++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557

การศึกษากับปัญหาเศรษฐกิจ




เมื่อสองสามวันก่อน อ่านข่าวผลการสำรวจของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง ได้วัดความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็ก โดยสำรวจเด็กอายุ 15 ปีในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ผลสำรวจปรากฏว่าเด็กสิงคโปร์มีความสามารถใน "การแก้ปัญหาเก่งที่สุด" ก่อนนี้ก็เป็นเลิศทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานในการพัฒนาประเทศก็อยู่อันดับต้นๆ มาตลอด มองคุณภาพเด็กของเขาก็หันมามองเด็กของเราต่างกันลิบลับ

ในการจัดอันดับความรู้ความสามารถเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับท้ายๆ ของโลก หากเทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกันเราก็เกือบๆ จะบ๊วย

พอจะเชิดหน้าชูตาได้บ้างก็น่าจะเป็น "โยธวาทิต" กระมัง ที่มีอันดับโลกติดไม้ติดมือมาบ่อยๆ ส่วนโอลิมปิกวิชาการก็เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่ภาพรวมการศึกษาของเด็กไทย

จึงน่าแปลกใจ กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดถึง 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งประเทศ หรือราวๆ 5 แสนล้านบาท เด็กไทยใช้ชั่วโมงเรียนเกือบจะมากที่สุดพอๆ กับเกาหลี แต่ผลที่ออกมาต่างกันแบบขาวกับดำ เกาหลีติดอันดับ 1 ของโลกแต่เราท้ายๆ

เงินเดือนครูไทยเงินก็ไม่ได้ต่ำ หากเทียบกับครูในหลายๆ ประเทศ มิหนำซ้ำในแต่ละปีบุคลากรในกระทรวงศึกษาฯ นักวิชาการ ครู ผอ.โรงเรียน รวมถึงกรรมาธิการด้านการศึกษาใช้งบฯ ดูงานปีละหลายร้อยล้านบาท ส่วนใหญ่จะไปดูงานในประเทศยุโรป ทั้งที่ประเทศเหล่านี้การศึกษาสู้สิงคโปร์ไม่ได้

หากไปดูงานเรื่องการศึกษาจริงๆ ไปแค่สิงคโปร์ เกาหลี หรือหากเป็นคณิตศาสตร์เวียดนามก็พอ เรามีของดีราคาถูกอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่สนใจเพราะไม่ได้เที่ยวช็อปปิ้ง

ที่สำคัญหลายสิบปีที่ผ่านมาเราขาดนักการเมืองที่เป็น "นักจัดการการศึกษา" และขาดความต่อเนื่อง ในรัฐบาลนี้เปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 4 คน มีทั้งมือสมัครเล่นและรัฐมนตรีพาร์ตไทม์ การศึกษาไทยจึงติดหล่มไม่ไปไหน

วิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศอย่างสิงคโปร์เอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ทุกครั้ง เพราะเขามีคนเก่งๆ มากมาย อันเนื่องมาจากคนเขามีความรู้ มีคุณภาพนั่นเอง

การแก้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างได้ผลและยั่งยืน ก็ต้องแก้ด้วยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ หากคนในประเทศฉลาด ผู้บริหารองค์กร บริหารประเทศ นักการเมือง เก่งและดีการแก้ปัญหาต่างๆ ก็ง่ายขึ้น การศึกษาจึงมีความสำคัญและสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งและแยกไม่ออก

คอลัมน์ เมืองไทย 25 น./ทวี มีเงิน
ข่าวสดออนไลน์, 10 เม.ย.2557
Photo: Nanyang Girl's High School, Singapore.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น