++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การหลงอำนาจของ ป.ป.ช. โดย สิริอัญญา

การหลงอำนาจของ ป.ป.ช.
โดย สิริอัญญา
วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557

ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานอิสระที่พัฒนามาโดยลำดับ ตั้งแต่ยังเป็น กตภ. เรื่อยมาจนเป็น ป.ป.ป. และมาเป็น ป.ป.ช. ในปัจจุบันนี้

การเกิดขึ้นและความหวังในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ก็เพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายของแผ่นดินที่เกาะกินทำลายชาติบ้านเมืองและประชาชนจนยับเยินมาถึงปัจจุบันนี้

เพื่อบรรลุถึงความหวังตั้งใจดังกล่าว จึงได้มีการมอบหมายให้อำนาจแก่ ป.ป.ช. สูงมาก และเป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นอำนาจที่ครบถ้วนทั้งวงจร

คือมีทั้งอำนาจตักเตือนให้ป้องกันแก้ไข อำนาจในการตรวจสอบ อำนาจในการดำเนินคดี อำนาจในการถอดถอนหรือให้พ้นไปจากหน้าที่ ทำให้ ป.ป.ช. มีทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการบางส่วนอยู่ในองค์กรเดียวกัน

แต่ปรากฏว่าประเทศชาติและประชาชนต้องผิดหวังจากการใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตลอดมา และยิ่งนานวันก็ยิ่งสิ้นหวังกับองค์กรแห่งนี้ เพราะความจริงในปัจจุบันนี้ชัดเจนแล้วว่า

มีเรื่องราวการทุจริตจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่คั่งค้างทับถมอยู่ที่ ป.ป.ช. จนเหล่าบรรดาผู้ทุจริตคิดมิชอบต่อแผ่นดินหัวร่อเสพสุขกันอย่างสนุกสนานและคดีจำนวนมากก็ขาดอายุความ จนทำให้ ป.ป.ช. กลายเป็นองค์กรปกป้องการทุจริตแห่งชาติไปแล้ว

ที่สำคัญคือกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. และองค์ประกอบของกรรมการ ป.ป.ช. ส่อว่ามีปัญหาอยู่ในตัว ในประการที่สำคัญดังนี้

ข้อแรก องค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ล้วนเป็นอดีตข้าราชการซึ่งส่วนหนึ่งเคยทำมาหากินอยู่กับนักการเมือง เคยเป็นลิ่วล้อบริวารนักการเมือง เคยคลุกคลีคราคร่ำอยู่กับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง กระทั่งอยู่ในแวดวงอุปถัมภ์ ทำให้องค์ประกอบของ ป.ป.ช. ไม่บริสุทธิ์ จนกระทั่งมีเสียงตำหนิอย่างรุนแรงว่า “มี 3 เหี้ยอยู่ใน ป.ป.ช.” ซึ่งเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ต้องสังวรอย่างยิ่ง

ดังนั้นหากมีการปฏิรูปก็ต้องปฏิรูปองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย เพราะคนดีศรีแผ่นดินที่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นอกวงราชการก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำไมจึงต้องผูกขาดไว้เฉพาะอดีตข้าราชการ

ข้อสอง กระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. หากดูแต่ผิวเผินก็จะเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีความละเอียดถี่ถ้วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะทำการสิ่งใดก็ต้องมีหลายขั้นหลายตอน อ้างว่าเพื่อให้เกิดความยุติธรรม คือทำตัวเป็นผู้ประสาธน์ความยุติธรรมเสียเอง ความซับซ้อน ซ้ำซาก ของกระบวนการสืบสวนไปสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและไต่สวน ไปสู่กระบวนการชี้มูลความผิดและดำเนินคดีอย่างยาวเหยียด ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ จนเป็นที่เย้ยหยันของบรรดานักโกงบ้านกินเมืองทั้งหลาย

ลักษณะกระบวนการที่หลงอำนาจก็คือ การตั้งตัวเป็นประหนึ่งศาลสถิตยุติธรรมเสียเอง คือในชั้นสืบสวน ชั้นสอบสวน ชั้นไต่สวน ก็จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานจนแน่นหนาปราศจากข้อสงสัย ซึ่งเป็นแบบแผนระบบเดียวกันในการเอาผิดในคดีอาญาที่จะลงโทษได้ ก็ต้องมีหลักฐานพยานที่ชัดเจนปราศจากข้อสงสัย

ทำให้คนทั้งหลายหลงผิดคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่ตรงนี้นี่แหละคือช่องโหว่มโหฬารที่จะปกป้องคนพาลสันดานโกงให้โกงบ้านกินเมืองกันต่อไป ดังตัวอย่างที่เห็นตำตาก็คือโครงการโกงจำนำข้าว ที่โกงกันต่อเนื่องมาสองปีและโกงกันเป็นจำนวนมโหฬารที่สุดก็ยังจะให้โกงกันต่อไป

อันลำดับชั้นของการแสวงหาพยานหลักฐานนั้นมีหลายระดับดังนี้
ระดับที่หนึ่ง เป็นกรณีที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนปราศจากข้อสงสัยอันเป็นหลักในการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา ซึ่งเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม

ระดับที่สอง เป็นกรณีที่ต้องมีพยานหลักฐานในระดับที่ “เชื่อได้ว่า” คือมีพยานหลักฐานเพียงเชื่อได้ว่าโดยไม่จำเป็นต้องถึงขั้นปราศจากข้อสงสัย

ระดับที่สาม เป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานในระดับที่ “น่าเชื่อว่า” คืออ่อนลงมาเพียงแค่น่าเชื่อ ไม่ต้องถึงขั้นว่าเชื่อได้ก็ใช้ได้แล้ว

ระดับที่สี่ เป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานในระดับที่ “น่าสงสัยว่า” มีการกระทำความผิดก็ใช้ได้แล้ว

ระดับที่ห้า เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและชี้มูลความผิดในคดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองของ ป.ป.ช. ซึ่งบัญญัติระดับชั้นพยานหลักฐานแค่ “ส่อว่า” นั่นคือเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นที่มีน้ำหนักเพียงส่อว่า ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ คือแจ้งข้อกล่าวหา ตรวจสอบไต่สวน และชี้มูลความผิด เพื่อนำพยานหลักฐานในระดับส่อว่านั้นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รัฐธรรมนูญและระบบป้องกันปราบปรามการทุจริตในชั้นที่สุดนั้นเป็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งใช้ระบบการไต่สวน โดยอาศัยหลักฐานเบื้องต้นที่ ป.ป.ช. รวบรวมในระดับชั้น “ส่อว่า” เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาจะทำการไต่สวนคดีอย่างรอบคอบและละเอียดตามวิธีพิจารณาที่บัญญัติไว้

รัฐธรรมนูญและกฎหมายมอบความไว้วางใจไว้ที่ศาลฎีกา ไม่ใช่ที่ ป.ป.ช. การที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการต่อเมื่อมีพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นสืบสวน สอบสวน ชี้มูล ไปจนถึงขั้นดำเนินคดีในระดับที่ปราศจากข้อสงสัย เนื้อแท้ก็คือการปกป้องคุ้มครองการคอร์รัปชั่นนั่นเอง

และเป็นการตัดอำนาจศาลฎีกาอย่างหน้าตาเฉย!

http://www.paisalvision.com/content/88-features/11110----q-q-12--2557.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น