++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หัวอก CEO ยุคผันผวน



วันก่อนได้อ่านบทความเรื่อง Leading in the 21st century จาก McKensey Quarterly เดือนมิถุนายนปีนี้ Dominic Barton Andrew Grant และ Michelle Horn ได้สัมภาษณ์ผู้นำระดับโลก 6 คน คือ Josef Ackermann CEO ที่พึ่งเกษียณของ Deutsche Bank Carlos Ghosn CEO ของ Nissan Moya Greene CEO of the United Kingdom’s Royal Mail Group Ellen Kullman CEO ของ DuPont และ Forbes จัดอันดับเป็นหนึ่ง 100 Most Powerful Women ในปีที่แล้ว Shimon Peres ประธานาธิบดี Israel และ Daniel Vasella เป็น chairman ของ Swiss pharmaceutical company Novartis AG จุดใหญ่ใจความสำคัญของบทความ คือ ทำให้เห็นถึงลีลาการเป็นผู้นำในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วผกผันชนิดหัวหกก้นขวิด การจัดการตัวเองของคนที่รับผิดชอบองค์กรระดับบิ้กเบิ้ม และการตัดสินใจภายใต้สภาวะการณ์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน และเป็นการบอกเราว่าโลกนี้มันร้ายกว่าเดิมมากจนเกินจะจินตนาการ มันมีความท้าทายใหม่ๆตลอดเวลาที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำที่ต้องเปลี่ยนใหม่เพื่อเข้ากับแรงผลักดันสารพัดที่โถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง

ตอบรับการผกผันของยุคสมัย

เศรษฐกิจโลกถูกปรับตามแรงผลักดันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอย่างอาฟริกา บราซิล จีนและอินเดียที่พากันผุดผงาดกันขึ้นมาแทรกแซงเศรษฐกิจโลกจากเจ้าเก่าแถบซีกตะวันตก กลายเป็นเครื่องจักรใหม่ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีการก้าวกระโดดของนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ การล้มละลายของอุตสาหกรรมเก่า เครือข่ายการติดต่อสื่อสารที่โยงใยคร่อมกันไปมาในความเร็วที่แทบตามไม่ทัน สิ่งเหล่านี้ คือ แรงผลักให้เกิดบริบทใหม่ในการเป็นผู้นำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Josef Ackermann ให้ความสำคัญที่ managing risk ซึ่งไม่ใช่แค่ความเสี่ยงทางการตลาดแต่เป็นความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากขึ้นจากทางการเมืองและสังคม จะเห็นจากในปี 1980 ที่ Deutsche Bank มีรายรับ 80% จากเยอรมันประเทศเดียว แต่ทุกวันนี้รายรับ 38% มาจากทั่วโลก พนักงานที่ Frankfurt ถึงขั้นถามว่าทำไมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นหน้า CEO เลย มันเป็นเหตุให้ CEO ต้องเดินทางไปตามเส้นทางการเติบโตขององค์กรทุกแห่งในโลกไม่ว่าจะเป็นแถบลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง หรือเอเชีย คือต้องไปมันทุกที่เพราะ financial markets กลายเป็น political markets ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และทักษะใหม่ๆ ซึ่งทักษะเหล่านั้นมันหาไม่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย การจะทำงานเป็นผู้นำได้ดีต้องรู้ว่าจะจัดการกับสังคมที่องค์กรอยู่ร่วมด้วยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกที่รันทดหดหู่จากวิกฤติทางการเงินที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากที่เป็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคาร จะเรียนรู้ จะเข้าใจ จะจัดการได้ต้องลงพื้นที่จริงเท่านั้น

