++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

พลังประนีประนอม



ระยะนี้เป็นช่วงเลือกตั้งผู้นำของหลายประเทศ และทุกแห่งล้วนน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนายกฯ ของอินเดีย อินโดนีเซีย อียิปต์ และโดยเฉพาะอัฟกานิสถาน

อินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 4 ทั้งสองประเทศถือเป็นยักษ์ของเอเชีย เป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับต้นๆ เช่นกัน

แต่ในวันนี้ทั้งสองถูกสหรัฐจัดอันดับ ว่าเป็นประเทศที่มีความ "เปราะบาง" มากเช่นกัน เพราะเป็นประเทศที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจสูง แต่กลับต้องพึ่งเงินทุนต่างชาติมากเกินไป

กลุ่มประเทศ "เปราะบาง" เช่นนี้มีอยู่ 5 ประเทศคือ ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ หรือ Fragile Five ทั้งสองแห่งไม่ว่าใครเข้ามาบริหาร จะต้องเหนื่อยหนักแน่นอน

ส่วนที่อียิปต์ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้น่าสนใจ เพราะว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คนอียิปต์ขับไล่ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมาเกือบ 30 ปีออกไปได้ แล้วก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่อยู่แค่ปีเศษก็โดนโค่นออกด้วยกองทัพ

และวันนี้ ผู้นำกองทัพที่ว่าก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้นำคนต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า นายพลผู้นี้จะชนะการเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน แต่คนที่เชื่อว่าเขาจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ กลับมีน้อยมาก

เพราะว่าในช่วงที่ยึดอำนาจจากปลายปีที่แล้ว อียิปต์ถูกหลายชาติบอยคอตทางเศรษฐกิจ งบประมาณของประเทศหดตัว คนว่างงานสูง และประเทศอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือราว 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่ได้มาจากบางประเทศในตะวันออกกลางที่ร่ำรวย แต่เงิน 16 พันล้านจะพอกับคน 80 ล้านคนไปได้นานสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลต้องทุ่มเงินมหาศาลไปที่การทหาร

สหรัฐฯซึ่งต้องการอียิปต์เป็นเพื่อนในภูมิภาค และคอยช่วยต่อต้านการก่อการร้าย ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไรดี ซึ่งไม่ต่างจากอิสราเอลที่อยากเห็นอียิปต์แบบที่ผ่านมา คืออียิปต์ที่มีพรมแดนสงบสุขกับอิสราเอล ตั้งแต่ปี 1979

แต่ที่น่าสนใจมากสุดคงเป็นการเลือกตั้งที่อัฟกานิสถาน (5 เม.ย.) แม้ว่ายังไม่รู้ผลการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การก่อการร้ายจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน? ปัญหาทุจริตที่กระจายไปทั่วหัวระแหง ปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค การศึกษา ฯลฯ

ทุกอย่างดูเป็นปัญหาไปหมดสำหรับประเทศนี้ ค่าใช้จ่ายของประเทศก็มาจากเงินช่วยเหลือเกือบทั้งสิ้น แบมือขอเงินใครก็ต้องตามใจคนให้เงินเป็นธรรมดา

แต่วันนี้คนที่ดูแลอยู่เสมอมาก็ชักเหนื่อยและท้อ กองกำลังนาโต้ที่ดูแลคุ้มครองชีวิตผู้คน ก็จะถอนตัวในเวลาไม่นานนี้แล้ว ชีวิตคนอัฟกานิสถาน ก็ต้องฝากไว้กับทหาร 250,000 คน และตำรวจอีกราวไม่ถึง 30,000 คนเท่านั้น

อาจไม่มากไม่น้อยสำหรับประชากร 30 ล้านคน แต่ภัยจากกลุ่มตาลิบันที่หัวรุนแรง คงทำให้ประเทศยังยากจนที่สุดไปอีกนาน

การที่ทุกคนจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการนั้น ไม่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง การประนีประนอม ยอมได้และยอมเสียต่างหาก ที่จะทำให้เกิดพลังในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

อินไซด์ต่างประเทศ/วิจักขณ์ ชิตรัตน์
ข่าวสดออนไลน์, 20 เมษายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น