++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร...

แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร...
ชนะเป็นมาร

ในการแข่งขันย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ แต่เพื่อไม่ให้คนที่แพ้ต้องเสียใจจนเกินไป ก็เลยมีสำนวนปลอบใจว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร หมายถึง การยอมแพ้ทําให้เรื่องสงบ การไม่ยอมแพ้ทําให้เรื่องไม่สงบ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในสังคมก็ยังพบผู้ที่อยากจะเป็นมารกันอยู่เสมอ วันนี้จึงนำเรื่องของมาร มาแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกันสักนิด

มาร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หมายถึง เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ หรือหมายถึง ยักษ์; ผู้ฆ่า; ผู้ทำลาย ในพระพุทธศาสนาหมายถึง ผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง

เมื่อคำว่า มาร มีความหมายในทางลบแล้ว หากไปประกอบคำอื่นก็จะมีความหมายในทางลบด้วย เช่น มาราธิราช หมายถึง พญามาร, มารคอหอย หมายถึง ผู้ที่ขัดผลประโยชน์ที่ผู้อื่นจะพึงมีพึงได้

มารผจญ หมายถึง มารยกทัพมารบ, มารที่ยกทัพมาขัดขวางการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า; โดยปริยายหมายความว่า ขัดขวางไม่ให้สําเร็จประโยชน์

มารสังคม หมายถึง ผู้ที่เป็นภัยต่อสังคม มารหัวขน หมายถึง ลูกที่อยู่ในท้องซึ่งยังไม่ปรากฏว่าใครเป็นพ่อ หรือไม่มีใครรับว่าเป็นพ่อ

แต่ก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด คำว่า มาร บางครั้งก็มีความหมายในทางที่ดีได้เช่นกัน เช่น มารชิ หรือ มารชิต หมายถึง ผู้ชนะมาร คือ พระพุทธเจ้า

มารวิชัย หมายถึง ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางควํ่าลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ว่า พระปางมารวิชัย, พระปางชนะมาร หรือ พระปางสะดุ้งมาร ก็เรียก

รู้อย่างนี้แล้วก็ใช้วิจารณญาณกันเองนะคะ ว่าอยากจะเป็นพระ หรือว่าอยากจะเป็นมาร.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก/องค์ความรู้ภาษาไทย
เดลินิวส์ออนไลน์, พุธที่ 16 กันยายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น