Carlos Ghosn เน้นว่าผู้นำต้องเตรียมรับวิกฤติภายนอกมากว่าภายในองค์กร วิกฤติในองค์กร คือแค่บริหารห่วย ยังพอจะทำอะไรได้บ้าง แต่วิกฤติภายนอกอย่างการล่มของ Lehman Brothers แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หรือ น้ำท่วมประเทศไทยแลนด์นั้น มันฉับพลัน ทุกอย่างถาโถมลงมาที่ตัวผู้นำ ในค่ายที่สอนบริหารธุรกิจก็ออกแนวเน้นการบริหารวิกฤติภายในเสียเยอะ ซึ่งเวลามีวิกฤติภายนอกมันไม่ใช่เรื่องกลยุทธ์องค์กรแล้ว มันเป็นความสามารถของผู้นำล้วนๆที่ต้องเล็งว่าจะเอายังไง จะปรับกลยุทธ์ยังไงจึงจะเอาอยู่จริงๆ เพราะองค์กรอาจถูกถล่มโดยสิ่งที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยกับองค์กรมาก่อน สิ่งที่ Nissan สามารถรับมือกับวิกฤติภายนอกได้อย่างหนึ่ง คือ ความหลากหลาย การมี multinational culture และไม่ได้นั่งรอการแก้ปัญหาจากสำนักงานใหญ่ คนในองค์กรมองหาแนวคิดใหม่ๆเสมอจากหลายที่หลายแห่ง

Ellen Kullman เชื่อว่าทุกวันนี้ผลกระทบทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น คลื่นยักษ์สึนามิมันรุนแรงแบบไม่เคยเห็นมาก่อน มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างยิ่ง การเติบโตของประชากรโลกที่เข้าไปแตะเจ็ดพันล้านคนเมื่อปีที่แล้วจะมีผลต่อการทำมาหากินและสิ่งแวดล้อม ผู้นำต้องสามารถเชื่อมโยงโดยศึกษาวิจัยพวก megatrends แบบนี้เพราะมันเป็นอนาคตที่ต้องเข้าใจ

มาดูฝั่งประธานาธิบดีกันมั่ง Shimon Peres คมขาดเช่นกัน “ You may have the strongest army but it cannot conquer ideas, it cannot conquer knowledge.” มันเป็นโลกใหม่ที่ Adam Smith หรือ Karl Marx ถ้าฟื้นขึ้นมาอาจงงได้ว่าทฤษฎีที่เคยให้ความสำคัญกับพวก land labor หรือความมั่งคั่งมันหายไปไหน ทำไมมันถูกแทนที่ด้วยไอเดียกันไปหมด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศมันทำให้คนเดี่ยวๆคนเดียวที่ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีกองทัพ และไม่ได้มีมรดกพกห่ออะไรเลยมาก่อน สามารถมีบทบาทในโลกได้อย่างคาดไม่ถึง เด็กหนุ่มสองคนสร้าง Google เด็กหนุ่มคนเดียวสร้าง Facebook และชายอีกคนสร้าง Apples

การจัดการวิถีตัวเอง

โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้นำต้องเจ๋งมากต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเหมือนนักกีฬาอาชีพ ต้องเข้าใจทุกบริบทของการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเรื่องกิน นอน ออกกำลัง ต้องตระหนักว่าทุกอย่างเกี่ยวพันกันกับการมีวิจารณญาณและการจะยืนอย่างโดดเด่นเป็นสง่าในโลกที่ผันผวนนี้

คุณป้าพลังร้าย Moya Greene บอกว่าอย่างแรก คือ ถามตัวเองว่ารักงานเข้าใส้ไหม รักองค์กร รักพนักงานอย่างจริงใจหรือเปล่า ถ้ารัก case closed คนนี้ตื่นตีห้า วิ่งครึ่งชั่วโมงทุกวัน เล่น weight สามครั้งในหนึ่งอาทิตย์ กินของดีแต่ปริมาณน้อย เดินทุกวันหยุด เป็นหญิงเหล็ก big walker เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือ ตอนนี้หาเวลาอ่านโดยไม่ถูกขัดจังหวะไม่ได้เลยหากลอนมาอ่านแทน เช่น กลอนของ Ted Hughes Emily Dickinson และ Philip Larkin อ่านระหว่างนั่งรถเมล์ได้ประมาณ 15 นาทีก็เหมือนได้ฉีดโปรตีนเข้าหัวใจไปแล้ว

