่เลี้ยงโดยวิธีธรรมชาติไม่มีการใส่สารเร่งเนื้อแดง ราคาก็จะแพงกว่ากันพอสมควร
      
       “ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็อิ่มเหมือนกัน แต่ผลที่ตามมาไม่เหมือนกัน ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่วัตถุดิบ แล้วคนทานก็มีสิทธิที่จะเลือกทานได้เองว่าจะเอาแบบราคาถูก หรือราคาแพง คุณพ่อคุณแม่ถ้าเข้าใจ จะรู้ว่าการศึกษาหลักสูตรนานาชาติไม่แพง อย่างค่าเล่าเรียนที่นี่ถ้าเทียบกับที่อื่นแล้วจะอยู่ระดับกลางๆ ไม่แพง ไม่ถูก ถ้าจะเอาคุณภาพแบบนี้ แล้วต้องไปอเมริกา ค่าเล่าเรียนเดี๋ยวนี้คิดว่า 36,000 เหรียญต่อปีนะ ก็คูณค่าเงินบาทของเราเข้าไป ปีหนึ่งก็เกินล้านบาทแล้ว”
      
       ในส่วนของหลักสูตรวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศ.ดร.จริยา เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการมามากกว่า 10 ปีนั้น อาจารย์กล่าวว่าทุกรายวิชาเป็นการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดไม่ว่า จะเป็นกลุ่มวิชาภาษา กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์
      
       “เรามีกรอบให้ผู้เรียนเช่นคนที่เรียนบริหาร คุณจะต้องเรียนอะไรบ้าง โดยปีหนึ่งจะต้องเรียนทุกกลุ่มวิชาเหมือนกัน เพราะว่าจะเป็นนักธุรกิจ แต่ไม่รู้เรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่รู้เรื่องของร่างกายตัวเอง แล้วจะเป็นนักธุรกิจที่ดีได้ไหม ซึ่งก็อาจจะทำได้แต่มันไม่ใช่อย่างที่ต้องการ
       ถ้าเป็นนักธุรกิจแล้วรู้เรื่องชีวะสักนิด เคมีสักหน่อย อย่างนี้เขาก็จะทำธุรกิจที่เรียกว่าช่วยตัวเองได้ช่วยสังคมได้
      
       ยกตัวอย่างง่ายๆ เห็นคนจบแพทย์กันมาก หากแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แล้วเขามีที่อยู่ระหว่างบ้านสองบ้าน แล้ววันหนึ่งเขามาถมที่ พื้นที่ที่เขาถมนั้นเป็นพื้นที่อุ้มน้ำ เสร็จแล้วเขาก็ทิ้งไว้อย่างนั้น แน่นอนต้นไม้ก็ขึ้นดี มีนกมากินผลไม้จากต้นไม้
      
       อยู่มาวันหนึ่งเขาก็มาตัดต้นไม้ทิ้งทั้งหมด เราถามไปว่าตัดต้นไม้ไปจะทำอะไร เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไร ตัดทิ้งไว้เฉยๆ แล้วมาตัดหน้าร้อน ก็คิดดูว่าจะเป็นเชื้อไฟขนาดไหนกับบ้านข้างๆ ต้นไม้ก็หายไปหมด ความร้อนก็เพิ่มอย่างนี้ล่ะเราอยากให้คนที่จบเขามีความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรกัน
       แพทย์คนนี้เขาไม่ได้ใจร้ายอะไร แต่ด้วยความที่เขาไม่รู้ ไม่เคยเรียนสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องมาก่อน ก็ไม่ตระหนักตรงนี้
      
       ตรงนี้เป็นตัวอย่าง เพราะการศึกษาจบมาแล้วไม่ใช่ว่าได้ปริญญาเป็นกระดาษแผ่นเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการได้มาแล้วต้องมีศักดิ์ศรีของการเป็นบัณฑิต ต้องรู้ถึงสิ่งแวดล้อม รู้ถึงสุขภาพอนามัย รู้ถึงชุมชน แล้วขณะเดียวกันเขาก็สามารถที่จะอยู่อย่างมีความสุข จะฟังดนตรีก็ฟังได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทย จีน ฝรั่ง แจ๊ส ก็เลือกเอาเขาชอบอย่างไหน”
      
       เมื่อตั้งใจจะเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษ ศ.ดร.จริยา แนะนำว่า ต้องเตรียมตัวเรื่องภาษาให้ดี ต้องเอาใจใส่
      
