++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557

สติยิ่งมากยิ่งดี




สติ แปลกันโดยทั่วไปว่า ความระลึกได้ นึกได้ ความจริงการระลึกได้เป็นเพียงหน้าที่หนึ่งและหน้าที่แรกของสติเท่านั้น

สติในความหมายที่เต็มหมายถึง ความระมัดระวัง ความตื่นตัวเต็มที่ (หมายถึงจิตตื่นตัวนะครับ อย่าคิดมาก) ภาวะที่พร้อมเสมอในการคอยรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในแง่จริยธรรม สติเปรียบได้กับนายยามที่คอยดูคนเดินเข้า-เดินออก คอยห้ามคนที่ไม่ควรเข้าไม่ให้เข้า คนที่ไม่ควรออกไม่ให้ออก นึกถึงบทบาทของอาบังที่เฝ้าบริษัทห้างร้าน หรือธนาคาร สำนักงานใหญ่ๆ สักแห่งจะเข้าใจดี

สติ จึงเป็นความไม่ประมาท ความยับยั้งชั่งใจตนเองมิให้เผลอทำความผิดความชั่ว พูดอีกนัยหนึ่ง สตินอกจากจะทำหน้าที่ระลึกนึกได้ หรือจำเรื่องที่ล่วงมาแล้วได้ ยังทำหน้าที่คอยยับยั้งใจมิให้ทำชั่ว และเตือนคนให้กระทำความดีด้วย

ปัจฉิมพุทธโอวาทที่ตรัสว่า "อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" นั้น ถ้าแปลง่ายๆ ให้ฟังรู้ทันทีก็คือ "พวกเธอจงอย่าประมาท" หรือ "พวกเธอจงมีสติอยู่เสมอ" นั้นเอง

คนมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ นับว่าเป็น "ผู้ตื่น" คนที่ตื่นอยู่ด้วยการมีสติอยู่กับตัวทั่วพร้อมทุก อิริยาบถ กิเลส (โลภ โกรธ หลง) ยากจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจได้

เจ้าของบ้านที่ตื่นอยู่ โอกาสที่ขโมยจะขึ้นบ้านไปขโมยสิ่งของในบ้าน ย่อมยากจะเกิดขึ้น ทั้งหลายแหล่มีแต่ประเภทนอนกรนคร็อกฟี้ๆ นั่นแหละที่เป็นที่ "หวานคอแร้ง" ของบรรดานักย่องเบา ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ

พระท่านว่า ธรรมะข้ออื่นๆ ต้องมีพอเหมาะพอดี จึงจะอำนวยประโยชน์ ถ้ามีมากเกินพอดี อาจให้โทษได้เช่น ศรัทธามากไป ทำให้เชื่องมงายไม่ลืมหูลืมตา โดนต้ม โดนตุ๋นได้ง่าย ปัญญามากเกินไปทำให้หัวแข็ง ยึดมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมเชื่อใคร สมาธิมากเกินไป ทำให้ติดสุข เพราะเวลาจิตมีสมาธิ ร่างกายจะขับสารชื่อ "เอ็นดอร์ฟีน" ออกมาทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "เสพติดทางใจ" กลายเป็นคนเกียจคร้านเฉื่อยชาได้

แต่สติยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ ฉะนั้น เรามาสร้างสติกำกับทุกขณะจิตเถิด จะได้สมกับที่เป็นชาว "พุทธ" ผู้ตื่นเสมอ มีสติตื่นตัวตลอดเวลา กษณะประชาหลับใหล ชีวิตเราที่เกิดมา ไม่ไร้ค่าแต่อย่างใด

ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ/เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ข่าวสดออนไลน์, 3 กุมภาพันธ์ 2557


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น