ชีวิตคือการเดินทางที่รีบร้อนตลอดเวลาสำหรับ Josef Ackermann ภายในสิบวันจะเป็นแบบพรุ่งนี้อยู่ Berlin แล้วไป Seoul แล้วมา Munich ไป Frankfurt ไป Singapore และไปแถวตะวันออกกลาง ซึ่งไม่ได้มีวันหยุดเที่ยว ไปถึงก็เข้าประชุม หรือบางทีก็ conference call ในรถ ถ้าโชคดีหน่อยก็ได้อาบน้ำก่อน ในขณะนั้นข้อมูลจะไหลเข้ามาถมทับอย่างมหาศาลที่ต้องจัดการ ต้องตัดสินใจ หรือต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดทั้งโลก ซึ่งหลายคนเจอแบบนี้ก็มีตายตกไปตามกัน burn out ไป คนนี้ไม่ใช่ tech freak ใช้แค่ iPhone และ text messages เท่านั้น เพราะยังชอบจับกระดาษ ชอบเขียน และคิดว่าพวกใช้ BlackBerry หรือ iPhone มากๆจะสูญเสียการมองภาพใหญ่ (อ้าว..) แต่เป็นคนโชคดีที่นอนหลับได้ทุกที่ไม่ว่าในรถหรือบนเครื่องบิน ถ้าหาวิธีพักผ่อนง่ายๆแบบนี้ไม่ได้ก็เป็น CEO ไม่ได้ เรื่องทำสมาธิ โยคะไม่เอาเพราะถือว่า CEO มีอยู่แล้วใน DNA

Dan Vasella “ The expectation is that your job is 24/7. But no one can be the boss 24/7.” มันต้องมีเวลาที่รู้สึกว่า เฮ้อ..ถึงบ้านแล้วบ้าง ชีวิตไม่ใช่งานอย่างเดียว ถึงจะเป็นการทำงาน CEO ทุกคนก็ต้องการคนที่รับฟัง คนที่คุยได้จริงๆ คนที่เข้าใจไม่ว่าเราอยากตะโกนว่า เบื่อโว้ย ก็ได้ คนที่จะช่วยให้เกิดการสมดุลย์ในอารมณ์กันบ้าง

Carlos Ghosn บอกว่าคนเป็นผู้นำต้องมีความมั่นคงทั้งร่างกายและอารมณ์ เมื่อก่อนทำงานแบบจัดหนักได้ แต่ถ้าอายุ 60 ขึ้นแล้วคงลำบาก ทุกวันทำงาน 15-16 ชั่วโมง มีทั้งอาการ jet lag เหนื่อย เจอของกินต่างๆนานา ต้องมีวินัยอย่างยิ่ง เป๊ะตามตารางชีวิต กิน ออกกำลัง หลับ ทุกวันนี้มีชีวิตเหมือนพระ ตื่น กิน ออกกำลัง หลับตรงเวลา ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้

Ellen Kullman ว่าพลังที่มีอยู่ทุกวันนี้ได้มาจากการติดต่อสื่อสาร เยี่ยมสาขา สำนักงานขาย พบลูกค้าและเข้าห้องแล็ปวิจัย วันดีคืนดีก็พาคณะกรรมการบริษัทไปอินเดียสองอาทิตย์ ไปดูของจริงว่ากำลังเจอกับอะไรบ้าง มันเป็นพฤติกรรมที่ติดไปแล้ว มันเป็นแรงขับให้คิด ให้เคลื่อน ให้เห็นทิศทางองค์กร

Shimon Peres ผู้นำต่้องว่าง จิตใจต้องว่างพอที่จะจินตนาการที่จะฝัน สิ่งใหม่ๆจะได้มาจากความฝันนี่แหละ ต้องปล่อยๆอย่าฟอร์มมาก

