++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สร้างเกราะให้ลูก รู้ทัน "คนแปลกหน้า"



ข่าวสะเทือนใจท้ายปี 2556 เป็นคดีชายแปลกหน้าล่อลวงเด็กหญิงไปข่มขืน โดยผู้ต้องหาสารภาพว่า ทำมาแล้วหลายราย

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นอุทาหรณ์ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้องใส่ใจสร้างเกราะป้องกันให้เด็ก เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันภัยสังคม มีทักษะเบื้องต้นในการแก้ปัญหา สามารถเอาตัวรอดพ้นจากภัยที่กำลังมาเยือน

ในกรณีนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันเด็กให้พ้นจากอันตรายต่อคนแปลกหน้านั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6-7 ขวบ เป็นวัยที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างมาก

เพราะมีทักษะในการแก้ปัญหาน้อยมาก หนึ่งในการแก้ปัญหาจึงต้องให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จากสถิติเด็กหายมักเกิดในช่วงที่พ่อแม่เผลอเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น เช่น ปล่อยเด็กเล่นตามลำพัง หรือให้เด็กอยู่ในรถคนเดียว เป็นต้น

พญ.พรรณพิมลกล่าวต่อว่า การดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นในครอบครัว จึงต้องทำความเข้าใจ โดยพ่อแม่ต้องเป็นคนอธิบายด้วยตัวเอง เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อพ่อแม่ที่สุด โดยแบ่งเป็น...

1.เรื่องคนแปลกหน้า จำเป็นต้องสอนและตั้งเป็นกฎว่า ห้ามเด็กไปไหนกับคนแปลกหน้าโดยที่พ่อแม่ไม่รู้โดยเด็ดขาด แม้แต่ญาติก็ต้องทำให้ชัดเจนว่าลูกต้องถามความเห็น และให้พ่อแม่เป็นผู้อนุญาตทุกครั้ง โดยจำกัดวงของคนแปลกหน้าที่ลูกจะสามารถไปไหนมาไหนด้วยได้ให้น้อยที่สุด

2.การรับของจากคนแปลกหน้า พ่อแม่จะต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ตามให้ของกับลูก เพื่อป้องกันการใช้ของมาหลอกเด็ก เพราะจากเหตุการณ์ลักเด็กหลายครั้ง คนร้ายมักจะเอาของเล่น หรือขนมมาให้เด็ก และล่อหลอกให้เด็กตายใจ ในเด็กเล็กจึงควรห้ามเด็กรับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด เพื่อเป็นเครื่องป้องกันหากเด็กคลาดสายตา เด็กก็จะไม่รับของจากใครง่าย ๆ แต่หากกรณีมีผู้ใหญ่อยากให้ของเด็ก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ว่า สอนให้เด็กไม่รับของ หากอยากจะให้ต้องให้พ่อแม่เป็นผู้รับด้วยตัวเองเท่านั้น

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า พ่อแม่จำเป็นต้องสอนทักษะพื้นฐาน เช่น ถ้าลูกรู้สึกกังวลต้องขอความช่วยเหลือ ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การร้อง หรือตะโกนว่าช่วยด้วย เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเรียนช่องโหว่ที่จะทำให้เด็กไม่อยู่ในสายตาพ่อแม่ คือที่โรงเรียน ซึ่งเด็กเล็กนั้นโรงเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการ เช่น จำกัดการรับส่งเด็ก

เด็กที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องคนแปลกหน้า หรือการรับของจากคนแปลกหน้าจะเริ่มเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น พ่อแม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะไหวพริบการเอาตัวรอดให้ลูก โดยสอนอย่างเป็นรูปธรรม

เช่น ยกตัวอย่างคำพูดที่อาจเกิดขึ้น หากคนแปลกหน้าจะเข้าใกล้เพื่อหวังหลอกลวง เช่น แม่ให้มารับ หรือเอาของให้แล้วบอกว่าเอาไปให้แม่ด้วยกัน เป็นต้น

เด็กในวัยโต 6-7 ขวบ จะเริ่มเข้าใจคำเหล่านี้และเรียนรู้ที่จะปฏิเสธได้ พ่อแม่ต้องย้ำว่าหากใครกระทำในลักษณะ ดังกล่าวให้บอกว่าจะต้องถามพ่อแม่ก่อน หรือพ่อแม่ไม่ให้ไป ต้องรอพ่อแม่ก่อน เป็นต้น

"เหตุการณ์ลักพาตัวเด็กที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นอุทาหรณ์ที่พ่อแม่ควรเรียนรู้ และนำมาปรับเพื่อป้องกันลูกไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หากปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว คือให้ลูกอยู่ในสายตา ไม่วางใจคนแปลกหน้า ตั้งกฎให้ลูกระวังตัว จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เด็กถูกลักพาตัวได้" พญ.พรรณพิมลกล่าว

ข่าวสดออนไลน์, 7 ม.ค.2557

photo กลุ่มจุดตะเกียง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น