ถ้าจำไม่ผิด (และไม่น่าจะผิด) คิดถึงวิทยาเป็นหนังเรื่องแรกในรอบปีของจีทีเอช (ตัวเลขชัดๆ คือ 11 เดือน นับจากพี่มาก...พระโขนง เข้าฉาย) หลังจากดูหนังจบ สิ่งแรกที่พบและคิดว่าน่าจะนำมากล่าวถึงเป็นอันดับแรก คือ ลักษณะเรื่องราวและแนวของหนัง
ที่ผ่านมาหนังของจีทีเอชมักเป็นหนังตลก และสยองขวัญ โดยมีหนัง 2 แนวนี้รวมกันมากกว่า 20 เรื่อง หรือราว 2 ใน 3 ของทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ขอแทรกการอธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังนี้...
ผมจัดให้หนังอย่าง ลัดดาแลนด์, เคาท์ดาวน์, 4 แพร่ง, 5 แพร่ง เป็นหนังสยองขวัญ (ถึงแม้ "คนกลาง" กับ "คนกอง" ใน 4 แพร่ง กับ 5 แพร่ง จะมีตลกล้อเลียน หรือ parody ผสม) ส่วนหนังตลกนั้น มีทั้งตลกวัยรุ่น ตลกผี (เช่น พี่มาก...พระโขนง) และตลกโรแมนติก
กล่าวเฉพาะหนังตลก ส่วนใหญ่เป็นตลกโรแมนติก ซึ่งผมจัดให้คิดถึงวิทยา อยู่ในแนวนี้ด้วย แต่ในความเป็นตลกโรแมนติกผมพบจุดเด่นที่แตกต่าง โดยความแตกต่างนั้นมีทั้งแตกต่างไปจากหนังตลกโรแมนติกทั่วไป และตลกโรแมนติกของจีทีเอช เอง
จุดเด่นที่เป็นความแตกต่างก็คือ การเล่าเรื่องรักระหว่างชายหญิงที่มีการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่เรื่องรักระหว่างชายหญิง ในขณะที่กำลังดูเรื่องรักผสมอารมณ์ขัน คนดูได้รับรู้ชีวิตเด็กในที่ห่างไกล ได้รู้ว่ายังมีคนด้อยโอกาส
ในขณะเดียวกันชีวิตเด็กผู้ด้อยโอกาสนั้นสัมพันธ์กับการเกิดความรักและการเรียนรู้ของตัวละคร กล่าวได้ว่าตัวละครเอกได้รู้จักตัวเอง รู้จักความรัก ผ่านทางการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น
และเมื่อมองตรงจุดนี้ผมพบว่า คิดถึงวิทยา อาจจะมีลักษณะคล้ายกับงานแนวอื่นอย่าง มหา'ลัยเหมืองแร่ มากกว่ากวนมึนโฮ หรือ ATM เออรัก เออเร่อ (ที่เป็นตลกโรแมนติกเหมือนกัน)
กล่าวคือ ตัวละครเอกไม่ได้ไปสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างเดียว แต่ยังได้ไปศึกษาเรียนรู้จากเด็กและโรงเรียนบนแพ รวมถึงต้องเดินทางไปที่ห่างไกล คิดถึงวิทยา จึงมีแนวโน้มที่จะเป็น "มหา'ลัยเรือนแพ" มากกว่า "เรือนแพมาหานะเธอ"
อีกจุดที่ต้องกล่าวถึง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของคิดถึงวิทยาเช่นกัน นั่นคือ การเป็นหนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว โดยทั้งคู่ไม่ได้พบหน้ากันเลยจนกระทั่งฉากสุดท้าย
โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นและพัฒนาผ่านสถานที่ (คือโรงเรียนบนแพ) และสมุดจดบันทึก ซึ่งผ่านทั้งการอ่านและการบันทึก ที่สำคัญแม้ไม่ได้พบหน้าพูดคุยกันเลยเกือบทั้งเรื่อง แต่ดูเหมือนว่าตัวละครได้เรียนรู้และทำความรู้จักกัน และคนดูก็ได้รับรู้ถึงการเรียนรู้นั้นด้วย
ในขณะที่หนังเดินไปสู่ตอนท้าย ผมพยายามเดาใจคนทำว่าจะทำออกมาเป็นแบบไหน แบบไหนที่จะไม่ทำให้คนดูคับข้องใจ และแบบไหนที่จะไม่เชย หรือเป็นการเล่นกับวิธีการซ้ำๆ
เมื่อปรากฏออกมานับว่าเป็นการจบเรื่องที่พอเหมาะพอดี ไม่เชย และน่าจะทำให้คนดูอิ่มอกอิ่มใจได้ หนังเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง และลงท้ายอย่างน่าประทับใจ
เพื่อนนักวิจารณ์คนหนึ่งบอกผมว่า นี่คือหนังที่ดีในแง่ของงานเพื่อความบันเทิง แต่ว่า "เพ้อฝันสุดๆ" ผมเห็นด้วยกับประเด็นแรก ส่วนเรื่องเพ้อฝันผมเลือกที่จะไม่มองตรงจุดนั้น
ผู้กำกับฯ - นิธิวัฒน์ ธราธร
ผู้แสดง - เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์, สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
คอลัมน์ หนังเด่น/โดย กฤษดา
ข่าวสดออนไลน์, 28 มี.ค.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น