การตัดสินใจภายใต้ภาวะผันผวน

ในเวลานี้..เวลาที่อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน สถานะการณ์ทั้งระดับโลก ระดับประเทศและเมืองสวิงไปมา ประสบการณ์ในอดีตที่เคยแจ๋วเจ๋งก็ดูเหมือนจะช่วยตัดสินใจอะไรไม่ได้ การันตีอนาคตไม่ได้ ผู้นำต้องใจใหญ่ในการสร้างวัฒนธรรมในมิติที่สร้างสรรค์และใช้คนเก่งที่มีมุมมองรอบด้านที่ไม่ใช่พวก “ใช่ครับนาย ดีครับพี่ ถูกครับผม” ต้องเป็นพวกใจกล้าไม่กลัวที่จะพูด ต้องเอามาไว้ใกล้ๆตัว

Carlos Ghosn ว่าต้องมั่นใจและมั่นคงในขณะเดียวกันต้องเปิดและเอื้ออาทร ซึ่งสองทางนี้มันคนละอ่าว หายากในคนๆเดียวกัน แต่ยังไงก็ต้องฟังให้มากเมื่อต้องทำการตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจไปแล้วแปลว่าต้อง hard ต้องโหดได้ใจ สิ่งสำคัญคือ สื่อสารให้ง่ายสุด ชัดสุดสุด เพราะในเวลาผันผวนอะไรก็สับสนไปหมด ให้มันแน่ๆชัดๆไปว่าขาวหรือดำ ไปหรือไม่ไป จะมาเทาๆ กลางๆ คลุมเครือไม่ได้ เพราะเวลาแบบนี้ไม่ควรเสี่ยงต่ออะไรที่มันจะผิดพลาดไป ดังนั้นต้องสามารถทำได้ทั้งฟัง ตัดสินใจ และสื่อสารให้มันง่ายเข้าไว้ ภายใต้วิกฤติสิ่งที่มันยกร่องก็คือทุกอย่างต้องเร็ว แม่น และทำให้คนสามารถตัดสินใจเองได้ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะทำให้สงบนิ่งได้แม้ช่วงเลวร้าย

Moya Greene เน้นว่าดูเงินให้ดี ดูว่าลูกค้าคิดยังไง พนักงานคิดยังไง ที่สุดของที่สุด คือ เราจะทำให้ดีได้ยังไงกับลูกค้าของเรา

Daniel Vasella เชื่อว่าคนต้องการผู้นำในเวลาวิกฤติ แต่เป็นธรรมดาที่คนเราต้องมีความกังวล ถ้าไม่กังวลก็ดูจะผิดมนุษย์มนาไป การแสดงออกถึงความกังวลไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงของการเป็นผู้นำ แต่ก็ไม่ต้องถึงกับสารภาพว่ากลัว ในการที่ต้องตัดสินใจต้องฟันที่ปมของปัญหา เอาให้กระจุย ไม่ต้องสนหน้าอินทร์หน้าพรหม ปัญหาคือต้องรู้ตัวว่าถูกชักนำโดยบริบท หรือ เราเองเป็นผู้นำตัวจริง คนอื่นเลือกให้เราเป็นผู้ตัดสินใจหรือเราเลือกเองตัดสินเอง เราไม่ได้เป็นผู้นำเพื่อตอบสนองความคาดหวังของใคร เราทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว ซึ่งธรรมดาตัดสินใจไปย่อมมีทั้งเจ็บปวด ปลื้มเปรม ถูกด่า ได้รับการชื่นชม อันนี้มันเป็นหน้าที่ (เท่จริงจริง)