       “ถ้าคุณเป็นคนที่พูดภาษไทยแบบชุ่ยๆ แล้วคุณเรียนภาษาอื่นไม่ได้เด็ดขาด ภาษาแม่ตัวเองต้องเข้าใจก่อนว่ารูปภาษาคืออะไร แล้วก็พูดชัดเจน ผู้ที่มีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ชัด แล้วก็พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด คำควบกล้ำไม่ได้ แล้วสับสนไปหมด ระหว่าง CH กับ SH เด็กสับสนมาตั้งแต่ต้นๆ แล้ว ก็จะต้องปรับตัวกัน ต้องเข้าใจว่าภาษาอังกฤษคือภาษากลางอย่างที่นี่ มีผู้เรียนจากหลายชาติ มีทั้งญี่ปุ่น จีน แล้วพวกชาติที่เขาใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ถ้าออกเสียงไม่ถูกอาจจะสื่อสารความหมายกันผิดได้
      
       ผู้ที่มาเรียนที่นี่ในปีแรกจะมีการปรับตัว ถ้ามาจากรร.ไทยๆ ต้องปรับตัวมาก จากการท่องจำเป็นการทำความเข้าใจ เพราะการวัดผลที่นี่ไม่ได้วัดผลจากการท่องจำ แต่เป็นการวัดผลจากความเข้าใจ
       ตรงนี้เราพยายามทำมาตลอดเลย เพื่อให้นักศึกษาที่จบใหม่มาต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็น คิดใหม่เป็น ถ้าคุณท่องจำ พอคุณได้ปริญญาไปแล้วคุณก็ลืม นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกันว่าเหมือนอัดอาหารเข้าไปแล้วเขาก็คายออกมา อาหารยังไม่ได้ย่อยเลย อาหารที่อัดเข้าไปไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย ไม่ได้ไปเป็นอาหารสมอง
      
       ที่นี่คุณท่องมาได้ในเรื่องความรู้พื้นฐาน แต่คุณไม่มีทางตอบได้ เพราะคุณต้องบรรยาย ไม่มีช้อยส์ A B C D ให้เลือก ข้อสอบเป็นข้อสอบบรรยายทั้งหมด เคยมีครั้งหนึ่งเด็กเรียนด้านบริหารการโรงแรม แล้วในข้อสอบถามว่า ถ้าจะจัดเซ็ตเมนูอย่างนี้ในวันที่เท่านั้นๆ ซึ่งก็มีการโปรโมตออกไปแล้ว แน่นอนว่าของที่ใช้ในการทำเมนูนั้นกำหนดไว้แล้ว แต่พอถึงเวลาซื้อของที่จะมาทำไม่ได้ จะทำอย่างไร
       เจตนาของโจทย์คือเด็กต้องวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำอาหาร เซ็ตนี้ให้ได้ แต่เด็กตอบว่าต้องจัดเมนูใหม่ทั้งหมดตามของที่มีขายในวันนั้น คะแนนก็เลยไม่มี เ
      
       ผู้ปกครองเด็กมาเลยนะ มาถามว่าทำไมเด็กตอบไปตั้งสองหน้า ถึงได้ไม่มีคะแนนเลย เราก็บอกไปจะให้ได้อย่างไร ในเมื่อเด็กตอบไม่ตรงกับคำถาม”
      
       มากกว่า 10 ปีที่ศ.ดร.จริยา เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนานาชาติแห่งนี้ อาจารย์บอกว่าเรื่องกิจกรรมของนักศึกษาที่เกิดขึ้นที่นี่ ล้วนแต่ให้ตัวนักศึกษาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาทั้งสิ้น
      
       “แต่ละหลักสูตร แต่ละคณะจะมีสโมสรนักศึกษา เปรียบเทียบแบบนี้ตัวนายกสโมสรฯ คือนายกรัฐมนตรี แล้วก็มีกลุ่มของตัวเองทำงาน กลุ่มนี้ก็คือรมต.ประจำสำนักนายกฯ แล้วพวกหัวหน้าคลับก็คือรมต.กระทรวงต่างๆ สมมติว่าเราให้เงินไปภาคการศึกษาละ 5 แสนบาท เขาก็ไปทำเป็นงบประมาณออกมา แล้วมาอภิปรายกันเองว่าของใครสำคัญอย่างไร แล้วก็แบ่งงบกันไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
      
       ทุกอย่างที่นี่เรามีกรอบให้เขา ชี้แนะเขา แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างเด็กจะต้องทำตามเรา เด็กอาจจะมีความคิดที่เขาคิดว่าดี แต่มันไม่ดีก็ได้ ก็คือเราเดินคู่กับเขาไป คอยดูเขาตะล่อมให้อยู่ในกรอบ เราทำแบบนี้เพื่อให้เด็กคิดเป็น คิดอย่างมีเหตุมีผล”

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000033832

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น