Josef Ackermann คิดว่าปัญหาซับซ้อนสารพัดจะเกิดในยุคนี้ ต้องรวมหมู่คนเก่งไว้ช่วยให้ความคิดเห็นก่อนจะตัดสินใจ CEO เป็น personal leadership ก็จริง แต่ CEO จำเป็นต้องมีคนเก่งที่พร้อมยอมทั้งใจในการลงเรือลำเดียวกันด้วย บางคนว่าอย่าตัดสินใจจนกว่าเราจำเป็น แต่นั่นไม่ใช่ทาง ไม่ใช่แนว ตรงกันข้ามมันเป็นแรงกดดันอย่างยิ่ง แท้ที่จริงมันไม่ได้มีอะไรต้องด่วนขนาดนั้น เราต้องรู้มาก่อนแล้ว มันไม่ใช่ต้องตัดสินใจเดี๋ยวนี้โดยมีสมมุตติฐานจากแค่ executive summary

รำให้ดีไม่ต้องโทษปี่โทษกลอง

จะมานั่งดูว่าคุณลักษณะของผู้นำยุคใหม่ต้องมีอะไรบ้าง ก็ไม่ใช่ มันไม่ realistic เอาเป็นว่ามาขยายจากความคิดเห็นของเซียนแต่ละคนดีกว่า มันคงช่วยให้เห็นและเตรียมพร้อมได้บ้าง

1. มองแบบใช้กล้องขยายและกล้องส่องทางไกล
จากนี้ไป ไม่มีอะไรง่าย McKinsey research ว่าที่จะเกิดขึ้น คือ cheap capital ดอกเบี้ยต่ำ เงินรายรับของบริษัทจะมาจากทั้งโลกไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น commodity prices จะสาละวันเตี้ยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ CEO ต้องมีมุมมองทั้งใกล้และไกล มุมไกลเอาไว้ส่องหาโอกาสในอนาคต ตามความฝัน มุมใกล้เอาไว้ขยาย focus คุ้ยแคะปัญหาที่ท้าทาย ถ้าเป็นการใส่แว่นก็ประมาณแว่นเดียวที่มีทั้งสำหรับสายตาสั้นและยาว ดูยาก ไม่ชินอาจตกกระไดได้ แต่ถ้าชินแล้วก็สบาย มันแปลว่าเราต้องมองทะลุทั้งสองมิติ สั้นและยาวด้วย speed ด้วยความเคยชิน ห้ามเงอะงะ

2. ลงแข่งในสนามไตรกีฬา
ต้องทั้งว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยานได้ในระดับนักกีฬาโอลิมปิก เพราะในทุกวันนี้ CEO เจอด่านหินทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมประชาชน อย่าคิดว่าแค่วิ่งแข่งกับคู่แข่ง หรือ พาลูกค้าขี่จักรยานก็พอ มันไม่พอ อิทธิพลที่องค์กรพบเจอมันหลากหลายที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ต่อกลไกทางการตลาดของอุตสาหกรรม วันดีคืนดีจะเจอกับพวกประท้วงเป็นโบนัสอีกด้วย ดังนั้นขอยืมวลีของ Joseph Nye ที่เป็น political scientist จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ชมกัน...able to engage and collaborate across the private, public, and social sectors.. นั่นคือ ต้องออกมาจาก cocoon เรียนรู้ ศึกษาบริบททางสังคมและการเมืองให้ดี

3. สงบยามวิกฤติ
การตอบรับสถานะการณ์ผันผวนในโลกใหม่ที่ผกผันถือเป็นบทบาทสำคัญของ CEO มันเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “stress-testing” และ CEO ถือเป็นกลุ่มที่ถูกทดสอบอย่างแรง ต้องมีสมดุลย์ทั้งร่างกายและจิตใจจิตวิญญาณ ซึ่งจากที่เขาสัมภาษณ์มาก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลย์เป็นพิเศษ การตัดสินใจต้องนิ่งและเร็ว

ภาระนี้ใหญ่หลวงนักสำหรับ CEO แต่อย่าลืมว่ามันได้ผลตอบแทนที่ใหญ่มากเหมือนกันในด้านการเติบโตขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ถ้าธรรมาภิบาลบริหารดีจะสามารถสร้างคุณูปการให้กับคนอีกเป็นจำนวนมากมายในโลกนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น